29 พ.ค. 2020 เวลา 01:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จุดกำเนิดของอาโวคาโด
อาโวคาโด [Persea americana] เป็นผลไม้ที่มีรสชาติแปลกไปจากผลไม้อื่นๆ คือ มีความหวานที่น้อย แต่มีความมันมาก เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันมากกว่าผลไม้อื่นๆ โดย 75% ของพลังงานที่ได้จากการกินอาโวคาโดนั้นมาจากไขมัน โดยเมื่อเรากินอาโวคาโด 100 กรัม เราจะได้รับพลังงานถึง 160 กิโลแคลอรี่ (เพื่อเปรียบเทียบ ทุเรียน 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 145 กิโลแคลอรี่ มะม่วง 100 กรัมให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่)
เนื้อของอาโวคาโด (ที่มา By cyclonebill from Copenhagen, Denmark - https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Avocado_(5380598941).jpg, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=47400851)
อาโวคาโด ผลไม้รสชาติแปลกๆ และชื่อแปลกๆ นี้มาจากไหน? และมีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไรบ้าง วันนี้เราจะไปสำรวจกันครับ
อาโวคาโดเป็นพืชในวงศ์อบเชย (Family Lauraceae) มีต้นกำเนิดอยู่ในบริเวณอเมริกากลาง (แถบประเทศเม็กซิโก) โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีว่า มนุษย์กินอาโวคาโดในธรรมชาติเป็นอาหารตั้งแต่เมื่อ 9,000-10,000 ปีก่อน โดยมีการขุดพบเมล็ดอาโวคาโดในแหล่งโบราณคดีในประเทศเม็กซิโก และพืชชนิดนี้ถูกนำมาปลูกเมื่อประมาณ 7,000 ปีก่อน โดยชาวโมกายา (The Mokayas) และชาวโมกายานี้ได้ส่งต่อความรู้ในการปลูกอาโวคาโดไปยังชาวมายา (The Mayas) ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเม็กซิโก และอาโวคาโดก็กลายเป็นพืชอาหารสำคัญของชาวอเมริกากลางตั้งแต่ในอดีต
ประเทศเม็กซิโก (Mexico) และประเทศกัวเตมาลา (Guatemala) ศูนย์กลางของจุดกำเนิดของอาโวคาโด (ที่มา By Cacahuate, amendments by Joelf - Own work based on the blank world map, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=22746265)
นอกจากบริเวณประเทศเม็กซิโกแล้ว อาโวคาโดป่ายังถูกนำมาเพาะปลูกอย่างน้อยอีก 2 ครั้งในสองบริเวณ ได้แก่ ในที่ราบสูงของประเทศกัวเตมาลา และบริเวณชายฝั่งของประเทศกัวเตมาลาใกล้ๆ หมู่เกาะเวสต์ อินดีส (West Indies) ทำให้เกิดเป็นอาโวคาโด 3 สายพันธุ์ (Landraces) ได้แก่ สายพันธุ์เม็กซิกัน (aoacatl) สายพันธุ์กัวเตมาลา (quilaoacatl) และสายพันธุ์เวสต์ อินดีส (tlacacolaocatl)โดยสายพันธุ์เม็กซิกันและสายพันธุ์กัวเตมาลาจะขึ้นได้ดีในที่ราบสูง ในขณะที่สายพันธุ์เวสต์ อินดีส จะขึ้นได้ดีบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล
จากอดีตอาโวคาโดถูกคัดเลือกจากผลไม้ผิวเรียบ ลูกเล็ก สีเข้มจนดำ เนื้อน้อย บาง เมล็ดใหญ่ มีปริมาณไขมันน้อย กลายเป็นอาโวคาโดสายพันธุ์แบบที่เรารู้จักในปัจจุบันที่มีเนื้อมากขึ้นรอบๆ เมล็ด มีปริมาณไขมันเพิ่มขึ้น และเปลือกผิวขรุขระ สีเขียวจนสีม่วง โดยส่วนหนึ่งของการคัดเลือกพันธุ์ คือ การเกิดลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ข้างต้นตั้งแต่สองสายพันธุ์ขึ้นไป และอาโวคาโดก็ได้แพร่กระจายไปทั่วอเมริกากลางตั้งแต่ก่อนที่ชาวยุโรปจะค้นพบทวีปอเมริกา
เมื่อชาวยุโรปมาถึงอเมริกากลางหลังจากยุคของโคลัมบัสก็เริ่มนำอาโวคาโดไปปลูกตามที่ต่างๆ โดยชาวสเปนชื่นชอบอาโวคาโดมาก จนนำไปปลูกในยุโรปและในพื้นที่อาณานิคมอื่นๆ ของตัวเอง เช่น อินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 1750 ในฟิลิปปินส์ ในปี ค.ศ. 1890 และในบราซิล ในปี ค.ศ. 1809 จากนั้นอาโวคาโดก็ได้กระจายต่อไปทั่วโลก และกลายเป็นผลไม้เขตร้อนที่สำคัญของโลกในลำดับที่ 4 รองจากมะม่วง สัปปะรด มะละกอ
ถ้าใครเห็นเมล็ดอาโวคาโดแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ และอยากลองเอามาปลูกเล่นดู สามารถทำได้โดยการขูดเปลือกด้านตรงข้ามกับหัวออก แล้วเอาไม้จิ้มฟันปักไว้ รอบๆ ผล แล้วเอาเมล็ดไปแตะน้ำในแก้ว ไม่นานรากอาโวคาโดก็จะงอกออกมา แล้วยอดของอาโวคาโดก็จะงอกออกมาไม่นอน หลังจากยอดงอกเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเอาไปปลูกลงดินได้ครับ
รากกับยอดอาโวคาโดที่งอกออกมาจากเมล็ดอาโวคาโดที่แช่น้ำไว้
ถ้าสนใจลองอ่านเรื่อง ผลไม้เขตร้อนที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ดูครับ
เอกสารอ้างอิง
3. Haofeng Chen, Peter L. Morrell, Vanessa E. T. M. Ashworth, Marlene de la Cruz, Michael T. Clegg, Tracing the Geographic Origins of Major Avocado Cultivars, Journal of Heredity, Volume 100, Issue 1, January-February 2009, Pages 56–65, https://doi.org/10.1093/jhered/esn068
4. Galindo-Tovar, María Elena; Arzate-Fernández, Amaury M.; Ogata-Aguilar, Nisao & Landero-Torres, Ivonne (2007). "The avocado (Persea americana, Lauraceae) crop in Mesoamerica: 10,000 years of history" (PDF). Harvard Papers in Botany. 12 (2): 325–334, page 325. doi:10.3100/1043-4534(2007)12[325:TAPALC]2.0.CO;2.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา