6 มิ.ย. 2020 เวลา 05:40 • ประวัติศาสตร์
“วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)” รัฐบุรุษแห่งสหราชอาณาจักร ตอนที่ 4
2
สงครามโลกครั้งที่ 2 และการกลับมาผงาด
ภายหลังพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง วินสตันก็ได้ตัดสินใจเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเดินสายบรรยาย
ในเวลานั้น วินสตันมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกเนื่องจากเขาเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง และเขายังเป็นนักเขียนอีกด้วย ทำให้หลายคนอยากฟังเขาบรรยายเรื่องเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1
ภายหลังจบทัวร์บรรยาย เขาก็เดินทางกลับอังกฤษ และใช้เวลาส่วนใหญ่วาดภาพและเขียนหนังสือ และมักจะจัดปาร์ตี้มื้อเย็นเลี้ยงแขกของครอบครัวเสมอ
ในเวลานี้ ลูกๆ ของวินสตันต่างโตกันหมดแล้ว บางคนก็ไปเรียนที่โรงเรียนประจำ บางคนก็ย้ายออกไปอยู่คนเดียว
วินสตันนั้นใกล้ชิดกับลูกๆ โดย “แรนดอล์ฟ (Randolph)” ลูกชายของเขา เป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่ง และเขากับแรนดอล์ฟมักจะมีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันและมักจะเถียงกันบ่อยๆ แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็กอดคอกันได้
ตั้งแต่ปีค.ศ.1929-1939 (พ.ศ.2472-2482) วินสตันได้เขียนหนังสือถึง 11 เล่ม โดยเรื่องที่เขียนก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ในวัยหนุ่มของเขา และมีเรื่องของบรรพบุรุษของเขา และสงครามโลกครั้งที่ 1
นอกจากนั้นเขายังเขียนบทความลงนิตยสารต่างๆ โดยผู้คนก็สนใจในงานเขียนของวินสตันอย่างมาก
ถึงแม้ในตอนนี้วินสตันจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เขาก็คอยจับตาดูการเมือง ติดตามข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่พ่ายสงคราม และในเวลานี้ ผู้นำเยอรมนีคนใหม่ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” ก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่ารังเกียจชาติพันธุ์อื่นอย่างมาก
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
ฮิตเลอร์นั้นโทษชนชาติอื่น โดยเฉพาะ “ชาวยิว” ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ในเยอรมนี
วินสตันนั้นมองขาด เขาคิดตั้งแต่ทีแรกว่าฮิตเลอร์อาจจะเป็นผู้ที่ก่อสงครามครั้งใหม่ และได้เขียนบทความเตือนประชาชนว่าฮิตเลอร์คือบุคคลอันตรายและต้องการจะยึดครองยุโรปทั้งทวีป
วินสตันต้องการให้อังกฤษเตรียมพร้อมสำหรับสงครามครั้งใหม่ ซึ่งประชาชนต่างก็ไม่ได้สนใจในคำเตือนของวินสตันนัก เนื่องจากอังกฤษเองก็บอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่นกัน
กันยายน ค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) “เนวิลล์ แชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain)” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้เดินทางไปยังมิวนิค ประเทศเยอรมนีเพื่อพบฮิตเลอร์
ฮิตเลอร์ได้ทำผิดสัญญา เขาได้ตั้งกองทัพเพื่อที่จะบุกออสเตรีย แชมเบอร์เลนจึงเดินทางมาเพื่อหวังจะเจรจา
เนวิลล์ แชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain)
แชมเบอร์เลนและฮิตเลอร์ได้ทำข้อตกลง โดยทั้งคู่ได้เซ็น “ข้อตกลงมิวนิค (Munich Agreement)”
ตามข้อตกลง ฮิตเลอร์สามารถยึดครองเชโกสโลวาเกีย และฮิตเลอร์ก็สัญญาว่าจะไม่บุกประเทศอื่น
เมื่อข้อตกลงนี้เป็นที่พอใจของสองฝ่าย แชมเบอร์เลนก็ได้เดินทางกลับอังกฤษในฐานะของวีรบุรุษ โดยเขาได้กล่าวว่า เขาได้ “สร้างสันติภาพ”
แต่อย่างไรก็ตาม คนที่ดูจะไม่ไว้ใจฮิตเลอร์เลยก็คือวินสตัน
วินสตันเชื่อว่าฮิตเลอร์จะไม่รักษาสัญญา และเขาก็คิดถูก
การลงนามในข้อตกลงมิวนิค
ปีต่อมา เยอรมนีบุกโปแลนด์ และสหราชอาณาจักรก็ได้ประกาศสงคราม
3 กันยายน ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสก็ได้ประกาศสงครามต่อเยอรมนี โดยแชมเบอร์เลนได้มาขอให้วินสตันกลับไปดำรงตำแหน่งเดิม คือผู้บัญชาการกองทัพเรือ
ได้เวลากลับมาผงาดของวินสตันแล้ว
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา