10 พ.ค. 2022 เวลา 11:57 • ประวัติศาสตร์
“อียิปต์โบราณ (Ancient Egypt)” ความยิ่งใหญ่อันชวนพิศวง
อารยธรรมเป็นการสร้างสรรค์ระหว่างความเชื่อ เศรษฐกิจ การเมือง และกฎหมาย
1
ระยะเวลา 5,000 ปีที่แล้ว ร่องรอยอารยธรรมของมนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ แม่น้ำไทกริสและยูเฟรตีสในชื่อของเมโสโปเตเมีย
1
และในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 500 ปี ร่องรอยที่สองของอารยธรรมของมนุษย์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ ปลายของแม่น้ำสายยาวที่สุดในโลกอย่างแม่น้ำไนล์
อารยธรรมนี้ได้ก่อเกิดขึ้นภายใต้ความเชื่ออันหนักแน่นที่เป็นตัวแปรในการสร้างความยิ่งใหญ่อันชวนพิศวง
1
ความเชื่อนั้นได้ผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่ต่อกรกับกฎของธรรมชาติ
1
ความเชื่อนั้นได้ผลักดันให้เกิดการรังสรรค์สถาปัตยกรรมแห่งตำนานที่ถูกตั้งคำถามถึงความสามารถด้านวิศวกรรมของยุคสมัย
2
ที่ราบลุ่มเดลต้า…
ตำนานไอยคุปต์…
4
พีระมิดแห่งโจเซอร์…
มหาพีระมิดแห่งกิซา…
วิหารคานัก...
เสาโอเบลิสก์…
ตุตันคาเมน...
คำสาปฟาโรห์…
1
วิหารอาบูซิมเบล…
คลีโอพัตรา…
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวความยิ่งใหญ่อันชวนพิศวง ภายใต้อารยธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์นามว่า “อียิปต์โบราณ (Ancient Egypt)”
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง…
อารยธรรมในยุคโบราณของมนุษย์มักเกิดในบริเวณที่เป็นลุ่มแม่น้ำ เพราะสะดวกในการทำเกษตร ทำให้เกิดการตั้งชุมชนขึ้นบริเวณนี้ จนขยายไปเป็นเมืองแล้วก่อเกิดเป็นอารยธรรม
โดยอียิปต์โบราณนั้นได้เกิดขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ที่อยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งแม่น้ำไนล์ที่ว่านี้ เป็นแม่น้ำที่เกิดจากการรวมกันของแม่น้ำบลูไนล์และไวต์ไนล์ในเอธิโอเปียแล้วไหลไปทางเหนือของทวีปพาดผ่านดินแดนต่างๆ ในระยะทาง 6,650 กิโลเมตร และสิ้นสุดโดยการไหลลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
1
ซึ่งด้วยความยาวขนาดนี้ทำให้กว่าจะมาถึงทะเลนั้น แม่น้ำไนล์ต้องแบกตะกอนจำนวนมหาศาลมาด้วย โดยพอใกล้ไหลลงทะเลตะกอนก็จะแผ่ออกเป็นรูปพัดขนาดใหญ่ และเราจะเรียกบริเวณนี้ว่า "เดลต้า (Delta)" นั่นเอง
ทำให้บริเวณเดลต้านี่แหละ ที่เมื่อทำเกษตรแล้วดันรุ่งสุดๆ ปลูกอะไรก็ขึ้นเพราะแร่ธาตุมหาศาลจากตะกอน ทำให้ผู้คนพากันแห่มาสร้างบ้านสร้างเมืองบริเวณนี้จนเกิดเป็นอารยธรรมอียิปต์โบราณขึ้นมาในที่สุด
ภาพจาก Stratfor (แม่น้ำไนล์)
ภาพจาก Wikipedia (เดลต้า)
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของเดลต้า ทำให้ช่วงเวลานั้นอียิปต์กลายเป็นดินแดนแห่งการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อเสียงของเดลต้าทำให้คนอพยพเข้ามาตั้งชุมชนเป็นร้อยๆ ชุมชน
โดยชุมชนเหล่านั้นต่อมาก็รวมตัวกันกลายเป็นนครรัฐกระจายไปตามเส้นทางแม่น้ำ ซึ่งนครรัฐเหล่านั้นก็รวมกันแล้วแบ่งได้เป็น 2 ก๊กใหญ่ๆ คืออียิปต์ล่างที่อยู่บริเวณเดลต้า และอียิปต์บนที่อยู่ถัดจากเดลต้าลงมา
1
แล้ววันดีคืนดีก็ดันมีนครรัฐที่ชื่อว่าทีนิสซึ่งมีผู้นำคือ "เมเนส (Menes)" ตีทั้งอียิปต์บนและล่างรวมนครรัฐทั้งหมดเข้าด้วยกัน พร้อมสร้างศูนย์กลางอำนาจใหม่ที่เมืองเมมฟิส (Memphis) และตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ที่เรียกว่าฟาโรห์
2
การรวมตัวกันของอียิปต์ทำให้ระบบความเชื่อเริ่มเป็นแบบเดียวกันมากขึ้น ซึ่งความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของคนในบริเวณนี้คือมีการสร้างตัวอักษรที่เรียกว่า "เฮียโรกลิฟิก (Hieroglyphics)" เป็นอักษรภาพที่สลักไว้บนกำแพงของสิ่งก่อสร้างบอกเล่าเรื่องราวตำนานและความเชื่อต่างๆ
4
โดยความเชื่อหลักๆ เลย คือเรื่องของเทพเจ้าที่เป็นตัวแทนของปรากฎการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่คนในสมัยนั้นไม่สามารถอธิบายได้
1
แต่ละนครรัฐก็มีเทพเจ้าที่แตกต่างกันออกไป และพอสร้างศูนย์กลางอำนาจด้วยน้ำมือของเมเนส เทพต่างๆ ก็ถูกมัดรวมเข้ามาไว้ด้วยกันเกิดเป็นเรื่องราวปกรณัมของอียิปต์ ที่มีเทพหลักๆ ได้แก่...
รา (Ra) เทพดวงอาทิตย์ เป็นผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่ง...
1
ไอซิส (Isis) เทพแห่งการรักษาเยียวยา...
โอซิริส (Osiris) เทพที่พิพากษาดวงวิญญาณของมนุษย์...
ฮอรัส (Horus) เทพแห่งท้องฟ้า...
อนูบิส (Anubis) เทพแห่งความตาย...
2
และตัวของฟาโรห์ก็ถูกยกสถานะว่าเป็นเทพเจ้าเช่นเดียวกัน...
ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าหลังจากที่รวมนครรัฐและมีฟาโรห์แล้วนั้น โดยส่วนใหญ่เทพหลักๆ จะอยู่กับเรื่องของวิญญาณและโลกหลังความตาย
และจากความเชื่อนี้นี่แหละครับ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำสิ่งที่แปลกแหวกแนวของอียิปต์โบราณอย่างการดองศพและการสร้างสุสานซึ่งกลายเป็นความยิ่งใหญ่อันน่าเหลือเชื่อของโลกยุคโบราณเลยทีเดียว...
ภาพจาก History (อักษรเฮียโรกลิฟิก)
ภาพจาก All About Mythology (เทพอียิปต์ โดยจะมีลักษณะของสัตว์และมนุษย์ผสมกัน)
ชาวอียิปต์โบราณนั้นให้ความสำคัญกับโลกหลังความตายพอๆ กับโลกของคนเป็น เพราะมีความเชื่อเรื่องวิญญาณอมตะในโลกหน้าและการฟื้นคืนชีพในโลกนี้แบบเข้ากระดูกดำเลยล่ะครับ
โดยหลังจากที่ตายแล้ว การทำพิธีศพจะเป็นส่วนสำคัญที่ต้องละเอียดอ่อนแบบสุดๆ โดยเฉพาะคนที่กระเป๋าหนักก็จะมีการสร้างสุสานของตัวเองโดยเฉพาะ พร้อมกับรักษาร่างกายไม่ให้เน่าเปื่อย ซึ่งนำไปสู่การทำ "มัมมี่ (Mummy)" นั่นเอง
คนที่ไม่ค่อยมีเงินก็จะได้มัมมี่เกรดต่ำ ที่แค่เอาร่างไปตากแห้งเท่านั้น...
3
คนที่มีฐานะขึ้นมาหน่อยก็จะได้เกรดปานกลาง มีการฉีดน้ำมันสนซีดาร์เข้าไปซักหน่อยก่อนเอาไปตากแห้ง...
2
ส่วนคนที่รวยแบบสุดๆ หรือมีฐานะระดับเชื้อพระวงศ์และฟาโรห์ ก็จะได้มัมมี่เกรดพรีเมียม ที่ควักอวัยวะภายในออกจนหมดเหลือแค่หัวใจเอาไว้และยัดผ้าลินินเข้าไปแทนที่อวัยวะต่างๆ โดยมัมมี่พรีเมียมสามารถรักษาร่างกายได้นานเป็นพันปีเลยล่ะครับ...
3
ซึ่งชาวอียิปต์มีความเชื่อว่าหลังจากที่ตายไปแล้ว วิญญาณก็จะเดินทางไปโลกหน้า ทำให้มีการเขียนความดีของตัวเองไว้ในสุสานคู่กับศพ เรียกว่า Book of The Death
โดยวิญญาณก็จะเอา Book of the Death นี่แหละ ไปยื่นให้เทพโอซิริสพิจารณา แล้วขั้นตอนสุดท้ายก็จะเอาหัวใจของคนนั้นไปวางไว้บนตราชั่งทองโดยชั่งคู่กันกับขนนก
3
หากหัวใจหนักกว่าขนนก แสดงว่าทำชั่วไว้เยอะ วิญญาณก็จะถูกสาปเข้าสู่ความว่างเปล่า...
1
แต่หากหัวใจเบากว่าขนนก แสดงว่าทำแต่ความดี วิญญาณก็จะได้ขึ้นสวรรค์และรอวันที่จะคืนชีพในโลกคนเป็น...
3
การทำมัมมี่
ภาพจาก Science News for Students (มัมมี่)
ภาพจาก ThoughtCo (การพิพาษาของโอซิริส)
เทพอนูบิสและการชั่งหัวใจกับขนนก
อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการสร้างสุสาน โดยในตอนแรกนั้นสุสานจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ในเวลาต่อมาฟาโรห์ที่ชื่อว่าโจเซอร์เกิดปิ๊งไอเดียอยากสร้างสุสานของตัวเองให้เป็นที่จดจำ
ว่าแล้วก็ให้เสนาบดีชื่อ "อิมโฮเทป (Imhotep)" เป็นผู้ออกแบบ แล้วระดมคนทั่วอาณาจักรมาสร้างสุสานนี้โดยเฉพาะ
เล่าก่อนว่าสุสานที่ผ่านๆ มาจะใช้ดินเหนียวสร้าง แต่อิมโฮเทปต้องการให้ผลงานนี้ยิ่งใหญ่และแปลกใหม่ เลยสร้างสุสานโดยใช้หินแกรนิตล้วนๆ
3
แน่นอนว่า โปรเจกนี้เป็นงานที่หินจริงๆ ครับ! ใช้คนและเงินอย่างมหาศาลเพราะต้องมีการตัดหินขนาดใหญ่ให้ประณีตที่สุดมาเรียงต่อกันเป็นขั้นบันได 6 ขั้น (ในปัจจุบันพบว่าน้ำหนักของหินที่ใช้คือ 8.5 แสนตัน)
3
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีการตกแต่งภายในเข้ามาอีก ทั้งการสร้างห้องโถงและโบสถ์ พร้อมแกะสลักผนังบอกเล่าถึงเรื่องราวของฟาโรห์และยุคสมัย
2
และแล้วก็เกิดเป็นพีระมิดแห่งแรกของโลกที่ชื่อว่า "พีระมิดแห่งโจเซอร์ (Pyramid of Djoser)" ที่ใหญ่โตอลังการสมใจฟาโรห์โจเซอร์แบบสุดๆ
2
ฟาโรห์โจเซอร์และอิมโฮเทป
ภาพจาก ThoughtCo (พีระมิดแห่งโจเซอร์)
ภาพจาก Egyptian Street (ภายในพีระมิดแห่งโจเซอร์)
ภาพจาก Classicult (ภายในพีระมิดแห่งโจเซอร์)
หลังเกิดพีระมิดแห่งโจเซอร์ขึ้น คราวนี้ก็เหมือนเป็นธรรมเนียมต่อๆ กันมาที่ฟาโรห์ต้องพากันสร้างสุสานของตัวเองให้ใหญ่โตแบบโจเซอร์ ซึ่งไม่เพียงแค่ฟาโรห์เท่านั้น แต่เหล่าเชื้อพระวงศ์และเศรษฐีกระเป๋าหนักก็หลุดเข้าไปในเทรนด์ของการสร้างพีระมิดเช่นเดียวกัน จนมีพีระมิดเป็นร้อยๆ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วอาณาจักรเลยล่ะครับ...
แต่จุดพีคที่สุดอยู่ในยุคของฟาโรห์ที่ชื่อว่า "คูฟู (Khufu)" ที่คิดโปรเจกต์สร้างพีระมิดที่จะโค่นล้มโจเซอร์ ซึ่งคูฟูระดมคนโดยใช้ความเชื่อว่า "หากใครมาร่วมสร้างพีระมิดของฟาโรห์จะได้รับความดีกลับไปเป็นกอบเป็นกำ ทำให้เวลาที่ต้องพิพากษา หัวใจจะเบากว่าขนนกแน่นอน" อีกทั้งยังมีการดึงดูดโดยให้อาหารและเงินเป็นของตอบแทนแก่คนที่มาร่วมสร้างพีระมิดนี้
5
การระดมคนของคูฟูนั้นได้ผลอย่างน่าเหลือเชื่อเมื่อมีคนมาเข้าร่วมกว่าแสนคน!
1
ว่าแล้วก็เริ่มต้นโปรเจกต์โดยการเลือกพื้นที่จัดวางคือเมืองกิซา ซึ่งมีการแบ่งหน่วยงานเป็นระบบเลยทีเดียวครับ...
มีทั้งหน่วยขนหินจากเหมืองมาลงเรือแล้วล่องมาที่เมืองกิซารวมระยะทางกว่า 160 กิโลเมตร อีกทั้งหินแต่ละก้อนนั้นหนักเป็นตัน เคลื่อนย้ายโดยใช้วิธีวางหินบนแคร่ไม้แล้วให้คนลาก ซึ่งโดยรวมแล้วโปรเจกต์นี้จะใช้หินทั้งหมด 2,300,000 ก้อน!
4
พอขนหินเสร็จแล้วก็จะมีหน่วยสกัดหินรออยู่แล้ว เพื่อตัดแต่งหินแต่ละก้อนให้เนียนกริบ ซึ่งน่าเหลือเชื่อจริงๆ ครับ ที่เทคโนโลยีในสมัยนั้นสามารถสกัดหินให้มีขนาดใกล้เคียงกันสุดๆ (ต่างกันมากสุดเพียง 0.02 นิ้วเท่านั้น)
2
การขนหินจากเหมืองและการสกัดหินว่ายากและน่าเหลือเชื่อแล้ว แต่ยังเทียบไม่ได้กับหน่วยเรียงหินแต่ละก้อนให้เป็นพีระมิด ซึ่งในปัจจุบันก็ยังถกเถียงกันไม่จบอยู่ว่า "ชาวอียิปต์โบราณใช้วิธีการไหนในการเรียงหินกันแน่?"
1
บ้างก็ว่ามีการสร้างทางวนรอบๆ พีระมิด แล้วใช้คนลากหินขึ้นไปเรียงทีละก้อนเรื่อยๆ...
3
บ้างก็ว่าสร้างทางลาดภายในพีระมิด แล้วลากหินออกมาเรียงเป็นชั้นไปเรื่อยๆ...
1
บ้างก็ว่าสร้างอุโมงค์น้ำ แล้วใช้ทุ่นผูกหินให้ลอยไปตามอุโมงค์ขึ้นไปแล้วค่อยเรียงเป็นชั้นๆ...
1
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน ก็ถือได้ว่าชาวอียิปต์โบราณมีความรู้เรื่องวิศวกรรมล้ำหน้าไปไกลเลยทีเดียว
2
อีกทั้งโปรเจกต์นี้เป็นการสร้างพีระมิด 3 แห่งที่เรียงกันเป็นแนวทะแยงซึ่งมีการใช้ความรู้ของดาราศาสตร์มาประยุกต์ด้วย เพราะพีระมิดทั้งสามสร้างเลียนแบบเข็มขัดของกลุ่มดาวนายพราน
4
โปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ของยุคโบราณนี้ใช้เวลาสร้างร่วมๆ 20 ปี เกิดเป็น "มหาพีระมิดแห่งกิซา (The Great Pyramid of Giza)" ซึ่งประกอบด้วยพีระมิดคูฟูที่ใหญ่ที่สุด พีระมิดคาเฟรและพีระมิดเมนคาอู
1
และยังมีการสร้างมหาสฟิงซ์ ซึ่งเป็นรูปปั้นสฟิงซ์ขนาดยักษ์สูง 20 เมตร หมอบอยู่ใกล้กับพีระมิดคาเฟร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีสัตว์ประหลาดที่คอยเฝ้าสุสานอยู่ตลอดเวลา
เรียกได้ว่า มหาพีระมิดอันอลังการงานสร้างนี้ได้ทำให้พีระมิดแห่งโจเซอร์ต้องชิดซ้ายกลายเป็นสุสานขนาดย่อมไปเลยทีเดียว
อีกทั้งมหาพีระมิดนี้ยังเป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมยุคโบราณที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์และสร้างความพิศวงมาจนถึงปัจจุบัน...
3
ภาพจาก History of Yesterday (การลากหิน)
ภาพจาก DK Find Out (การสกัดหิน)
ภาพจาก Engineering Discoveries (การสกัดหิน)
ภาพจาก scriptures of the day (การสร้างทางวนเพื่อเรียงหิน)
ภาพจาก Engineering Feed (การใช้อุโมงค์น้ำเพื่อเรียงหิน)
ภาพจาก Wallpaper Safari (มหาพีระมิดแห่งกิซา)
ภาพจาก Book Cheap Tour (มหาพีระมิดแห่งกิซา)
ภาพจาก Reddit (ขนาดของคนเมื่อเทียบกับพีระมิด)
ภาพจาก Drop Backdrops of Australia (มหาสฟิงซ์)
การระดมทั้งคนและเงินมาสร้างพีระมิด ทำให้ในเวลาต่อมาก็เป็นเหมือนโรคร้ายที่กัดกินราชสำนัก เพราะเหล่าขุนนางท้องถิ่นต่างไม่เห็นด้วยในการหมกมุ่นกับสิ่งก่อสร้างที่มีแต่ฟาโรห์เท่านั้นที่ได้ประโยชน์
3
จึงพากันรวมตัวแล้วก่อกบฏจนอียิปต์แตกออกเป็นก๊กต่างๆ อีกครั้ง ฟาโรห์ไร้อำนาจในการปกครอง ทำให้เทรนด์การสร้างพีระมิดได้หยุดชะงักลงไปอย่างรวดเร็ว
เหล่าขุนนางก็ต่างห้ำหั่นแย่งอำนาจกันเกิดเป็นสงครามกลางเมืองยาวนานกว่า 200 ปี จนมีฟาโรห์ที่ชื่อว่า "เมนตูโฮเตปที่ 2" ฟื้นฟูกองทัพแล้วเก็บขุนนางต่างๆ จนเรียบ รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและรวมอียิปต์เป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งได้สำเร็จ
ซึ่งในช่วงนี้ฟาโรห์นั้นก็คิดแล้วครับว่า "การสร้างพีระมิดขนาดใหญ่เป็นเรื่องไร้สาระ เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์" จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการค้าขายแล้วหันไปสร้างวิหารเพื่อบูชาเทพเจ้าแทน...
โดยวิหารที่เด่นๆ คือ "วิหารคาร์นัก (Karnak)" ในเมืองลักซอร์ ที่สร้างบูชาเทพรา และยังมีการสร้างเสาปลายแหลมขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "เสาโอเบลิสก์ (Obelisk)" ซึ่งสลักอักษรเฮียโรกลิฟิกที่เล่าถึงเรื่องราวของฟาโรห์เอาไว้
1
และในสมัยต่อมาฟาโรห์ก็พากันตามเทรนด์โดยสร้างเสาโอเบลิสก์และวิหารต่างๆ แทนพีระมิดในที่สุด
1
ภาพจาก istocks (วิหารคาร์นัก)
ภาพจาก secret world (วิหารคาร์นัก)
ภาพจาก Wondrium daily (เสาโอเบลิสก์)
แต่อำนาจของฟาโรห์อยู่ได้เพียงแค่ 200 กว่าปี ก็มีกองทัพจากภายนอกที่ชื่อว่า "ฮิกโซส (Hyksos)" เข้ามาถล่มอียิปต์
เรื่องวิทยาการต่างๆ เรียกได้ว่าอียิปต์ก้าวหน้าไปไกลแบบสุดๆ แต่เรื่องของกองทัพนั้นพวกฮิกโซสดันเหนือกว่าหลายขุมเลยล่ะครับ ทัพอียิปต์ต้องแพ้อย่างราบคาบเมื่อเจอกับอาวุธล้ำสมัยที่เรียกว่ารถศึกเข้าบดขยี้
1
และแล้วฮิกโซสก็เข้ายึดอำนาจในอียิปต์และอยู่ปกครองนานเกือบ 200 ปี!
1
จนมีฟาโรห์ชื่อว่า "อาห์โมสที่ 1" รวบรวมคนอียิปต์เข้าโค่นล้มพวกฮิกโซสได้สำเร็จ แล้วฟื้นฟูราชวงศ์ของอียิปต์ขึ้นมาใหม่
1
จากการถูกพวกฮิกโซสปกครองอย่างยาวนาน ทำให้อียิปต์ที่แต่ก่อนไม่ยุ่งเรื่องภายนอกอาณาจักร กลับกลายเป็นว่าหลังไล่พวกฮิกโซสไปแล้ว อียิปต์ก็เริ่มเข้าตีอาณาจักรต่างชาติรอบๆ แบบไม่ยั้งเลยล่ะครับ! จนทำให้ดินแดนของตัวเองขยายออกไปเรื่อยๆ กลายเป็นจักรวรรดิในเวลาอันรวดเร็ว
แน่นอนว่าด้วยขนาดที่ใหญ่ การปกครองย่อมมีความยากตามไปด้วย อีกทั้งขุนนางภายในกับฟาโรห์ก็มีการแย่งชิงอำนาจกันอย่างดุเดือด
อย่างในยุคของฟาโรห์ที่ชื่อว่า "ตุตันคาเมน (Tutankhamen)" ซึ่งขึ้นเป็นฟาโรห์ตอนอายุ 10 ขวบ ทำให้อำนาจอยู่ในมือของขุนนางแบบเบ็ดเสร็จ
และพออายุได้ 19 ที่เริ่มจะปกครองเองได้แล้ว ก็ดันตายแบบปริศนาซึ่งเป็นไปได้สูงว่าถูกลอบสังหาร
1
ตุตันคาเมนถือว่าเป็นฟาโรห์ที่ไม่ได้มีผลงานโดดเด่นอะไร ช่วงสมัยการปกครองก็สั้น บทบาทก็ไม่มี อีกทั้งยังอาภัพน่าสงสาร แต่ทว่า ดันเป็นฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในปัจจุบัน!
5
เพราะหลังจากที่ตายแล้วก็มีการทำมัมมี่และสร้างสุสานแบบลวกๆ ขนาดย่อมเอาไว้ที่ไม่ค่อยสมกับฐานะของฟาโรห์ซักเท่าไหร่...
2
เผอิญว่า ในเวลาต่อมามีโปรเจกต์การสร้างสุสานของฟาโรห์ที่ชื่อว่ารามเสสที่ 6 ซึ่งอยากได้ทำเลตรงสุสานตุตันคาเมนพอดี เลยมีการสร้างทับลงไปแบบดื้อๆ! (ด้วยความเล็กของสุสานทำให้ไม่มีคนรู้ว่าเป็นสุสานของฟาโรห์)
1
แต่แล้วใครจะคิดล่ะครับว่าความอาภัพของตุตันคาเมนจะทำให้สุสานฟาโรห์นั้นเหลือรอดมาในสภาพสมบูรณ์กว่า 3,000 ปี ตรงข้ามกับสุสานฟาโรห์อื่นๆ ที่หากไม่โดนยกเค้า ก็โดนทำลายไปพอสมควร...
1
โดยในปี 1922 ก็มีการขุดจนเข้าไปพบศพของฟาโรห์ที่รายรอบไปด้วยทองคำ แต่สิ่งที่น่ากลัวดันเป็นข้อความที่สลักเอาไว้ว่า "มัจจุราชจะมาเยือนผู้ซึ่งรบกวนการหลับไหลของฟาโรห์!"
1
และก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดชวนพิศวงที่ภายในเวลาแค่ 6 ปี คณะที่ร่วมขุดสุสานก็พากันล้มหายตายจากไปถึง 12 คน
5
ทั้งถูกยุงกัดเป็นไข้เลือดออกจนตาย...
หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน...
เกิดไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุจนตาย...
1
การตายของคณะสำรวจ จะด้วยเพราะความบังเอิญหรือเพราะอำนาจเหนือธรรมชาติจริงๆ ก็ยากที่จะพิสูจน์ แต่เรื่องราวนี้ก็ได้แพร่ออกไปจนเกิดเป็นตำนานของ "คำสาปฟาโรห์" ซึ่งทำให้ตุตันคาเมนโด่งดังเป็นพลุแตกจนปัจจุบันนั่นเอง...
4
ภาพจาก The Guardian (ตุตันคาเมน)
ภาพจาก Daily Mail (การค้นพบสุสานตุตันคาเมน)
หลังการตายของตุตันคาเมน อียิปต์ก็มีการแย่งอำนาจกันดุเดือดมากขึ้น แต่ระหว่างนั้นก็ดันมีกองทัพภายนอกอย่างฮิตไทต์เข้ามารุกรานตรงชายแดน
ฟาโรห์รามเสสที่ 2 กับขุนนางเลยต้องหันมาร่วมมือกันรบกับพวกฮิตไทต์อยู่ถึง 16 ปี ซึ่งไม่รู้ผลแพ้ชนะแบบเด็ดขาดซักที ทำให้ทั้งสองต้องยอมเจรจาสงบศึก โดยมีการแบ่งดินแดนและตกลงกันได้ในที่สุด
2
ทำให้อียิปต์ในช่วงรามเสสที่ 2 มีความมั่นคงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปัญหาภายนอกก็จบแบบแฮปปี้ ปัญหาภายในก็ไม่มีอีกแล้ว คราวนี้จะเอาเวลาไปทำอะไรล่ะ?
หลายท่านคงจะเดาถูก...
และแล้วเทรนด์การก่อสร้างเริ่มบูมอีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไปนาน! มีการสร้างทั้งพีระมิด วิหาร และเสาโอเบลิสก์กระจายไปทั่วจักรวรรดิ...
3
ซึ่งสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงที่สุดคงไม่พ้น "วิหารอาบูซิมเบล (Abu Simbel)" ที่อยู่ทางใต้ของอียิปต์ บริเวณริมทะเลสาบนัสเซอร์
1
วิหารอาบูซิมเบลนี้ไม่ได้สร้างแบบทื่อๆ เหมือนวิหารอื่นๆ แต่เป็นสร้างโดยการเจาะภูเขาแล้วสลักเป็นรูปฟาโรห์ 4 องค์นั่งอยู่ตรงทางเข้า อีกทั้งภายในวิหารก็เป็นห้องโถงที่ตามผนังก็สลักเรื่องราวของเทพเจ้าและฟาโรห์เอาไว้
เรียกได้ว่า หากมหาพีระมิดแห่งกิซาเป็นมาสเตอร์พีซในหมวดสุสานแล้วล่ะก็ อาบูซิมเบลก็ถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซในหมวดของวิหารได้เลยล่ะครับ
4
ภาพจาก Isango (วิหารอาบูซิมเบล)
ภาพจาก mosaWeb (จำลองวิหารอาบูซิมเบลแบบสมบูรณ์)
ภาพจาก cazenove (วิหารอาบูซิมเบล)
ภาพจาก yingpook (ภายในวิหารอาบูซิมเบล)
ภาพจาก Sketchfab (ภายในวิหารอาบูซิมเบล)
แต่เหมือนอียิปต์จะวนลูปเดิม เมื่อหมดยุคของรามเสสที่ 2 ปัญหาการแย่งอำนาจภายในก็เกิดขึ้นอีก และต่างชาติก็พากันเข้ามาท้าตีกับอียิปต์อีกครั้ง ซึ่งก็ผลัดกันขึ้นมาเป็นฟาโรห์ ทั้งชาวลิเบีย เอธิโอเปีย เปอร์เซีย ต่างก็ได้นั่งบัลลังก์ของอียิปต์กันถ้วนหน้า...
1
และที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือมีกษัตริย์กรีกที่ชื่อว่าอเล็กซานเดอร์เข้ามาตีอียิปต์แล้วตั้งตัวเองเป็นฟาโรห์ และพอหมดยุคของอเล็กซานเดอร์ ฟาโรห์ปโตเลมีก็ขึ้นปกครองแล้วย้ายศูนย์อำนาจไปที่เมืองใหม่คือ อเล็กซานเดรีย (Alexandria)
1
อเล็กซานเดรียที่ว่านี้ถือเป็นเมืองการค้าที่อู้ฟู่แบบสุดๆ เลยล่ะครับ เพราะเป็นศูนย์กลางให้คนทางตะวันตกและทางตะวันออกมาค้าขายกัน จนทำให้เมืองนี้มีประชากรมากที่สุดในโลก กลายเป็นมหานครของยุคโบราณเลยทีเดียว
1
อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของศิลปวิทยาการ มีโรงเรียน หอสมุด และพิพิธภัณฑ์แบบครบครัน...
1
แต่แล้วในเวลาต่อมา ก็มีมาเฟียรายใหม่อย่างโรมันเข้ามาเป็นมหาอำนาจแทนที่กรีก ซึ่งตรงกับช่วงที่อียิปต์มีปัญหาภายในพอดิบพอดี
เมื่อฟาโรห์ปโตเลมีที่ 12 ดันจากไปกระทันหัน ซึ่งเผอิญว่าฟาโรห์มีลูกสามคน โดยคนโตเป็นผู้หญิง ส่วนคนรองและคนสุดท้องเป็นผู้ชาย
เหล่าขุนนางต่างยอมรับในความสามารถของลูกสาวคนโตมากกว่า เลยยกให้เป็นราชินีชื่อว่า "คลีโอพัตราที่ 7 (Cleopatra VII)" แต่จะให้ผู้หญิงปกครองคนเดียวก็ยังตะหงิดๆ ใจอยู่ คลีโอพัตราเลยตัดสินใจแต่งงานกับน้องชายของตัวเองเพื่อให้สามารถอยู่บนบัลลังก์ได้อย่างชอบธรรม! ซึ่งน้องชายคนรองก็กลายเป็นปโตเลมีที่ 13
2
การผลัดอำนาจของอียิปต์ ตรงกับช่วงที่โรมันกำลังเบ่งกล้ามขยายอิทธิพลของตัวเองภายใต้ผู้นำที่ชื่อว่า "จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)"
1
และปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อปโตเลมีที่ 13 จัดการยึดอำนาจไว้คนเดียว แล้วพยายามขับไล่คลีโอพัตราออกไปจากอียิปต์ แล้วเผอิญว่าดันไปมีปัญหาขัดแย้งกับโรมันอีกทางหนึ่ง ทำให้ซีซาร์ต้องยกทัพเข้ามาในอียิปต์รบกับปโตเลมีที่ 13
2
ผลคือ ปโตเลมีตายในสนามรบอย่างอนาจ แล้วซีซาร์ก็ตัดสินใจเข้ามาจัดระเบียบการเมืองการปกครองในอียิปต์ใหม่
การจากไปของปโตเลมีที่ 13 ทำให้คลีโอพัตราต้องแต่งงานอีกรอบกับน้องคนสุดท้องอย่างปโตเลมีที่ 14
คราวนี้แหละครับ คลีโอพัตราเห็นแล้วว่าอำนาจของตัวเองยังน้อยและไม่มั่นคงเลยโดนยึดอำนาจอย่างง่ายดาย ดังนั้น จึงต้องสร้างฐานอำนาจของตัวเองให้เข้มแข็งขึ้น
ซึ่งวิธีที่คลีโอพัตราเลือกในการสร้างฐานอำนาจ ก็คือการเข้าหาซีซาร์นั่นเอง...
2
คลีโอพัตราถึงแม้หน้าตาจะไม่ได้สวยงามกว่าผู้หญิงทั่วไปซักเท่าไหร่ แต่ก็ใช้เสน่ห์ในส่วนของมันสมองและวาทศิลป์การพูดเข้ากุมหัวใจของซีซาร์จนอยู่หมัดโดยทั้งซีซาร์และคลีโอพัตราก็มีลูกชายด้วยกันชื่อว่า "ซีซาเรียน"
1
แต่ในเวลาต่อมา ซีซาร์ก็กลับกรุงโรม ซึ่งคลีโอพัตรากับซีซาเรียนก็ตามไปเยี่ยมในภายหลัง โดยดันประจวบเหมาะพอดีกับช่วงที่ขุนนางร่วมกันวางแผนโค่นล้มซีซาร์
ซึ่งแผนสังหารก็ได้เริ่มขึ้นในเช้าวันหนึ่งที่มีการประชุมสภา ซีซาร์ถูกคณะสังหารรุมกระหน่ำแทงในสภาแบบไม่ยั้ง จนต้องนอนตายจมกองเลือดอย่างสยดสยอง...
2
ทำให้คลีโอพัตราต้องพาซีซาเรียนหนีกลับอียิปต์อย่างรวดเร็ว ซึ่งในระหว่างนั้นปโตเลมีที่ 14 ก็เสียชีวิตกระทันหัน (ซึ่งมีการตั้งข้อสงสัยว่าคลีโอพัตราอาจเป็นผู้บงการลอบสังหาร)
และหลังจากปโตเลมีที่ 14 จากไป คลีโอพัตราก็แต่งตั้งซีซาเรียนเป็นฟาโรห์คือปโตเลมีที่ 15 ขึ้นมานั่งบัลลังก์คู่กัน...
1
การตายของจูเลียส ซีซาร์ ทำให้โรมันวุ่นวายแบบสุดๆ เพราะอาณาจักรต่างๆ ที่อยู่ใต้โรมันพยายามแยกตัวเป็นอิสระ โรมันเลยต้องส่งคณะผู้แทนไปเจรจาโน้มน้าวไม่ให้อาณาจักรต่างๆ ก่อกบฏ
1
ซึ่งคณะที่ส่งมาเจรจากับอียิปต์นั้นมีผู้นำคือชายที่ชื่อว่า "มาร์ค แอนโทนี (Marc Anthony)"
1
ภาพจาก English with Sophia (มหานครอเล็กซานเดรีย)
ภาพจาก Medium (คลีโอพัตราที่ 7)
ภาพจาก Wikipedia (การสังหารจูเลียส ซีซาร์)
ภาพจาก Reddit (มาร์ก แอนโทนี)
ซึ่งพอมาร์ก แอนโทนีได้เจอคลีโอพัตราก็ตกหลุมรักอย่างหัวปักหัวปำ โดยทั้งสองก็พัฒนาความสัมพันธ์กันจนแต่งงานและมีลูกด้วยกัน 1 คน
ไม่เพียงแค่นั้น มาร์ก แอนโทนี ยังแสดงความรักของตัวเองโดยการยกทัพไปตีทั้งอาร์เมเดีย พาร์เธีย เมเดีย ลิเบีย และซีเรีย เพื่อเอามาเป็นดินแดนของคลีโอพัตรา...
2
การโชว์ออฟของมาร์กนั้น เรียกได้ว่าถูกใจคลีโอพัตราเข้าเต็มเปา แต่ทว่ากลับไม่ถูกใจโรมันแบบสุดๆ เพราะมองว่ามาร์กทำให้อียิปต์มีอำนาจมากเกินไปจนอาจจะแว้งมากัดโรมันได้...
2
คราวนี้ ออกตาเวียนที่เป็นลูกบุญธรรมของซีซาร์ เลยเอาเรื่องเข้าสภาว่า "เราต้องตัดไฟแต่ต้นลม โดยการยกทัพไปสั่งสอนอียิปต์!"
ซึ่งสภาก็เห็นด้วย และให้ออคตาเวียนนำทัพเรือเข้าบวกกับอียิปต์อย่างไม่รอช้า...
1
ผลคือ ออคตาเวียนชนะทัพเรือของอียิปต์ได้อย่างง่ายดาย ทำให้คลีโอพัตราที่ไหวตัวทันก็เก็บข้าวของหนีออกจากเมืองไปก่อน ซึ่งมาร์ก แอนโทนีก็ทิ้งกองทัพแล้วหนีตามไป
3
การทิ้งทั้งกองทัพและเมืองของคลีโอพัตราและมาร์ก ทำให้เหล่าทหารขุนนางอียิปต์ตัดสินใจยอมแพ้โรมันในที่สุด
คลีโอพัตราและมาร์กที่เห็นว่าไม่เหลืออะไรแล้วเลยตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยการให้งูพิษกัด
2
และแล้ว โรมันก็ยึดอียิปต์แบบสมบูรณ์ เป็นจุดจบของราชวงศ์ปโตเลมีซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอียิปต์
5
กล่าวได้ว่า ตั้งแต่ระยะเวลาที่อารยธรรมอียิปต์ได้ถือกำเนิดขึ้น วิทยาการของมนุษย์ก็ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในหลายด้าน...
1
ทั้งด้านความเชื่อ การปกครอง สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม ที่ล้วนสร้างความสงสัย ประหลาดใจ และยิ่งใหญ่ไปในเวลาเดียวกัน...
2
ทำให้อารยธรรมโบราณนี้ ก็ยังคงถูกบอกเล่า ถูกตั้งคำถาม และถูกค้นหาอย่างไร้ที่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบัน...
และนี่ คือเรื่องราว “อียิปต์โบราณ (Ancient Egypt)” ความยิ่งใหญ่อันชวนพิศวง
4
ภาพจาก Value ADZ visa
References
1
Shaw, Ian. The Oxford History of Ancient Egypt (Oxford Illustrated History). Oxford : OUP Oxford, 2003.
Kooney, Kara. When Women Ruled the World: Six Queens of Egypt. Washington D.C. : National Geographic, 2018.
Wilkinson, H. Richard. Complete Gods and Goddesses of Ancient Egypt. London : Thames & Hudson, 2017.
Wilkinson, Toby. The Rise and Fall of Ancient Egypt. Random House Trade Paperbacks, 2013.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา