26 พ.ค. 2020 เวลา 12:53 • ครอบครัว & เด็ก
🌸”เด็กแรกเกิดอยู่ได้ 7 วันโดยไม่กินอะไรเลย”🌸 ตอนที่ 3
จะเป็นไปได้อย่างไร ใครจะยอมให้ลูกอดน้ำ อดนมตั้ง 7 วัน ?
แต่นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีที่แล้วค่ะ
วันที่ 19 กันยายน 1985 ณ Mexico City ประเทศMexico ในตอนเช้า เวลาที่แพทย์ พยาบาลกำลังมาเปลี่ยนกะ เข้าเวรออก เวรกัน ที่ โรงพยาบาล Juarez General Hospital ผู้คนเดินเข้าออกอย่างขวักไขว่ คนไข้ที่นอนในโรงพยาบาล ก็เต็ม ถึง 80 % ของจำนวนเตียง
เวลา 7.18 น . เกิดแผ่นดินไหวอย่างแรง ขนาด 8.1 ริคเตอร์ ตึกสูง 12 ชั้นในโรงพยาบาลสั่นไหวไปมา แล้วพังทลายลงพร้อมๆกับตึกอีก 400 แห่งทั่วทั้งเมือง มีคนเสียชีวิตนับร้อย ทั้งแพทย์ พยาบาล คนป่วย รวมทั้งแม่และทารกแรกเกิดตัวเล็กๆ
หน่วยกู้ภัย อาสาสมัคร ญาติๆ ใช้เวลาเป็นวันๆ ช่วยกันขุดค้นใต้ซากปรักหักพังเพื่อ ค้นหาผู้รอดชีวิต
และแล้วเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งก็เกิดขึ้นในวันที่ 7 ค่ะ เมื่ออาสาสมัครขุดค้นไปถึงตำแหน่งที่ตั้ง ห้องทารกแรกเกิด เขาได้ยินเสียงร้องของทารกดังออกมา ทุกคนต่างช่วยกันขนเศษหินเศษดินออกอย่างกระตือรือล้น แล้วก็พบว่า
☀️ทารกแรกเกิด 40 คน ในห้องนั้น รอดชีวิต หลังจากอยู่ใต้ซากตึกเป็นเวลา 7 วัน ! โดย ไม่ได้กินน้ำ หรือ นม ไม่ได้ความอบอุ่น จากที่ใดๆเลย ทารกกลุ่มนี้จึงเป็น “Miracle babies” อย่างแท้จริง ☀️
ภาพจาก Lankawomen.com
ทารกกลุ่มนี้รอดมาได้อย่างไร
แพทย์ลงความเห็นว่า ทารกแรกเกิด มีน้ำอยู่ในร่างกายมากเกินพอ (ร่างกายทารกแรกเกิด มีน้ำถึง 78% เทียบกับร่างกายผู้ใหญ่ มีสัดส่วนของน้ำ55- 60%) ธรรมชาติเตรียมสภาพร่างกายทารกให้พร้อมรับกับภาวะต่างๆหลังคลอด. อีกทั้งสิ่งแวดล้อมใต้ซากตึกที่มืดมิด ก็อาจจะไม่แตกต่างจากในท้องแม่มากนัก ทารกจึงทนทานได้ดีกว่าผู้ใหญ่ในภาวะการณ์เดียวกัน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ให้ความมั่นใจกับแม่ๆได้ระดับหนึ่งว่า ลูกแรกเกิดของเรา เกิดมามีเสบียงติดตัวมาพร้อมที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะ สิ่งหนึ่งที่แม่มือใหม่ที่เริ่มให้นมแม่ มักเป็นกังวลคือ
🌸ลูกได้นมแม่พอไหม?”🌸
ช่วง 3 วันหลังคลอด นี่คือคำถามที่พบได้บ่อยที่สุดเลยค่ะ
คำถาม มหาอมตนิรันดร์กาล ที่หาคำตอบสั้นๆได้ยาก
คำถามนี้อยู่ในใจแม่ทุกคน ไม่มียกเว้น
แม้ว่าจะเคยเรียน อ่านหนังสือ หาความรู้มามากมายก่อนคลอด พอเข้าสู่ภาคปฏิบัติจริง แทบจะทิ้งตำราทั้งหมดเลยค่ะ
จากประสบการณ์ตนเอง หลังคลอดกว่าจะได้กอดลูกก็ 18 ชั่วโมงเข้าไปแล้ว แรกๆอุ้มก็เก้ๆกังๆค่ะ ก็เป็นแม่มือใหม่นี่คะใครจะอุ้มเป็นตั้งแต่วันแรก😅 แต่พอได้อุ้มบ่อยเข้าก็ทำได้ถนัดขึ้นเรื่อยๆ เวลา 3 วันแรกจึงค่อยๆผ่านไปอย่างรวดเร็ว....
แรกเกิด2-3 วันแรก กิน กับ นอน
เป็นความโชคดี หรือเป็นเพราะได้รับการโอบอุ้มบ่อย ลูกจึงไม่ค่อยร้อง พอดูดนมแม่จนปล่อยปากออกมาเอง ก็ผล็อยหลับ
ฉันก็มัวแต่มีความสุขเพลิดเพลินกับความมหัศจรรย์ของลูกตัวเล็กๆ ที่อ้าปากร้อง ทำปากเหมือนกับลูกนกร้องหาอาหารบ้าง ทำหน้าตายู่ยี่ บิดตัวไปมาบ้าง ลูกทำอะไรก็ดูน่ารักไปหมด 🥰เรียกว่า กำลังตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเลยค่ะ❤️
จนถึงเช้าของวันที่สามหลังคลอด เต้านมจากปกติที่เล็กอยู่แล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเต่งตึง หรือมีน้ำนมหยดให้เห็นเสียที ความกังวลใจเริ่มจะคืบคลานเข้ามา จึงเปรยๆกับพ่อของลูกว่า
“ทำไมน้ำนมยังไม่มาอีกนะ”
พ่อก็รีบบอกว่า “ไม่ต้องห่วงหรอกให้ลูกดูดต่อไป เดี๋ยวนมก็มาเอง” ตีบทแตกได้ดีมากเลยค่ะ สมควรได้รับตุ๊กตาทองสนับสนุนฝ่ายชายยอดเยี่ยม🏆! (ตอนนี้ดารานำฝ่ายชายคือเจ้าตัวเล็กค่ะ😊)
เราทั้งคู่ก็รู้ดีอยู่ว่า น้ำนมแม่จะผลิตตามการดูดของลูก และนมจะไม่มาอย่างทะลักทลายตั้งแต่วันแรก แต่จะค่อยๆสร้างเพิ่มขึ้นทีละน้อยใน3 วันแรกนี้
ความรู้ที่มี มักจะท้าทายกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าอยู่เสมอๆค่ะ
รู้ทั้งรู้ก็ไม่วายแอบกังวล นี่ยังดีที่มีคนที่เข้าใจคอยให้
กำลังใจ
“เดี๋ยวนมก็มาเอง” เพียงเท่านี้เองที่ฉันต้องการฟัง ท่าทีแสดงความมั่นใจของผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในระยะเริ่มต้นให้นมแม่
ควรให้ทุกคนที่อยู่ล้อมรอบแม่หลังคลอด พูดหรือให้กำลังใจไปในแนวเดียวกันค่ะ เพื่อที่แม่จะได้มุ่งมั่นที่จะให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าได้อย่างสบายใจ มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน
ลูกได้ดูดนมแม่จากเต้าตามความต้องการ ไม่ได้ดูดนมจากขวดเลย เขาก็ดูสุขสบายดี จนคืนวันที่สี่ เต้านมเริ่มแข็งบวมเต่งจนระบม ต้องให้ลูกดูดออกบ่อยๆ ร่วมกับประคบเต้าด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นจึงค่อยบรรเทา ลูกมีตัวเหลืองเล็กน้อย ส่องไฟ2วัน ดีขึ้น ระหว่างส่องไฟก็ยังให้นมแม่ต่อไปค่ะ
ลูกตื่นก็ดูดนม ลูกหลับแม่ก็หลับตาม ไม่รู้วันรู้คืน เรียกว่า ทิ้งนาฬิกาไปเลย!
ภาพจาก The Indianexpress
ข้อสรุปที่ฉันได้จากประสบการณ์นี้คือ คุณแม่ควรให้ลูกดูดเต้าเร็วที่สุดหลังคลอด อุ้มลูกดูดนมแม่บ่อยๆ โดยให้ เอาเตียงลูกมาไว้ข้างเตียงแม่ในห้องเดียวกัน และแม่ต้องมีความมั่นใจในตนเอง หรือ หาคนที่เข้าใจเรื่องนมแม่ มาเป็นผู้สนับสนุนอยู่ใกล้ๆ คอยให้กำลังใจ
ทุกคนที่ล้อมรอบตัวแม่ มั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ว่าเป็น “วิถีธรรมชาติ” ที่ดีที่สุดสำหรับลูก ธรรมชาติมีเหตุผลเสมอค่ะ
🌺การที่ธรรมชาติให้นมแม่มาน้อยในช่วงแรก เพราะ ทารกไม่ต้องการนมมากมายในช่วงนั้น ทารกต้องการความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เหมือนตอนที่อยู่ในท้องแม่ต่างหาก
ธรรมชาติจึงหาวิธีทำให้แม่อุ้มลูกขึ้นมาบ่อยๆในช่วงนี้ ด้วยการให้มีน้ำนมน้อยๆ🌺
แม่จึงต้องอุ้มลูก ขึ้นมาดูดนมแม่บ่อยๆทุก 2 ชั่วโมง เมื่อแม่ลูกได้สัมผัสโอบกอดกันบ่อยๆ ลูกก็มีความมั่นใจว่า มีอ้อมแขนแม่ที่จะให้ความคุ้มครอง เมื่อลูกมั่นใจ มีความรู้สึกที่ดีต่อสภาพแวดล้อมใหม่ ลูกก็จะมีความสุข ปรับตัวเข้ากับโลกได้ดีขึ้นค่ะ
แม่บางคนกังวลว่า 3 วันแรก ลูกได้นมจำนวนไม่มากอย่างนี้ จะมีปัญหาไหม ลูกจะหิวไหม?
ภาพจาก bbc.com
เชื่อไหมคะว่า ทารกแรกเกิดครบกำหนดปกติ เขาจะมีน้ำและพลังงานสะสมอยู่มากพอเพื่อใช้ใน 2-3 วันแรกนี้อยู่แล้วค่ะ ดูที่แก้ม และแขนขาที่กลมกลึงสิคะ นั่นคือไขมันใต้ผิวหนังที่เป็นแหล่งเก็บสะสมพลังงานของเขาล่ะ
ทารกแรกเกิดสามารถมีชีวิตได้ถึง 4-7วันโดยไม่ได้กินนมเลย ค่ะ ดังเรื่องข้างต้น ที่ทารกแรกเกิดรอดชีวิตใต้ซากแผ่นดินไหวอยู่ได้ถึง 7วัน
นั่นแสดงว่า ทารกแรกเกิดครบกำหนด มีน้ำและพลังงานในร่างกายตัวเองเพียงพอประทังชีวิตได้ถึง 7 วัน ดังนั้น 2-3 วันแรกจึงไม่ต้องกังวลว่าลูกจะอด น้ำนมแม่ถึงจะน้อยอย่างไรก็พอสำหรับลูกในช่วงนี้ค่ะ
ขอให้ได้ดูดนมแม่เร็วที่สุดหลังคลอด และดูดบ่อยๆตามต้องการอย่างถูกวิธี ร่างกายแม่ก็จะเริ่มผลิตน้ำนมได้จนเพียงพอเท่าที่ลูกต้องการในที่สุดค่ะ
ยังมีคำถามคาใจอีกมากมาย “ลูกจะดูดนมแม่ถี่อย่างนี้ไปอีกนานเท่าไร?”
“จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำนมแม่เพียงพอจริงๆ?”
😀ไว้ตอบในตอนต่อไป รออ่านนะคะ😀
🌸ติดตามเรื่องน่ารู้ สุขภาพเด็ก ได้ทุกวันอังคาร และพฤหัส ที่”เขียนตามใจ ทำตามชอบ” ค่ะ 🌸 “เพราะชอบ จึงเขียน”
เอกสารอ้างอิง
2. Mexico’s Entombed Babiies win the Fight for Life” Oct ,1985 The New York Times section A page 2
3.”Pathophysiology of body fluids and fluid therapy “in Nelson Textbook of Pediatrics 16th Edition
4. “พัฒนาสมองด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ “พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล สำนักพิมพ์รักลูก พิมพ์ครั้งที่ 1 มกราคม 2545

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา