2 มิ.ย. 2020 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
“วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)” รัฐบุรุษแห่งสหราชอาณาจักร ตอนที่ 3
สงครามโลกครั้งที่ 1 และขาลง
ชีวิตคู่ระหว่างวินสตันและคลีเมนไทน์เป็นไปอย่างราบรื่น
ครอบครัวเชอร์ชิลล์อาศัยอยู่ในบ้านพักของกองทัพเรือในลอนดอน โดยในเวลานั้น แจ๊ค น้องชายของวินสตันเองก็ได้แต่งงาน มีครอบครัวและพักอยู่ในลอนดอนเช่นกัน ซึ่งวินสตันและแจ๊คก็มักจะมาพบกันเสมอๆ
ต่อมา 28 มิถุนายน ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) “อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย (Archduke Franz Ferdinand of Austria)” และพระชายา ได้ถูกปลงพระชนม์โดยชายชาวเซอร์เบียที่ต้องการให้เซอร์เบียเป็นอิสระจากอำนาจของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
การลอบปลงพระชนม์ อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย (Archduke Franz Ferdinand of Austria)
นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากอีกหนึ่งเดือนต่อมา จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ก็ได้ประกาศสงครามต่อเซอร์เบีย
2
ยุโรปได้แบ่งออกเป็นฝักฝ่าย โดยเยอรมนี จักรวรรดิอ็อตโตมันในตุรกี และอิตาลี ได้เข้าร่วมกับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยกลุ่มนี้เรียกว่า “มหาอำนาจกลาง (Central Powers)”
1
ในขณะที่สหราชอาณาจักร เซอร์เบีย รัสเซีย และฝรั่งเศส ได้จับมือกันเป็นพันธมิตร เรียกว่า “สัมพันธมิตร (Allied Powers)” โดยในช่วงแรก สหรัฐอเมริกายังคงไม่เข้ากับฝ่ายไหน จนกระทั่งช่วงปลายสงคราม คือในค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) สหรัฐอเมริกาจึงเข้าร่วมกับสัมพันธมิตร
สำหรับวินสตัน เขามีความสุขกับอาชีพการงานของเขามาก
1
เขาชื่นชอบการเป็นผู้บังคับบัญชาเหล่าทหารเรือ เขารู้สึกสนุกและตื่นเต้นในการส่งกองเรือไปรบยังทะเลห่างไกล ซึ่งบางที นี่อาจจะทำให้เขานึกถึงสมัยเป็นเด็ก เล่นกับทหารของเล่น
แต่ความตื่นเต้นและสนุกในหน้าที่ก็ทำให้วินสตันผยองและประมาท
ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) วินสตันส่งเรือรบจำนวน 15 ลำเข้าไปปฏิบัติภารกิจในตุรกี อีกทั้งยังส่งทหารอีกกองหนึ่งเข้าไปในชนบทของตุรกีอีกด้วย
แต่ดูเหมือนว่ามหาอำนาจกลางจะเตรียมพร้อมอยู่ก่อนแล้ว กองทัพของมหาอำนาจกลางได้ยิงเหล่าทหารอังกฤษที่โจมตีชายฝั่ง และยังสามารถจมเรือรบอังกฤษได้อีกสามลำ
ในเวลาไม่นาน เรือรบอังกฤษอีกสี่ลำก็ระเบิด อีกสองลำนั้นใช้การไม่ได้ ทำให้วินสตันต้องสั่งถอยทัพทันที
จากความล้มเหลวในปฏิบัติการนี้ ทำให้วินสตันถูกสั่งปลดจากกองทัพเรือ และปฏิบัติการนี้ก็เสียชีวิตทหารสัมพันธมิตรไปถึง 252,000 นาย
วินสตันนั้นเสียใจมาก แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะรับใช้ชาติ
วินสตันอาสาออกรบในแนวหน้า ซึ่งในปีค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) วินสตันก็ถูกส่งไปยังฝรั่งเศส
วินสตันใช้เวลาสู้รบและกินนอนอยู่ในสนามเพลาะของแนวหน้าเป็นเวลากว่าห้าเดือนครึ่ง โดยเขามักจะเขียนจดหมายถึงภรรยา ขอให้ส่งของใช้จำเป็น เช่น รองเท้าบู๊ท หรือ ถุงนอนมาให้เสมอๆ
ภายหลัง วินสตันได้เดินทางกลับอังกฤษ และในปีค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) วินสตันได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลเรื่องอาวุธของทหารในสงคราม โดยวินสตันต้องรับผิดชอบอาวุธทุกชิ้นที่ถูกส่งไปให้ทหารอังกฤษที่กำลังสู้รบ ซึ่งวินสตันก็ทำหน้าที่นี้มาตลอดจนสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงในปีค.ศ.1918 (พ.ศ.2461)
ภายหลังสงคราม วินสตันได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี โดยมีหน้าที่นำทหารที่ไปรบกลับบ้านและสามารถมีชีวิตที่ปกติ
กองทัพที่เคยมีทหารนับล้าน ภายหลังสงคราม เหลือเพียงแค่หลักพันเท่านั้น
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น วินสตันจึงออกนโยบายโดยยึดหลักการ “มาก่อน ออกก่อน” นั่นหมายถึงทหารที่ยินยอมออกรบเป็นรายแรกๆ จะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านเป็นรายแรกเช่นกัน
นอกจากนั้น วินสตันยังช่วยเรื่องของการแบ่งเขตดินแดนในตะวันออกกลางให้กับประเทศที่เป็นอิสระจากตุรกี
ค.ศ.1921 (พ.ศ.2464) วินสตันยังได้รับตำแหน่งใหม่ นั่นคือ “รัฐมนตรีอาณานิคม (Colonial Secretary)” ซึ่งทำให้เขาต้องทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง
นอกจากนั้น วินสตันยังทำงานร่วมกับขบวนการผู้รักชาติในไอร์แลนด์ที่ไม่ต้องการอยู่ใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร
วินสตันได้ช่วยสร้างสนธิสัญญาสันติภาพ ทำให้ส่วนหนึ่งของไอร์แลนด์เป็นประเทศอิสระ
ในช่วงเวลาที่วินสตันกำลังวุ่นวายอยู่กับงานนี้เอง ก็เป็นช่วงเวลาที่น่าเศร้าสำหรับชีวิตของเขา
แม่ของวินสตัน ซึ่งเริ่มจะใกล้ชิดกับเขาภายหลังการตายของพ่อของวินสตัน ได้เสียชีวิตลงในวัย 67 ปี ภายหลังตกจากบันได
ต่อมาไม่นาน “มาริโกลด์ (Marigold)” ลูกสาววัยเพียงสามขวบของวินสตันก็ได้ป่วยด้วยอาการติดเชื้อและเสียชีวิต
มาริโกลด์ เชอร์ชิลล์ (Marigold Churchill)
ทั้งวินสตันและคลีเมนไทน์ได้อยู่ข้างเตียงของเธอ ดูแลเธอ โดยทั้งคู่ร้องเพลงกล่อมเด็กเพลงโปรดของเธอเพื่อช่วยเธอผ่อนคลาย
มาริโกลด์เสียชีวิตในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1921 (พ.ศ.2464) สร้างความเสียใจให้ทั้งคู่มาก โดยเฉพาะคลีเมนไทน์ที่ร้องไห้ฟูมฟายอย่างเจ็บปวด
ตลอดชีวิตของวินสตัน เขามักจะไปเยี่ยมหลุมศพของลูกสาวคนนี้เสมอ
ค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) วินสตันและคลีเมนไทน์ได้มีลูกคนที่ห้าและเป็นคนสุดท้าย นั่นคือ “แมรี่ (Mary)” และในเดือนต่อมา วินสตันต้องเข้ารับการผ่าตัดใส้ติ่ง ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้ง ทำให้เขาไม่สามารถออกไปหาเสียงและต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง
แมรี่ เชอร์ชิลล์ (Mary Churchill) ลูกสาวคนสุดท้องของวินสตันในวัยชรา
วินสตันได้เขียนถึงช่วงเวลานี้ว่า
“ภายในพริบตาเดียว ฉันก็กลายเป็นคนที่ไม่มีงาน ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีสังกัดพรรค และก็ไม่มีใส้ติ่ง”
วินสตันและคลีเมนไทน์ได้ซื้อบ้านในชนบทที่เคนท์ ชื่อว่า “ชาร์ตเวลล์ (Chartwell)”
ชาร์ตเวลล์ (Chartwell)
ช่วงเวลาที่ว่างงานนี้ วินสตันได้ใช้เวลาไปกับการวาดภาพ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่เขาเริ่มโปรดปรานตั้งแต่ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1
การวาดรูปทำให้วินสตันรู้สึกผ่อนคลาย และเขาก็ทำได้ดีมาก
นอกจากการวาดรูป วินสตันก็ยังมีเวลาเขียนหนังสือ โดยขณะที่ไปพักผ่อนยังฝรั่งเศสกับแจ๊คและครอบครัว วินสตันก็ได้เขียนหนังสือ “The World Crisis” ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1
ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) วินสตันได้หวนกลับเข้าการเมืองอีกครั้ง โดยครั้งนี้ เขาได้ย้ายพรรคอีกครั้ง ไปอยู่กับพรรคอนุรักษ์นิยม
1
เขาได้รับการเลือกเข้าสภา และแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งสหราชอาณาจักร รับผิดชอบเรื่องเงินทั้งหมดภายในประเทศ
นี่นับว่าเป็นตำแหน่งที่แปลกประหลาดสำหรับวินสตัน ที่ผ่านมา สมัยเรียน เขาสอบตกคณิตศาสตร์มาโดยตลอด แต่ก็เป็นตำแหน่งเดียวกับที่พ่อเขาเคยดำรงตำแหน่งเมื่อ 40 ปีก่อน
วินสตันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นเวลาถึงห้าปี โดยเขาทำหน้าที่นี้ได้ไม่ดีนัก และตัวเขาเองก็ไม่ชอบหน้าที่นี้เลย
วินสตันเคยกล่าวว่านี่คือตำแหน่งที่แย่ที่สุดที่เขาเคยได้รับ
ไม่เพียงแต่วินสตันที่ไม่พอใจ แต่ชาวอังกฤษเองก็ไม่พอใจเช่นกัน
คนนับล้านตกงานและมีฐานะยากจน ซึ่งทุกคนก็โทษวินสตันและรัฐบาล
พฤษภาคม ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) วินสตันและพรรคอนุรักษ์นิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ในเวลานั้น วินสตันมีอายุได้ 55 ปี
นับจากนี้ วินสตันจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลานานกว่า 10 ปีเลยทีเดียว ซึ่งทุกคนต่างก็คิดว่าอาชีพการงานและความรุ่งเรืองของเขามาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
พวกเขาเข้าใจผิดมากเลยทีเดียว
เรื่องราวของวินสตันจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา