28 พ.ค. 2020 เวลา 12:33 • ประวัติศาสตร์
“เหตุการณ์เทียนอันเหมิน” ประวัติศาสตร์โชกเลือดของจีนที่ถูกลบออกจากหน้ากระดาษ
เช้ามืดวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1989
ทหารจีนกว่า 300,000 นาย ติดอาวุธสงครามครบมือ พร้อมรถถัง 18 คัน
พวกเขาได้ยาตราทัพเข้าสู่จตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งอดีตเคยเป็นประตูสู่พระราชวัง
เมื่อเข้าไปถึงจตุรัสเทียนอันเหมินแล้ว พวกเขาพบศัตรูกว่าล้านคนที่อยู่ภายในจตุรัส...
ศัตรูที่มีเพียงป้ายกระดาษและธงอยู่ในมือ...
ศัตรูที่ตื่นตระหนกและหวาดกลัวเมื่อเห็นพวกเขา...
ในเวลาต่อมา พวกเขาสาดกระสุนเข้าใส่ศัตรูที่อยู่ภายในจตุรัส
พวกเขาใช้อาวุธสงครามเข้าห้ำหั่น ไม่สนว่าเป็นชาย หญิง เด็ก หรือคนแก่...
รถถังของพวกเขาเดินหน้าบดขยี้ศัตรูอย่างไร้ปรานี...
ศัตรูของพวกเขาวิ่งหนีกระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทางด้วยความหวาดกลัว
พากันบาดเจ็บล้มตายกันมหาศาล บ้างก็จากอาวุธสงคราม บ้างก็จากการโดนรถถังเหยียบ บ้างก็จากการเหยียบกันเอง...
พวกเขาไม่ได้กำลังทำสงคราม
แต่พวกเขากำลังสังหารหมู่...
สังหารหมู่ศัตรูของพวกเขา ที่ชื่อว่า ประชาชน...
ทุกท่านครับ นี่คือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของจีนที่ถูกฉีกออก
1
ประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดมืดบอดของรัฐบาลจีนและผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการพัฒนาจีนยุคใหม่อย่าง เติ้ง เสี่ยวผิง
ประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ปฏิเสธมาตลอด
ประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า “เหตุการณ์เทียนอันเหมิน 1989”
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าประวัติศาสตร์หน้านี้ให้ฟัง...
เหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี ค.ศ.1989 นั้น เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองของจีนครับ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในเวลาที่โลกของคอมมิวนิสต์กำลังจะพังทลายลง
โดยสาเหตุของเหตุการณ์มีหลายปัจจัยเชื่อมโยงกัน แต่ปัจจัยที่เป็นตัวเชื่อมหลักเลยก็คือ การเปลี่ยนประเทศจีนให้ทันสมัยโดยใช้นโยบายที่เรียกว่า “4ทันสมัย” นั่นเองครับ โดยมูลเหตุของเหตุการณ์ต้องขออนุญาตเล่าย้อนไปไกลซักนิดนึง...
ประเทศจีนหลังจากที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตงเอาชนะฝ่ายก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเช็คได้นั้น ได้ถูกเปลี่ยนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์ ใน ค.ศ.1949
แต่อนิจจา การปกครองของเหมานั้นถือว่าผิดพลาดไปหลายจุด โดยเฉพาะ “นโยบายก้าวกระโดดไกล” ที่ทำให้คนจีนอดตายไปมหาศาล ซ้ำยังกระหน่ำด้วยการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมจีนถอยหลังลงคลองแบบกู่ไม่กลับ...
ภาพจาก Britannica (การปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ที่ทำลายสังคมจีนอย่างย่อยยับ)
แต่แล้วก็มีอัศวินขี่ม้าขาว ได้มาปลุกพญามังกรจีนที่กำลังใกล้ตาย ให้กลับมามีกำลังวังชาอีกครั้ง อัศวินคนนั้นมีชื่อว่า เติ้ง เสี่ยวผิง
อันที่จริงแล้วเติ้ง เป็นบุคคลที่มีอำนาจอยู่ในพรรคเคียงข้างเหมา มาตั้งแต่ตอนที่ต่อสู้กับพรรคก๊กมินตั๋ง แล้วเติ้งก็เป็นผู้ที่เก็บกวาดผลงานที่เหมาได้ทำเละในนโยบายก้าวกระโดดไกล ซึ่งเติ้งสามารถฟื้นเศรษฐกิจของจีนที่กำลังจะตายจากนโยบายของเหมาขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้เติ้งได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น
แต่แล้วเติ้ง ก็ถูกกำจัดไปซะก่อน เพราะเหมาถูกเสี้ยมโดยแก๊งสี่คน (Gang of four) ว่าเติ้ง “เกินหน้าเกินตาเหมาจนเกินไป อาจจะมาฮุบอำนาจเอาซักวัน”
เมื่อโดนเสี้ยมหนักเข้าเหมาจึงเริ่มกลัวและกังวล จึงตัดสินใจส่งเติ้งให้ไปเป็นคนงานซ่อมรถแทรกเตอร์ที่เมืองชนบทห่างไกล หมดอำนาจทางการเมืองไปอย่างสิ้นเชิง กลังจากนั้นแก๊งสี่คนจึงก่อการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นมาทำลายสังคมจีนและเศรษฐกิจจนย่อยยับอีกครั้ง
แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มผ่อนคลาย เหมาจึงเริ่มคิดถึงเติ้ง (หมายถึงคิดถึงความสามารถที่เติ้งและผลงานที่เติ้งเคยทำนะครับ แหะๆ...) จึงตัดสินใจนำเติ้งกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง โดยคราวนี้กะให้เป็นทายาททางการเมืองเลยทีเดียวครับ! จึงทำให้แก๊งสี่คนไม่พอใจอย่างมาก
2
ดังนั้นแก๊งสี่คนจึงทำการเสี้ยมเหมาอีกครั้ง เหมาเมื่อโดนเสี้ยมครั้งนี้ ก็เนรเทศเติ้งอีก!! (โดนเสี้ยมง่ายสุดๆ)
1
แต่แล้วในที่สุดเหมาก็เสียชีวิตลงใน ปีค.ศ.1976 เหล่าคนที่ภักดีและยอมรับความสามารถของเติ้ง จึงนำเติ้งกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง แล้วกำจัดอำนาจของแก๊งสี่คนไปในที่สุด เติ้งจึงกลายเป็นบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศตั้งแต่ ค.ศ.1978 เป็นต้นมา
ภาพจาก Daily Maverick (เติ้ง เสี่ยวผิง)
เมื่อเติ้ง ขึ้นมามีอำนาจสูงสุด จึงเล็งเห็นว่า การปกครองประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์จ๋า มีแต่จะทำให้ประเทศไม่พัฒนาไปไหน เติ้งจึงสร้างระบบแบบใหม่ขึ้นมา คือ “ระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดภายใต้สังคมนิยม” พูดง่ายๆคือ ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่การเมืองต้องเป็นแบบสังคมนิยมที่อยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ (เป็นระบบการปกครองที่จีนใช้จวบจนปัจจุบัน)
2
แล้วนโยบายที่เติ้ง ควักออกมาใช้เพื่อฟื้นจีนจากอาการใกล้ตาย นั่นคือ “นโยบาย 4 ทันสมัย” ที่แต่เดิมเป็นแนวคิดของ โจว เอิ้นไหลได้คิดไว้ตั้งแต่สมัยของเหมา แต่เติ้งได้นำมาใช้ในการฟื้นฟูประเทศจีนขึ้นมาใหม่ในช่วงที่ตนเองมีอำนาจ ตั้งแต่ ค.ศ.1978
นโยบาย 4 ทันสมัย คือการปฏิรูป 4 ด้านของจีน ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นการปฏิรูปวิถีการผลิต วิถีชีวิตของคนจีนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
1
ยังไม่พอ เติ้งคิดว่า การที่จะทำให้ 4 ทันสมัยประสบผลสำเร็จสูงสุด คือการที่จีนต้องเปิดประเทศ ดังนั้นเติ้งจึงใช้ “นโยบายเปิดประตูประเทศ” โดยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนภายในประเทศได้
เติ้งคิดว่า จีนยังอ่อนหัดอย่างมากในเรื่องของเทคโนโลยี ดังนั้นการที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วนำเทคโนโลยีเข้ามาสู่จีน จะทำให้คนจีนเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยใช้วิธี C&D หรือ Copy & Development นั่นเอง พูดง่ายๆคือเรียนรู้จากการก๊อปปี้เทคโนโลยีของต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ซึ่งก๊อปปี้ซะจนในปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศที่เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี และมีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุดในโลก!! (น่าทึ่งจริงๆนะครับ)
1
4 ทันสมัย เป็นนโยบายที่สร้างรากฐานให้จีนในวันนั้น กลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในวันนี้จริงๆครับ (จริงๆมีรายละเอียดเยอะกว่านี้แต่ผมจะไม่ขอเล่าในที่นี้นะครับ)
ภาพจาก Chaina daily (เมืองเซินเจิ้น จากเมืองประมงเล็กๆเมื่อ ค.ศ.1980 สู่เมืองเจ้าแห่งเทคโนโลยีของโลกใน ค.ศ.2020)
การเปลี่ยนแปลงประเทศของเติ้ง นั้นทำให้เศรษฐกิจของจีนฟื้นตัวขึ้นมาจริงๆครับ แต่ก็มีผู้ที่ไม่พอใจในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทั้งสมาชิกในพรรค และประชาชนบางกลุ่มที่เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วจนเกินไป
และถึงแม้การเปลี่ยนแปลงประเทศของเติ้ง จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แต่กลับเกิดปัญหาใหม่ๆขึ้นมาแทน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองทางฝั่งตะวันออกและเมืองฝั่งตะวันตกที่ลึกเข้าไปในแผ่นดินจีน และที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาการคอร์รัปชัน...
เหล่าผู้นำและประชาชนบางกลุ่มต่างไม่พอใจในการเปลี่ยนแปลงนี้ บวกกับการเปิดประเทศของเติ้งนั้น ทำให้คนจีนได้รับเอาแนวคิด ค่านิยมของคนต่างชาติโดยเฉพาะตะวันตกเข้ามาในประเทศด้วย เหล่านักศึกษาปัญญาชนที่ไปเรียนต่างประเทศ เมื่อได้ไปเห็นโลกแห่งประชาธิปไตยอันเสรี ต่างมุ่งหวังอยากกลับมาเปลี่ยนแปลงประเทศของตัวเอง โดยเฉพาะการที่เห็นสหภาพโซเวียตเสื่อมถอยตกต่ำลง ทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างโลกคอมมิวนิสต์และโลกเสรี จนคนเหล่านี้คิดว่าซักวันจีนคงเป็นแบบโซเวียต ถ้าหากพรรคคอมมิวนิสต์ยังปกครองประเทศอยู่
ปัญหาและปัจจัยเหล่านี้แหละครับได้สะสมไว้ แล้วปะทุออกมาเป็นเหตุการณ์เทียนอันเหมินในที่สุด...
ภาพจาก Cast box (การประท้วงของนักศึกษาใน ค.ศ.1986
โดยความไม่พอใจนี้ได้เกิดเป็นการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยใน ค.ศ.1986 ขึ้นมาก่อนครับ ซึ่งเริ่มมาจากความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์ระหว่างหู เย่าปัง ที่ต้องการเปิดกว้างทางความคิด ให้เสรีภาพแก่ประชาชน กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้คงการปกครองแบบเดิมเอาไว้
หู เย่าปังนี่แหละครับที่ถือว่าเป็นฮีโร่ของเหล่านักศึกษา โดยได้ทำการแสดงความคิดเห็นว่าควรเปิดกว้างให้นักศึกษาปัญญาชนได้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง!!!
1
จากคำพูดของหู เย่าปัง ทำให้ไปโดนใจเหล่านักศึกษาเข้าอย่างจัง จนใน ค.ศ.1986 นักศึกษาทั่วประเทศจึงพากันเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย
รัฐบาลได้พยายามหยุดการหลั่งไหลของแนวคิดประชาธิปไตย แต่ทว่าสายเกินไปซะแล้ว เพราะจากการเปิดประตูประเทศ ทำให้แนวคิดนี้ได้แพร่หลายไปสู่นักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และนานกิง
จากการเดินขบวน กลายเป็นการติดโปสเตอร์ เผาหนังสือพิมพ์ ฯลฯ
1
แต่แล้ว การประท้วงของนักศึกษาก็สิ้นสุดลงอย่างง่ายดาย ไม่ใช่เพราะโดนรัฐบาลปราบปรามครับ แต่เนื่องจากตรงกับช่วงสอบ!!
1
ใช่ครับ เพราะต้องไปสอบ การชุมนุมประท้วงของนักศึกษาจึงจบลงอย่างกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น!...
แต่จากการประท้วงนี่แหละครับ ทำให้หู เย่าปัง ฮีโร่คนเก่งของนักศึกษาถูกบังคับให้ลาออกจากพรรค และอีก 3 ปีต่อมา คือ วันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1989 หู เย่าปังได้เสียชีวิตลง
โดยการเสียชีวิตของหู เย่าปังนี่แหละครับ คือชนวนเหตุของโศกนาฏกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในเทียนอันเหมิน...
ภาพจาก The New York Times (นักศึกษาไว้อาลัยการเสียชีวิตของหู เย่าปัง)
หลังการเสียชีวิตของหู เย่าปัง นักศึกษาในปักกิ่งหลายร้อยคนได้พากันเขียนข้อความไว้อาลัยและสดุดีให้หู เย่าปัง
เท่านั้นยังไม่พอครับ นักศึกษาได้พากันดินขบวนทั้งในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เพื่อร้องสดุดีให้หูเย่าปัง แล้วก็เดินขบวนไปรวมตัวกันที่จตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อสดุดีหู เย่าปังต่อ นับได้ว่าเป็นคนสำคัญที่เหล่านักศึกษารักและเคารพสุดๆไปเลยนะครับ หู เย่าปังคนนี้...
1
แต่แล้วจากตอนแรกที่เป็นเพียงการชุมนุมสดุดีหู เย่าปัง แต่ไปๆมาๆ ดันเลยเถิดครับ กลายเป็นการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพไปซะงั้น!! เหตุการณ์จึงบานปลายสิครับทีนี้...
2
การเดินขบวนเรียกร้องครั้งนี้เป็นรูปแบบและจริงจังกว่าการเดินขบวนใน ค.ศ.1986 และแน่นอนครับว่าครั้งนี้ไม่สลายไปเพราะติดสอบกันแน่นอน...
จากสถานการณ์แบบนี้แหละครับทำให้เติ้ง เริ่มแสดงความไม่พอใจ แล้วออกมาพูดว่า “การเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นการสร้างสถานการณ์ให้วุ่นวาย เพื่อให้ผู้นำพรรคและระบอบไม่เป็นที่ยอมรับ” แล้วหนังสือพิมพ์ก็นำคำพูดนี้ไปตีพิมพ์
แน่นอนครับว่า คำพูดของเติ้ง เหมือนเป็นการราดน้ำมันเข้าสู่กองไฟ เหล่านักศึกษามีปฏิกิริยาที่รุนแรงขึ้น!!
โดยเหล่านักศึกษาได้ชุมนุมกันตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน จนกระทั่งเข้าสู่วันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งถือเป็นวันสำคัญของจีนเช่นเดียวกัน เพราะเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ขบวนการ 4 พฤษภาคม ในค.ศ.1919 (เป็นเหตุการณ์ที่ขบวนการนักศึกษาออกมาประท้วงเช่นกัน) เหล่านักศึกษาจึงเริ่มใช้วิธีที่รุนแรงขึ้น คือ การอดอาหารประท้วง
รัฐบาลจีนพยายามขอร้องให้นักศึกษาหยุดชุมนุม เพราะประธานาธิบดีของโซเวียตจะเดินทางมาเยือนจีน โดยขอร้องให้นักศึกษาเห็นแก่หน้าตาของประเทศ
แต่นักศึกษาก็ไม่ยุติการชุมนุม
ทำให้รัฐบาลจีนต้องจัดพิธีต้อนรับประธานาธิบดีโซเวียตที่สนามบินแทน...
1
ภาพจาก ABC News (เหล่าผู้ชุมนุมในจตุรัสเทียนอันเหมิน)
เมื่อเห็นว่าจำนวนผู้ชุมนุมเริ่มมากขึ้นๆจนแทบจะหยุดไม่อยู่ รัฐบาลจึงส่งจ้าว จื่อหยาง และหลี่ เผิง ออกไปเจรจา แต่สุดท้ายก็แห้วครับ ไม่สามารถตกลงกันได้...
จนการชุมนุมลากยาวไปจนถึงเดือนมิถุนายน นักศึกษาได้กดดันให้เติ้ง เสี่ยวผิงลาออก ทั้งยังสร้างเทพีประชาธิไตยที่เป็นรูปจำลองของเทพีเสรีภาพของสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพ โดยเทพีจำลองนี้ทำด้วยโฟม สูง 33 ฟุต แล้วนักศึกษาได้นำไปตั้งไว้ที่ด้านหนือของจตุรัสให้หันหน้าเข้าไปทางประตูใหญ่
จนวันที่ 2 มิถุนายน นักศึกษาขู่ว่าจะอดอาหารประท้วงอีกครั้ง...
รัฐบาลเห็นแล้วว่าไม่สามารถพูดคุยตกลงอะไรกันได้อีกแล้ว จึงได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ...
ในค่ำวันที่ 3 ถึงเช้ามืดวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1989 ฝันร้ายก็ได้เริ่มขึ้น...
รัฐบาลส่งกองกำลังทหารกว่า 300,000 คน ติดอาวุธสงครามครบมือ พร้อมกับส่งรถถัง 18 คัน มุ่งเข้าสู่จตุรัสเทียนอันเหมิน
กองทัพที่รัฐบาลส่งไปทำการสลายการชุมนุมผู้ประท้วงในจตุรัสที่มีจำนวนประมาณ 1 ล้านคน อย่างย่อยยับ
มีการใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุม
เหล่าผู้ชุมนุมที่หวาดกลัวก็พากันหนีตาย และพยายามช่วยคนที่บาดเจ็บให้ออกไปจากพื้นที่
แต่ก็มีผู้ชุมนุมบางคนที่ลุกขึ้นมาสู้กับทหารด้วยเช่นกัน
การเสียชีวิตและบาดเจ็บเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย แต่กับฝ่ายประชาชนนั้นเรียกได้ว่า เละเลยทีเดียวครับ!
ถือเป็นการสังหารหมู่และโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่...
ภาพจาก Voice of America (ประชาชนที่บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม)
ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น รัฐบาลจีนได้เปิดเผยออกมาคือไม่กี่ร้อยคน แต่แน่นอนครับว่าไม่มีใครเชื่อตัวเลขที่รัฐบาลเผยออกมา...
จากการคาดการณ์และประเมินว่าเมื่อกองทัพมีการใช้อาวุธสงครามครบมือแล้ว น่าจะมีผู้เสียชีวิตในหลักพัน และผู้บาดเจ็บในหลักหมื่นเลยทีเดียว!!
1
หลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินนั้น รัฐบาลจีนยังคงเชื่อมั่นว่าตนเองทำถูกต้องแล้ว (น่าหดหู่จริงๆนะครับ) ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็แค่เพียงต้องการทำลายเหล่าผู้นำนักศึกษาที่ได้รับเงินสนับสนุนการเคลื่อนไหวจากไต้หวัน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาที่ต้องการบ่อนทำลายประเทศจีนเท่านั้นเอง
1
ซึ่งปรากฏว่าเหล่าผู้นำนักศึกษาก็ได้รับการสนับสนุนจริง!!
กลายเป็นว่าการชุมนุมนี้มีต่างชาติเข้ามาแทรกแซงด้วย (แต่ถึงอย่างไรรัฐบาลก็ผิดอยู่ดีครับในการใช้อาวุธสงครามกับประชาชน)
แน่นอนว่าภาพลักษณ์ของจีนเสียหายในระดับนานาชาติ ประเทศต่างๆพากันคว่ำบาตรจีนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง!!..
แต่รัฐบาลจีนกลับบอกว่า “ตูสนเรอะ! ยังไงพวกเอ็งก็ต้องกลับมาง้อตูเหมือนเดิม”
1
และเป็นอย่างที่รัฐบาลจีนคาดไว้ ประเทศที่พากันคว่ำบาตรไปก่อนหน้า ก็ทนไม่ไหว เพราะจีนเป็นตลาดและลูกค้ารายใหญ่ จึงพากันเลิกคว่ำบาตร แล้วกลับมาค้าขายกับจีนเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น! อย่างว่าแหละเนอะ ก็สิทธิมนุษยชนมันกินไม่ได้ไงครับ...
1
เท่ากับว่าคนเจ็บก็เจ็บฟรีไป คนตายก็ตายฟรีไป...
เหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเหล่านักศึกษาที่ฝันถึงประชาธิปไตยที่ไม่มีวันมาถึง
รัฐบาลจีนพยายามลบเหตุการณ์นี้ออกจากหน้าประวัติศาสตร์
ท่านจะไม่มีวันพบชื่อหรือภาพของเหตุการณ์เทียนอันเหมิน จากที่ใดก็แล้วแต่ในประเทศจีน
เหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น รัฐบาลเชื่ออย่างนั้น
แต่เรื่องราวทั้งหมดที่ผมเล่ามา คือเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ที่เกิดขึ้นจริง
แต่กลับเป็นประวัติศาสตร์ที่ว่างเปล่าสำหรับประเทศจีน...
ภาพจาก Blumberg

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา