21 พ.ค. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สีสันบนปีกของผีเสื้อกลางวันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ผีเสื้อกลางวัน (Butterfly) เป็นแมลงที่มีความโดดเด่นในธรรมชาติ เมื่อเราเห็นผีเสื้อบินผ่าน เราอาจจะหยุดมอง และสังเกตสีบนปีกของผีเสื้อที่มีสีสันต่างๆ เช่น สีขาว สีเหลือง สีแดง สีเขียว สีดำ หรือว่าบางชนิดอาจจะมีสีปีกเป็นประกายเหลือบ (Iridescence) ฟ้า ม่วง หรือเขียว
ผีเสื้อกลางวันสีสันต่างๆ
สีสันบนปีกของผีเสื้อกลางวันอาจจะไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มนุษย์สนใจเท่านั้น แต่มีหน้าที่ต่างๆ ที่ช่วยให้ผีเสื้อประสบความสำเร็จในการอยู่รอดและสืบพันธุ์ได้ เช่น สีแดงหรือสีส้มบนปีกของผีเสื้อเป็นสัญญาณบอกให้ผู้ล่ารู้ว่า ผีเสื้อนั้นมีรสชาติไม่อร่อย เนื่องจากมีการสะสมสารพิษมาตั้งแต่เป็นตัวหนอน และทำให้ผู้ล่าหลีกเลี่ยงที่จะไม่กินผีเสื้อตัวนั้น เช่น ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา [Danaus chrysippus]
ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา [Danaus chrysippus]
หรือบางชนิดอาจจะมีจุดคล้ายจุดตาอยู่บนปีก ทำให้ผู้ล่าสับสน และเปิดโอกาสให้ผีเสื้อสามารถหลีกเลี่ยงผู้ล่าไปได้ หรือสีที่สดใสหรือประกายเหลือบต่างๆ ที่สะท้อนแสงแดด อาจจะเป็นตัวช่วยให้ผีเสื้อชนิดเดียวกันมองเห็นได้ง่ายและเข้ามาผสมพันธ์ุ เช่น ผีเสื้อมอร์โฟ [Morpho]
ผีเสื้อมอร์โฟ [Morpho rhetenor]
สีของปีกผีเสื้อนั้นเกิดจากองค์ประกอบสองส่วนคือ ส่วนของเม็ดสี และส่วนของโครงสร้าง ในส่วนของเม็ดสีนั้น องค์ประกอบของเม็ดสีในปีกของผีเสื้อเป็นเม็ดสีที่มีชื่อว่าเมลานิน (Melanin) ซึ่งเป็นเม็ดสีเดียวกันกับที่พบบนผิวหนังของมนุษย์ โดยเม็ดสีนี้จะให้สีเพียงสีดำและน้ำตาลเท่านั้น
แล้วสีฟ้า เขียว แดง และสีประกายเหลือบต่างๆ บนปีกของผีเสื้อเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สีเหล่านี้จริงๆ แล้วเกิดจากการที่ปีกของผีเสื้อมีโครงสร้างประกอบไปด้วยเกล็ดขนาดเล็กจำนวนมากที่มีโครงสร้างวางตัวในมุมที่แตกต่างกัน และทำให้เกิดการกระเจิงของแสงสีต่างๆ ออกมาต่างๆ กัน คล้ายกับเมื่อแสงส่องผ่านผลึกต่างๆ และทำให้เกิดสีต่างๆ เข้าตาเรา (Photonic crystal) นอกจากนั้นในตำแหน่งเดียวกันนั้นอาจมีการวางตัวซื้อกันของเกล็ดเหล่านี้ ทำให้เกิดสีต่างๆ กันโดยเกิดจากการเรืองแสง ดูดกลืนแสง และการกระเจิงของแสงพร้อมกันในจุดเดียวกัน
(ภาพขวาสุด) ภาพถ่ายเกล็ดปีกจากกล้องจุลทรรศน์ของผีเสื้อ European peacock [Aglais io] (ดัดแปลงจาก https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=381538 และ By I, MichaD, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2435415)
ภาพถ่ายเกล็ดผีเสื้อจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่กำลังขยาย x200, x1000 และ x5000 (ดัดแปลงจาก By SecretDisc 11:39, 16 January 2007 (UTC) - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1570253)
ยกตัวอย่างเช่น ในผีเสื้อ Queen purple tip [Colotis regina] ที่พบในทวีปแอฟริกา ปลายปีกบนด้านในของผีเสื้อตัวผู้จะมีสีส้มและประกายม่วง โดยปีกนี้เมื่อได้รับแสงสีขาวจะเรืองแสงในส่วนของแสงสีน้ำเงินที่ 500 นาโนเมตร โดยเกิดจากโครงสร้างที่ซ้อนกันหลายชั้นของเกล็ด เม็ดสีที่ดูดกลืนแสงที่เหลือ (UV น้ำเงิน เขียว) และกระจายแสงสีแดงออกมา ทำให้เราเห็นสีแดงประกายน้ำเงินรวมกัน ทำให้เรามองเห็นปลายปีกของผีเสื้อชนิดนี้เป็นสีม่วงประกาย
ผีเสื้อ Queen purple tip [Colotis regina] ที่มีปลายปีกบนด้านในจะมีสีส้มประกายม่วง (ที่มา By Charles J Sharp, from Sharp Photography, sharpphotography, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=37097330)
เกล็ดเล็กๆ ของผีเสื้อพวกนี้ยังสามารถหลุดออกมาได้คล้ายขนหรือผมของเรา ดังนั้นเมื่อเราจับปีกผีเสื้อ อาจจะมีเกล็ดเล็กๆ เหล่านี้ติดมือของเราออกมา ทำให้เราอาจจะเห็นผงเล็กๆ สีเดียวกับปีกผีเสื้อติดนิ้วของเราได้ และถ้าเกล็ดเหล่านี้หลุดออกมามากๆ จะทำให้สีบนปีกผีเสื้อจางลง จนปีกของผีเสื้อกลายเป็นปีกใสๆ คล้ายกับปีกแมลงปอได้
ถ้าอยากอ่านผีเสื้อที่มีวงจรแปลกๆ น่าสนใจ มีเรื่องนี้ให้อ่านกันครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Giraldo MA (2008) Butterfly wing scales: pigmentation and structural properties. PhD Thesis, University of Groningen. http://irs.ub.rug.nl/ppn/304871559

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา