28 พ.ค. 2020 เวลา 12:51 • ครอบครัว & เด็ก
🌸”ลูกร้อง เพราะอะไร”🌸 ตอนที่ 4
ใครที่กำลังจะมีลูกคนแรก อาจจะประหวั่นพรั่นพรึง เมื่อนึกถึงเสียงร้องเด็กอ่อนที่ แหวกความมืด หวีดก้องมาสู่โสตประสาทในยามดึก เวลาที่ทั้งพ่อและแม่ ตาปรืองัวเงีย
ถามพ่อแม่มือใหม่ทั้งหลายว่ากลัวอะไร คำตอบที่ได้รับบ่อยๆคือ
“กลัวลูกร้อง”
“กลัวเพราะไม่รู้ว่า ลูกร้องทำไม หรือกลัวคนอื่นคิดว่าเราเลี้ยงลูกไม่เป็นคะ “ฉันถามต่อ
“ก็...ทั้งสองอย่างล่ะค่ะ กลัวว่าที่ลูกร้องน่ะ ลูกจะเจ็บตรงไหนไหม. แล้วก็กลัวแม่สามี จะหาว่า เลี้ยงลูกกันยังไงปล่อยให้ลูกร้องด้วยค่ะ”😊 ลูกสะใภ้ที่อยู่ในบ้านของสามี ก็จะมีความกลัวแบบนี้อยู่ ส่วนคนที่แยกออกมาอยู่เองอย่างอิสระก็อาจจะกลัวและเกรงใจคนข้างห้อง
ลูกแรกเกิดร้องเพราะอะไร เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่า จะได้ไม่กลัว และพร้อมรับมือค่ะ
❣️ร้องเพราะอยากอยู่ใกล้แม่❣️
คิดดูซิคะ นอนคุดคู้ในท้องอยู่ดีๆ แสนจะสบาย หิวก็มีสายสะดือส่งอาหาร หนาวก็มีที่ให้นอนขด มีเพลงกล่อมเป็นจังหวะ คงที่ตลอดเวลา “ตุ้บตั้บ..ตุ้บตั้บ” เสียงหัวใจแม่ ที่ลูกคุ้นเคยมาตลอด 9 เดือน
☀️ที่อยู่แรกบนโลกใบนี้ของลูก คือ “อกแม่ “ค่ะ
เป็นทั้งที่นอน แหล่งอาหาร พร้อมดนตรีกล่อม☀️
ทุกอย่างที่ลูกแรกเกิดต้องการ อยู่ที่นี่ ! “อกแม่ “
ยังไม่ต้องรู้ว่าร้องเพราะอะไร ให้ “อุ้มไว้ก่อนแม่สอนไว้”😀
ลูกแรกเกิดโหยหาความอบอุ่น เหมือนในท้องแม่ที่เขาเพิ่งจะจากมาค่ะ
❤️ร้องเพราะอยากบอกให้แม่รู้❤️
การร้องไห้ของลูก คือภาษาที่ลูกใช้สื่อสารกับเรา. อย่าไปคิดว่า เขาร้องเพราะเจ็บปวดอะไร การร้องไห้ของทารกกับผู้ใหญ่นั้นแตกต่างกันค่ะ
ภาษาคำพูด มีหลายแบบ ใช้ในโอกาสต่างๆกัน
“ภาษา”เสียงร้องของลูกก็เช่นกันค่ะ มีหลากเสียง หลายสำเนียง ค่อยๆฟัง ค่ะ ค่อยๆเรียนรู้ ลองผิดบ้างถูกบ้าง
❣️ร้องเบาๆแอ๊ะๆ อย่างนี้ ปากอ้าเป็นลูกนก พร้อมกับเอากำปั้นเข้าปาก เริ่มหิวล่ะสิ
มาอุ้มขึ้นมาที่เต้า ให้ดูดนมแม่เลย ถ้าดูดดีหยุดร้อง เราก็จำไว้นะ ว่าร้องอย่างนี้ ปากแบบนี้ก็เอามาเข้าเต้าเลย อย่ารอจนแผดเสียงจ้าดังระเบิด จนแม่มือไม้สั่นทำอะไรไม่ถูกค่ะ
อ้าปากหาว เตรียมตื่น
❣️ร้องเพราะไม่สบายตัว นอนไม่สบาย ก้นเปียกแฉะ ร้อนเกินไป หนาวเกินไป ค่อยๆหาไปทีละอย่าง บ้านเราเป็นเมืองร้อน อย่าใส่เสื้อผ้าหนาเกินไป ทารกจะขี้ร้อนกว่าผู้ใหญ่ค่ะ ถ้าเรารู้สึกร้อน ลูกจะร้อนกว่าเราอีก 😀
❣️ร้องเพราะแม่อารมณ์ไม่ดี. อารมณ์ของแม่เกี่ยวกับการร้องของลูกด้วยหรือ? ลูกจะรับรู้ จับอารมณ์ของแม่ได้ไวมากๆเลยทีเดียวค่ะ
ประสบการณ์นี้เจอกับลูกคนที่สอง ลูกสาวคนนี้ขี้ร้องตั้งแต่อุแว้ออกมาแล้วค่ะ ไม่ว่าจะหิวนม กินนมอิ่ม ง่วงนอน เธอหาเหตุร้องได้ตลอด 😅 นี่ถ้าเกิดมาเป็นคนแรก ก็อาจจะพ่ายแพ้แก่นมขวดไปเรียบร้อยแล้ว
โชคดีอีกล่ะค่ะ ที่มาเป็นคนที่สอง แม่รู้ว่านมแม่อย่างเดียวพอแน่ๆ ไม่ซื้อขวดนมเข้าบ้านเลย อดทนให้ดูดจากเต้าแม่บ่อยๆทนฟังเสียงร้องของลูกเปรียบเสมือนฟังเสียงเพลง ให้ลูกดูดนมแม่จนน้ำนมเริ่มมา การร้องก็ห่างออกสักพัก...
ในช่วงที่ลูกอายุใกล้ครบเดือน เริ่มร้องเป็นเวลา ทุกๆเย็นเธอจะเปิดคอนเสิร์ตค่ะ 😀เอ้า! ร้องได้ร้องไป ให้ดูดนมข้างขวา เงียบได้พักหนึ่ง เสร็จ ร้อง...ร้อง...ร้อง..อุ้มเปลี่ยนข้าง ให้ดูดนมข้างซ้ายบ้าง กินสักพักปล่อยปากออกมาร้องอีก
ลูกจ๋า...ร้องทำไม?
ทำไมยิ่งดูดยิ่งร้องอยู่นั่น! เริ่มหงุดหงิด ยิ่งอุ้มยิ่งร้อง เปลี่ยนผ้าอ้อมก็แล้ว กินนมอิ่มจนจะล้นอยู่แล้ว แม่ก็เหนื่อยเป็นเหมือนกันนะคะ ไม่ได้เป็นนางฟ้าตลอด วันนั้นนางยักษ์เริ่มโผล่ 😞เผลอดุไปหน่อย อุ้มเขย่าแรงไปนิด ลูกยิ่งร้องดังขึ้น จนคนในบ้านเข้ามาดู มาช่วยอุ้มไปให้แม่ได้พักบ้าง
จิตใจที่เริ่มโมโห หงุดหงิด รำคาญ ทำให้มือที่อุ้มลูกอยู่นี่ จะเกร็งขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว แต่ลูกสัมผัสได้ค่ะ ยิ่งอุ้มไปเขย่าไปยิ่งร้องหนัก พอเปลี่ยนมืออุ้มเป็นคนที่ใจเย็นกว่า ลูกหยุดร้องเลย!
ถ้ารู้ตัวว่าเหนื่อย แม่ต้องพัก และหาคนช่วยอุ้มช่วยเลี้ยงบ้าง เป็นบางเวลา ให้แม่มีเวลาเป็นของตัวเองบ้างค่ะ
🌺สรุป สาเหตุการร้องของลูกจากประสบการณ์ของฉันคือ
1.วันแรกๆ ลูกอยากอยู่ใกล้อกแม่ ให้อุ้มมาดูดนมแม่บ่อยๆ อิ่มกาย อิ่มใจ
2. ลูกร้องตอนใกล้ครบเดือน เพราะเริ่มเข้าสู่ช่วง “ร้องแบบโคลิค” หรือ “ร้อง 3 เดือน” มักเป็นตอนเย็นๆ ที่ทั้งแม่ลูกเริ่มเหนื่อย วิธีแก้ : อุ้มกอดแนบอก ดูดนมจากเต้าแม่ ฟังเสียงร้องให้เหมือนฟังเพลง 😊
1
3.ช่วงที่ดูดนมแม่ไปสักพัก แล้วปล่อยปากออกมาร้อง บางครั้งเกิดจาก น้ำนมพุ่งแรงเกินไป จนกลืนไม่ทันค่ะ เรียกภาวะนี้ว่า “กลไกน้ำนมพุ่ง “ (Milk ejection reflex) จากมีฮอร์โมน
อ๊อกซิโทซิน หลั่ง ทำให้กล้ามเนื้อเล็กๆรอบท่อน้ำนมหดตัว แม่จะรู้สึก “จี๊ดๆ” ในเต้า บีบให้น้ำนมพุ่งแรงมาก จนลูกสำลัก ก็จะปล่อยปากออกมาร้อง
วิธีแก้: รอสักพัก พอนมไหลช้าลงค่อยเอาเข้าเต้าใหม่ หรือใช้วิธีให้ลูกนอนคว่ำบนอกดูดนมก็ได้ค่ะ แรงพุ่งของน้ำนมจะน้อยลง
4.ลูกจะดูดนมถี่แทบจะทุกชั่วโมง เมื่อครบ 2 อาทิตย์ ดูดจนเต้าแฟบทั้งสองข้าง ก็ยังร้อง ...ให้ดูดไปร้องไป สลับข้างซ้ายบ้างขวาบ้าง ทำอย่างนี้อยู่ทั้งวัน พอขึ้นวันที่ 2 รู้สึกถึงน้ำนมที่มากขึ้น ลูกก็ดูดห่างออก
อายุครบ 1 เดือน คางเป็นชั้น
ภาวะนี้เจอบ่อยนะคะ เรียกว่า “Cluster feeding” -ดูดนมถี่เป็นชุดๆ เป็นวิธีที่ธรรมชาติ เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมแม่ให้มากขึ้นตามน้ำหนักตัวลูกที่เพิ่มขึ้น
(ดูรูปลูกตอนครบเดือน ถ่ายหลังจากเพิ่งพ้นช่วงที่ดูดถี่แทบทุกชั่วโมง ร้องได้ร้องไป กินนมแม่จนคางกลายเป็นหมูสามชั้น! 😀)
ถ้าไม่เข้าใจ ว่าการดูดถี่เป็นการกระตุ้นให้ผลิตน้ำนม กลับไปนึกว่านมแม่น้อย ไปชงนมผงเสริมให้ ก็เสร็จเลย! กลไกธรรมชาติถูกรบกวน นมแม่จะสร้างน้อยลงเมื่อลูกดูดเต้าน้อยลงค่ะ
4. ร้องเพราะอึดอัดค่ะ ก็เธอเล่นกินจนพุงกางเป็นน้ำเต้า 😀 ตอนแรกไม่รู้ ยังร้องเหรอ...สงสัยยังไม่อิ่ม ให้ดูดเข้าไปอีก คราวนี้แหวะออกมากองเบ้อเร่อเลยค่ะ โล่ง!หยุดร้อง นอนหลับได้😊 กว่าจะรู้ก็ลองผิดลองถูกอย่างนี้ล่ะค่ะ
แม่ลูกแต่ละคู่ จะหาจุดสมดุลย์ ของตัวเองได้จากการสังเกตลูก
ลูกเหมือนบทเรียนบทใหม่ ที่แม่จะค่อยๆเปิดอ่านทีละบท ทีละหน้า ทำความเข้าใจ ไปด้วยกัน ขอให้เลี้ยงลูกอย่างมีความสุขค่ะ 😍
ขอจบด้วยงานวิจัยสักเรื่อง เกี่ยวกับ การตอบสนอง การร้องของลูก และสมองของแม่ค่ะ ( สำหรับคนที่ชอบอ่านยาวๆ ถ้าใครไม่สนใจอ่านข้ามไปเลยก็ได้ค่ะ)
“Neurobiology of culturally common maternal responses to infant cry”
🌸เมื่อลูกร้อง แม่ตอบสนองอย่างไร🌸
ไม่ว่าจะเป็นแม่จากมุมไหนของโลก เมื่อได้ยืนเสียงลูกร้อง แม่จะมีการตอบสนองคล้ายๆกัน คือ อุ้มลูกขึ้นมา กอดลูก และคุยกับลูกค่ะ
เป็นรายงานวิจัยจาก National Institute of Health ที่ศึกษาแม่ 684 ราย จาก 11 ประเทศ ใน 4 ทวีป ค่ะ เขาต้องการดูว่าสมองของแม่ที่เพิ่งมีลูกคนแรก กับหญิงที่ไม่เคยมีลูกเลย มีการตอบสนองต่อเสียงร้องของทารกต่างกันไหม(1)
โดยเขาใช้ functional MRI บันทึกการตอบสนองของสมองเพื่อดูว่าสมองส่วนไหนที่ทำงานเด่น ในช่วงเวลาที่ได้ยินเสียงลูกร้อง
fMRI ของสมองแม่ เมื่อได้ยินเสียงลูกร้อง. ภาพจากบทความวิจัย reference (1)
ผู้วิจัยพบว่า เสียงร้องไห้ของลูก จุดประกายให้สมองของแม่ เตรียมพร้อมร่างกายเพื่อเคลื่อนไหว และพูด ในเวลาอันสั้น เพียง 100millisecobd หลังจากได้ยินเสียงร้อง แม่ก็เตรียมพร้อมจะขยับแขนแล้ว!
เหมือนมีวงจรในสมองพร้อมจะรับมือกับเสียงร้องในทันทีทันใด
ภายในเวลา 3 เดือนหลังคลอด แม่ที่ไหนๆพอได้ยินเสียงร้องของลูก ก็จะมือไว เท้าไว ปากไว กระฉับกระเฉง พร้อมรับมือกับลูกแล้วค่ะ
นั่นหมายความว่า “เสียงร้องไห้ “เป็นสัญญาณ สำคัญ ที่ต้องสนองตอบอย่างรวดเร็ว โดย วงจรประสาทในสมองที่เชื่อมโยงเตรียมพร้อมไว้แล้ว เป็นการสื่อสาร ประสานสองแม่ลูกให้ปรับตัว เข้าหากัน ทั้งทาง อารมณ์ จิตใจ และสมองค่ะ
สำหรับหญิงที่ไม่เคยมีลูก การตอบสนองในสมองต่อเสียงร้องของทารก แตกต่างจาก แม่ที่มีลูกนะคะ คือ เสียงร้องจะไม่กระตุ้นให้เตรียมขยับแขน สมองไม่พร้อมจะตอบสนอง
ดังนั้น ตอนกลางคืนให้ลูกนอนกับแม่ดีที่สุดค่ะ ถ้าให้ไปนอนกับพี่เลี้ยงซึ่งไม่เคยมีลูก การตอบสนองต่อเสียงร้องไม่รวดเร็วเท่าแม่อย่างแน่นอนค่ะ (ถ้าทำMRI สมองของพ่อ ก็อาจจะไม่ตอบสนองกับเสียงร้องเลยก็ได้😄 )
หลับทั้งคู่
พ่อแม่มือใหม่ ไม่ต้องกลัวเสียงร้องไห้ของลูกนะคะ
ถึงแม้แม่มือใหม่จะไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก งานวิจัย พบว่า ลูกคนแรก ไม่ได้ร้องไห้มากกว่าลูกคนถัดๆมา(2) ไม่ว่าแม่มือเก่ามือใหม่ มีสิทธิ์เจอลูกร้องมากๆได้เหมือนๆกัน😀
การร้องไห้ของลูกก็ไม่ทำให้แม่ประสาทเสีย หรือซึมเศร้ามากขึ้น การศึกษาแม่ซึมเศร้าน้อยๆไปจนถึงรุนแรง ไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับจำนวนชั่วโมงที่ลูกร้องไห้ (3)
แต่ถ้าคิดว่าลูกร้องมากเกินไป จนคิดว่ารับมือไม่ไหว อย่าเก็บความกังวลไว้คนเดียวค่ะ ให้หาความช่วยเหลือ พูดคุยปรึกษากับหมอเด็ก ให้ตรวจเช็คร่างกายลูกว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่
ความรู้สึกกังวลเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในแม่มือใหม่ อย่าโทษตัวเอง เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ที่แตกต่างกัน วิธีที่ใช้ได้กับเด็กคนหนึ่ง อาจจะไม่ได้ผลกับเด็กคนอื่นๆ ให้หาวิธีที่เหมาะกับลูกของเราเองค่ะ
ขอให้รู้ว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร
❤️พ่อแม่คือคนพิเศษสำหรับลูกเสมอค่ะ ❤️
🌸ติดตามเรื่องน่ารู้ สุขภาพเด็ก ได้ทุกวันอังคาร และพฤหัส ที่”เขียนตามใจ ทำตามชอบ” ค่ะ 🌸 “เพราะชอบ จึงเขียน”
References
1.Neurobiology of culturally common maternal responses to infant cry
Marc H. Bornstein, Diane L. Putnick, [...], and Paola Venuti PNAS Nov 7 , 2017 114(45) (Proceedings of the National Academy of Sciences of The United State of America )
2. St James-Robert I and Plewis I 1996 Individual differences,daily fluctuation,and development al changes in amount of infant waking,fussing,crying,feeding and sleeping Child Dev 67(5):2527-40
3. Maxted AE Dickstein S,Miller-Loncar C .High P , Spritz B, Lui J and Lester BM 2005 Infant colic and maternal depression . Infant Mental Health Journal 26:56-68

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา