7 มิ.ย. 2020 เวลา 13:32
ประเด็นการสร้างวัดริมคลองของสองผู้ใจบุญที่ขัดแย้งกันจนเรื่องร้อนถึงพระกรรณ รัชกาลที่ 1
ความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ว่า การทำบุญที่ยิ่งใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ การสร้างวัด
ในอดีตจึงมักมีผู้ประสงค์สร้างวัดวาอารามกันอย่างมากมาย เพื่อเป็นบุญกุศลใหญ่และดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาตราบนานเท่านาน
คลองบางหลวง
เรื่องราวการขัดแย้งของผู้ใจบุญนี้ ได้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 สองผู้ใจบุญ นามว่า "นายสังข์" และ "นางจ่าย" เป็นประเด็นจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต
ย้อนไปในสมัยปลายกรุงธนบุรี นายสังข์ เป็นผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนา ให้ทานบำเพ็ญกุศลและสดับธรรมไม่ขาด รวมทั้งเป็นคนที่มีจริยวัตรน่าเลื่อมใส ปฎิบัติสมาทานศีลอุโบสถในวัดราชสิทธารามอยู่เป็นนิจ
นายสังข์ทำงานรับราชการในตำแหน่ง นายสารบบในกรมพระสุรัสวดี (กรมพระสุรัสวดีเป็นกรมสังกัดฝ่ายพลเรือน มีหน้าที่ทำทะเบียนหรือบัญชีคนในพระราชอาณาจักร) นายสังข์ตั้งบ้านเรือนอยู่ละแวกคลองบางวัวซึ่งเป็นคลองแยกมาจากคลองบางหลวงอีกที และอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดราชสิทธารามมากนัก
พระอุโบสถของวัดราชสิทธาราม
อยู่มาวันหนึ่งนายสังข์ได้มีจิตศรัทธาดำริจะสร้างวัดขึ้นใหม่ จึงได้ปรึกษาเพื่อนชื่อ นายพลับ เพื่อให้ช่วยจัดแจงขอซุงมาต้นหนึ่ง นายพลับพอทราบถึงเจตนาที่ดี จึงร่วมอนุโมทนา มอบซุงให้นายสังข์ด้วยความยินดี จากนั้นนายสังข์จึงตั้งจิตอธิษฐานและนำซุงไปลอย
“เดชะ ด้วยอำนาจบุญญปณิธาน หากซุงที่ข้าพเจ้าปล่อยให้กระแสน้ำพัดล่องไปตามลำคลองนี้ลอยไปติด ณ ที่ใด ข้าพเจ้าก็จักจัดการสร้างวัดขึ้นตรงนั้น”
ตามโบราณย่อมถือในเรื่องอำนาจบุญที่ดลบันดาลและเทพาบันดาลหนุน ด้วยอำนาจเสี่ยงสัตยาธิษฐาน ซุงได้ลอยมาติดอยู่ในพื้นที่ไม่ห่างมากนักและมีทำเลที่เหมาะสมดีต่อการสร้างวัดนักแล นายสังข์จึงตัดสินใจลงมือลงแรงสร้างวัดด้วยน้ำพักแรงกายของตนเอง จนแล้วเสร็จ แต่ก็สร้างได้เพียงกุฏิวิปัสสนาเล็กๆ ตามฐานะของตน
ภาพเก่าพื้นที่ละแวกคลองบางหลวง
ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ เจ้าจอมแว่นหรือที่เรียกกันว่า คุณเสือ เป็นชาวเมืองเวียงจันทร์ พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ใช้ข้าหลวงคนหนึ่ง นามว่า "นางจ่าย" ให้มาทำการดูแลสวนในที่ดินของเจ้าจอมแว่น ซึ่งอยู่ติดกับที่ของนายสังข์ ทั้งสองจึงได้รู้จักกันจนมีความสนิทสนมชอบพอ
หลังจากรู้จักกันมานานพอสมควร ด้วยความที่เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ทั้งสองจึงสนิทสนมกันจนกระทั่งมีดำริร่วมกันประสงค์สร้างวัดให้สมบูรณ์ดีขึ้น นางจ่ายจึงอาสาไปปรึกษาขอความช่วยเหลือจากเจ้าจอมแว่น และทั้งสองก็สมปรารถนาเพราะเจ้าจอมแว่นเห็นด้วย พร้อมทั้งมอบทุนทรัพย์มาร่วมสร้างวัดอีกจำนวนหนึ่ง
วัดจึงเริ่มใหญ่โตขึ้น มีกุฏิเกิดขึ้นทั้งหมด 4 คณะ แต่ละคณะก็มีกุฏิ 4 หลัง หลังหนึ่ง ๆ มี 2 ห้อง รวมทั้งได้สร้างถนนผ่านระหว่างช่องกุฏิ แล้วก่อกำแพงอิฐล้อมรอบสูง 1 วา มีประตูเข้าออกทั้ง 4 ทิศ
เมื่อสร้างวัดจนแล้วเสร็จ จึงทำการขอพระราชทานวิสุงคามสีมา** ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้แก่ผู้สร้าง นายสังข์ กับ นางจ่าย ทั้งสองประสงค์ลงนามเป็นผู้สร้างทั้งคู่ จนไม่สามารถตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นผู้ลงนามได้ ประเด็นขัดแย้งจึงเกิดขึ้น
**วิสุงคามสีมา คือ ที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถโดยประกาศเป็นพระบรมราชโองการ ที่พระราชทานแล้วจะมีเครื่องหมายเป็นเครื่องบอกเขต เครื่องหมายนี้เรียกว่า "นิมิต"
คลองบางหลวงปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวที่ควรอนุรักษ์ : https://th.readme.me/p/26628
ฝ่ายนายสังข์ก็ไม่ยอม มีความปรารถนาจะขอในนามของตนเหมือนกัน เพราะตนก็สละหยาดเหงื่อและแรงกายทุ่มเทมาตั้งแต่แรกเริ่มแทบล้มแทบตาย ส่วนนางจ่ายก็ไม่ยอมเช่นกัน เพราะมองว่าตนเป็นผู้หาทุนมาในการสร้างวัด ทั้งสองจึงทะเลาะกันใหญ่โต ดังไปทั่วคุ้งน้ำบางหลวง และเรื่องก็ร้อนถึงพระกรรณเข้า เมื่อนางจ่ายนำเรื่องทูลถึงเจ้าจอมแว่นนายของตน
โดยฐานะที่เจ้าจอมแว่นเป็นถึงพระสนมเอก พระเจ้าอยู่หัวโปรดปรานมาก จะทูลอะไรก็ทูลได้ ครั้นเมื่อได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อขอให้พระราชทานวิสุงคามสีมา
รัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสว่า วัดที่นายสังข์นางจ่ายสร้างขึ้นนั้น ไม่สวยสมเกียรติกับพระสนมเอกเช่นเจ้าจอมแว่น พระองค์ทรงรับสั่งจะให้สร้างใหม่
จึงโปรดเกล้าให้กรมหมื่นไกสรวิชิตมาเป็นนายงานทำการควบคุมสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ ให้หันหน้าไปทางคลองบางวัวทองอยู่เคียงกับกุฏิสงฆ์ของเดิม พร้อมกับได้สร้างกุฏิขึ้นใหม่อีกหมู่หนึ่งตรงมุมพระอุโบสถด้านใต้อีกด้วย และเมื่อแรกขุดพระอุโบสถนั้น พบพระกัจจายน์องค์หนึ่ง กับสังข์ตัวหนึ่ง
เฉพาะสังข์ชำรุดเพราะแรงจอบเสียมที่ขุด ส่วนพระกัจจายน์ที่ขุดได้ครั้งนั้นให้เก็บรักษาไว้เป็นพระคู่อาราม
ภาพเก่าวัดสังข์กระจาย: http://www.watsangkrajai.com/profile01.html
พอสร้างวัดสำเร็จเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงดำริถือเอานิมิตเหตุอันนี้พระราชทานนามว่า “วัดสังข์กระจาย” หากนึกคิดดูแล้วก็น่าแปลกใจอย่างมาก ที่วัดนี้นายสังข์กับนางจ่ายเป็นผู้ริเริ่มสร้าง เมื่อนำเอาชื่อของคนทั้งสองมาเข้าคู่กันเป็น “สังข์กับจ่าย” ฟังได้ใกล้เคียงกับคำว่า “สังข์กระจาย” คือนามที่ทรงพระราชทาน จนทั้งนายสังข์และนางจ่ายต่างปลาบปลื้มอย่างที่สุด
และนี่คือเรื่องราวการสร้างวัดของผู้ใจบุญที่เคยเป็นประเด็นในยุคนั้น
"วัดสังข์กระจายวรวิหาร"ในมุมซึ่งหลายท่านไม่เคยรู้มาก่อน
วัดสังข์กระจาย
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
อ้างอิง:
- หนังสือประวัติวัดสังข์กระจาย พ.ศ.2533
โฆษณา