7 มิ.ย. 2020 เวลา 04:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อีก 50 ปี อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นจนกระทบกับคนหลายล้านคน
จากงานวิจัยของ Climate Central ที่ระบุว่าภายในปี 2050 น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นจนทำให้เมืองบริเวณชายฝั่งหายไปจากพื้นที่ ทำให้เห็นว่าในอนาคตอาจเกิดการอพยพของประชากรครั้งใหญ่ จนอาจนำมาถึงปัญหาความแออัดและการแย่งชิงครอบครองพื้นที่
จนเมื่อมีงานวิจัยจาก National Academy of Sciences กล่าวว่าไม่ใช่แค่ระดับน้ำทะเล หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดปัญหาประชากรอพยพถิ่นฐานได้ แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นในอีก 50 ปีข้างหน้าอาจทำให้ประชากรหนึ่งในสามของโลก หรือคิดเป็นจำนวนราว 3.5 พันล้านคนต้องอยู่ในพื้นที่ที่อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีสูงขึ้น จนอาจจะกระทบกับการใช้ชีวิตจนเกิดการอพยพไปยังพื้นที่ที่เย็นกว่าไ้ด้เช่นกัน
nbcnews.com
ถึงแม้การศึกษานี้ไม่ได้ระบุว่าจะมีประชากรประมาณกี่คนที่จะต้องอพยพ เพราะการทำนายการอพยพของประชากรยังเป็นเรื่องยากเนื่องจากมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่เรื่องของความร้อนเท่านั้น งานศึกษานี้จึงเพียงแสดงให้เห็นว่าในอนาคตจะมีประชากรจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับเงื่อนไขต่างๆที่อาจผลักดันให้เกิดการอพยพได้ ทั้งภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาตั้งแต่ปี 1990 กล่าวว่าการอพยพของประชากรอาจเป็นผลกระทบร้ายแรงที่สุดของภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์เพราะจะนำมาซึ่งปัญหาและการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ปัจจุบันประชากรส่วนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 11-15 องศาเซลเซียส แต่ภายในปี 2070 ประชากรหลักพันล้านคนจะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่ยังพบได้น้อยในปัจจุบัน เช่น Mecca ประเทศซาอุดิอารเบีย เมืองที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส
bbc.com
ถ้าแนวโน้มของอุณหภูมิยังเพิ่มขึ้นด้วยอัตรานี้ต่อไป ประชากรกว่าพันล้านคนในประเทศอินเดีย, 500 ล้านคนในประเทศไนจีเรีย และ 100 ล้านคนในประเทศไนเจอร์และซูดานจะต้องอยู่ในอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 29 องศาเซลเซียส ซึ่งปัจจุบันเป็นอุณหภูมิที่พบเห็นได้ยากนอกจากในทะเลทรายซาฮาร่า แต่ภายในปี 2070 อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณนี้จะครอบคลุมพื้นที่ถึง 19% จากพื้นที่ทั้งหมดของโลก
ลอนดอนอาจจะต้องเจอกับสภาวะแห้งแล้งอย่างหนักเหมือนที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน เจอไปเมื่อปี 2008 ทำให้ต้องนำเข้าน้ำดื่มจากประเทศฝรั่งเศสคิดเป็นมูลค่าถึง 20 ล้านปอนด์
โมเดลของงานวิจัยนำปัจจัยเรื่องอุณหภูมิและความร้อนมาใช้ในการคำนวณเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ว่าภายในปี 2070 ผลกระทบของภาวะโลกร้อนจะทำให้เราอยู่ในสภาวะอากาศแปรปรวนหรือสภาวะ extreme ต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเลือกที่อยู่อาศัยของประชากร
“เห็นได้จากเฮอร์ริเคน Maria ที่มีความรุนแรงระดับสูงสุด ถล่มประเทศเปอโตริโกเมื่อปี 2017 หลังจากนั้นก็มีเฮอร์ริเคนระดับสูงสุดตามมาอีกครั้ง และต่อด้วยคลื่นความร้อน ซึ่งสภาวะอากาศสุดขั้วเหล่านี้จะเกื้อหนุนกันและส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อๆกันไป”
ปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยไม่เลือกว่าบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์หรือไม่ ถ้าบริเวณไหนมีแนวโน้มจะต้องเจอกับภัยธรรมชาติก็จะต้องเจอภัยแบบเดิมในแต่ละปีและยังอาจจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆใน อีก 50 ปีข้างหน้า
Reference >>
งานวิจัย: https://doi.org/10.1073/pnas.1910114117

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา