1 มิ.ย. 2020 เวลา 09:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
EP.085 - ตัวอย่างการใช้ 7 Element frameworks : Livongo Case
ใน Episode ที่แล้ว ผมเล่าไปแล้วว่า บริษัทแบบไหนที่น่าลงทุน เราจะมี Framework ในการวิเคราะห์อย่างไร ต้องพิจารณาดูอะไรบ้าง ใครยังไม่ได้อ่าน แนะนำให้อ่านตอนที่แล้วก่อนนะครับ จะได้เข้าใจพื้นฐานความคิดก่อน
Link ตอนที่แล้ว
Facebook Page : https://bit.ly/2TZAI89
ในตอนนี้ เราจะยกเอา 7 Element frameworks มาลองใช้งานให้ดูจริงๆว่า จะใช้อย่างไรในสถาการณ์จริงๆเมื่อเราเจอบริษัทที่น่าสนใจ
***** ย้ำอีกครั้งนะครับว่า ขั้นตอนนี้ ยังเป็นแค่การคัดกรองหุ้นที่น่าลงทุน แต่ว่ายังไม่สามารถลงทุนได้นะครับ จนกว่าเราจะ Valuation เพราะ หุ้นที่ดีอาจจะไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุนก็ได้ถ้าหากว่าเราลงทุนในราคาที่แพงเกินไป *****
ผมได้เจอ Livongo Health เมื่อประมาณต้นเดือนมกราคมปีนี้ครับ (Ticker ที่ใช้ในตลาดหุ้นคือ LVGO) เพราะฉะนั้นในตอนนี้เรา เราจะย้อนเวลากลับไปเมื่อเดือนมกราคม ปี 2020 กันนะครับ ว่าตอนนั้นที่ผมเจอหุ้นตัวนี้ ผมคิดอย่างไร วิเคราะห์อย่างไร ทำไมผมถึงชอบหุ้นตัวนี้มาก (หุ้นตัวนี้เป็นสัดส่วนอันดับ 1 ของพอร์ตผมเลยในตอนนั้น)
สำหรับ Livongo Health ผมไปบังเอิญเจอคนเขียนบทความถึงหุ้นตัวนี้ใน Seeking Alpha ครับ พอได้อ่านคร่าวๆทำให้เข้าใจไอเดีย ผมเลยปิ๊งขึ้นมาทันทีเลยครับว่า เฮ้ย โมเดลแบบนี้น่าสนใจ เพราะมันช่วยคนได้นี่นา
โดยก่อนหน้านี้ เราเริ่มจะเห็นอุปกรณ์ทางการเเพทย์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ หรือ Apple Watch ที่สามารถอ่านข้อมูลทางสุขภาพของเราแบบ Realtime ได้แล้ว ทำให้ผมก็เคยมีความคิดอยู่ว่า การรักษาโรคจะไม่ได้อยู่แค่ในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่สามารถเข้าอยู่ที่ชีวิตประจำวันเราได้ด้วย รวมถึง จะเริ่มเปลี่ยนจากการรักษา(Cure) มาเป็นการป้องกัน(Prevention) มากขึ้น
Livongo ทำ Platform สำหรับดูเเลผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดนมี Vision คือ ต้องการให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้เครื่องวัดน้ำตาลในเลือดที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้, มี Coach ที่ดูแลและให้คำแนะนำผู้ป่วยตลอด 24/7
Short review Livongo for Diabetes >>> https://bit.ly/2ZSMTHy
ผมคิดว่าตลาดมีความต้องการเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และ น่าจะเป็นโอกาสการลงทุนที่ดีจึงทำการศึกษา โดยจากนี้ ผมจะอธิบายเป็นข้อๆตาม 7 Element frameworks ว่า หุ้นตัวนี้ ผ่านเกณฑ์ทั้ง 7 ข้ออย่างไร
1. Innovation
Livongo มี Product Innovation สิ่งที่เค้านำเสนอให้กับผู้ใช้คือ การใช้เทคโนโลยี และ Data มาช่วยทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีขึ้น โดย Livongo เรียก Data เหล่านั้นว่า Applied Health Signal
โดยเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดของ Livongo จะต่ออินเตอร์เน็ตได้ และ อัพโหลดผลขึ้นไปที่ Cloud และประมาณผลออกมาเป็นคำแนะนำต่างๆแบบ Realtime ตัวอย่างเช่น ควรออกกำลังอย่างไร ควรทานอาหารแบบไหน โดยผู้ใช้แต่ละคนก็จะได้รับคำแนะนำไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับข้อมูลของคนใช้ Livongo ใช้สิ่งที่เรียกว่า Health nudge ในการโน้มน้าวหรือชักจูงให้ผู้ใช้แต่ละคนอยากที่จะทำตามเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
หรือถ้าหากว่า ผู้ป่วยมีค่าน้ำตาลในเลือดที่ต่ำหรือสูงเกินไป ก็จะมีบริการให้คำเเนะจาก Personal Coach ไม่ว่าจะทาง Text หรือ Call แล้วแต่ว่าผู้ใช้จะสะดวกใช้งาน
สังเกตดูว่า ในบริการอย่างเช่น Content, Community, Commerce เราได้เจอการปฏิวัติจากบริษัทอย่าง Google Facebook Amazon เข้ามาช่วยทำให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีขึ้นแล้ว แต่ในบริการอย่าง Healthcare เรายังมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แทบจะไม่ได้ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนเลย
โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะได้เข้าพบหมอ 3 เดือนครั้ง หมอก็มักจะให้คำแนะนำนู่นนี่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็อาจจะทำตามได้ซัก 5-10 วัน จากนั้นก็เริ่มลืม ผ่านไปอีก 3 เดือนก็เข้าไปพบหมอใหม่ ก็กลับวนเข้าลูปเดิม ยิ่งไปกว่านั้น หมอก็รู้ข้อมูลหรือผลเลือดของเราแค่วันที่เราเข้าไปพบหมอเท่านั้น หมอส่วนใหญ่ไม่มีทางรู้เลยว่า ระหว่าง 3 เดือนนั้น เกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วยบ้าง (น้อยคนจริงๆที่จะจดบันทึกทุกวันว่า วัดค่าน้ำตาลในเลือดเป็นเท่าไหร่)
ผมชอบที่ Livongo นำสิ่งที่เรียกว่า Internet of Things และ Data มาประยุกต์ใช้ให้เป็นบริการที่ดีขึ้นแก่ผู้ใช้ ผู้ป่วยสามารถได้รับคำแนะนำและ Coaching ตลอด 24/7 หมอเจ้าของไข้ก็สามารถที่จะรู้ประวัติทุกอย่างของผู้ป่วยได้อย่างครบถ้วน ทำให้การรักษาสามารถทำได้ดีขึ้น ดีขึ้นกับทุกฝ่าย
Innovation แบบนี้ ผมคิดว่าน่าสนใจ ที่จะเข้ามาช่วยทำให้การดูเเลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังได้มีชีวิตที่ดีขึ้นครับ
2. Marketing Strategy
ขอข้ามมาเรื่องนี้ก่อน เพราะ การอธิบายในเรื่องนี้ก่อน จะทำให้การอธิบายในเรื่องของ Value Propositon ได้ง่ายขึ้น
โมเดลการทำการตลาดของ Livongo เป็นแบบที่เราเรียกว่า B2B2C ทำให้ในวงจรนี้ จะมีผู้เล่น 3 parties ก็คือ
1. Livongo ผู้ให้บริการ
2. Client ลูกค้า(ผู้จ่ายเงิน) เช่น องค์กร บริษัทประกัน รัฐบาล
3. User ผู้ใช้งาน เช่น พนักงาน ข้าราชการ ผู้ประกันตน
ว่ากันง่ายๆ Livongo ขายบริการให้กับลูกค้า(Client) ซึ่งก็คือ องค์กรต่างๆที่มีสวัสดิการออกค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่พนักงาน(แบบ PTT SCG ที่บ้านเรา) บริษัทประกัน(คนอเมริกาเกือบทุกคนต้องมีประกัน เพราะค่ารักษาพยาบาลแพงมาก) หรือ แม้แต่รัฐบาลที่ดูเเลข้าราชการก็เป็นลูกค้าของ Livongo โดยผู้ใช้งานหรือ User อย่างพนักงาน ข้าราชการ ผู้ประกันตน สามารถใช้งานได้ฟรีตราบเท่าที่ยังมีสถานะนั้นๆกับองค์กรอยู่
วิธีการทำการตลาดแบบนี้ มีข้อดีตรงที่ ถ้าหากเราขายบริษัทที่มีพนักงานเยอะๆได้ จะทำให้เราได้ฐานลูกค้าที่ใหญ่มาเป็นจำนวนมากทันที ทำให้การเข้าสู่ตลาดง่ายกว่าแบบ B2C แต่ข้อเสียคือ มันเป็นการขายแบบ Wholesale ซึ่งราคาต่อหน่วยมักจะต่ำกว่าการขายแบบ B2C
ในตอนนั้น Livongo สามารถที่จะเซ็นสัญญากับลูกค้าได้มากถึง 771 clients และมี User ถึง 208,000 คน โดยเเจ้งไว้อีกว่า เพิ่งจะมีลูกค้าแค่จำนวน 20% จากบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500 แสดงว่ายังมีโอกาสที่เติบโตได้อีกมาก
โดยรายได้ของ Livongo จะคิดเงินจาก Client เป็นแบบ Subscription model $75 ต่อผู้ใช้ต่อเดือน
3. Value proposition
ในเมื่อเป็นธุรกิจแบบ B2B2C ทำให้นอกจากบริษัทผู้ให้บริการแล้ว ยังมี 2 parties ที่เราต้องมาพิจารณา
เริ่มจาก User ก่อน สิ่งที่ User จะได้จากบริการของ Livongo เลยก็คือ ฟรี !!! อันนี้สำคัญเลย เพราะ โดยปกติแล้ว ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกของ Livongo ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเงินค่าซื้อเครื่องวัดน้ำตาลเอง จ่ายค่า Stripe สำหรับใช้ตรวจเอง การได้ใช้ฟรี ทำให้ผมคิดว่าเป็น Value Proposition ที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้งานมีแรงจูงใจที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ Livongo ได้ง่าย
แถมเมื่อใช้งานแล้ว ถ้าได้ทำตามโปรแกรมที่ Livongo แนะนำ ก็จะทำให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย เป็นอีกหนึ่ง Value Proposition ที่ผู้ใช้งานจะได้รับอีกด้วย
ต่อไปเรามาดูกันว่า อะไรคือ Value proposition ของฝั่ง Client อะไรคือสิ่งที่ทำให้องค์กรต่างๆอยากที่จะยอมจ่ายเงินให้พนักงานของตัวเองใช้บริการเหล่านี้ได้ฟรีๆ
ผมคิดว่า สิ่งที่ Livongo ใช้ในการจูงใจลูกค้าเหล่านั้นให้มาเซ็นสัญญาก็คือ การที่ Livongo ทำวิจัยให้เห็นถึงข้อดีของการใช้งานบริการของ Livongo นั่นเอง
ในงานวิจัยบอกเอาไว้ว่า ผู้ใช้งานที่ใช้ Livongo นั้น สามารถที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของพนักงานได้ถึง $1,908 ต่อคนต่อปี
ในส่วนนี้ เราต้องมาเข้าใจกันก่อนว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถ้าหากว่าควบคุมค่าน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายตามมาเป็นจำนวนมาก เช่น การเข้ารักษาใน Emergency room ในกรณีที่มีอาการป่วยเฉียบพลัน การมีโรคเเทรกซ้อนที่เกี่ยวเนื่องจากโรคเบาหวาน ซึ่งในระบบ Healthcare ของอเมริกานั้น เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า มันมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ผู้ป่วยเองจะเข้าไปพบหมอไม่ได้ง่ายๆเหมือนเมืองไทยบ้านเรา จะนัดหมอทีต้องนัดล่วงหน้าเป็นเดือนๆ
ทำให้เมื่อพนักงานเหล่านั้นมีสุขภาพที่ดีขึ้น จึงทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของบริษัทนั้นลดลง รวมถึงเมื่อไม่ป่วย Productivity ของพนักงานเหล่านั้นยังดีขึ้นอีกด้วย
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะ ผู้เกี่ยวข้องใน Ecosystem ของ Livongo นั้นได้ประโยชน์ทุกๆฝ่าย มันจึงมีแรงผลักดันให้การเติบโตของ Livongo เป็นไปได้ง่ายขึ้น
โดยสรุป ทุกอย่างมันตอบโจทย์สิ่งที่เค้าต้องการ
User ได้ใช้ของฟรี (ใครๆก็ชอบของฟรี)
ส่วนฝั่ง Client ที่เป็นบริษัท ถ้าเค้าจะซื้อบริการอะไร ฝ่ายจัดซื้อหรือผู้บริหารมักจะต้องหาเหตุผลไปอธิบายหัวหน้าเค้าให้ได้ว่า ทำไมต้องจ่ายเงินก้อนนี้ เมื่อ Livongo สามารถนำเสนอผลตอบเเทนจากการลงทุน (ROI: Return On Investment) จากการซื้อบริการนี้ได้ มันก็ง่ายที่จะสร้างจูงใจให้แก่องค์กรที่จะยอมควักเงินออกมาจ่ายนั่นเอง
ในส่วนนี้ ผมคิดว่า Livongo ทำการบ้านมาดีมาก ที่สามารถนำเสนอ Value proposition ให้เเก่ผู้เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด
4. Market identification
แน่นอนว่า ถ้าเราอยากจะให้หุ้นขึ้นเยอะๆ เราก็ต้องอยากให้เค้ามีตลาดที่ใหญ่มากๆ เพราะ แสดงว่า การเติบโตของหุ้นจะมีเยอะมากๆ
เรามาดูกันว่า ตลาดของ Livongo มีขนาดใหญ่แค่ไหน
ประชากรของอเมริกาเกือบครึ่งของประเทศเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ไตวาย โรคหัวใจ และใน 40% ของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีอาการมากกว่า 1 โรคอีกด้วย ตามสถิติในอเมริกา มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 31 ล้านคน และ ความดันโลหิตสูงอีก 39 ล้านคน
การคำนวณ Total Addressable Market(TAM) ของ Livongo นั้น ก็ตามภาพข้างบนเลยครับ TAM ทั้งหมดมีมูลค่า $46,000 ล้าน โดนแบ่งเป็น โรคเบาหวาน $28,200 ล้าน และ ความดันโลหิตสูง $18,500 ล้าน
นี่คืออีกส่วนนึงที่ผมชอบใน Livongo เพราะ เค้าเริ่มจากการดูเเลคนเป็นเบาหวาน ก่อนที่จะก้าวข้ามไปสู่โรคความดันโลหิตสูง ทำให้ TAM ของเค้าใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยในตอนนี้ตามที่ผู้บริหารให้ข่าว ก็พยายามเข้าไปให้บริการเกี่ยวกับ Weight management และ Pre-diabetes อีกด้วย (TAM ยิ่งจะเยอะขึ้นไปอีก)
ถ้ามาดูจำนวนยอดสมาชิกผู้ใช้งานของ Livongo จำนวนสมาชิก 208,000 รายคิดเป็น market share เป็นแค่ 0.6 % เท่านั้น ทำให้มีแนวโน้มที่จำนวนสมาชิกจะเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ถ้าหากบริการเหล่านี้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
5. Sustainable competitive advantage
จะมีประโยชน์อะไร ถ้าหากว่า บริษัทสามารถเป็นผู้เล่นคนเเรกในตลาดได้ แต่สุดท้ายโดนคู่แข่งแซงหน้าไปได้ เราไม่ได้ต้องการเป็น First mover แต่เราต้องการเป็น The last mover เพราะนั่นแสดงว่า คู่แข่งรายต่อๆไปไม่สามารถเข้ามาแข่งขันด้วยได้แล้ว (นึกถึง Google ในเรื่องของ Search engine)
ในธุรกิจของ Livongo อะไรเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน ?
ในความคิดเห็นของผมนั้น สิ่งที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถที่จะใช้งานได้ดี Livongo จะต้องให้ 2 สิ่งแก่ผู้ใช้ ก็คือ Trust และ Experience
ถ้าหากว่า ผู้ใช้งานมี Trust กับผู้ให้บริการ เชื่อในคำแนะนำ ก็จะชอบงานต่อเนื่องไม่หนีไปใช้กับคู่แข่ง
ถ้าหากว่า ผู้ใช้งานมี Experience ในการใช้งานที่ดี ก็จะอยู่เป็นลูกค้าของเราต่อไป
แต่ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของการจะทำให้มี Trust และ Experience คือ Data
เพราะเป้าหมายของ Livongo platform คือ การทำให้ผู้ใช้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
ถ้าจะทำให้ User มีสุขภาพที่ดีขึ้น >>> User ก็ต้องทำตามคำแนะนำที่ให้ไว้
ถ้าจะทำให้ User ทำตามคำแนะนำที่ให้ไว้ >>> Platform ก็ต้องรู้วิธีการให้คำแนะนำที่ดี
ถ้าจะทำให้ Platform รู้วิธีการให้คำแนะนำที่ดี >>> Platform ก็ต้องมีการทดลองทำหลายๆรูปแบบ
ถ้าจะทำให้ Platform มีการทดลองทำหลายๆรูปแบบ >>> Platform ต้องมีฐาน User เยอะ ทำให้มี Data เอาไปวิเคราะห์ได้มากกว่า
ยิ่ง Platform มีจำนวนฐานผู้ใช้งานเยอะเท่าไหร่ ประสิทธิภาพของ Platform ก็จะยิ่งดีขึ้น
เพราะฉะนั้น ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริการนี้ คือ การที่มีฐานลูกค้าที่เยอะ ยิ่งจะทำให้ได้เปรียบ
อย่างไรก็ตามเราก็จำเป็นต้องมองในหลายๆมุมด้วย เช่น ในเรื่องเทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ การเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า หรือถ้ามีคู่แข่งอย่าง Google หรือ Apple เข้ามาแข่งจะทำอย่างไร เพราะ Google มี Fitbit, Apple มี Apple watch ที่สามารถตรวจวัดน้ำตาลในเลือดได้ในอนาคต
แต่ผมก็คิดว่า ในธุรกิจนี้ ผู้ชนะไม่น่าจะสามารถที่จะกินรวบได้หมด ผมคิดว่าผู้ชนะจะมีหลายราย คิดว่ามีโอกาสสูงที่ Livongo จะเป็น 1 ในจำนวนนั้น
6. Business Model & Financial Plan
ในเรื่องนี้ ขอโชว์เป็นรูปก่อนเลยครับ จะเห็น Trend การเติบโตของ Livongo เป็นอย่างดี
ข้อดีก็คือ รายได้เติบโตสูงและ Recuring, มี Gross profit margin ระดับที่สูงถึง 70%
ส่วนตัวเร่งที่จะทำให้การเติบโตของรายได้และจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็มาจากการเพิ่มจำนวนสมาชิกต่อลูกค้าแต่ละราย การขยายออกไปให้บริการในโรคอื่นๆ หรือการเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าใหม่ๆ
ซึ่งแต่ละข้อ ผมคิดว่า ค่อนข้างมีความเป็นไปได้
ถึงแม้ตอนนี้บริษัทยังคงขาดทุนอยู่ แต่ว่า Free cash flow ใกล้จะเป็นบวกแล้ว และผู้บริหารยังคาดการณ์ว่า ในปลายปี 2021 บริษัทน่าจะเริ่มมีกำไรแล้วอีกด้วย ด้วยจำนวนเงินสดที่มีอยู่ในบริษัทในตอนนี้ น่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องของสภาพคล่องใดๆ
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ guideline ในอนาคตให้เห็นด้วยว่า ภาพระยะยาวของงบการเงินของบริษัทควรจะเป็นอย่างไร
เราจะเห็นได้ว่า ในส่วนของ S&M R&D G&A จะลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับรายได้ เพราะส่วนนี้เป็นต้นทุนคงที่ ที่จะไม่ได้เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น และสิ่งนี้เองที่จะทำให้บริษัทมีกำไรได้ในอนาคต
ผมคิดว่าด้วยข้อมูลทางการเงินทั้งหมดและแนวโน้มที่ผมพอจะหาได้ การขาดทุนในปัจจุบันของ Livongo เป็นสิ่งที่ยอมรับได้และมีโอกาสที่การเติบโตในอนาคตจะทำให้บริษัทมีกำไรได้
7. Team
ในส่วนนี้ ระหว่างที่ผมหาข้อมูลของ Livongo ผมก็พยายามฟังคลิปการสัมภาษณ์ของ Glen Tullman ไปด้วย
Tullman มีไอเดียในการสร้างบริษัทนี้ขึ้นมาจากการที่ลูกชายของเค้าเป็นโรคเบาหวานและคิดว่าเราน่าจะมีวิธีการในการดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น ผมคิดว่า Tullman มี Passion ที่จะทำให้ Livongo ประสบความสำเร็จและทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น
สิ่งที่ผมประทับใจอีกอย่างคือ ใน Stage ที่บริษัทต้องการการเติบโต เค้าเลือกที่จะลงจากตำแหน่ง CEO เพื่อตั้ง Zan Burke เข้ามารับช่วงต่อโดย Burke นั้นมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ (ทำเอาผมนึกถึงเคสของ Google ที่ Larry Page ลงจากตำแหน่งแล้วตั้ง เอริก ชมิดช์ขึ้นมาเป็น CEO)
ส่วนคุณหมอ Jennifer เองก็เป็นโรคเบาหวานด้วย เค้าก็คงจะมี passion ที่จะทำให้ Livongo ดีขึ้นเพื่อผู้ป่วย(และเพื่อตัวเอง)
โดยสรุป ผมค่อยข้างพอใจกับส่วนประกอบของทีมนี้
ทั้งหมดคือสิ่งที่ผมวิเคราะห์หุ้น Livongo ไว้เมื่อตอนเดือนมกราคมครับ
ผมคิดว่าทุกอย่างดูดี ทำให้บริษัทนี้ผ่านเข้ามาอยู่ในตะกร้า “ลงทุนได้” ของผมเรียบร้อยแล้ว
Step ต่อไปจากนี้ คือ ราคาที่เราจะเลือกลงทุนควรจะเป็นเท่าไหร่ ราคาตอนนี้น่าลงทุนหรือไม่ รวมไปถึง Exit strategy ด้วยว่า เราจะขายออกเมื่อไหร่ และ โอกาสในการขายนั้นจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะค่อยๆเล่าให้ฟังในตอนต่อๆไปครับ
ติดตามอ่านบทความตอนเก่าๆได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา