5 มิ.ย. 2020 เวลา 01:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ผู้ช่วยถ่ายละอองเกสรของชวนชม
หลายคนที่ปลูกชวนชมอาจจะสงสัยว่า ทำไมดอกชวนชมดอกใหญ่ สีสวย แต่ไม่หอม และทำไมถึงไม่ค่อยมีสัตว์และแมลงมาตอมชวนชมเลย ถึงแม้ดอกจะสวยน่าดึงดูดขนาดนี้ วันนี้เราจะไปหาคำตอบกันครับ
ชวนชมเป็นชื่อเรียกรวมๆ ของพิชในสกุล [Adenium] ซึ่งเป็นไม้อวบน้ำ (Succulent) พืชในสกุลนี้ทั้งหมดในโลกมี 5 ชนิด แต่ชนิดที่เรานำมาปลูกกันอย่างแพร่หลาย คือ [Adenium obesum] ชวนชมทั้ง 5 ชนิดมีการแพร่กระจายในธรรมชาติในทวีปแอฟริกา โดย [Adenium obesum] เป็นชนิดที่มีการแพร่กระจายกว้างที่สุดตั้งแต่ประเทศเซเนกัลถึงเอธิโอเปีย และจากโซมาเลียถึงทานซาเนีย รวมถึงอียิปต์ และตะวันออกกลาง และนิยมนำไปปลูกในพื้นที่อื่นๆ จนมีการแพร่กระจายในธรรมชาติ (Naturalized) เช่น ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
กรอบสีแดงแสดงขอบเขตการแพร่กระจายของชวนชมชนิด [Adenium obesum] (แผนที่ดัดแปลงจาก https://mapswire.com/download/africa/africa-physical-map.jpg)
ในแอฟริกา น้ำยางจากรากและลำต้นของชวนชมมาใช้ในการผลิตลูกศรพิษสำหรับล่าสัตว์ เนื่องจากพิษจากน้ำยางนี้สามารถฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่ได้เร็ว และทำให้ตายได้หลังจากที่สัตว์หนีไปได้ไม่ไกลจากตำแหน่งที่ถูกยิง โดยในน้ำยางของชวนชมนี้จะมีสารพิษกลุ่มคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ (Cardiac glycoside) ที่ช่วยเพิ่มแรงบีบของหัวใจ นอกจากนั้นน้ำต้มของเปลือกและใบสามารถนำมาใช้เบื่อปลาได้ ในทางตรงกันข้าม หลายพื้นที่ก็ใช้ชวนชมเป็นยาสมุนไพร รักษาโลกต่างๆ เช่น กามโรค โรคผิวหนัง ฆ่าเหา ช่วยสมานแผลได้
โดยทั่วไปแล้ว พืชจะมีดอกที่จะมีลักษณะที่ดึงดูดให้ผู้ผสมเกสรมาช่วยในการผสมพันธุ์ แต่สำหรับชวนชมแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีดอกสีชมพูสวยงาม แต่ไม่มีกลิ่นหอม และถ้าเราเคยปลูกชวนชมเราไม่ค่อยสังเกตเห็นแมลงมาตอมเพื่อช่วยผสมพันธ์ุ โดยสาเหตุหนึ่งเนื่องจากโครงสร้างของดอกชวนชมแตกต่างจากดอกไม้อื่นๆ ที่มีอับเรณูของเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียยื่นออกมานอกดอก แต่เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียของดอกชวนชมนั้นจะซ่อนอยู่ที่โคนของดอก รวมถึงน้ำหวานที่มีในดอกด้วย และถ้าเราต้องการผสมพันธุ์ชวนชมระหว่างสองต้น จะต้องฉีกดอกเหมือนรูปข้างล่าง และนำละอองเกสรตัวผู้จากต้นหนึ่ง ไปแปะลงบนยอดเกสรตัวเมียของอีกต้น
มนุษย์อาจจะทำได้ไม่ยาก แต่สัตว์ชนิดใดจะสามารถผสมดอกไม้ที่มีโครงสร้างแบบนี้ได้?
โครงสร้างดอกชวนชมเมื่อมองจากภายนอก
โครงสร้างของดอกชวนชมผ่าครึ่งที่แสดงอับเรณูของเกสรตัวผู้และยอดเกสรตัวเมีย ไม่ได้ยื่นออกมานอกดูก แต่ซ่อนอยู่ลึกภายในดอก
เพื่อเปรียบเทียบ ตำแหน่งอับเรณูของเกสรตัวผู้และยอดเกสรตัวเมียของดอกชบายื่นออกมาภายนอกดอกอย่างชัดเจน
ซึ่งโดยลักษณะโครงสร้างของดอกแบบนี้มีวิวัฒนาการมาเพื่อตอบสนองต่อแมลงที่มีโครงสร้างปากที่แข็งแรงและปากยาวที่สามารถสอดปากเข้าไปถึงโคนดอกและดูดน้ำหวานและเก็บละอองเกสรตัวผู้ โดยการศึกษาในชวนชมชนิด [Adenium swazicum] ในธรรมชาติพบผีเสื้อกลางคืนกลุ่มมอธเหยี่ยว (Family Sphingidae) ที่มีปากยาวคล้ายหลอดดูด มีการสอดปากเข้าไปในดอกของชวนชม ทำให้เชื่อได้ว่าผีเสื้อกลุ่มนี้เป็นผู้ผสมเกสรที่สำคัญของพืชกลุ่มชวนชม โดยสีที่สดใสของชวนชมอาจจะมีบทบาทที่จะดึงดูดผีเสื้อกลุ่มนี้ที่หากินในเวลากลางวันและกลางคืนมาช่วยในการผสมเกสรอีกด้วย โดยมีการสนับสนุนจากการศึกษาในพืชในสกุล [Mandevilla] ที่เป็นพืชกลุ่มใกล้เคียงกันกับชวนชมที่พบในอเมริกาใต้ พบว่า มอธเหยี่ยวนี้มีบทบาทสำคัญในการผสมเกสรพืชในกลุ่มนี้เช่นกัน
มอธเหยี่ยวที่มีโครงสร้างปากยาวและแข็งแรงที่คาดว่าน่าจะเป็นตัวช่วยผสมเกสรให้ชวนชมและพืชชนิดพันธุ์ใกล้เคียง (ที่มา By Charles J Sharp, from Sharp Photography, sharpphotography, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=61644342)
เมื่อชวนชมได้รับการผสมเกสรแล้ว ก็จะติดผลเป็นฝักรูปร่างโค้ง 2 ฝัก และภายในจะมีเมล็ดที่มีปีกปลิวไปตามลมได้
ฝักชวนชมที่แตกออกมาแสดงเมล็ดที่มีขนสามารถลอยไปตามลมได้ดี
ถ้าชอบพืชอวบน้ำ อย่าลืมไปอ่านเรื่องกระบองเพชรนะครับ มี 2 ตอนด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Colombo, Ronan Carlos, Cruz, Maria Aparecida da, Carvalho, Deived Uilian de, Hoshino, Rodrigo Thibes, Alves, Guilherme Augusto Cito, & Faria, Ricardo Tadeu de. (2018). Adenium obesum as a new potted flower: growth management. Ornamental Horticulture, 24(3), 197-205. https://dx.doi.org/10.14295/oh.v24i3.1226
4. van der Walt, Karin. (2016). Population biology and ecology of Adenium swazicum. 10.13140/RG.2.1.4557.0169.
5. Endress, M.E., Schumann, S.L. and Meve, U. 2007. Advances in Apocynaceae: the enlightenment and introduction. Annals of the Missouri Botanical Garden 94(2): 259-267.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา