15 มิ.ย. 2020 เวลา 22:55 • ไลฟ์สไตล์
เพราะผิดพลาด เดอะซีรีย์
EP:09 ฉุดคิด "งาน" ในวัย 40
1
ตอน EP:05 ฉุดคิด "ตัวเราเอง" ในวัย 40 ที่เป็น EP ที่เขียนเพิ่มเติมจากบทความต้นฉบับ เริ่มต้นโดยตั้งคำถามว่า..
"ทำไมต้องมีผม" ถ้าครั้งนี้เขียน ฉุดคิด "งาน" ในวัย 40 ถ้าเขียนสะท้อนแบบเดิมก็คงตั้งคำถามว่า "
ทำไมต้องมีหน่วยงานที่ผมสังกัด?
ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ผมสังกัดได้ไหม?
ทำไมหน่วยงานที่ผมสังกัดไม่ควรถูก Outsource?
หน่วยงานที่ผมสังกัดมี Core Competitive Advantage อะไรที่องค์กรยังจำเป็น และยังคงสร้างความแตกต่าง มีความเก่งเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นอยู่หรือไม่?
ซึ่งผมว่าพอตั้งคำถามแบบนี้ ผู้อ่านตลอดจนตัวผมเองก็จะมีคำตอบหรือได้ไอเดียในการมี "คุณค่า" หรือ "ควรค่าแก่การมีอยู่" ของหน่วยงาน จนส่งผลมาถึง "เนื้องาน" ที่ควรจะเป็นแล้ว
ผมเลยขอเพิ่มเติมประสบการณ์ ฉุดคิด "งาน" ประเด็นอื่นดีกว่าว่า ผมเรียนรู้อะไรจากการทำงานเกือบ 12 ปี ซัก 10 ข้อ (เป็นเฉพาะตัวของผมนะครับ บางท่านอาจคิดต่าง)
1. ทำงานเป็นหัวหน้ายิ่งโต ยิ่งสูง ยิ่งโดดเดี่ยว (มีส่วนน้อยจริงๆ ที่ไม่โดดเดี่ยว แม้เวลาที่ถอดหัวโขนของตำแหน่งแล้วก็ตาม)
2. ทำงานไม่ควรเข้าไปแก้ปัญหาความสัมพันธ์ของใคร ถ้าปัญหานั้นยังไม่กระทบต่องาน (จะเข้าไปแทรกแซงเมื่อปัญหาความสัมพันธ์นั้นทำให้ผลงานลดลง เพราะปัญหาความสัมพันธ์กระทบเป็นลูกโซ่สายสัมพันธ์ ปมความสัมพันธ์แก้ที่ปมนึงก็จะส่งผลกระทบไปอีกปมนึง)
3. ทำงานกับทีมงานขนาดเล็กที่แต่ละคนมีสไตล์ วิธีคิดต่างกัน สนุกดีและงานออกง่ายขึ้นกว่าทำงานกับคนกลุ่มใหญ่
4. ไอเดียในการพัฒนางานบางที หาง่ายสุดเมื่อเดินไปคุยกับน้องใหม่ในงาน
5. การมาทำงาน ก็เพื่อให้ได้งาน "ความขัดแย้ง" "การถูกปฏิเสธ" หรือการเป็น "หมาก" ในเกมส์การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงาน
6. ถ้าคุณยังเป็นหัวหน้าที่ยังไม่ได้มีประสบการณ์ บารมี หรือมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ (ทั้งตามตำแหน่ง หรือจากศักยภาพตัวคุณเอง) ใช้การทำงานแบบสั่งการจะดีกว่า (และเชื่อว่าลูกน้องที่เก่งกว่าคุณในด้านนั้น จะทำงานตามที่สั่งได้เป็นอย่างดี)
7. ในทางกลับกันถ้าเป็นหัวหน้าที่มีประสบการณ์ มีบารมี ใช้การถามความเห็น จูงใจลูกน้องด้วยบารมี จะดีกว่าการสั่งการ
8. คนเรามาทำงานถูกจ้างมาให้แก้ปัญหา ไม่ใช่มาสร้างปัญหาเพิ่มเติม (และเน้นแก้ปัญหาที่เป็น "โซนสีเทา" ในการตัดสินใจ โซนสีขาว สีดำ ใครก็ตัดสินใจได้ ไม่จำเป็นต้องจ้างเราหรอก) ดังนั้นถ้าคิดว่าการทำงานจะไม่มีปัญหา แปลว่ายังไม่อยู่ในโลกของชีวิตการทำงาน
9. จากข้อ 8 ถ้าอารมณ์ช่วงนั้นกำลัง........ ติสท์ (อารมณ์เหนือเหตุผลมากมาย) บางเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจโซน "เทาๆ" พักก่อน.....แล้วช่วงอารมณ์กลับมาปกติค่อยตัดสินใจ
และตามที่ทุกคนรู้การ "ไม่ตัดสินใจ" เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง (เพราะเนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่เป็นโซนสีเทา.... ดังนั้นการตัดสินใจนั้นอย่างไรก็หนีข้อดี ข้อเสียไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมันผสมๆ กันอยู่...ก็แค่ตัดสินใจและยอมรับผล....และถ้าพลาดก็ตัดสินใจ..ลงมือแก้ไขใหม่...วน loop กันไป)
10. งานเป็นอนันต์อยู่แล้ว (ถึงวันนึงเราไม่อยู่ทำงาน องค์กรก็จัดการโดยระบบหรือคนอื่นได้) อยู่ที่การบริหารจัดการระดับความสำคัญ และชีวิตยังมีหลายอย่างที่สำคัญและต้องทำนอกเหนือจากงานครับ ก็ดูแลสุขภาพ และผ่อนคลายความเครียดในงานระหว่างวันกันบ้าง
หมายเหตุ*
สุดท้ายสำหรับตัวผมเองบางครั้งทำงานไม่จำเป็นต้องชนะทุกครั้ง การแกล้งโง่ ไม่รู้ในบางเรื่อง หรือทำตัวเป็นเด็กบ้างก็ทำให้ชีวิตเป็นชีวิตมากขึ้น เพราะการทำงานในองค์กรผมเชื่อว่าบางอย่างไม่ใช่ "จริต" ที่เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่ก่อนเข้าทำงาน
แต่เป็นการ "ดัดจริต" ซึ่งตัวผมเองจริงๆ "จริต" เดิมผมก็มีชอบนอนตื่นสายหรือขี้เกียจไปทำงาน ขี้เกียจสอนงาน เข้าไปแก้ปัญหารายชั่วโมง เข้าไปเป็นบังเกอร์รับฟังคำติ คำบ่น คำด่า "รับผิดชอบในการรับผิด และรับชอบในงาน"หรือ บลาๆ
แต่ชีวิตการทำงาน บางทีเมื่อ "จริต" บางอย่างเป็นสิ่งที่องค์กรและคนในองค์กรเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีผมเองก็ "ดัดจริต" เพื่อเป็นคนดี และพอทำไปเรื่อยๆ เป็น 10 ปีบางอย่างจากที่ไม่ชิน ก็เริ่มกลายเป็นนิสัยใหม่ หรือเป็น "จริต" ใหม่ขึ้นมาครับ
ซึ่งในยุคถัดไป "จริต" ใหม่ที่ผมเป็น ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการแล้ว ผมก็ต้อง "ดัดจริต" ต่อไป
คำว่า "ดัดจริต" บางคนอ่านคำนี้ครั้งแรกอาจรู้สึกว่าแรง แล้วถ้าคุณใช้คำว่า
"วัฒนธรรม แทน จริต" และ
" เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ แทน ดัดจริต"
แล้วลองย้อนกลับไปอ่าน หมายเหตุ* ใหม่ดูครับ Q(*0*)Q
ถ้าคุณได้อ่านบทความผมมาบ้าง และเริ่มคุ้นกับว่า "ไร้ขอบเขต" ผมจะชอบเขียนวนซ้ำไปซ้ำมาว่า "การเข้าสู่โหมดไร้ขอบเขต คือ การหลุดจากหลายๆ ส่วนของกรอบความรู้ที่ถูกกำหนดด้วยคำจำกัดความ หลุดจากความรู้สึกในการไม่ปล่อยวาง"
อ้างอิง EP:08 เรียนรู้จากความสำเร็จ
โฆษณา