31 พ.ค. 2020 เวลา 12:59 • ปรัชญา
นักศึกษาที่ทำกิจกรรมมากในระหว่างอยู่มหาวิทยาลัย เมื่อจบออกไปแม้เกรดจะไม่สวยหรู แต่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในชีวิต และหน้าที่การงานมากกว่า หลายคนกลับประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในสาขาที่ตัวเองไม่ได้เรียนเมื่อครั้งปริญญาตรีด้วยซ้ำ นั่นก็เพราะว่าจิตใจที่ได้รับการฝึกฝนแล้ว สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ ปริญญาบัตรเป็นเพียงใบเบิกทางเพื่อไปสู่ตำแหน่งงานที่ต้องการ แต่ความก้าวหน้าหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ปัจจุบันคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งเบาภาระของสมองซีกซ้ายของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น คนที่เก่งทางใช้สมองซีกซ้าย แม้จะจำข้อเท็จจริงแม่นในระดับอัจฉริยะหรือคำนวณได้อย่างรวดเร็ว แต่เขาก็จะไม่เก่งไปกว่าเด็กประถมที่รู้จักค้นหาสิ่งที่ต้องการจากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือใช้เครื่องคิดเลขเป็น ดังนั้น ความสำเร็จในยุคดิจิทัลจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ที่มีความสามารถในสิ่งที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ การประยุกต์ การจินตนาการ ฯลฯ
สมองซีกซ้ายสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต แต่สมองซีกขวาจะปิดการเรียนรู้ลงหลังจากอายุสิบสองปี ความรู้สึกต่าง ๆ ทางใจเกิดจากการทำงานของสมองซีกขวา ดังนั้น อารมณ์ความรู้สึกดี ๆ ในจิตใจต้องสอนกันก่อนประถมศึกษาปีที่หก
การสอนให้นักเรียนกระหายที่จะเรียนรู้ มีความอดทน ความขยัน ความซื่อสัตย์ มีสติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สำคัญมากกว่าการสอนข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ มากมายนัก เช่น นักศึกษาแพทย์ควรมีอุปนิสัยในทางเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา รวมทั้งมีทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา¹ ซึ่งสำคัญกว่าการมีความรู้มาก เพราะถ้าพวกเขามีความเมตตา กรุณา ปีติที่จะเกิดจากความต้องการในการแสวงหาความรู้เพื่อช่วยให้คนไข้หายป่วยจะตามมาเอง
¹ทาน (การให้ เสียสละ) ปิยวาจา (การใช้ถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน) อัตถจริยา (การสงเคราะห์ทุกชนิด) และสมานัตตา (ความเสมอต้นเสมอปลาย) เป็นองค์ประกอบของสังคหวัตถุ ๔ อันเป็นหลักธรรมที่สอนให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "มรดก ไอน์สไตน์" | ทันตแพทย์สม สุจีรา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา