21 พ.ค. 2020 เวลา 12:51 • ครอบครัว & เด็ก
ตอนที่ 2 "ลูกตัวเหลือง"
"พ่อว่าลูกเราตัวเหลืองไหม? "ฉันเงยหน้าขึ้นถามจากเตียงเล็กของลูก ที่อยู่ ข้างเตียงของฉัน เราให้เอาลูกมาอยู่ด้วยกันในห้องตลอดเวลา เพื่อจะได้อุ้มมาดูดนมแม่ได้สะดวก
"หิวเมื่อไรก็แวะมา" แน่ะ ! อย่างกับร้านเซเว่นเลย
 
ลูกแรกเกิดของใครเคยตัวเหลืองบ้างคะ? ตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดเจอบ่อย ส่วนใหญ่ พบได้เป็นปกติในสัปดาห์แรก ที่เรียกกันว่า " physiologic jaundice" แปลว่า
"อาการตัวเหลืองที่เป็นปกติ” มักพบได้ในวันที่ 2 ถึง 4 หลัง
คลอด"
ภาพจาก https://www.benartestudio.com/17060308/qa
คืนที่สามนั้นเองที่ เราเริ่มสังเกตว่า ลูกตัวเหลือง โอ้โห! ตรงตามตำราเป๊ะ
“ คงจะเหลืองตามปกติ นิดหน่อยเท่านั้นเอง “ ปากก็บอกไปอย่างนั้น แต่เชื่อไหมคะ คืนนั้นทั้งคืนเฝ้าแต่มานั่งดูผิวลูกอยู่นั่นแหละ ดูเฉยๆไม่พอ เอานิ้วกดรีดเบาๆที่หน้าผาก ดูว่าเหลืองไหม ก็ดูเหลืองนิดหน่อยนะ 😟 เอ้า! เอานิ้วชี้สองข้างกดบนผิวที่หน้าอกอีก รีดออกจากกันให้ผิวตึง ...เหลืองจริงๆด้วย!
ในใจก็คิดไปสารพัด “ เฮ้ย! เหลืองจริงๆนะเนี่ย ถึงพรุ่งนี้จะเหลืองเป็นพระสังข์ทอง จนต้องเปลี่ยนเลือดหรือเปล่า…. “ ดึกๆลูกดูดนมแม่เสร็จ ก็ยังมากดผิวลูกดูอีกว่าเหลือง
ขึ้นไหม
“ ไม่เหลืองมากหรอกน่า อย่างมากก็แค่ส่องไฟ”
คิดวนไปมา แปดตลบกว่าจะนึกได้ว่าควรจะสวดมนต์แล้วนอนพักผ่อนจะ ดีกว่า “ ขอให้ผลบุญที่เคยทำไว้ ช่วยอย่าให้ลูกแม่เป็นอะไรเลย “
 
ชีวิตหมอเด็กที่เคยตรวจรักษาทารกแรกเกิดตัวเหลืองมามากมาย แต่พอมาเจอกับลูกตัวเอง วิธีคิดจะไม่ใช่ “หมอ”แล้ว แต่คิดแบบคนที่เป็น” แม่” คือ คิด กังวล และดูละเอียดแทบจะทุกขุมขน
 
เช้าวันรุ่งขึ้นเจาะเลือดก็เหลืองมากจนต้องส่องไฟจริงๆ ตามปกติจะต้องเอาไปส่องไฟในห้องเด็กอ่อน แล้วให้แม่เดินไปให้นมเป็นเวลา ซึ่งไม่สะดวกอย่างยิ่งสำหรับแม่หลังคลอดที่จะเดินไปมาทุก 2- 3 ชั่วโมง
“ เอามาส่องไฟในห้องพักนี่เลยค่ะ “
ทารกแรกเกิด ปิดตา นอนส่องไฟรักษาตัวเหลือง(ภาพจาก cdc.gov)
ถึงแม้จะไม่เคยมีใครทำมาก่อน ฉันก็ยืนยันที่จะให้เอาอุปกรณ์ที่จะใช้ คือนีออนที่ติดเป็นแถบ 4 ดวง มาส่องเหนือเตียงเด็กอ่อนในห้องพักหลังคลอดของแม่นี่เลย เปลือยกายลูก ปิดแผ่นฟิล์มที่ห่อด้วยผ้าก๊อส ลงบนดวงตาทั้งสองข้างป้องกันแสงจ้าเข้าตา
 
คืนนั้นลูกนอนสั่นหนาว จนต้องเอาโคมให้ความอุ่นมาส่องเพิ่มด้านข้าง แต่ฉันก็บรรลุวัตถุประสงค์ในการ ให้ลูกดูดนมแม่ต่อเนื่อง ไม่ต้องให้น้ำ ไม่ต้องให้นมอื่นเสริม ถึงแม้ลูกจะตัวเหลืองก็ไม่ต้องงดนมแม่แต่อย่างใด
ลูกแรกเกิดตัวเหลืองพบได้มากน้อยเท่าไร?
ทารกแรกเกิดครบกำหนด พบตัวเหลืองได้ 50-70% ส่วนใหญ่เป็นภาวะเหลืองที่พบได้ปกติ (physiological jaundice)
กลับบ้าน เมื่อหายเหลืองแล้ว
ทำไมทารกแรกเกิดจึงตัวเหลือง?
สารที่ก่อให้เกิด สีเหลืองบนผิว และที่ตาขาว เรียกว่า Bilirubin บิลิรูบิน ณ ที่นี้จะขอเรียกสั้นๆว่า “สารเหลือง” นะคะ
สารเหลืองนี้เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงตามปกติ ของวงจร ที่มีการเสื่อมสลาย และสร้างใหม่ตลอดเวลา เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ สารเหลืองจะถูกกำจัดโดยรก เมื่อแรกเกิด ทารกกำจัดสารเหลืองเองโดย ผ่านกระบวนการทำลายในตับ ถูกขับออกทางน้ำดี สู่ลำไส้ ออกมาในลำไส้ แล้วเป็นอุจจาระออกจากร่างกาย
ที่นี้ ตับของทารกแรกเกิดก็ยังทำงานได้ไม่เต็มที่เหมือนผู้ใหญ่ จึงจับสารเหลืองเข้าไปได้ไม่ดี ประกอบกับ สารเหลืองที่ถูกขับออกมาทางลำไส้ยัง ถูกดูดซึมกลับเข้าไปในกระแสเลือดได้อีก
ก็เลยกลายเป็น 2 เด้ง คือ ตับไม่ดี สารเหลืองเข้าตับน้อย ขับออกทางอุจจาระ แต่ย้อนกลับเข้าเลือดได้อีก นี่คือที่มาของตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดค่ะ
สารเหลืองนี้มีอันตรายกับทารกไหม?
ในภาวะเหลืองปกติ ((Physiological Jaundice) ระดับสารเหลืองจะขึ้นจาก 1-3 mg/dL ในสายสะดือ ด้วยอัตราที่น้อยกว่า 5 mg/dL ต่อ 24 ชม ดังนั้นความเหลืองจะขึ้นถึง 5-6 mg/dL ในวันที่2-4 หลังคลอด ซึ่งจะเริ่มสังเกตได้ด้วยตาว่า
เหลืองเรื่อๆ แล้วหลังจากนั้นจะค่อยๆลดลงจนต่ำกว่า 2mg/dLในวันที่ 5-7 หลังคลอด
ภาวะเหลืองปกติเช่นนี้ไม่อันตราย ไม่ต้องทำอะไร จะค่อยๆหายเหลืองไปตามธรรมชาติ เมื่อผ่านพ้นระยะนี้ไปแล้ว ทารกจะเจริญเติบโตตามปกติ และแข็งแรงดี
แต่ก็มีทารกแรกเกิดจำนวนน้อย ราว 6-7 %ที่มีค่าสารเหลืองมากกว่า 12.9mg/dL และ น้อยกว่า 3% ที่มีระดับสูงกว่า 15mg/dL
ถ้าลูกตัวเหลือง ต้องพากลับไปหาหมอเมื่อไร?
โดยทั่วไป ก่อนให้ทารกแรกเกิดกลับบ้าน หมอเด็กจะตรวจว่ามีตัวเหลืองหรือไม่อยู่แล้ว อย่างน้อยคือช่วงวันที่ 3ถึงวันที่ 7
แต่ถ้ากลับบ้านเร็วก่อนอายุครบ 72 ชม ก็ควรกลับมาเช็คเรื่องตัวเหลือง 2 วันหลังกลับบ้านค่ะ
อาการที่ควรจะพาลูกแรกเกิดกลับมาปรึกษาแพทย์
🔴ผิวหนังลูกเหลืองมากขึ้น โดยเฉพาะ ถ้าเหลืองถึงหน้าท้อง แขน หรือขา
🔴นัยน์ตาขาวของลูกดูเหลือง
🔴ลูกดูซึมลง นอนมากผิดปกติ
🔴ลูกดูดนมได้ไม่ดี
ทารกที่เหลืองมากผิดปกติ เหลืองเร็วภายในวันแรก หรือเหลืองนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือเหลืองร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ไข้ ซึม อาเจียน ต้องให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุค่ะ
ภาวะตัวเหลืองที่เกิดจากโรค (Pathologic Jaundice)ที่พบบ่อยคือ
1.ภาวะพร่องเอนไซม์ จี-ซิกซ์-พีดี (G-6-PD Deficiency) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยมากในประเทศไทย โดยเฉลี่ยพบในผู้ชายร้อยละ 12
2.กลุ่มเลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน มักเหลืองเร็ว บางรายเหลืองใน24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
3.สาเหตุอื่นๆ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด รอยช้ำจ้ำเขียวจากการคลอด เช่น การคลอดโดยใช้เครื่องดูด ยาที่แม่ได้ในระยะใกล้คลอด หรือระหว่างการคลอด ทำให้ยาบางส่วนผ่านรกไปสู่ทารก มีผลให้ตับต้องทำหน้าที่ทำลายยาเหล่านี้ จึงอาจจะกำจัดสารเหลืองได้ไม่ดี
🌺สรุป🌺
❣️ภาวะตัวเหลืองทารกแรกเกิดครบกำหนด พบได้ปกติ ตั้งแต่วันที่ 2-4 หลังคลอด ค่อยๆดีขึ้นภายใน 7 วัน
❣️ถ้าตัวเหลืองเร็วตั้งแต่วันแรก เหลืองนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือ เหลืองมาก แพทย์จะหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ
ร่วมกับส่องไฟรักษา หรือถ่ายเปลี่ยนเลือด (ถ้าเหลืองเกินขีดอันตราย)
❣️ทารกที่ตัวเหลือง โดยทั่วไป ไม่ต้องงดนมแม่ ควรให้ดูดนมแม่บ่อยๆ เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ ขับอุจจาระออก เป็นการขับสารเหลืองออกจากร่างกายไปด้วยในตัวค่ะ
ถ้าอ่านแล้วมีประโยชน์ โปรดติดตามตอนต่อไป วันอังคารหน้านะคะ ❤️ หรืออยากรู้เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ก็ยินดีที่จะไปหามาเขียนให้อ่านค่ะ
จะเขียนเรื่องการเลี้ยงลูก วันอังคาร และพฤหัส ส่วนสุดสัปดาห์ เสาร์อาทิตย์ ก็จะพาไปเที่ยวกันค่ะ 😀
ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ🥰

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา