วันที่ 6 มิถุนายน 1944 เป็นอีกวันที่ประวัติศาสตร์ต้องจดจำ เมื่อกองทัพของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกว่า 156,000 นาย ได้ข้ามช่องแคบอังกฤษ เปิดฉากบุกยึดยุโรปตะวันตกคืนจากกองทัพนาซีเยอรมัน โดยการยกพลขึ้นบกเริ่มที่เมืองนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เรียกกันทั่วไปว่า D-Day
.
ในภาพยนตร์เรื่อง Saving Private Ryan(1998) ของผู้กำกับสตีเว่น สปีลเบิร์ก ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกที่หาดโอมาฮาไว้ในต้นเรื่องนานถึง 25 นาที และเป็นหนึ่งในฉากต่อสู้ของภาพยนตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่น่าจดจำที่สุด
.
เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่อนุญาตให้ใช้หาดโอมาฮา ทีมงานจึงต้องย้ายสถานที่ถ่ายทำฉากยกพลขึ้นบกนอร์ม็องดี มาถ่ายทำที่หาด Curracloe ทางตอนใต้ของไอร์แลนด์แทน
.
สตีเว่น สปีลเบิร์ก ทุ่มงบกว่า 11 ล้านเหรียญ จากทั้งหมด 70 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 15% ของทุนสร้าง ในการถ่ายทำฉากยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีโดยเฉพาะ
.
ยิ่งกว่านั้นการถ่ายทำฉากยกพลขึ้นบกยังกินเวลากว่า 29 วัน จากจำนวนวันถ่ายทำทั้งหมด 59 วัน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของระยะเวลาถ่ายทำทั้งหมด
.
ที่ต้องถ่ายทำนานขนาดนั้นเนื่องจาก สตีเว่น สปีลเบิร์ก ต้องการถ่ายทำแบบช็อตต่อช็อต วันต่อวัน ตั้งแต่ในน้ำไปจนถึงบนหาด เพื่อให้เหล่านักแสดงรู้สึกถึงความทุกข์ทรมาน เหนื่อยยากลำบาก แบบที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรรู้สึกในตอนนั้น
.
บรรดาตัวประกอบกว่า 1,000 คน ในฉากยกพลขึ้นบกเป็นทหารกองหนุนของไอร์แลนด์ และมีผู้พิการ 20-30 คนร่วมแสดงเป็นทหารที่โดนยิงแขนขากระจุยกระจาย
.
ในวัน D-Day ที่ชายหาดโอมาฮา มีการใช้ยานบรรทุกสะเทินน้ำสะเทินบก DUKW จำนวนมากในเหตุการณ์จริง แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ถ่ายทำเป็นไอร์แลนด์ ทีมงานจึงไม่สามารถทำข้อตกลงกับผู้จัดหา DUKW จำนวนมากได้ทันเวลา ดังนั้นในฉากยกพลขึ้นบกจึงไม่มี DUKW ปรากฏในภาพยนตร์
.
สำหรับฉากต่อสู้ครั้งแรกที่ชายหาด กระสุนสำรองของนักแสดงทำจากไม้เนื่องจากโลหะนั้นหนักเกินไป
.
ยานบรรทุกลงจอดที่ชายหาด 2 ลำเคยถูกใช้งานจริงในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
.
เอฟเฟกต์เสียงปืนในภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกบันทึกจากการยิงปืนจริง ด้วยกระสุนจริง ที่ยิงจากอาวุธสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
.
ทหารฝ่ายเยอรมัน 2 คนที่พยายามชูมือยอมแพ้กำลังพูดภาษาเช็กว่า "ได้โปรดอย่ายิงผม ผมไม่ใช่คนเยอรมัน ผมเป็นคนเช็ก ผมไม่ได้ฆ่าใครเลย ผมเป็นคนเช็ก" ทหารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเชลยชาวเช็กและโปแลนด์ในยุโรปตะวันออก ที่ถูกบังคับให้เข้าร่วมกองทัพเยอรมัน
.
กรมกิจการทหารผ่านศึกต้องจัดตั้งสายด่วนพิเศษ 800 หมายเลขขึ้น เพื่อช่วยเหลืออดีตทหารหลายร้อยนายที่จิตตกหลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้
.
Saving Private Ryan ได้รับรางวัลออสการ์ 5 รางวัล แต่พลาดรางวัลใหญ่สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้กับ Shakespeare in Love เรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงที่ใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ออสการ์ เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหน Saving Private Ryan ก็เหนือกว่า Shakespeare in Love ในทุกด้าน ตอนนั้นว่ากันว่าผู้อำนวยการสร้างสุดฉาว ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ได้พยายามอย่างหนักในการหว่านเงินล็อบบี้คณะกรรมการของออสการ์ โดยโจมตี Saving Private Ryan ว่ามีความไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์