16 มิ.ย. 2020 เวลา 22:55 • ไลฟ์สไตล์
เพราะผิดพลาด เดอะซีรีย์
EP:10 เรียนรู้ที่จะเข้าใจความแตกต่าง
ในชีวิตนี้ผมยอมรับว่าผมไม่ได้เชื่อใจใครทุกคน ผมเลือกที่จะเชื่อใจตัวผมเองเป็นหลัก
ผมเองก็เคยตีความ (มโน) ไปเองว่าคนบางคนไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ดี (คือไม่สามารถพัฒนาอะไรได้อีกแล้ว) เพราะเขามีระดับความเชื่อที่ตรงข้ามกับผมเกินไป
ทั้งๆ ที่โลกนี้เองก็มีแนวทางการพัฒนาคนเพียงไม่กี่ทางเลือก มันมีแค่
1. การพัฒนาเพื่อปิดจุดอ่อนและ
2. การพัฒนาเพื่อต่อยอดจุดแข็ง
ผมมองว่าในปัญหาหลายๆ ครั้ง ผมเลือกที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง เลือกที่จะเชื่อในกรอบความคิด องค์ความรู้ ประสบการณ์ ความสำเร็จในอดีตของตัวผมเอง
แต่ในบางครั้งผมไม่รู้หรอกว่า เวลาที่ผมหาข้อมูลเพื่อมาแก้ปัญหาอย่างหนึ่งหากผมได้เพียงหลุดจากกรอบความคิดของตัวเอง หาเวลาคุยกับผู้อื่น เรียนรู้การแก้ไขปัญหาจากผู้อื่น เรียนรู้ทำความเข้าใจความคิดของผู้อื่น ผมคงไม่ต้องเสียเวลาอย่างมากมายในการแก้ปัญหาในบางเรื่อง
เกร็ดในการเรียนรู้
เนื่องจากคนเราคงไม่มีศักยภาพและเวลามากมายในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตทุกด้านในแต่ละวัน มันจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดไหมที่ทุกปัญหาเราไม่ต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเทพๆ เราเพียงแค่แก้ปัญหาบางอย่างแบบที่ง่ายที่สุด เร็วที่สุด และเสียพลังน้อยที่สุด นั่นก็คือการเดินออกไปคุยกับผู้อื่นนั้นเอง ผู้อื่นที่มีความแตกต่างทั้ง อายุ เพศ ความรู้ ทัศนคติการดำเนินชีวิต
ความน่าสนใจคือ มีบางความแตกต่างในระดับ ความเชื่อ ความคิด ทัศนคติ พฤติกรรม ของแต่ละบุุคคล ที่เมื่อเราเคารพในความแตกต่าง เราจะยกระดับกรอบการทำความเข้าใจผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น
เมื่อทบทวนจากปัจจุบัน (ส่วนนี้เพิ่มเติมเข้าไปจากฉบับเดิม)
ผมขอนำบางส่วนของบทความผมที่เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ในการเข้าใจความแตกต่าง ขอยก 5 ตอน
1. จากบทความเมื่อวันที่ 14 พ.ค. เรื่อง "ไร้กระบวนท่า ไร้ร่องรอย ไร้ตัวตน ไร้ขอบเขต"
ไร้ตัวตน (เริ่มสอนงาน ต้อง เก่งคิด) << เมื่อทำงานจนมีความมั่นใจ เริ่มประสบความสำเร็จประมาณนึง (ส่วนใหญ่อาจเริ่มเป็นผู้บริหารทีม หรือเริ่มเป็นผู้บริหาร) แต่ละคนจะเริ่มสอนงานน้องๆ และความผิดพลาดใหญ่ของคนเราในช่วงนี้ คือการสอนทุกอย่างโดยการอิงตัวเราเองจากประสบการณ์ความสำเร็จ เป็นหลัก (ผมก็เคยผิดพลาดครั้งใหญ่แบบนี้มาแล้วเช่นกัน)
สิ่งที่ควรและถูกต้องในการสอนงาน หรือสนับสนุนให้น้องในงานประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องเป็นการสนับสนุนที่ผลักดันความสำเร็จโดยตัวน้องสำเร็จได้ด้วยตัวเอง (ลบสภาพตัวตน EGO ของเรา หรือแนวคิดต่างๆ ที่เราเคยสำเร็จและพยายามหวังดีช่วยใส่เข้าไปในหัวน้องๆ)
สิ่งที่เป็นความยากคือการที่เราลบร่องรอยของตัวเราเองได้อย่างไรโดย ไม่ครอบงำความคิดของน้องๆ แต่กระตุ้นให้น้องคิด น้องตัดสินใจ จนความสำเร็จต่างๆ ของน้องเกิดจากตัวน้องเองที่ผลักดันตัวเองจนสำเร็จขึ้นมา
จากบทความนี้ "จะเข้าใจความแตกต่างคนอื่นได้ ตัวเราต้องเปิดใจ ลด EGO และเชื่อใจในการสร้างความต่างของศักยภาพคน"
2. จากบทความเมื่อวันที่ 17 พ.ค. เรื่อง "คำ 3 คำ เจอตอนออก"
สิ่งที่ผมเรียนรู้ในช่วงนั้น คือเวลาที่ผมได้คุยกับใคร อาจเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของผมกับคนๆ นั้น บทบาทผมที่เพิ่มเติมคือแจ้งสิทธิ์ สวัสดิการ หรือช่วยในเรื่องการเตรียมหางานใหม่ และปิดการสนทนาโดยให้จบโดยยังรู้สึกดีกับองค์กร แม้ว่า การตัดสินใจออกมาจากตัวบุุคคลก็ตาม
ทาง HR เองก็จะมีข้อมูลว่า หัวหน้างานคนไหนที่ต้องพัฒนาในด้านทักษะให้เข้าใจความเป็นคนมากขึ้น (เพราะบางทีเจตนาที่ดี บนการกระทำที่แตกต่าง ผลลัพธ์เชิงความรู้สึกก็แตกต่างกัน)
จากบทความนี้ "บางอย่างถึงแม้เราจะเข้าใจความแตกต่าง แต่ชีวิตจริงในบางเรื่องเราเองก็ไม่สามารถแก้ไขชีวิตของใครที่ได้ตัดสินเส้นทางแล้ว แต่เราสามารถนำคำแนะนำ คำฝากสุดท้ายกลับมาใช้พัฒนาเพื่อให้ไม่มีเหตุการณ์เดิมซ้ำ"
3. จากบทความเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เรื่อง "ปรับ เปลี่ยน ปลง ไป"
ไป = ไม่ค่อยแนะนำ ไม่ควรให้ถึงจุดนี้ แต่มีจริงครับ ที่ปัญหามันงอกเงยเกินประเด็นที่คุยกลายเป็นเรื่องเกินเลยผูกโยงไประดับความสัมพันธ์ และอาจเกินเลยย้อนเรื่องอดีตของแต่ละคน จนความคิดทัศนคติ คุยกันไม่ได้อีกต่อไป แต่ละคนแยกย้าย เข้าสู่สภาวะงานออกได้แบบทุบโต๊ะหรือมีคนที่ 3 ที่มีอำนาจสูงกว่ามาเคลียปัญหา แต่ไม่สามารถคุยกันได้แล้วหลังจบเหตุการณ์
จากบทความนี้ "มีความแตกต่างที่มีจุดที่ไม่สามารถเข้าใจกันได้จริง ยอมรับในความจริงของความไม่สมบูรณ์แบบบางเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และเชื่อว่าในปัจจุบันเราได้ทำทุกอย่างดีขึ้นที่สุดแล้ว"
4. จากบทความเมื่อวันที่ 24 พ.ค. เรื่อง "ประสบการณ์ทำงานกับคนต่างวัย"
ผมได้พบกับการมองมุมกลับว่าจริงๆ แล้ว การเรียนรู้กับกลุ่มคนที่เด็กกว่า ถ้าเกิดเราเปิดใจ น้องเองก็สามารถ เป็นครูหรือเป็นคนสอนในหลายเรื่อง ในหลายๆ มุม ที่น้องผ่านมาในสถานศึกษาตลอดจนรูปแบบการใช้ชีวิต (ซึ่งในยุคนี้ลองค้นตาม WEB จะใช้คำว่า "พี่เลี้ยงมุมกลับ Reverse Coaching"
จากบทความนี้ "การเรียนรู้ความแตกต่างไม่ขึ้นกับวัย และยิ่งเราโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเราควรมีมุมที่ยังคงเหลือเป็นเด็กในตัวเรา หรือควรเรียนรู้กับเด็กรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตขององค์กร"
5. จากบทความเมื่อวันที่ 25 พ.ค. เรื่อง หลักการเป็นหัวหน้า 5 ให้!
ให้กำลังใจ มุมผมการให้กำลังใจส่วนหนึ่ง เป็นผลสืบเนื่องจากการให้โอกาส ผมจะสายดาร์กประมาณนึง บางเรื่องที่น้องเสนอแล้วอยากทำมากๆ แต่ผมด้วยประสบการณ์และความเชื่อก็รู้ว่าทำแค่นี้ไม่น่ารอด Q(--____--")Q แต่ก็เห็นแววตามั่นใจว่าทำได้และอยากลอง (แววตาพระเอกการ์ตูนอนิเมะ!) ก็ให้ทำครับ (เพราะรู้ว่าถึงพลาดมาก็ไม่ได้ใหญ่โตมาก
และผมผู้เป็นหัวหน้าสามารถเข้าไปรับความผิดได้ น้องจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดจากประสบการณ์จริง) เพราะหัวหน้าต้องรับได้ทั้ง"รับผิด" และ "รับชอบ" คำนี้อาจถูกใจคนทำงานหลายคนเพราะเจอแต่หัวหน้าที่ "รับชอบ" (พอดีเรื่องรับผิด หรือโดนว่า ก็เป็นงานถนัดของผมอยู่แล้ว...หน้า "ชา" มาเยอะละ)
ข้อดีคือน้องเขาจะได้เรียนรู้การทำงานในโลกความจริง และส่วนเราเองก็สามารถให้กำลังใจและ สร้างความเชื่อใจว่าน้องถ้ามีโอกาสได้ลองทำออกมาใหม่ จะดียิ่งกว่าเดิม (แต่ในบางงานใหญ่ ก็ถ้ารู้ว่าเสนอไปแล้วไม่รอด (เข้าขั้นเละ!!) ก็ไม่ให้ลองนะครับ เพราะไม่เกิดประโยชน์เป็นปมติดในใจเปล่าๆ เดี้ยวแก้ยาก ดราม่าท้อชีวิตไม่เคยผิดพลาดจะมาเต็ม)
จากบทความนี้ "การเรียนรู้ความแตกต่างที่ดีที่สุด คือ เชื่อใจให้ลองเรียนรู้จากการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อพิสูจน์ผลลัพธ์ของความเชื่อที่แตกต่างกันครับ"
อ้างอิง EP:09 ฉุดคิด "งาน" ในวัย 40
โฆษณา