26 พ.ค. 2020 เวลา 12:32
เหล่าขุนนางชาวจีนสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์ไทย เล่าประวัติศาสตร์ผ่านคาเฟ่ริมน้ำ
สำเภาจีน
วันนี้ผมมีโอกาสมานั่งพักผ่อนช่วงวันหยุด ณ คาเฟ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ชื่อ “บ้านอากงอาม่า" เพื่อพักผ่อนสมองจากการงานที่เคร่งเครียด จึงขอพลังบวกจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยเยียวยาจิตใจให้ผ่อนคลาย
จะว่าไปแล้ว คาเฟ่เก่าแห่งนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจแฝงอยู่ "บ้านอากงอาม่า” รีโนเวทมาจากโรงงานน้ำปลาเก่าและปรับเปลี่ยนมาเป็นคาเฟ่บรรยากาศดีริมน้ำ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้เองที่มีชาวจีนมากมายจากบ้านจากเมืองมาตั้งรกรากบนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ
บ้านอากงอาม่าคาเฟ่
คนจีนโพ้นทะเลที่อพยพมามักตั้งรกรากรวมตัวกันเป็นชุมชนกระจัดกระจายไปตามริมแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแถบท่าราชวงศ์ เยาราช สำเพ็ง หรือฝั่งธนแถบท่าดินแดง คนจีนมักเก่งทางด้านการค้าทำธุรกิจ ความเก่งนั้นถ่ายทอดต่อกันจากอีกรุ่นสู่อีกรุ่น
ดั่งเช่นคาเฟ่ริมน้ำแห่งนี้ “บ้านอากงอาม่า” เด็กรุ่นใหม่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจของร้านกาแฟคาเฟ่ที่มาแรงในช่วงหลายปีนี้ จึงทำการปรับเปลี่ยนโรงงานน้ำปลาเก่าของอากงอาม่าไปสู่ร้านคาเฟ่ บรรยากาศชิลๆ แม้ในวันปกติก็ยังมีลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย
บ้านอากงอาม่าคาเฟ่
บทความนี้ผมนั่งเขียนในร้านไป พลางมองแม่น้ำไป กระแสของน้ำกำลังไหลเคลื่อนลงสู่อ่าวไทย ทำให้จิตใจผ่อนคลายมากขึ้น บวกกับฝนที่ตกในช่วงเช้าจึงทำให้อากาศเย็นขึ้นคลายร้อนได้ไปในตัว
ถ้าหากพูดถึงชาวจีนแล้ว บรรดาขุนนางชาวจีนนี้ได้เข้ามารับราชการในราชสำนักตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ไม่เพียงแต่ขุนนางชาวจีน ยังมีขุนนางแขก ขุนนางมอญ หากแต่ขุนนางจีนกลับมีสายตระกูลที่แบ่งแยกออกไปหลากหลายกลุ่มมากมาย
1
ตามประวัติศาสตร์มีขุนนางชาวจีนระดับสูงหลายท่านที่มียศฐาบรรศักดิ์ถึงขั้นเจ้าพระยา ขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ ตระกูล”รัตนกุล” และ ตระกูล “กัลยาณมิตร”
ผู้เป็นต้นสกุลของตระกูลรัตนกุล คือ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์(กุน) นามเดิมของท่านชื่อ กุน เป็นบุตรคหบดีแต้จิ๋วที่สำคัญคนหนึ่งชื่อ “จีนกุ๋ย”
จีนกุ๋ยเป็นพ่อค้าเรือสำเภาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบสมุทรสงคราม โดยเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) เป็นบุตรลำดับที่ 5
พระเจ้ากรุงธนบุรี
ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าสัวกุนเข้ารับราชการเป็นพระราชประสิทธิ์ และอพยพครอบครัวมีตั้งบ้านเรือนอยู่แถบหน้าวัดเลียบ(วัดราชบูรณวรวิหาร) ใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร นามของท่านปรากฏในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีของศึกอยู่หลายครั้งหลายครา จึงคิดว่าน่าจะรู้จักมักคุ้นกับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีเป็นแน่แท้
เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯให้พระราชประสิทธิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒน์จางวางดูแลพระคลังสินค้า และต่อมาก็เลื่อนขึ้นเป็นพระยาพระคลัง ผู้คนในสมัยนั้นมักเรียกท่านว่า “พระยาท่าเรือจ้าง” เพราะได้รับมอบหมายหน้าที่จัดการเรือสำเภาไปค้าขายกับเมืองจีนอยู่เสมอ จนได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีค้าสำเภา ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 2 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ สมุหนายก
***อนึ่ง เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ มี 2 ท่าน คือ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ในรัชกาลที่ 2 (กุน หรือจีนกุน ต้นสกุลรัตนกุล) และเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยยันต์) ในรัชกาลที่ 5
ท่านต่อมาคือ ตระกูล “กัลยาณมิตร” ต้นตระกูลคือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต) เจ้าสัวโตเป็นบุตรของ หลวงพิชัยวารี (มั่ง แซ่อึ้ง) เป็นชาวจีนฮกเกี๊ยน เมืองเอ้หมึง ประเทศจีน
มั่ง แซ่อึ้ง ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรีในฐานะพ่อค้าสำเภาผู้ร่ำรวย จนได้เป็นคุณหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยมีบุตรชาย 2 คน คือ เจ้าสัวโต และ เจ้าสัวต่วน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งยังทรงดำรงพระยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงรู้จักสัมพันธ์กับบรรดาผู้ค้าสำเภาและพ่อค้าชาวจีนอย่างกว้างขวาง โดยหลวงพิชัยวารีก็เป็นผู้หนึ่งในบรรดาพ่อค้า และหลวงพิชัยวารีมอบเจ้าสัวโตลูกชายคนโตให้ถวายงานเป็นมหาดเล็กรับใช้พระองค์ท่าน
1
เงินถุงแดงไถ่สยาม
เจ้าสัวโตถวายงานรับใช้เป็นขุนนางในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านทรงไว้วางพราะราชหฤทัยเป็นอันมาก เพราะแต่เดิมที่พระองค์ยังไม่ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าสัวโตถือเป็นขุนนางดูแลใกล้ชิดและทำราชการอยู่ในกรมท่า ช่วยดูแลการค้าขายเรือสำเภาจนรุ่งเรือง และนี่คือขุนนางผู้หนึ่งที่ช่วยบริหารการคลัง จนเป็นที่มาของเงินถุงแดงที่ใช้ไถ่สยามเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ ร.ศ.112
เรื่องเล่าของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต) เมื่อครั้งถวายงานพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ณ วังท่าพระ ครั้งหนึ่งได้ทำเกาเหลาเลี้ยงบรรดาขุนนาง หลังจากเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ บรรดาขุนนางมักหิวโหยจึงมาแวะรวมตัวกัน ณ วังท่าพระ เป็นที่อาศัยพักรับประทานอาหารก่อนกลับที่พัก
ภาพเก่า เจ้าสัวชาวจีน
ว่ากันว่าโรงทานหน้าวังท่าพระ สำหรับเลี้ยงยาจกขอทานก็เกิดจากท่านเจ้าสัวโต ที่ทำการรวบรวมพ่อค้ามากมายมาเข้าเฝ้า รวมทั้งถวายหมูเห็ดเป็ดไก่ กันอย่างเอิกเกริกในวันตรุษจีน และคงยังทำแบบนี้ทุกปีจนสิ้นรัชกาลที่ 3
วังท่าพระ ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ชื่อของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ปรากฎในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 หลายครั้ง และเจ้าพระยานิกรบดินทร์ยังมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นถึงสมุหนายกดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ อีกทั้งยังเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้หนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในการอัญเชิญรัชกาลที่ 4 ที่ทรงผนวชอยู่ขึ้นเถลิงราชสมบัติอีกด้วย
เจ้าพระยานิกรบดินทร์(เจ้าสัวโต) : https://www.facebook.com/295595703860761/posts/1598272513593067/?d=n
ส่วนนามสกุล “กัลยาณมิตร” เกิดเมื่อครั้งเจ้าสัวโตสร้างวัดถวายรัชกาลที่ 3 และด้วยความจงรักภักดีดั่งเช่น มิตรแท้ ทำให้รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามวัดว่า “วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ และต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เจ้าสัวโตเป็น “เจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินธรมหากัลยาณมิตร”
วัดกัลยาณมิตร
หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง ณ อุโบสถ วัดกัลยาณมิ
และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้นำสร้อยในนามของเจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินธรมหากัลยาณมิตร มาพระราชทานสกุลเป็นวงษ์ "กัลยาณมิตร"และลงลายพระหัตถ์เป็นหลักฐาน
อย่างไรแล้วขุนนางหลากหลายชาติ ได้เข้ามามีส่วนร่วมบนหน้าประวัติศาสตร์ช่วยสยามกับหลายเหตุการณ์และหนึ่งในนั้นคือ บรรดาขุนนางชาวจีน
อ้างอิงข้อมูลจาก หนังสือ ต้นตระกูลและสายสกุลเจ้าบ้านเจ้าเมือง
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
ขออภัยหากมีข้อมูลผิดพลาด
โฆษณา