Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storyteller
•
ติดตาม
8 มิ.ย. 2020 เวลา 10:51 • ประวัติศาสตร์
“อพาร์ไทด์ (Apartheid)” กฎของคนขาวในดินแดนของคนดำ
“ไม่มีผู้ใดที่เกิดมาแล้วเกลียดผู้อื่นเพียงเพราะเขามีสีผิวที่แตกต่าง ภูมิหลังที่แตกต่าง หรือความเชื่อที่แตกต่าง เพราะการที่คนเราจะเกลียดกันได้ต้องได้รับการปลูกฝัง และเมื่อปลูกฝังให้เกลียดได้ ผมเชื่อว่าก็สามารถปลูกฝังให้รักได้เช่นเดียวกัน” เนลสัน แมนเดลา
“ร้านค้าสำหรับคนขาว” “โรงพยาบาลสำหรับคนขาว” “ม้านั่งเฉพาะคนขาว” “พื้นที่ของคนขาวเท่านั้น” ฯลฯ
ทุกท่านครับ นี่คือข้อความที่อยู่บนป้ายในดินแดนของคนดำ
1
ข้อความที่คนส่วนน้อยในดินแดนของพวกเขาได้ทำขึ้น
คนส่วนน้อยที่เป็นใหญ่ในดินแดนของพวกเขา
คนส่วนน้อยที่กุมอำนาจทางการเมืองของพวกเขา
คนส่วนน้อยที่ควบคุมการดำเนินชีวิตของพวกเขา
คนส่วนน้อยที่ตั้งกฎขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกพวกเขา
คนส่วนน้อยที่โหดร้ายต่อพวกเขา เพียงเพราะว่า พวกเขาแตกต่าง
1
คนส่วนน้อยที่ผมพูดถึง เรียกตัวเองว่า คนขาว
และนี่คือเรื่องราวในดินแดนของคนดำที่เรียกว่า แอฟริกาใต้
เรื่องราวการดิ้นรนต่อสู้เพื่อหลุดรอดจากกฎที่ไม่เป็นธรรม...
เรื่องราวของมนุษย์ ที่ไม่ได้มองมนุษย์เท่าเทียมกัน...
เรื่องราวของความขัดแย้ง กดขี่ และเจ็บปวด...
เรื่องราวของชายคนหนึ่ง ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้และเสรีภาพของโลก...
และทุกเรื่องราวนั้นเกิดจากกฎ ที่เรียกว่า“อพาร์ไทด์ (Apartheid”)
กฎของคนขาวในดินแดนของคนดำ
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
เริ่มแรกผมขอเล่าถึงเรื่องราวของอิทธิพลชาติตะวันตกในแอฟริกาใต้ก่อนนะครับ...
โดยชาติตะวันตกชาติแรกที่เดินทางมาถึงแอฟริกาใต้ คือ ชาวโปรตุเกส และตามมาด้วยชาวดัตช์ ซึ่งทั้งสองชาติใช้แอฟริกาใต้เพื่อการค้าทาสเป็นหลักเลยครับ
ต่อมามหาอำนาจที่โดดเด่นขึ้นมาแทนที่ดัตช์ คือ อังกฤษ โดยอังกฤษได้เข้ามายึดที่มั่นของพวกดัตช์บริเวณแหลมกู๊ดโฮป ทำให้พวกดัชต์ถอยร่นขึ้นไปทางเหนือ คือ รัฐทรานส์วาลและรัฐโอเรนจ์
แต่แล้วเหมือนดัตช์จะถูกลอตเตอรี่ครั้งใหญ่ครับ เพราะบริเวณแห่งนั้นพบเพชรและทองคำจำนวนมาก! เมื่ออังกฤษเห็นดังนั้นจึงอิจฉาสิครับทีนี้ อยากได้อยากมีเหมือนกัน จึงตัดสินใจทำสงครามกับดัชต์ เรียกว่า สงครามอังกฤษ-บัวร์นั่นเองครับ
2
ผลจากสงครามชิงเพชรและทอง คือ อังกฤษเป็นฝ่ายชนะ และใน ค.ศ.1910 อังกฤษก็จัดตั้งสหภาพแห่งแอฟริกาใต้ขึ้นมา ที่รวมเอาเคปทาวน์ นาทาล ทรานส์วาล และโอเรนจ์เข้าด้วยกันกลายเป็นประเทศอิสรภาพ แต่อังกฤษก็ยังมีอำนาจทางการเมืองอยู่ในช่วงนี้ แล้วจึงค่อยๆหมดบทบาทลงไปเรื่อยๆ
อธิบายก่อนครับว่ากลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ของแอฟริกาใต้แบ่งอย่างหยาบๆจะได้เป็น 4 กลุ่ม คือ คนอังกฤษ คนดัตช์ คนเอเชีย (พวกนี้คือกลุ่มที่อพยพเข้ามา) และคนพื้นเมือง (พวกนี้จะมีจำนวนมากที่สุด)
อย่างที่ได้เล่าไปแล้วครับว่า อังกฤษกับดัตช์นั้นเคยมีปัญหาตีกันมาก่อน และเมื่ออังกฤษชนะ ก็ได้กดขี่กลุ่มคนอื่นๆ รวมถึงพวกดัตช์ (ที่อังกฤษดูถูกว่าเป็นฝรั่งขี้นก) แต่เมื่อจักรวรรดิอังกฤษเริ่มหมดบทบาทในแอฟริกา คนอังกฤษในแอฟริกาใต้จึงเลิกดูถูกกดขี่พวกดัตช์ (ซึ่งตอนนี้ถูกเรียกว่าพวกแอฟริกาเนอร์)
และแล้วกลุ่มคนอังกฤษก็คุยกับกลุ่มคนดัชต์หรือแอฟริกาเนอร์ครับว่า “เราควรลืมความบาดหมางในอดีตแล้วหันมาจับมือด้วยกันเถอะ เพราะยังไงเราก็เป็นคนขาวเหมือนกัน!” แล้วทั้งสองกลุ่มก็หันมาร่วมมือกัน ลืมความขัดแย้งขมขื่นแต่เก่าก่อน...
แต่ทว่า ความสัมพันธ์นี้ก็อยู่ได้เพียงเดี๋ยวเดียวเท่านั้น! เพราะว่าเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คนทั้งสองกลุ่มมีความคิดขัดแย้งกันอีก คือกลุ่มอังกฤษจะส่งคนไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่กลุ่มแอฟริกาเนอร์คัดค้านไม่เห็นด้วย ทำให้ทั้งสองกลุ่มขาดจากกันอีกแล้วครับทุกท่าน!
1
และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง กลุ่มที่มีอำนาจขึ้นมากลับเป็นกลุ่มแอฟริกาเนอร์ครับ จนในที่สุดกลุ่มแอฟริกาเนอร์ก็ได้รับเลือกขึ้นเป็นรัฐบาลใน ค.ศ.1948
แล้วรัฐบาลของพวกแอฟริกาเนอร์นี่แหละครับที่เป็นผู้สร้างนโยบายหรือกฎการแบ่งแยกสีผิวที่เรียกว่า อพาร์ไทด์ (Apartheid)...
ภาพจาก Intriguing History (สงครามบัวร์ระหว่างอังกฤษกับดัตช์)
หลังจากที่กลุ่มแอฟริกาเนอร์ขึ้นเป็นรัฐบาล ก็ได้ประกาศใช้นโยบายอพาร์ไทด์ในทันที...
อพาร์ไทด์ คือ การแบ่งแยกสีผิว ในที่นี้คือการแบ่งแยกคนดำออกจากคนขาวครับ โดยไม่ให้สิทธิทางการเมือง กดคนดำให้อยู่ในสภาพคล้ายทาส ไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆ...
มีการให้คนขาวเป็นเจ้าของที่ดินกว่า 80% ของทั้งประเทศ ทั้งที่จำนวนของคนขาวมีเพียง 13 % ของคนทั้งประเทศเท่านั้น แล้วให้คนดำที่มีจำนวนถึง 70% ไปแออัดอยู่ในพื้นที่ที่คนขาวกำหนดไว้ให้เพียง 13% ซึ่งเนื้อที่ที่คนขาวจัดไว้ให้คนดำจะเรียกว่า บันตูหรือโฮมแลนด์นั่นเองครับ (ซึ่งดินแดนที่คนขาวให้คนดำอยู่ค่อนข้างแห้งแล้งและทุรกันดารพอสมควรครับ) และคนขาวไม่ถือว่าคนดำพวกนี้เป็นพลเมืองของแอฟริกาใต้ (แม้จะเกิดจะอยู่ในแอฟริกาใต้มาตั้งนานนมแล้วก็ตาม) พร้อมทั้งกีดกันไม่ให้คนดำพวกนี้เข้ามาในพื้นที่ของคนขาว จะเข้ามาได้ก็เฉพาะคนขาวอนุญาตเท่านั้น!!
3
ในเรื่องการศึกษา เด็กผิวขาวและเด็กผิวดำก็ไม่สามารถเรียนโรงเรียนเดียวกันได้ครับ (ยกเว้นบางแห่งที่ต่อต้านนโยบาย) หนังสือ อุปกรณ์การเรียน และสื่อความสะดวกต่างๆจะถูกส่งให้เด็กผิวขาวฟรีๆ ส่วนเด็กผิวดำน่ะหรอครับ อย่าหวัง!!
ค่าแรง มาตรฐานการครองชีพก็ต่างกันสุดกู่ครับ คนขาวจะได้รับค่าแรงที่สูงมาก แต่คนดำจะได้รับค่าแรงแค่ให้พออยู่กินเท่านั้น (แม้จะทำงานประเภทเดียวกัน)
อีกทั้งสิ่งของที่เป็นสาธารณประโยชน์ ก็มีการแบ่งแยกครับ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ โรงพยาบาล ม้านั่ง ชิงช้า สวนสาธารณะ ฯลฯ ก็มีการแบ่งแยกและเขียนป้ายติดไว้ชัดเจนครับว่า “นี่เฉพาะคนขาวนะ คนดำห้าม!!!”
พูดง่ายๆครับว่า อพาร์ไทด์ เหมือนเป็นการแบ่งชนชั้นวรรณะโดยใช้สีผิวเป็นเกณฑ์ ซึ่งคนขาวจะเป็นวรรณะสูงสุด ลงมาจะเป็นคนผิวสี คนเอเชีย และลำดับสุดท้ายที่โดนเหยียดหยามที่สุดคือคนดำ!
คนดำที่มีจำนวนมากที่สุดและเคยเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้นี่แหละครับ...
ภาพจาก Toronto Star (บันไดที่มีป้ายแบ่งว่าเป็นของคนดำหรือของคนขาว)
แน่นอนครับว่าเมื่อรัฐบาลใช้กฎอย่างอพาร์ไทด์แล้ว ฝ่ายที่จะลุกขึ้นต่อต้านคือ กลุ่มคนดำแน่นอน โดยกลุ่มที่เป็นหัวหอก คือ กลุ่มสภาแห่งชาติแอฟริกัน (African National Congress) หรือ ANC
ใน ค.ศ.1949 ANC ได้ตอบโต้รัฐบาล โดยใช้ “โครงการปฏิบัติ” คือ ผลักดันให้มวลชนคนดำ ให้มีการประท้วงรัฐบาล แต่เป็นการประท้วงแบบสันติโดยยึดตามแนวทางของคานธีในอินเดียครับ
2
และใน ค.ศ.1950 ได้มีการเปลี่ยนตัวประธานของ ANC ซึ่งสมาชิกได้ผลักดันให้ชายคนหนึ่งขึ้นมาเป็นประธานคนใหม่ ชายคนนี้นี่แหละครับที่จะกลายมาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงแอฟริกาใต้ และเขาจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการเหยียดผิวทั่วโลก ชายที่ว่านี้ คือ เนลสัน แมนเดลา...
ภาพจาก The New York Times (เนลสัน แมนเดลา)
โรลิฮลาฮลา แมนเดลา หรือที่เรารู้จักกันดี คือ เนลสัน แมนเดลา (ชื่อเนลสัน เป็นชื่ออังกฤษที่ครูของเขาได้ตั้งให้)เกิดเมื่อ 18 กรกฎาคม ค.ศ.1918 โดยเกิดในตระกูลหัวหน้าเผ่าเทมบู
เมื่ออายุได้ 9 ขวบ พ่อของเนลสันก็เสียชีวิตจากโรคปอด แต่ได้ฝากฝังตัวของเนลสันไว้ให้ จองกินทาบา ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการของเผ่าเทมบูดูแลต่อ
เนลสันนั้นสนิทสนมกับจัสติช ซึ่งเป็นลูกชายของจองกินทาบา ทั้งคู่นั้นเติบโตไปด้วยกัน จนจองกินทาบาได้ขอทุนให้ทั้งคู่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยฟอร์ตแฮร์ (ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดสำหรับคนดำในตอนนั้นเลยครับ)
เอกลักษณ์ของเนลสันที่เราเห็นได้บ่อยๆ คือ เขามักจะสวมชุดสูทปกเสื้อกว้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เนลสันหลงไหลในการแต่งกายแบบตะวันตก ซึ่งเนลสันได้เรียกตัวของเขาเองว่า “คนอังกฤษผิวดำ” แต่อย่างไรก็ตาม เนลสันนั้นก็ยังสำนึกถึงเชื้อสายต้นกำเนิดของตนเองอยู่เช่นเดิมครับ
และเมื่อเนลสันเรียนอยู่ปี 2 ก็ได้เกิดเหตุความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย ทำให้ตัวของเนลสันนั้นตัดสินใจลาออก! แล้วเขาก็กลับบ้านไปหาจองกินทาบา ซึ่งทำให้จองกินทาบาโกรธมาก และไล่เขากลับไปเรียนให้จบ แต่เนลสันก็ดึงดันครับว่า ไม่มีทาง!
จองกินทาบาเห็นดังนั้นแล้ว จึงตัดสินใจจับเนลสันและจัสติซให้แต่งงานแบบคลุมถุงชน จุดนี้แหละครับที่เนลสันและจัสติซเห็นว่าไม่ยุติธรรม แม้ทั้งคู่จะเป็นหนี้บุญคุณจองกินทาบามหาศาล แต่เรื่องนี้พวกเขาไม่มีทางรับได้! แล้วทั้งคู่ก็ตัดสินใจหนีออกจากบ้านเดินทางไปที่โจฮันเนสเบิร์ก
2
ที่โจฮันเนสเบิร์กนี่แหละครับที่ทำให้เนลสันได้พบกับซิซูลู ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้เส้นให้เนลสันเข้าทำงานเป็นเสมียนในบริษัทกฎหมาย และจากการทำงานในบริษัทกฎหมาย ทำให้เนลสันได้รู้จักและติดต่อกับกลุ่มANC จนเข้าไปเป็นสมาชิกในที่สุด
และใน ค.ศ.1950 จากความสามารถในทางกฎหมายและความเป็นผู้นำ เนลสันก็ได้ไต่เต้าขึ้นเป็นประธานของ ANC ในช่วงที่รัฐบาลเริ่มใช้กฎอพาร์ไทด์ในการแบ่งแยกสีผิว...
ภาพจาก Valentinammaka (การไต่สวนคดีกบฎ)
เมื่อเนลสันขึ้นเป็นประธาน ANC เขาก็เริ่มต่อต้านนโยบายรัฐบาลโดยใช้ “การรณรงค์ขัดขืน” ในค.ศ.1952 ให้มวลชนเดินขบวนต่อต้านนโยบาย แต่เป็นไปในแนวทางสันติเท่านั้น
แต่แล้วรัฐบาลก็ได้ตอบโต้การรณรงค์ขัดขืนครับ คือการจับกุมเนลสัน! ทำให้ตัวของเนลสันต้องถูกดำเนินคดี แล้วถูกกักบริเวณ 6 เดือน และห้ามปราศัยในที่สาธารณะ...
ดังนั้น จึงทำให้กลุ่มคนดำหยุดชะงักในการตอบโต้รัฐบาลไปพักหนึ่ง และ ANC จำเป็นต้องปลดเนลสันออกจากการเป็นประธาน
1
แต่แม้ว่าจะเป็นผู้ต้องหา เป็นนักโทษ หรือโดนศาลสั่งห้ามยังไง เนลสันก็ยังมีการปลุกปั่นกลุ่มคนดำอยู่อย่างเงียบๆ และแล้วเนลสันก็ได้รับรู้แล้วครับว่า การประท้วงโดยสันติวิธีไม่สามารถที่จะเอาชนะรัฐบาลได้เลย ดังนั้น เมื่อรัฐบาลรุนแรงมา เขาก็จะรุนแรงกลับเช่นเดียวกัน!
แล้วรัฐบาลก็ได้ตอบโต้อีกครั้งครับ โดยการจับกุมผู้ที่ปลุกปั่น ประท้วง ด้วยข้อหากบฎ ในค.ศ.1956 ทำให้เหล่าผู้นำของ ANC รวมถึงเนลสันก็ถูกไต่สวนคดี ซึ่งกว่าจะหลุดพ้นก็กินเวลาไป 5 ปี! ซึ่งในระหว่าง 5 ปีนี่แหละครับที่ทำให้มีกลุ่มต่อต้านอพาร์ไทด์กลุ่มใหม่เกิดขึ้น คือ กลุ่มสมัชชาภาคพื้นทวีปแอฟริกา (Pan-Africanist Congress) หรือ PAC
จากการขึ้นมาของกลุ่ม PAC นี่แหละครับ ทำให้รัฐบาลหงุดหงิดสุดขีด อุตส่าห์กำจัดอีกกลุ่มได้แล้วก็ดันมีอีกกลุ่มมาให้ปวดหัวอีก!
1
แล้วก็นำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อผู้ประท้วงที่เป็นคนดำนับหมื่นคนที่ถูกปลุกปั่นโดย PAC ได้เข้าไปล้อมสถานีตำรวจที่ชาร์ปวิลล์ ตำรวจเห็นดังนั้นแล้วไม่รู้ว่าคิดอะไร จึงเปิดฉากกราดยิงผู้ประท้วงเหล่านั้น ทำให้มีผู้ประท้วงที่เสียชีวิต 69 คน! และนี่คือเหตุการณ์ที่เรียกว่า การสังหารหมู่ที่ชาร์ปวิลล์...
อีกทั้งรัฐบาลยังได้ตราหน้า ANC และ PAC ว่าเป็นองค์กรนอกกฎหมาย และถือว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายในแอฟริกาใต้!
จากเหตุการณ์นี้แหละครับ ทำให้กลายเป็นชนวนให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น นานาชาติเข้ารุมประนามรัฐบาลแอฟริกาใต้ มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศ
จากการประท้วง กลายไปเป็นการปฏิวัติ และจากสันติ กลายไปเป็นความรุนแรงในที่สุด...
ภาพจาก Blackpast (การสังหารหมู่ที่ชาร์ปวิลล์)
เหล่าผู้นำ ANC ได้พากันหนีออกจากประเทศแล้วไปตั้ง ANC สาขาต่างประเทศขึ้น กลุ่มคนดำภายในประเทศก็ไม่ได้กลัวหรือหยุดการชุมนุมแต่อย่างใดครับ มีการประท้วงต่อพร้อมกับนัดหยุดงานครั้งใหญ่
1
ตัวของเนลสันที่ยังติดคดีอยู่ ก็ได้ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนครับ โดยขัดคำสั่งศาลแล้วขึ้นปราศัย ซึ่งการปราศัยครั้งนี้ทำให้ภาพของเนลสันกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำ วีรบุรุษ และคนสำคัญของกลุ่มคนดำในแอฟริกาใต้ จนเกิดการบูชาเนลสัน แมนเดลาขึ้นมาเลยทีเดียวครับ!
แน่นอนว่าเนลสันก็ได้ถูกตำรวจตามล่า และเขาได้หนีการจับกุมพร้อมหลบซ่อนตัวไปเรื่อยๆ ทั้งยังมีการปลอมตัวเป็นนักศึกษา พนักงานรักษาความปลอดภัย เกษตรกร หรือแม้กระทั่งเด็กปั๊มเพื่อหลบหนีการจับกุม
2
แต่แล้ว ค.ศ.1962 คดีกบฎของ ANC รัฐบาลก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะไม่มีหลักฐาน ทำให้เหล่าผู้นำ ANC รวมถึงเนลสันนั้นพ้นข้อกล่าวหาครับ แต่เนลสันก็ไม่ได้ปรากฏตัวขึ้นมาต่อสาธารณชนแต่หลบไปใต้ดินเพื่อวางแผนปฏิบัติการตอบโต้รัฐบาลอย่างรุนแรง
แล้วเนลสันก็ได้ก่อตั้งองค์กรที่ชื่อว่า MK ขึ้นมาครับ โดยเป็นองค์กรในการก่อวินาศกรรมป่วนรัฐบาล และเริ่มงานครั้งแรกคือการบอมบ์ที่ทำการรัฐและสถานีไฟฟ้าย่อยในเมืองใหญ่ 3 เมือง
และระหว่างนั้นเนลสันก็ได้ลอบออกจากประเทศ แล้วไปติดต่อกับรัฐบาลประเทศอื่นทั่วทั้งทวีปแอฟริกาเพื่อหาผู้สนับสนุนและฝึกองค์กร MK แบบลับๆ
แต่เมื่อเนลสันเดินทางทั่วแอฟริกาเสร็จแล้ว เขาก็เดินทางกลับประเทศ ซึ่งไม่ทันได้หายใจหายคอ เขาก็โดนตำรวจรวบตัวในทันทีในข้อหาปลุกระดมและเดินทางออกจากประเทศโดยไม่มีหนังสือเดินทาง และศาลตัดสินให้ส่งตัวเนลสันไปคุมขังที่เกาะรอบเบน 6 สัปดาห์
และแล้ว 12 กรกฎาคม ค.ศ.1963 ตำรวจก็ได้เข้ากวาดล้างกลุ่ม MK แล้วก็ได้พบเอกสาร “ปฏิบัติการมาบิบูเย” ซึ่งรายละเอียดคือกลุ่มคนดำจะมีการใช้สงครามกองโจรในการทำสงครามกับรัฐบาล ทั้งยังพบบันทึกการเดินทางของเนลสันที่ได้เดินทางไปติดต่อกับรัฐบาลประเทศต่างๆในทวีปแอฟริกา!
รัฐบาลจึงนำตัวเนลสันกลับมาขึ้นศาลอีกครั้งในข้อหาก่อวินาศกรรมและเป็นกบฏ เนลสันได้ตอบโต้ศาลว่า “การกระจายทรัพยากรแบบสังคมนิยมเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ประชาชนของเราสามารถตามทันชาติที่เจริญแล้วชาติอื่นๆ ผมประทับใจกับระบอบรัฐสภาของอังกฤษ ดังนั้นเราจึงควรยกเลิกระบอบอภิสิทธิ์ทางเชื้อชาติของแอฟริกาใต้ที่เรียกว่า อพาร์ไทด์!” เนลสันได้ถ่ายทอดความแน่วแน่ของตัวเองแล้ว เขาคิดว่าแม้จะโดนประหารเขาก็ไม่เสียใจหรือเสียดายในสิ่งที่เขาได้ทำเลย และพร้อมเผชิญกับความตายแบบวีรบุรุษ...
แต่แล้วศาลก็ได้ตัดสินให้เนลสันและกลุ่มผู้นำ จำคุกตลอดชีวิตที่เกาะรอบเบน...
ภาพจาก Awesome Stories (เนลสัน แมนเดลานะหว่างที่ถูกขุมขังในเกาะรอบเบน)
ชีวิตในคุกของเนลสันนั้น ได้มีบุคคลสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกาชาดสากล นักการเมืองอังกฤษ คนจากรัฐบาลประเทศอื่นเข้ามาเยี่ยม และกลุ่มคนพวกนี้แหละครับที่เป็นผู้อัปเดตสถานการณ์ภายนอกคุกให้เนลสันได้รับรู้เป็นช่วงๆ
ซึ่งหลังจากที่เนลสันและพรรคพวกได้ถูกรัฐบาลจับยัดเข้าคุกแล้ว ใช่ว่าการประท้วงของคนดำจะจบลง แต่กลับมีการประท้วงอยู่หลายครั้ง และก็โดนตำรวจปราบปรามอย่างรุนแรงอีกหลายครั้งเช่นเคย! สถานการณ์ความแตกแยกระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาวยิ่งขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น
การแบ่งแยก เหยียด และทัศนคติของคนขาวยิ่งมองคนดำเหมือนไม่ใช่คนมากขึ้น รวมถึงการใช้อพาร์ไทด์ในช่วงนี้เข้มข้นและโหดร้ายมากกว่าเดิม...
จนมาใน ค.ศ.1981 การปะทะกันระหว่างกลุ่มคนดำและคนขาวก็เริ่มจริงจังมากขึ้นกว่าเดิม กลุ่มคนดำก็คิดว่า “ทนต่อไปแบบนี้ไม่ไหวแล้ว ทำไมพวกเราต้องโดนกดขี่ในดินแดนของพวกเราเอง ทำไมพวกเราต้องยอมให้กลุ่มคนจำนวนน้อยนิดในประเทศมาเป็นคนตั้งกฎขึ้นมาเอาเปรียบพวกเรา และพวกตูก็คนเหมือนพวกเอ็งนะโว้ย!” แล้วกลุ่มคนดำก็จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธที่มีจุดมุ่งหมายคือการโค่นล้มรัฐบาล...
แต่ละวันที่ผันผ่านไป การปะทะกันระหว่างกลุ่มคนดำและกลุ่มคนขาวที่มีเจ้าหน้าที่รัฐ กลายสภาพเป็นโศกนาฏกรรมที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ
รัฐบาลซึ่งนำโดยปีเอเทอร์ ดับเบิลยู โบธา ก็สั่งให้ตำรวจขยายอำนาจการปราบปรามไปทั่วเขตเมืองใหญ่ในแอฟริกาใต้ พร้อมบอก “พวกเอ็งต้องอยู่ภายใต้กฎของอพาร์ไทด์ที่พวกเราคนขาวกำหนดขึ้นมาเท่านั้น!!”
ผ่านไปหนึ่งปี มีกลุ่มคนดำที่ถูกจับกุมกว่า 25,000 คน และมีการประมาณการว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันไม่ต่ำกว่า 2,000 คน! ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงที่ดุเดือดและนองเลือดที่สุดในการปกครองแบบอพาร์ไทด์...
ภาพจาก Google Arts & Culture (ความสูญเสียจากการชุมนุมของกลุ่มคนดำ)
และแล้วภาพความรุนแรงในแอฟริกาใต้ก็ได้ถูกถ่ายทอดสู่คนทั่วโลกครับ ทำให้ไม่ใช่มีแค่การขับเคลื่อนในแอฟริกาใต้เท่านั้น แต่ยังมีการขับเคลื่อนตื่นตัวของคนทั้งโลก! มีการถกเถียงในเวทีระหว่างประเทศ ตักเตือนรัฐบาลแอฟริกาใต้ ทั้งยังกีดกันแอฟริกาใต้ทางวัฒนธรรมและกีฬา
แต่แล้วยังไงล่ะครับ รัฐบาลแอฟริกาใต้หาได้สะทกสะท้านไม่! ก็ยังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงเช่นเดิม
ดังนั้น UN ก็ได้ควักไม้ตายขึ้นมาใช้ เพื่อกดดันรัฐบาลแอฟริกาใต้ให้เลิกใช้กำลังปราบปรามกลุ่มคนดำ แล้วยกเลิกกฎที่ละเมิดความเป็นมนุษย์อย่างอพาร์ไทด์ซะ! ไม้ตายที่ว่าก็คือการคว่ำบาตรครับ...
โดยประเทศที่ตอบรับ UN เป็นประเทศแรกคือสหรัฐอเมริกา มีการยกเลิกการค้า การลงทุน สินเชื่อ และระงับความร่วมมือทางการผลิตนิวเคลียร์ แต่ในตอนแรกนั้นประธานาธิบดีโรนัล เรแกนพยายามที่จะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะยังต้องพึ่งพาแร่จากแอฟริกาจำนวนมากอยู่ และมีความชัดเจนเลยคือ โรนัล เรแกน มีการสนับสนุนรัฐบาลแอฟริกาใต้ แต่สุดท้ายก็ทนเสียงเรียกร้องของมวลชนอเมริกันไม่ไหวครับว่า “การแบ่งแยกสีผิวถือเป็นการละเมิดเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนสูงสุด เป็นสิ่งที่พวกเราชาวอเมริกันชนยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้!” ดังนั้นรัฐบาลอเมริกาจึงต้องจำยอมลงโทษทางเศรษฐกิจโดยการคว่ำบาตรกับรัฐบาลแอฟริกาใต้ในที่สุด
3
ซึ่งต่อมาประเทศในยุโรปก็เริ่มมีการคว่ำบาตรรัฐบาลแอฟริกาใต้เช่นเดียวกัน...
อีกทั้งUN และเหล่ามวลชนทั่วโลกที่ฝักใฝ่ในเสรีภาพ ต่างเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลแอฟริกา “ปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลาซะ! เขาเป็นบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสีผิว เป็นบุคคลที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม เขาไม่ใช่นักโทษ แต่เป็นวีรบุรุษของชาติ!”
รัฐบาลแอฟริกาเมื่อถูกกดดันทางเศรษฐกิจและกดดันให้ปล่อยตัวเนลสันพร้อมนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ก็เริ่มอยู่ยากมากขึ้นครับ โดยในช่วงนั้นได้มีประธานาธิบดีคนใหม่ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง คือ เฟรเดอริก ดับเบิลยู เคลิร์ก
เคลิร์กได้ตัดสินใจเข้าพบกับเนลสัน มีการเจรจาตกลงกันอยู่นานพอสมควร จากการได้พูดคุยตกลงกันนี่แหละครับ ทำให้เคลิร์กเริ่มรู้สึกประทับใจในท่าทีและรัศมีของชายคนนี้
และแล้วในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1990 เคลิร์กก็ได้ออกมาประกาศว่า “รัฐบาลได้ตัดสินใจยกเลิกกฎที่มีมาอย่างยาวนานอย่างอพาร์ไทด์ลง และจะปล่อยตัวเหล่าผู้นำ ANC อย่างไม่มีเงื่อนไข”
ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1990 เนลสัน แมนเดลา และเหล่านักโทษทางการเมืองหลังจากต้องถูกขังอยู่ในคุกกว่า 27 ปี ก็ได้เดินออกจากเรือนจำ
เนลสันมีทีท่าสงบเยือกเย็น และเขาได้ชูกำปั้นขึ้นเหนือฟ้าเพื่อเป็นการแสดงความเคารพตามฉบับ ANC และแสดงถึงความทุกข์ทน ความเจ็บปวด และความยากลำบากในการทำลายกฎที่ไม่เป็นธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพและความเท่าเทียม ต่อหน้าสายตาคนทั้งโลก...
ภาพจาก South Africa Gateway (การแสดงความเคารพแบบ ANC ในวันที่ออกจากคุกของเนลสัน แมนเดลา)
หลังจากที่เนลสันได้รับการปล่อยตัว พูดได้เลยครับว่าตารางงานแน่นเอี๊ยดเลยทีเดียว! ต้องเข้าพบบุคคลสำคัญจากทั่วทั้งโลก และเข้าเจรจากับรัฐบาลเรื่องการยกเลิกอพาร์ไทด์อย่างเป็นทางการ
จนในที่สุดก็สามารถผลักดันให้ยกเลิกกฎของคนขาวที่ไม่เป็นธรรมกับประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นคนดำในประเทศได้สำเร็จใน ค.ศ.1991 ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยความเจ็บปวดกว่า 43 ปีที่กลุ่มคนดำอยู่ภายใต้กฎนี้...
เนลสัน แมนเดลาและเฟรเดอริก ดับเบิลยู เคลิร์กได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน...
และใน ค.ศ.1994 แอฟริกาใต้ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งที่กลุ่มคนผิวดำมีสิทธิ์เท่าเทียมกลุ่มคนผิวขาวทุกประการ และแน่นอนครับว่าผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี คือ เนลสัน แมนเดลา
ชายผู้ที่ต้องการเชื่อมต่อโลกของคนดำและโลกของคนขาวเข้าด้วยกัน...
ชายผู้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเท่าเทียม...
และนี่คือเรื่องราวของความแตกต่าง...
ความแตกต่างที่ได้สร้างความเกลียดชัง...
แล้วความเกลียดชังก็ได้สร้างความขัดแย้ง...
ความขัดแย้งก็ได้สร้างความสูญเสีย...
สุดท้ายความสูญเสียก็ได้สร้างความทุกข์ระทมให้แก่ทุกฝ่าย...
แต่ในที่สุดดินแดนที่ผู้คนเกลียดชังกันเพราะความแตกต่าง ก็ได้รับการปลดปล่อย...
1
เพราะผู้คนต่างมองข้ามและเข้าใจในความแตกต่างนั้น...
คนขาวและคนดำได้เชื่อมโยงความรู้สึกซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น...
แล้วตระหนักในคุณค่าว่า เราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน...
ภาพจาก Medium (การจับมือร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศของเคลิร์กและแมนเดลา)
อ้างอิง
มรกต กอวัฒนา. มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ : ศึกษากรณีมาตรการการบงโทษทางเศรษฐกิจ เพื่อยุตินโยบายอยกผิวในอฟริกาใต้. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2539).
Guiloineau,Jean, The Early Life of Rolihhlahla Madiba Nelson Mandela, tr. Joseph Rowe (North Atlantic Books, 2002).
Mandela,Nelson, Long Walk From Freedom (Little, Brown, 1994).
https://www.biography.com/political-figure/nelson-mandela
https://www.britannica.com/topic/apartheid
30 บันทึก
109
7
31
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Africa Story
30
109
7
31
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย