6 มิ.ย. 2020 เวลา 19:35 • ธุรกิจ
Book review : 34 วิธีพักผ่อนของคน Productive
ประสิทธิผล หรือ Productive เป็นคำที่พบบ่อยในวงการของการพัฒนาตัวเอง ถ้าพูดถึงคนทำงานก็จะหมายถึงคนที่ทำงานเก่ง ตัดสินใจได้ดี มีบุคลิกของความเป็นผู้นำที่โดดเด่น ผมเองก็สนใจคำๆ นี้ และอยากที่จะเข้าใกล้ให้ได้มากที่สุด จนเป็นที่มาของชื่อเพจ “ไม่ไหวก็ต้องไหว Productive”
ทำไมต้อง “ไม่ไหวก็ต้องไหว Productive” อย่างแรกคือการที่จะเป็นคน Productive มันไม่ง่ายเลยครับในความคิดของผม แต่ว่ามันจำเป็น มันพอที่จะมีทางฝึกฝนได้ เพราะคนเราส่วนใหญ่ไม่ได้เก่งมาตั้งแต่เกิด
1
อันที่จริงแล้วการเป็นมนุษย์ที่ Productive คือการทำงานให้มากที่สุด กลับบ้านดึก นอนน้อยเพื่อเผางานต่างๆ ให้พร้อมเสิร์ฟตรงเวลา ใช่หรือไม่ ในบางมุมก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ผมคิดว่าใช่ครับ คนทำงานเยอะทั้งงานประจำและงานเสริมก็จะมีโอกาสเข้าใกล้ความสำเร็จ ความมั่งคั่งมากกว่าคนอื่นๆ
ในต่างจังหวัดถ้าคุณรับราชการก็จะต้องทุ่มเทกับหน่วยงานมาร่วมงานพิธีต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ จากนั้นเวลาว่าง ก็เข้าสวนปลูกพืชผัก ผลไม้ หารายได้เสริม ดูแลครอบครัวให้สุขสบาย แบบนี้เข้าใกล้คำว่า Productive หรือไม่ ?
ถ้าใช่ ผมยังห่างไกลนัก ผมเป็นลูกหลานชาวไร่ชาวสวนที่ไม่ชอบใช้เวลาว่างทั้งหมดไปกับการทำสวน 555 หวังว่าคุณพ่อคุณแม่คงไม่มาอ่านบทความนี้…
หนังสือ : 34 วิธีพักผ่อนของคน Productive
ผู้เขียน Katsuyuki Ikemoto (คัตสึยุกิ อิเกโมโตะ)
ผู้แปล ทินภาส พาหะนิชย์
เล่าถึงเคล็ดลับความ Productive ของผู้เขียน ซึ่งประสบความสำเร็จในชีวิตมามากมาย ซึ่งเรื่องที่ผมประทับใจมากที่สุดคือ ชีวิตเราไม่สามารถแยกเรื่องงานและเรื่องการพักผ่อนออกจากกันได้ ซึ่งผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้อย่างยิ่ง
เทคโนโลยี ข้อมูลสารสนเทศ AI ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการและการแข่งขันของกิจการต่างๆ ยุคนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคของปลาที่เร็วกว่าจะรุมกินปลาที่ช้ากว่า องค์กรใหญ่ที่ปรับตัวได้ยากเปรียบเหมือนเรือลำใหญ่เวลาจะเลี้ยวเปลี่ยนทิศทางมันทำได้ยากใช่ไหมครับ แต่ถ้าเป็นรือลำเล็กก็จะคล่องตัวในการเปลี่ยนทิศทางได้มากกว่า
วิธีแก้ไขที่เราพบได้ทั่วไปตอนนี้คือบริษัทขนาดใหญ่ เมื่อไม่สามารถปรับนโยบายหรือกลยุทธ์ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ทันก็จะตั้งบริษัท StartUp ขึ้นมาแยกเป็นอิสระแล้วลองทดสอบไอเดียร์ หรือ โมเดลธุรกิจแบบใหม่ๆ ถ้ามันใช่ก็ลงทุนต่อ ถ้าไม่ใช่ก็เลิก และหาอย่างอื่นทำใหม่
กระบวนการแบบนี้บริษัทแนวหน้าของไทยทำแทบจะทุกแห่ง ผมจึงคิดว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกเราตอนนี้มากเลยครับ เพราะว่าถ้าเราทำตาม Work-Life Balance อย่างสุดโต่ง แปลว่า เวลางานคืองาน เวลาส่วนตัวงานจะไม่ยุ่งเลย ซึ่งมันไม่สามารถทำได้แล้วในยุคนี้ ถ้าคุณเป็นพนักบริษัท แล้วคุณไม่รับโทรศัพท์ของหัวหน้าตลอดวันหยุดสุดสัปดาห์ จะเกิดอะไรขึ้นครับ
เราไม่สามารถแบ่งแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานออกจากกันแต่เราสามารถจัดลำดับความสำคัญของทั้ง 2 เรื่องได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ทำงานหรืออยู่กับครอบครัว
คนที่ให้เวลากับงานมากกว่าให้เวลากับครอบครัวคือคนที่มีความสุขมากกว่า ใช่หรือไม่ มันพูดยากครับ เพราะความเร่งด่วนของการทำงานมันมีหลายแบบ เช่น งานด่วนแต่ไม่สำคัญ งานที่สำคัญแต่ไม่ด่วน และ งานที่ทั้งด่วนทั้งสำคัญ มันบริหารจัดการได้ตามสถานการณ์ครับ แต่ไม่ใช่ว่าคุณไม่มีเวลาให้ครอบครัวเลย เช่น ถ้าผมให้เวลากับงานเต็มที่ 1 สัปดาห์ กลับบ้าน 3 ทุ่มทุกวัน แสดงว่าสัปดาห์ถัดไปผมจะทำแบบนี้อีกต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องกล้าที่จะต่อรองกับบริษัทแล้วครับ
ถ้าบริษัทใช้งานหนักเกินไป หักโหมเกินไป ก็ต้องยอมรับครับว่าคุณภาพของงานที่ได้มันจะหาความสมบูรณ์ได้ลำบาก และถ้าโหมงานขนาดนั้น พนักงานของคุณอาจป่วย หรืออาจหางานใหม่เอาได้ง่ายๆนะครับ ผมเคยร่วมงานกับนักประเมินคุณภาพในกระบวนการผลิตท่านหนึ่ง ท่านสอนผมว่า ท่านจะไม่ยอมรับ Product ที่สร้างโดยพนักงานที่ทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง ต่อให้ครั้งนี้ Product มันออกมาดี แต่มันก็รับประกันไม่ได้ว่าครั้งต่อไปมันจะไม่พลาด ทำงานล่วงเวลาความเหนื่อยล้าและสภาพจิตใจ มันไม่ 100 % อยู่แล้วครับ
กล่าวได้ว่า การทำ OT คือ ความผิดพลาดในขั้นตอนการวางแผนการปฏิบัติงาน เพราะแผนที่ดีจะทำให้งานเสร็จตรงเวลา บางท่านอาจบอกว่า จำเป็นต้องทำเพราะมันคือโอกาส ผมก็ไม่ว่ากันครับ แต่อย่าลืมว่า OT มีราคาที่ต้องจ่าย
ผู้เขียนเองได้เปรียบเทียบเรื่องกิจวัติต่างๆ กับการทำงาน เชื่อมโยงถึงจุดร่วมที่มีประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เช่น การเล่นกีฬา ฝึกให้เราทำงานอย่างมีการวางแผนและไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ที่ผมชอบมากคือ กีฬา กอล์ฟ เป็นกีฬาที่ฝึกให้รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองเพราะว่าถ้าครั้งแรกเราตีลงทราย ครั้งที่ 2 ก็จะต้องตีลูกขึ้นจากทรายให้ได้ นี่คือการต้องยอมรับและรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง
เป็นหนังสือที่อ่านสนุกพอประมาณครับ ยังคงเสน่ห์ของ How to แบบญี่ปุ่น คือ ถ่อมตัว มีมารยาท และจริงจัง สำคัญที่สุดคือการนอนอย่างเพียงพอผมเคยอ่านจาก The Power Of Output ครับว่า ตอนเรานอนมันเหมือนเป็นช่วงเวลาการจัดเรียงข้อมูลที่เรารับมาตลอดวันให้มีระเบียบยิ่งขึ้น
พบกันใหม่เล่มหน้านะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา