9 มิ.ย. 2020 เวลา 00:36
ทำไมเราถึงไม่ได้อะไรจากการเรียนวรรณกรรมไทยในห้องเรียน
เคยเห็นผ่านๆ ตาในซีรีส์ต่างประเทศมา มาบ้างเวลาตัวละครที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาเรียนด้านวรรณกรรมในห้องเรียน มีความน่าสนใจในส่วนของการแสดงความคิดเห็นที่มีต่อวรรณกรรมนั้นๆ ของนักเรียนแต่ละคน ยิ่งร่วมแสดงความคิดเห็นมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกมีส่วนกับการเรียนและได้ข้อคิดต่างๆ มากกว่าการเรียนวรรณคดีไทยในห้องเรียนภาษาไทย ที่ส่วนใหญ่จะให้อ่านตามและเน้นการท่องจำบทกลอน บทกวีกันใช่ไหมล่ะ?
พอถึงเวลาสอบจริงๆ ต่อให้ตั้งใจเรียนในห้องแค่ไหน ก็ไม่สามารถนำเอาแนวการสอนมาช่วยในตอนที่สอบได้เลย แม้จะท่องจำบทกวีต่างๆ ได้แต่กลับไม่เข้าใจเนื้อหาโดยรวม ไม่รู้ว่าวรรณกรรมนั้นให้อะไรกับเราได้บ้าง รุ้สึกตื้อตันไปหมด เราจะมาแนะนำแนวทางการเรียนที่ควรจะเป็น ชี้ให้เห็นจุดด้อยในการเรียนแบบเดิมๆ ที่ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนวรรณคดีกันนะ ทั้งๆ ที่วรรณคดีต่างๆ หากศึกษาให้ดี เราจะค้นพบอะไรอีกมากมายเลย ซึ่งบางทีเราก็กลับมารู้ในภายหลังเอาทั้งนั้น
การเรียนเกี่ยวกับวรรณกรรมและบทประพันธ์ต่างๆ มีความสำคัญในวิชาภาษาไทยมาก อย่างน้อยที่สุด การอ่านจะทำให้เราได้เรียนรู้การใช้ภาษาในระดับที่ยากขึ้น การใช้คำต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ถือเป็นการพัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษาที่ดี หลายๆ คนคิดว่าการเรียนภาษาคือการท่องจำ แต่จริงๆ แล้ว หากเรียนแบบใช้ความเข้าใจ ลองคิดวิเคราะห์แล้วจะทำให้เรียนรู้เรื่อง และสามารถนำไปสอบได้ ไม่ได้ต่างจากวิชาอื่นๆ เลยนะ
แต่ก่อนอื่นเนื่องจากต้องเน้นการอ่าน ฉะนั้นในส่วนนี้ผู้เรียนเองควรต้องเตรียมตัวในเรื่องของการอ่านบทประพันธ์มาก่อนเข้าชั้นเรียนเลย เพราะเวลาในห้องเรียนควรใช้ไปกับการเรียนมากกว่ามาใช้เวลาไปกับการอ่าน ตัวผู้สอนเองก็ควรชี้แนะแนวทางในการเตรียมตัวเรียนก่อนด้วย ว่าควรจะอ่านมาล่วงหน้ากี่บทหรือควรอ่านมาทั้งหมดเลยในช่วงเวลาไหน เพื่อที่เวลาอยู่ในห้องเรียนจะได้มาสอนสิ่งที่อยู่ในบทประพันธ์ได้อย่างเต็มที่
มาลองคิดย้อนไปแล้ว ต่อให้เคยเรียนวรรณกรรมต่างๆ มา แต่ทำเรากลับจำเรื่องราว หรือไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนไปเลย ส่วนหนึ่งก็มาจากเนื้อหาที่ยาวและเยอะมากๆ ไม่สามารถจำได้ทั้งหมด แต่นั่นก็เป็นเพราะเราขาดความเข้าใจในบทประพันธ์โดยรวมนั่นเอง เราไม่เข้าใจเนื้อเรื่อง โครงเรื่องทั้งหมดเนื่องจากส่วนใหญ่ใช้ภาษาโบราณใช้คำยากๆ หากอยากทำความเข้าใจควรถอดคำออกมาให้เป็นภาษาปกติ และลองเรียบเรียงเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบดูว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แล้วเราจะเข้าใจได้มากขึ้น
ลงลึกเข้าไปมากกว่านี้ก็คือเราต้องเรียนรู้การเข้าใจนักเขียนด้วยว่าเขาต้องการสื่ออะไรมาถึงคนอ่านบ้าง เรื่องที่เขาแต่งมาให้เราอ่านทำให้เราได้ข้อคิดอะไรบ้าง มีความเห็นอย่างไรกับแต่ละตัวละคร เรียนรู้กระทั่งเรื่องที่เขาแต่งนั้นเขาแต่งในยุคสมัยไหน การเมืองเป็นอย่างไร ค่านิยมในสมัยนั้นเป็นแบบไหน เพราะสิ่งที่ผู้เขียนแต่งผ่านการกระทำของตัวละครทั้งหลายนั้นล้วนสะท้อนให้เห็นจากสิ่งเหล่านั้นเสมอ
การที่สามารถวิเคราะห์ด้านการใช้ภาษาของผู้แต่งได้ ไม่ว่าจะเป็นคำ สำนวน การเปรียบเปรยต่างๆ ในส่วนของการวิจารณ์เองก็สำคัญ เราควรที่จะแสดงความเห็นให้เป็นด้วย ว่าเรารู้สึกยังไงกับบทประพันธ์เรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่ามีจุดดีจุดด้อยตรงไหนบ้าง หากว่าเรามีโอกาสแต่งหนังสือแล้วเราจะทำและเพิ่มเติมในจุดไหนได้อีก
สิ่งเหล่าต้องทำการฝึกฝนโดยผู้เรียน และทำการขัดเกลาโดยผู้สอนที่ควรเป็นผู้ชี้นำแนวทางการเรียนการศึกษาที่ถูกต้องให้เหล่านักเรียน หากฝึกฝนไปเรื่อยๆ จนเก่งและชำนาญจะเป็นพื้นฐานการอ่านวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ได้อีกมากมายที่จะสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ซึ่งถ้ายิ่งเรียนระดับที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เรายิ่งต้องใช้การทำความเข้าใจ การวิเคราะห์ การวิจารณ์เพื่อมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากกว่าที่จะนั่งฟังครูหรืออาจารย์ผู้สอนไปเรื่อยๆ พอจบคาบเรียนหรือการสอบ เราก็จะลืมเลือนมันไปจนหมดสิ้น
น่าเสียดายที่กว่าจะรู้ว่าควรเรียนยังไงก็เป็นช่วงที่เกือบจะเรียนจบอยู่แล้ว แต่วิธีเหล่านี้ก็ยังคงใช้ได้เสมอ ไม่ใช่แค่กับหนังสือเท่านั้น การอ่านหนังสือสอบ การอ่านข่าว อ่านเรื่องย่อภาพยนตร์ อ่านการ์ตูน อ่านแฟนฟิคชั่น อ่านนิยาย บทความ ก็สามารถนำเอาประยุกต์ใช้ได้หมด ดังนั้นหากถ้าเราฝึกจนเก่งได้แล้ว การอ่านก็จะไม่ใช่เรื่องยาก และเราก็จะสามารถได้ประโยชน์จากสิ่งที่อ่านแม้ว่าจะมีเวลาเพียงจำกัดก็ตาม ยิ่งอ่านยิ่งได้ความรู้ที่คุณจะสามารถเอาไปต่อยอดได้อีกมากมาย แล้วคุณก็จะสนุกไปกับโลกของการอ่านได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงอาจจะเป็นผู้เขียนที่ได้ในอนาคตด้วย
หวังว่าวรรณกรรมไทยดีๆ จะไม่หายไป ถ้าหากเราเรียนรู้และศึกษามันได้อย่างถ่องแท้โดยมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการเรียนและการสอนมากกว่าเดิมค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา