8 มิ.ย. 2020 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
“วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)” รัฐบุรุษแห่งสหราชอาณาจักร ตอนที่ 5
นายกรัฐมนตรีและสงครามโลกครั้งที่ 2
แชมเบอร์เลนไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่เด็ดขาดหรือเก่งพอในยามสงคราม และได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483)
สหราชอาณาจักรจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และคนที่ดูจะเหมาะสมที่สุดก็คือวินสตัน
ในเวลานี้ วินสตันวัย 65 ปี ได้มารับตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต และเป็นตำแหน่งที่เขาเตรียมตัวมาตั้งแต่ยังเด็ก
นั่นคือการเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร
วินสตันได้กล่าวในปราศรัยแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“ผมไม่มีอะไรจะให้นอกจากเลือด การทำงานหนัก น้ำตา และหยาดเหงื่อ
ขอให้พวกเราก้าวไปข้างหน้าด้วยการร่วมแรงร่วมใจกัน”
เหล่าสมาชิกสภาต่างปรบมือให้แก่วินสตัน ทุกคนต่างเชื่อมั่นในตัวเขา
เดือนแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีของวินสตันนั้นไม่ราบรื่นนัก ในเวลานั้น กองทัพเยอรมันได้รุกรานไปหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เบลเยี่ยม ฮอลแลนด์ และลักเซมเบิร์ก และอังกฤษก็ไม่สามารถต้านทานได้
ผ่านไปเพียงหกสัปดาห์ ฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรหนึ่งเดียวของอังกฤษก็ได้ยอมแพ้ต่อเยอรมนี ทิ้งให้อังกฤษสู้อย่างโดดเดี่ยว
วินสตันได้พูดปราศรัยให้กำลังใจประชาชนอยู่เสมอๆ โดยคำพูดของเขาได้รับการออกอากาศไปทั่วประเทศ และตัวเขาเองก็ใส่ใจในคำพูดที่จะพูดออกไปอย่างมาก
วินสตันมักจะใช้เวลาเตรียมตัวพูดนาทีละหนึ่งชั่วโมง หากว่าสปีชนั้นยาว 30 นาที เขาจะใช้เวลาในการเตรียมบทพูดถึง 30 ชั่วโมง
แต่การเตรียมตัวอย่างหนักของวินสตันก็ได้ผลดี สปีชของเขาให้กำลังใจผู้คนได้ดี ทำให้ผู้คนสามัคคีและภาคภูมิใจในชาติ อีกทั้งยังทำให้ทหารรู้สึกฮึกเหิม
“หากสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพยืนยงมาได้นับพันปี ผู้คนก็ยังคงจะกล่าวว่า “นี่คือเวลาที่ยอดเยี่ยม””
ฤดูร้อน ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) เยอรมนีได้ทำการโจมตีอังกฤษ เครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมันได้ทำการทิ้งระเบิดใส่ลอนดอนเป็นเวลากว่า 57 คืน ทำให้ผู้คนต้องหนีตาย ไปนอนอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดิน
ลอนดอนกลายเป็นเมืองที่มีแต่ซากปรักหักพัง บ้านนับล้านหลังถูกทำลาย
ครอบครัวของวินสตันและแจ๊ค น้องชาย ต้องย้ายไปอยู่ในชนบท แต่วินสตันและแจ๊คยังคงอาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านที่ลอนดอน
วินสตันปฏิเสธที่จะเข้าไปหลบในบังเกอร์หลบภัยที่ทางการเตรียมไว้ให้ โดยเขาจะใช้เวลาตอนกลางคืน ขึ้นไปบนหลังคาตึกที่ทำการรัฐบาล คอยดูการระเบิด และก็จะกลับบ้านของตน
วินสตันไม่ต้องการจะมีสิทธิพิเศษเหนือประชาชน เขาอยากแสดงให้เห็นว่าเขาอยู่ข้างประชาชนและได้รับความเดือดร้อนไม่ต่างจากประชาชน
กองทัพอากาศอังกฤษได้พยายามที่จะปกป้องเมืองและต่อสู้สุดความสามารถ แต่จากการทิ้งระเบิดของฝ่ายเยอรมนี ก็ได้ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 23,000 คน
วินสตันจะเดินตรวจความเสียหายภายหลังจากที่เครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมันไปแล้ว และเขาจะให้กำลังใจเหล่าผู้รอดชีวิต บอกให้เข้มแข็ง ซึ่งประชาชนก็เชื่อมั่นและไม่ยอมแพ้
ความสามัคคีของชาวอังกฤษได้ผล เยอรมนีได้เปลี่ยนเป้าหมายไปโจมตีสหภาพโซเวียตแทน
ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) วินสตันได้พบปะกับประธานาธิบดี “แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)” แห่งสหรัฐอเมริกา
ทั้งคู่ได้หารือกันบนเรือ “Prince of Wales” ซึ่งเป็นเรือรบสัญชาติอังกฤษ และขณะนั้นได้อยู่ในแคนาดา
ผู้นำทั้งสองชาติหารือและเห็นตรงกันว่าทั้งสองชาติจะปกป้องสิทธิในการเลือกรัฐบาลของชาติตน และทั้งสองชาติจะต้องอยู่โดยปราศจากความหวาดกลัว
รูสเวลต์ไม่ได้ตกลงที่จะให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงคราม แต่ก็ได้ตกลงที่จะสนับสนุนด้านอาวุธ เสบียง และสิ่งของจำเป็นต่างๆ แก่กองทัพสัมพันธมิตร
แต่ต่อมา วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) ภายหลังจากที่ฐานทัพเพิร์ล ฮาร์เบอร์ถูกญี่ปุ่นโจมตี สหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมสงคราม โดยอยู่ข้างสัมพันธมิตร
รูสเวลต์โทรหาวินสตันพร้อมกับประโยคประวัติศาสตร์ที่พลิกหน้าของสงครามโลกครั้งที่สอง
“พวกเราทั้งหมดลงเรือลำเดียวกันแล้วนะ”
1
เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้าครับ
โฆษณา