13 มิ.ย. 2020 เวลา 12:32 • ประวัติศาสตร์
“พยัคฆ์ทมิฬอีแลม” กลุ่มก่อการร้ายที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก
ทุกท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวของอัลเคดา ที่มีเครือข่ายการก่อการร้ายอยู่ทั่วโลก
1
ทุกท่านคงเคยได้รับรู้เรื่องราวความแข็งแกร่งของเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน
ทุกท่านคงเคยได้ฟังเรื่องราวความโหดร้ายของของตาลีบันในอัฟกานิสถาน
และทุกท่านคงเคยได้ดูความดิบเถื่อนของ ISIS ในอิรักและซีเรีย
แต่ ณ ที่นี้ ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับกลุ่มก่อการร้ายอีกกลุ่มหนึ่งที่ทุกท่านอาจไม่คุ้นหู
กลุ่มก่อการร้ายที่มีพื้นเพอยู่ในประเทศทางใต้ของอินเดีย ที่เรียกว่า ศรีลังกา...
กลุ่มก่อการร้ายที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองตัวเอง...
1
กลุ่มก่อการร้ายที่มีการทำงานอย่างเป็นรูปแบบขององค์กรมากที่สุด...
กลุ่มก่อการร้ายที่มีแสนยานุภาพทั้งทางบก น้ำ อากาศ เทียบเท่าประเทศๆหนึ่ง...
กลุ่มก่อการร้ายที่เป็นต้นกำเนิดของการระเบิดพลีชีพ...
ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ คือ “กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม”
3
โดยได้รับการขนานนามว่า เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก...
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
1
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเลยก็คือ ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ 2 กลุ่มในศรีลังกา ซึ่งศรีลังกาเนี่ยเป็นประเทศเล็กๆที่อยู่ทางใต้ของอินเดียครับ โดยมีประชากรกว่า 19 ล้านคน
สัดส่วนประชากรคือ ชาวสิงหล ที่มีจำนวน 74 % รองลงมาจะเป็นชาวทมิฬ ที่มีจำนวน 18% ที่เหลือจะเป็นชนชาติอื่นๆผสมกัน
โดยชาติพันธุ์ 2 กลุ่มที่มีปัญหากันก็คือ ชาวสิงหลและชาวทมิฬนี่แหละครับ ซึ่งคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ถือได้ว่ามีความแตกต่างกันทั้งด้านเชื้อชาติ ลักษณะ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี การใช้ชีวิต เรียกได้ว่าแตกต่างกันแทบทุกด้านเลยล่ะครับ...
1
ซึ่งชาวสิงหลเนี่ยมีลักษณะคล้ายชาวอารยัน คือ ตัวสูง ผิวสีน้ำตาล ใช้ภาษาสิงหลในการพูดคุย และนับถือศาสนาพุทธ...
2
ส่วนชาวทมิฬมีลักษณะคล้ายชาวดราวิเดียน คือ ผิวสีดำ ตัวเตี้ย จมูกแบน ผมหยิก ใช้ภาษาทมิฬในการพูดคุย และนับถือศาสนาฮินดู...
1
ศรีลังกานั้นก็เหมือนกับประเทศเอเชียหลายๆประเทศครับ นั่นคือ ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก โดยเริ่มแรกตกเป็นของโปรตุเกส ตามด้วยฮอลันดา และสุดท้ายก็ตกเป็นของอังกฤษ
2
โดยอังกฤษใช้วิธีการปกครองศรีลังกาแบบเดียวกับอาณานิคมที่อื่นๆ นั่นคือ การแบ่งแยกและปกครอง คือ การปกครองโดยเอาใจคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่กีดกันคนอีกกลุ่มหนึ่งเอาไว้ (โมเดลเดียวกับอินเดีย พม่า)
2
ซึ่งในศรีลังกา อังกฤษปกครองโดยเอาใจพวกทมิฬครับ มีการให้สิทธิพิเศษกับพวกทมิฬหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนพวกทมิฬให้เรียนจบสูงๆหรือเรียนจบนอกแล้วมาทำงานระดับสูงในประเทศ มีหน้าที่การงานที่ดี คุณภาพชีวิตสูง ส่วนพวกสิงหล อังกฤษจะกีดกันในเรื่องการศึกษา และตำแหน่งงานในระดับสูง
1
การปกครองของอังกฤษทำให้พวกสิงหลซึ่งเป็นคนส่วนมากในประเทศ โกรธเกลียด เคียดแค้นพวกทมิฬที่ดันได้ดิบได้ดีกว่าตัวเอง ทั้งที่เป็นคนส่วนน้อย(แทนที่จะไปเกลียดอังกฤษ)
1
และแล้วศรีลังกาก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1948 แล้วเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย แน่นอนครับว่าเมื่อชาวสิงหลมีจำนวนมากที่สุด จึงทำให้ชาวสิงหลมีอำนาจการปกครองมากที่สุดและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ
1
คราวนี้แหละครับเรื่องราวการเอาคืนชาวทมิฬของชาวสิงหลจึงได้เริ่มขึ้น...
1
ภาพจาก Quora (ชาวสิงหล)
ภาพจาก Livemint (ชาวทมิฬ)
หลังได้รับเอกราช ดอน สตีเฟน เสนาไนยเก ซึ่งเป็นชาวสิงหล ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของศรีลังกา มีนโยบายสนับสนุนชาวสิงหลให้อพยพเข้าไปในภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งดินแดนแถบนี้ดันเป็นดินแดนของพวกทมิฬ!
ชาวทมิฬก็ไม่พอใจสิครับทีนี้ จึงเกิดกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องรัฐบาลว่า ให้ชาวทมิฬสามารถปกครองตัวเองได้
และมาในสมัยของนายกคนที่ 2 คือ โซโลมอน บันดาไนยเก ซึ่งได้อวยชาวสิงหล และกีดกันชาวทมิฬรุนแรงขึ้น โดยให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการ ให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีการกีดกันตำแหน่งราชการจากชาวทมิฬ และตั้งเกณฑ์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชาวทมิฬให้หินกว่าชาวสิงหล ฯลฯ
1
เหมือนเป็นการราดน้ำมันใส่กองไฟครับ ชาวทมิฬจึงพากันประท้วง แล้วรัฐบาลสิงหลก็เห็นโอกาสแก้แค้น จึงส่งตำรวจเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง จนมีชาวทมิฬเสียชีวิตกว่า 100 คน! และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองในศรีลังกาที่ลากยาวไปเกือบ 30 ปี!
ดังนั้นเมื่อเกิดการปราบปรามขึ้น ชาวทมิฬเห็นแล้วว่าไม่สามารถใช้วิธีอย่างสันติกับชาวสิงหลได้อีกต่อไปแล้ว ต้องใช้วิธีการที่รุนแรงเท่านั้น เลือดต้องล้างด้วยเลือด! จึงมีกลุ่มทมิฬหัวรุนแรงกำเนิดขึ้นมาเพื่อเรียกร้องและต่อสู้ให้ดินแดนของชาวทมิฬกลายเป็นประเทศอิสระและปกครองตัวเองได้ กลุ่มที่ว่านั่นคือ กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (The Liberation Tiger of Tamil Elam)
1
ภาพจาก Tumblr (กองกำลังกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม)
กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยวัยรุ่นชาวทมิฬที่มีการศึกษาสูงครับ โดยมีผู้นำ คือ เวรุพิไล ประภาคารัน โดยวีรกรรมแรกของกลุ่มคือ การลอบฆ่านายกเทศมนตรีเมืองจาฟฟ์นา เพราะนายกเทศมนตรีคนนี้ถึงแม้จะเป็นคนทมิฬแต่ดันไปเห็นดีเห็นงามกับพวกสิงหล
1
และกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ถือได้ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีการจัดบุคลากรเป็นระบบมากที่สุด มีการแยกส่วนสมาชิกเป็นแผนกๆเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน ด้านการเมือง ด้านกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งใช้คนที่มีความรู้ความสามารถด้านนั้นจริงๆเข้ามาเป็นผู้นำ
1
วิธีการต่อสู้ของกลุ่มก็น่าสนใจไม่น้อยครับ โดยมีอยู่ 3 วิธี คือ การใช้กำลัง การประชาสัมพันธ์และการระดมทุน
หลายท่านอาจสงสัยว่า กลุ่มก่อการร้ายแบบนี้เอาเงินมาจากไหนตั้งมากมายในการสร้างกองทัพขนาดนี้...
1
คำตอบคือ การประชาสัมพันธ์และการระดมทุนครับ โดยระดมทุนจากชาวทมิฬที่อยู่ต่างประเทศ และชาวต่างชาติที่สนับสนุน ซึ่งบอกได้เลยว่ามีจำนวนไม่น้อยทีเดียวครับ อีกทั้งยังมีรายได้จากการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ สินค้าผิดกฎหมาย และยังมีการรับฝึกกองกำลังทหารรับจ้าง กองกำลังก่อการร้ายทั่วโลก ทำให้ฐานะทางการเงินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ เรียกได้ว่า โคตะระรวยเลยล่ะครับ! ซึ่งรายได้ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬนั้น มากกว่างบประมาณรายปีของศรีลังกาซะอีก!
2
การใช้กำลังหลักๆของกลุ่ม คือ การสังหารบุคคลสำคัญ การก่อวินาศกรรม บอมบ์สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกา และรบตามรูปแบบตรงๆกับรัฐบาลโดยใช้ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ
โดยวิธีการสังหารที่โด่งดังที่สุดของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ คือ การใช้เข็มขัดติดระเบิดพันรอบตัว แล้วจัดการปลดชนวน บอมบ์เป้าหมายไปพร้อมกับมือระเบิด หรือเรียกง่ายๆคือ ระเบิดพลีชีพนั่นเองครับ! ซึ่งถือได้ว่าการระเบิดพลีชีพโดยใช้เข็มขัดติดระเบิดแบบนี้ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ เป็นโมเดลให้กับกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆทั่วโลกเอาไปเลียนแบบประยุกต์ใช้เลยล่ะครับ!
3
กลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นมือระเบิดพลีชีพโดยเฉพาะ คือ หน่วยเสือดำ หรือ Black Panthers ซึ่งมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก! (ซึ่งกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬมักใช้ผู้หญิงและเด็กเป็นมือระเบิดพลีชีพ เพราะมีเปอร์เซ็นความสำเร็จสูง เพราะคนมักไม่ระวังภัยจากผู้หญิงและเด็ก)
4
ภาพจาก TamilNation (หน่วย Black Panthers ถ่ายรูปร่วมกับเวรุพิไล ประภาคารัน)
และเมื่อรัฐบาลได้ปราบปรามผู้ประท้วงชาวสิงหลอย่างรุนแรง ใน ค.ศ.1983 กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬจึงแก้แค้นคืนโดยการเชือดทหารสิงหล 13 คน ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ!
3
จากการตอบโต้ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ทำให้ชาวสิงหลในโคลอมโบเกิดคลั่งขึ้นมาครับ จึงรวมตัวกันเผาบ้านชาวทมิฬในโคลอมโบ ทั้งยังจับชาวทมิฬออกมาทำร้ายและสังหารอย่างทารุณ มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน และอีก 100,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย! ซึ่งเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “Black July”
1
กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬจึงตอบโต้คืนอย่างหนักหน่วงใน ค.ศ.1987 คือ การบุกเข้าไปในหมู่บ้านอารันตาราวะ ที่อยู่ทางตะวันออกของประเทศ แล้วใช้ปืนกลกระหน่ำยิงพระและเณรของชาวสิงหล ทั้งยังใช้มีดดาบกระหน่ำสังหารไม่ยั้ง ส่งผลให้พระและเณรเสียชีวิตกว่า 30 รูป!
ทั้งชาวสิงหลและรัฐบาลต่างเดือดปุดๆกับเหตุการณ์ครั้งนี้มาก! จึงได้ประกาศว่า กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เป็นกลุ่มก่อการร้ายในประเทศศรีลังกา ที่ต้องกำจัดทิ้งเท่านั้น! (รวมถึงชาวทมิฬ)
ความขัดแย้งระหว่างชาวทมิฬและสิงหลยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งมีมหาอำนาจในภูมิภาคได้ยื่นมือเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในศรีลังกา โดยมหาอำนาจที่ว่า คือ อินเดียนั่นเองครับ...
ภาพจาก Iconic Photos (เหตุการณ์ Black July)
อินเดียได้เข้ามาเป็นตัวกลางให้รัฐบาลศรีลังกาและกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬให้ได้เจรจากัน ซึ่งไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้สำเร็จเลยซักครั้ง เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็ต้องการให้แยกประเทศเท่านั้น แต่รัฐบาลศรีลังกากลับบอกไม่มีทาง!
1
กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬจึงคิดว่า “พวกเอ็งไม่ยอมรับก็ช่าง แต่พวกข้าจะตั้งประเทศขึ้นมาเอง!” ว่าแล้วก็ประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลศรีลังกา แล้วยึดเอาดินแดนทางตอนเหนือและตะวันออกตั้งเป็นประเทศที่ชื่อว่า อีแลม และใช้เมืองจาฟฟ์นาเป็นเมืองหลวง มีการตั้งรัฐบาล และจัดเก็บภาษีเอง
3
รัฐบาลศรีลังกาเห็นทีท่าว่าจะไม่ดี จึงตกลงกับอินเดียแล้วอนุญาตให้กองทัพของอินเดียที่เรียกว่า กองกำลังสันติภาพอินเดีย เข้ามาในประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยอินเดียเปลี่ยนไปสนับสนุนกองกำลังทมิฬกลุ่มอื่นให้โค่นล้มกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม
1
ประภาคารัน จึงบอก “อินเดีย จุ้นไม่เข้าเรื่อง!” แล้วให้มือระเบิดพลีชีพจากหน่วย Black Panthers ที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง พันเข็มขัดติดระเบิด แล้วจัดการระเบิดสังหาร ราจีฟ คานธี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ใน ค.ศ.1991!
3
จากเหตุการณ์นี้ทำให้อินเดียโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงสุดๆ แล้วประกาศคว่ำบาตรกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ พร้อมทั้งประกาศสงคราม
คราวนี้แหละครับ ทำให้กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ต้องรับมือกับรัฐบาลศรีลังกาและรัฐบาลอินเดียพร้อมๆกัน...
ภาพจาก Outlook India (วินาทีการสังหารราจีฟ คานธี โดยมือระเบิดพลีชีพคือผู้หญิงใส่ชุดสีเขียว)
และใน ค.ศ.1993 หน่วย Black Panthers ก็สร้างผลงานอีกครั้ง คือ การให้มือระเบิดพลีชีพปั่นจักรยานพุ่งเข้าหาประธานาธิบดีศรีลังกาคือ รณสิงห์ เปรมดาสา ขณะกำลังกล่าวสุนทรพจน์ในกรุงโคลอมโบ ผลคือ ระเบิดทำให้รณสิงห์และผู้ติดตามเสียชีวิตกว่า 30 คน!
แล้วสถานการณ์ก็เริ่มดุเดือดขึ้นเมื่อศรีลังกามีผู้นำคนใหม่ ใน ค.ศ.1994 คือ จันทริกา กุมาระตุงคะ ซึ่งช่วงแรกพยายามที่จะแก้ปัญหาโดยสันติ แต่ต่อมาเริ่มรู้ว่า ปัญหานี้มันเกินกว่าที่จะใช้สันติวิธีแล้ว...
3
ค.ศ.1995 กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ โจมตีเรือ 2 ลำ ของศรีลังกา ทำให้ทหารเรือเสียชีวิต 12 คน ทำให้จันทริกา ได้ตั้งใจแน่วแน่ในการกวาดล้างกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬไม่ให้เหลือซาก!
แต่แล้วกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็ปฏิบัติการต่ออย่างบ้าคลั่งไม่หยุดยั้ง คือ ใช้ขีปนาวุธสอยเครื่องบินของทัพอากาศศรีลังกาตก 2 ลำ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 94 คน!
จันทริกา ก็ทำการตอบโต้โดยใช้วิธีทางการทูต พยายามโน้มน้าวนานาชาติว่า กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม คือกลุ่มก่อการร้ายที่โหดร้ายป่าเถื่อน จนในที่สุดนานาชาติต่างพากันจั่วหัวว่า กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เป็นกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติใน ค.ศ.1997 ซึ่งทำให้รายได้จากการระดมทุนจากต่างชาติ (รวมถึงจากชาวทมิฬที่อยู่ในต่างประเทศ) ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬลดลงมหาศาลเลยล่ะครับ รายได้ของกลุ่มจึงมีเพียงจากการค้ายา ค้าอาวุธ และฝึกกองกำลังเท่านั้น...
1
อีกทั้งใน ค.ศ.2001 เกิดเหตุการณ์ 911 ในสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการประกาศสงครามต่อต้านก่อการร้าย และภัยจากการก่อการร้ายจึงเป็นเป้าความสนใจจากทั่วทั้งโลก ทำให้การระดมทุนของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬยิ่งยากขึ้นไปอีก!
กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬจึงพยายามเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลใน ค.ศ.2002 รัฐบาลก็ตอบตกลง โดยเป็นการหยุดยิงของทั้งสองฝ่ายกว่า 3 ปีเลยล่ะครับ
1
จนใน ค.ศ.2005 ศรีลังกามีผู้นำคนใหม่ คือ มหินทรา ราชปักษา ซึ่งได้ออกนโยบายในการ กวาดล้างกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอย่างเด็ดขาด และเรียกคืนดินแดนทางเหนือและตะวันออกกลับมา สงครามจึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง...
ภาพจาก Wikipedia (สงครามระหว่างนัฐบาลศรีลังกากับพยัคฆ์ทมิฬอีแลม)
หน่วย Black Panthers ก็ออกล่าอีกครั้งเช่นเดียวกัน โดยมีการสังหารรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีต่างประเทศ สมาชิกพรรคสหชาติ รัฐมนตรีกระทรวงสร้างชาติ และรัฐมนตรีกระทรวงทางหลวงพัฒนาถนน เรียกได้ว่า มีแต่คนระดับบิ๊กๆทั้งนั้นเลยล่ะครับ...
แต่ทว่า แม้จะสร้างผลงานในการลอบสังหารได้ดีเยี่ยม แต่แสนยานุภาพทางการรบของกลุ่มกลับอ่อนแอลง เพราะเริ่มมีความแตกแยกภายในระหว่างผู้นำ บวกกับได้เงินน้อยลง เรียกง่ายๆ คือ เริ่มจน...
ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็ได้ฟอร์มกองกำลังขึ้นมาใหม่ มีการซื้ออาวุธจากจีน ปากีสถาน และรัสเซีย พร้อมกับเกณฑ์ทหารครั้งใหญ่ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลตั้งใจกวาดล้างอย่างจริงจังสุดๆเลยล่ะครับ! อีกทั้งมหินทรา ยังเดินทางไปประเทศต่างๆให้ช่วยสนับสนุนรัฐบาลของตัวเองในการกำจัดกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ
และจากความแตกแยกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ทำให้มีไส้ศึกเข้ามาร่วมกับฝ่ายรัฐบาล แล้วบอกข้อมูลสำคัญๆของกลุ่ม คราวนี้แหละครับเรียกได้ว่า รัฐบาลได้เปรียบเต็มประตู!
ว่าแล้ว รัฐบาลก็เปิดฉากบุกโจมตี ทิ้งระเบิดดินแดนฝั่งตะวันออก จนสามารถยึดดินแดนเหล่านั้นได้ภายในเวลา 1 ปี! อีกทั้งยังยึดเมืองหลวงของพวกทมิฬได้อีก คือ เมืองจาฟฟ์นา แสดงให้เห็นแล้วครับว่า กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมนั้นอ่อนแอลงสุดๆ แต่รัฐบาลกลับแข็งแกร่งขึ้นมาก
4
แล้วกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็ยกทัพมาทวงคืนเมืองหลวงครับ เกิดการปะทะกันอย่างดุเดือด ยันกันไปยันกันมา สลับกันได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ในที่สุด กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็ไม่สามารถยึดเมืองหลวงคืนมาได้ ทำให้ต้องถอยไปอย่างเจ็บใจ
1
รัฐบาลจึงตัดสินใจเป็นฝ่ายรุกแทน โดยวางกลยุทธ์แบ่งกองทัพเป็น 5 ทัพ ทำการตีขนาบ ให้ไปบรรจบกันที่เมืองคิรินอชชิ
ผลจากความอ่อนแอและอาการถังแตกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ทำให้สามารถต้านกองกำลังของรัฐบาลได้เพียงทัพเดียวเท่านั้น ที่เหลือแพ้ราบคาบ จนกองทัพของรัฐบาลได้ล้อมเมืองคิรินอชชิไว้ได้ ใน ค.ศ.2009
1
ภาพจาก Sky News (กองกำลังศรีลังกา)
ตัวของประภาคารันเรียกได้ว่า ต้องหนีหัวซุกหัวซุนเลยล่ะครับ โดยพาสมาชิกกลุ่มที่เหลือและประชาชนกว่า 3 แสนคนหนีไปทางตะวันออกที่เป็นเพียงชายหาดแคบๆ หลายท่านอาจสงสัยว่าจะนำประชาชนมาด้วยทำไมตั้ง 3 แสนคน...
คำตอบคือ ประภาคารันต้องการใช้ประชาชนพวกนี้เป็นเกราะกำบังสุดท้ายของตัวเองครับ เพราะเขาเชื่อว่าหากรัฐบาลศรีลังกาทำการโจมตีประชาชน UN ต้องไม่ยอมอยู่เฉยแน่
ดังนั้นรัฐบาลศรีลังกาจึงตอบโต้โดยการ ประกาศให้พื้นที่ตรงนั้นเป็น พื้นที่ห้ามยิง แค่ทำการล้อมเอาไว้แค่นั้น...
3
ภาพจาก Sri Lanka News (เขตห้ามยิง ที่เป็นที่อยู่ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬที่เหลือและประชาชนกว่า 3 แสนคน)
ซึ่งพอล้อมไปถึง 3 เดือน! ประชาชนชาวทมิฬที่อยู่ข้างในก็เริ่มไม่พอใจประภาคารันสิครับทีนี้ เพราะพื้นที่นั้นไม่มีอะไรเลย มีแต่หาดทรายกับทะเล ข้าวปลาอาหารเริ่มร่อยหรอ ผู้คนก็แออัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ
2
ประภาคารันเห็นท่าไม่ดีจึงส่งสารไปหากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬที่อยู่ทั่วโลก ให้ทำการปลุกปั่นชาวทมิฬ ประท้วงการกระทำของรัฐบาลศรีลังกา ซึ่งก็ได้ผลครับ มีชาวทมิฬทั่วโลกนับหมื่นคนทำการชุมนุมประท้วงอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา สหรัฐอเมริกา มีการเรียกร้องให้ประเทศเหล่านั้น “แทรกแซงศรีลังกาซะ ที่รัฐบาลศรีลังกาทำอยู่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปิดกั้นคน 3 แสนคนให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ พวกเขากำลังขาดน้ำขาดอาหารตาย!”
1
แต่ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นก็นิ่งเฉยครับ เพราะคิดว่า “จะช่วยไปเพื่อ!? พวกมันเป็นพวกผู้ก่อการร้ายนะโว้ย!”
1
ประชาชนชาวทมิฬที่ถูกล้อมต่างก็ทนไม่ไหวครับ พากันหลบหนีออกมาหารัฐบาลศรีลังกาทีละคนๆ จนกระทั่งประชาชนได้ทะลักออกมากว่าแสนคน!
รัฐบาลก็ได้ตรวจสอบคนเหล่านั้นอย่างเข้มงวดแล้วส่งไปบรรเทาทุกข์กันแทบทุกคนเลยล่ะครับ...
1
เมื่อประชาชนที่ถูกล้อมเริ่มน้อยลง รัฐบาลก็ได้ทำการเปิดฉากกรีธาทัพเข้าไปสลายกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอย่างเด็ดขาด ถือเป็นการจบเกมสงครามกลางเมืองที่มีมาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี
ตัวของประภาคารันนั้นหนีจากสมรภูมินี้ไปได้ แต่แล้วก็โดนสังหารในภายหลัง ซึ่งเป็นจุดจบของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในที่สุด...
ภาพจาก Museum of Toronto (การประท้วงของชาวทมิฬในโทรอนโต แคนาดา)
ถึงแม้กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะถูกทำลายไปใน ค.ศ.2009 แต่สิ่งที่กลุ่มนี้ได้ทิ้งเอาไว้ให้กับโลกนั้นยังคงอยู่...
ผลงานในฐานะด้านการก่อการร้าย ถือว่าเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด...
สังหารบุคคลสำคัญไปเป็นจำนวนมากที่สุด...
องค์กรก่อการร้ายทั่วโลกต่างนำรูปแบบของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมไปประยุกต์ใช้...
กลายเป็นกลุ่มที่ให้กำเนิดรูปแบบการก่อการร้ายในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง...
และถึงแม้รัฐบาลศรีลังกาจะเป็นฝ่ายชนะ...
แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวทมิฬและสิงหลนั้นยังไม่จบสิ้น และไม่มีทีท่าว่าจะลงเอยกันด้วยดี...
1
ซึ่งความขัดแย้งนี้อาจจะระเบิดออกมาอีกครั้งในซักวันหนึ่ง...
และนี่คือเรื่องราวของ “พยัคฆ์ทมิฬอีแลม” กลุ่มก่อการร้ายที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก พร้อมเรื่องราวความขัดแย้งที่ไม่รู้จบของศรีลังกา...
1
ภาพจาก International Business Times
อ้างอิง
วงเดือน นาราสัจจ์. (2548). ทมิฬอีแลม : ปัญหาชาติพันธุ์ในศรีลังกา. วารสารประวัติศาสตร์.
Winslow, Deborah & Woost, Michael D. (2004). Economy, Culture, and Civil War in Sri Lanka. Bloomington : Indiana University Press.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา