4 มิ.ย. 2020 เวลา 12:24 • ครอบครัว & เด็ก
❤️ฮอร์โมนดาวเด่น แม่ลูกผูกพัน❤️
“อ๊อกซิโทซิน”
เรารู้จักฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินเป็นครั้งแรก ในแง่มุมของการดูดนมแม่ ว่าคือ ตัวกลางประสานใจ ทำให้แม่อยากกอด อยากอุ้มลูก
มีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับฮอร์โมนนี้ในช่วงหลังคลอด
เกิดอะไรขึ้นเมื่อมีทารกมาดูดนมที่เต้าแม่ ?
มีการตอบสนองเป็นลูกโซ่ค่ะ ตั้งแต่ การส่งสัญญาณประสาทผ่านไขสันหลัง ไปยังสมองส่วน hypothalamus ซึ่งมีกลุ่มเซลล์อยู่ 2 กลุ่ม กระตุ้นทำให้มีการหลั่ง อ๊อกซิโทซินเข้าสู่กระแสเลือด ส่งไปยังเซลล์ กล้ามเนื้อบางๆ(myoepithelium )ที่ล้อมรอบต่อมผลิตน้ำนม ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและบีบไล่น้ำนมออกไป เรียกว่า Milk ejection reflex
ภาพจาก Pinterest.com
ทารกที่วางอยู่บนอกแม่และพยายามจะขยับเขยื้อนตัว ใช้มือไขว่คว้าบนเต้านม ถือเป็นการนวดและกระตุ้นการหลั่งอ๊อกซิโทซินไปด้วยในตัวค่ะ
ปากลูกที่ดูดนมแม่ก็ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกมาเป็นระลอกๆ บีบกล้ามเนื้อเล็กๆรอบต่อมผลิตนมให้หดตัวไล่น้ำนมออกมาเป็นระยะๆเช่นเดียวกัน
ต่อมผลิตน้ำนม ที่มีกล้ามเนื้อบางๆห่อหุ้ม เมื่อกล้ามเนื้อหดตัว ไล่น้ำนมพุ่งออกมาตามท่อน้ำนม
นอกจากนี้อ๊อกซิโทซินยังทำให้เส้นเลือดบริเวณเต้านมขยายตัว นับเป็นเครื่องทำความอุ่นอย่างดีให้กับลูก ปลายมือปลายเท้าลูกจะอุ่น และมีสีชมพู
จากการศึกษาในหนูทดลอง ขณะที่ดูดนมแม่พบว่าแม่หนูจะนอนนิ่งสงบ ส่วนใหญ่จะนอนหลับด้วยซ้ำ เมื่อเจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนที่ทำให้เครียด (cortisol) พบว่ามีระดับลดลง และความดันเลือดลดลง ในคนก็พบเช่นเดียวกัน แม่ลูกจะนอนกกกอดหลับไปด้วยกัน
กลไกน้ำนมพุ่ง (Milk ejection reflex)
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้คงอยู่แค่ระยะสั้นๆ แต่มีผลระยะยาวตลอดการให้นมแม่ทีเดียว พบว่า แม่ที่ให้นมลูก จะมีความมั่นคง สงบ ไม่ถูกเร้าโดยสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ
งานการสิ่งอื่นๆเก็บไว้ก่อน ขณะนี้ขอเพียงได้อยู่ใกล้ๆลูก ส่วนใหญ่แม่จะไม่เบื่อที่จะต้องอุ้มลูกขึ้นมาดูดนมแทบจะตลอดเวลา และแม่ไม่คิดว่าการให้นมลูกเป็นการเสียเวลา
ในงานวิจัยของ Dr. Moberg พบว่า ยิ่งแม่นิ่งสงบมากเท่าไร จำนวนระลอกของอ๊อกซิโทซินที่หลั่งออกมาในแต่ละมื้อนม ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น นั่นคือ แม่ยิ่งสงบ ยิ่งทำให้มีการบีบตัวไล่น้ำนมออกจากเต้าได้ดีมากขึ้น
อ๊อกซิโทซินที่หลั่งออกมาในช่วงนี้ ทำให้แม่ สงบลง “ลดทอนความเครียดจากขบวนการเกิด” และที่น่าประหลาดอีกอย่างคือ ฮอร์โมนนี้ สามารถเปลี่ยนความทรงจำที่ไม่ดีให้กลับกลายเป็นดีได้ด้วย
ภาพจาก Pinterest.com
ลองไปถามแม่ที่เพิ่งคลอดเองดูก็ได้ค่ะ ว่าจำได้ไหมว่าเจ็บปวดแค่ไหน ส่วนใหญ่จะเบลอๆ จำไม่ค่อยได้ว่าเจ็บ และบอกว่าการคลอดก็ไม่ค่อยน่ากลัว เพราะ ความทรงจำแย่ๆถูกบดบังด้วยผลของอ๊อกซิโทซินนี่เอง
ผลของอ๊อกซิโทซินไม่ได้มีเฉพาะช่วงสั้นๆหลังคลอด แต่มีผลระยะยาวด้วย แม่ที่ได้อยู่กับลูกใกล้ชิด อุณหภูมิของร่างกายแม่จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามอุณภูมิของลูก คือ ถ้าลูกตัวเย็นแม่ก็จะปรับตัวเองให้ร้อนขึ้นเพื่อให้ลูกอบอุ่น
ความผูกพันระหว่างแม่ลูกที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น ความเครียดน้อยลง แม่ลูกมีความสงบ ความดัน และชีพจรช้าลง ผลโดยรวมคือ ความสัมพันธ์แม่ลูกที่ดี และ ลูกมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น
🌺สรุป🌺
ฮอร์โมน อ๊อกซิโทซิน ทำให้
-แม่สงบ ใจเย็น ไม่เครียด ชีพจรช้าลง ความดันลดลง
-น้ำนมในเต้าของแม่ ไหลพุ่งออกมา จากกลไกน้ำนมพุ่ง
-เต้านมอุ่น ลูกอบอุ่น เพราะเลือดไปเลี้ยงเต้านมมากขึ้น
-เกิดความผูกพันแม่ลูก ส่งผลระยะยาว ต่อพัฒนาการทางร่างกาย และจิตใจของลูก
อ๊อกซิโทซินหลั่งมากขึ้น เมื่อ
-แม่ลูกกอดกัน ผิวลูกกับแม่ได้สัมผัสกัน เริ่มเร็ว และบ่อยเท่าไรยิ่งดี
-ลูกดูดน้ำนมแม่จากเต้า
-แม่อารมณ์ดี จิตใจสบาย
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ วิถีธรรมชาติ อยู่คู่กับมนุษย์มานาน
ก่อให้เกิด “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ระหว่าง แม่-ลูก
🥰ความรักที่เริ่มต้น ต่อเนื่องไปยาวนาน เริ่มที่ “อ้อมกอดแม่ “นี้เองค่ะ
Reference
1. Uvnas Moberg, K et al. Personality traits in women 4 days postpartum and their correlation with plasma levels of oxytocin and prolactin Journal of Obstetrics and Gynaecology 1990 : 11 261-273)
2. The Oxytocin Factor, Tapping the Hormone of Calm , Love and Healing . Kerstin Uvnas Moberg
Chapter 8 : Nursing – Oxytocin Starring Role p. 75-81

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา