13 มิ.ย. 2020 เวลา 16:53 • ประวัติศาสตร์
แม่ทัพแห่งกองทัพบกจักรพรรดิคนสุดท้าย
Koreichiga Anami
ในช่วงสุดท้ายของสงครามมหาเอเชียบูรพา ถึงแม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นจะพ่ายแพ้ย่อยยับในทุกแนวรบ แต่บรรดานายพลของกองทัพบกยังเชื่อในการรบครั้งสุดบนแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่นว่าจะเปลี่ยนทิศทางของสงครามได้
พลเอก อานามิ รัฐมนตรีกระทรวงสงคราม ในขณะนั้นก็เชื่อเช่นกัน
อานามิ เกิดในปี 1887 ที่จังหวัดโออิตะ ในครอบครัวซามูไรเก่า บิดาทำงานที่กระทรวงมหาดไทย วัยเด็กนั้น อานามิ เป็นคนตัวเล็กกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน แต่ฝีมือเคนโด้เก่งเกินวัย วันหนึ่งในงานแข่งเคนโด้ระดับมัธยมต้น ซึ่งอานามิก็ได้เข้าแข่งด้วย ฝีมือเคนโด้ของอานามิ สร้างความประทับใจให้กับ พลโท โนริยูกิ โนงิ ที่เป็นแขกในงาน และเป็นนายทหารที่ผ่านสงครามมาตั้งแต่สมัยปฏิวัติเมย์จิ และ ได้แนะนำให้อานามิ ไปเป็นทหาร สมัยนั้นญี่ปุ่นปลูกฝังลัทธิบูชาทหารผ่านกีฬาเคนโด้และยูโด คนที่เก่งกีฬาสองอย่างนี้ มักจะถูกชวนให้เข้าเป็นทหาร
อานามิ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมทหารที่ฮิโรชิม่า ซึ่งในช่วงเวลานี้ ส่วนสูงของอานามิ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากคนตัวเล็กที่สุดของชั้น กลายมาสูง 170 ซม ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับชายชาวญี่ปุ่นสมัยนั้น ที่สูงแค่ประมาณ 155-160 ซม. และ ได้เรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยรุ่นที่ 18 โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง นายพล โทโมยูกิ ยามาชิตะ เสือแห่งมาลายา จบการศึกษาในปี 1906 ติดยศร้อยตรี เหล่าทหารราบ ได้ไปประจำการหลายที่ ทั้งเกาะ Sakhalin, ผู้ช่วยทูตที่ฝรั่งเศส
ปี 1929 อานามิ ขณะนั้นยศพันโท ได้ย้ายมาเป็นที่ปรึกษาทางทหารให้กับจักรพรรดิฮิโรฮิโต ซึ่งอานามิ เป็นที่โปรดปรานขององค์จักรพรรดิมาก เพราะ ทรงโปรดปรานกีฬาขี่ม้า และ อานามิ ก็มีฝีมือในการขี่ม้ามากด้วย นอกจากจะได้สนิทกับจักรพรรดิแล้ว ยังได้สนิทกับ คันทาโร ซูซูกิ ที่ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีด้วย
ปี 1938 อานามิ ซึ่งขณะนั้นยศพลโท ได้ย้ายไปบัญชาการรบในจีน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในเขตจีนตอนกลาง จนถึงเกาะไฮหลำ ได้สู้กับกองทัพจีนคณะชาติหลายครั้ง รวมไปถึง battle of Changsha. ในปี 1941-42 ที่ถือเป็นป้ายสุดท้ายที่ไกลที่สุด ที่กองทัพบกญี่ปุ่นบุกไปได้ในจีนแผ่นดินใหญ่ กองทัพบกญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้กับจีนคณะชาติ เนื่องจาก เมือง Changsha ตั้งอยู่ลึกในแผ่นดิน การส่งกำลังบำรุงทำได้ลำบากมาก
ปี 1943 อานามิ ได้เลื่อนเป็นพลเอก พร้อมย้ายมาบัญชาการรบใน ดัทช์อีสต์อินดี้ หรือ อินโดนีเซีย ในปัจจุบัน และเขตนิวกีนีด้วย สู้กับสหรัฐและออสเตรเลีย
เดือนธันวาคม 1944 อานามิ ได้ย้ายกลับมายังกองบัญชาการกองทัพบกที่โตเกียว ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจการกองบินของกองทัพบก
เมษายน 1945 ทันทีที่กองทัพสหรัฐฯยกพลขึ้นบกที่โอกินาว่า พลเอก Kuniaki Koiso นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ลาออก คันทาโร่ ซูซูกิ ได้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน กองทัพบกในขณะนั้นยังเชื่อในการรบครั้งสุดท้ายว่าจะเปลี่ยนผลสงครามได้ จึงได้ส่ง อานามิ ผู้ที่มีความสนิทสนมกับองค์จักรพรรดิและ นายกฯซูซูกิ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม เพื่อโน้มน้าวให้บุคคลทั้งสองเห็นด้วยกับสงครามครั้งสุดท้าย ส่วนนายกฯซูซูกิ มีแผนว่า จะพยายามให้ญี่ปุ่นยอมถอยออกจากสงครามในสถานะเดียวกับอิตาลี และหากต้องยอมแพ้จริงๆ ซูซูกิ เชื่อว่า จะกล่อมอานามิได้
อานามิ ได้จัดเกณฑ์กำลังทหารจำนวนมากไปวางกำลังตามจุดที่คาดว่า กองทัพสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบก ซึ่งญี่ปุ่น มีพื้นที่ที่เหมาะในการยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ไม่มากนัก เดาใจฝ่ายสหรัฐไม่ยาก กำลังพลกองทัพบก 2.3 ล้านคน กองทัพเรืออีก 1.9 ล้านคน อาสาสมัครพลเรือนมหาศาลที่พร้อมจะจำหอกไม้ไผ่ ไปสู้กับทหารอเมริกันอีกหลายล้านคน
27 กรกฎาคม Potsdam declaration ได้ถูกส่งให้ญี่ปุ่น แนะนำให้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข อานามิ ปฏิเสธเสียงแข็ง ส่วนคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ไม่ได้ให้คำตอบกับทางสหรัฐ
6 สิงหาคม 1945 ระเบิดปรมาณูลงที่ฮิโรชิม่า แต่ทางกองทัพญี่ปุ่นและ ตัวอานามิเองยังเชื่อว่า สหรัฐมีระเบิดเพียงลูกเดียว 8 สิงหาคม 1945 กองทัพโซเวียต 1.5 ล้านคน บุกแมนจูเรีย
9 สิงหาคม 1945 คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีประชุมว่าจะเอายังไงต่อ ในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เสียงยังแตกเป็นสองกลุ่ม ระเบิดลูกที่สอง ลงที่นางาซากิ แต่การประชุมก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะยอมแพ้ต่อสหรัฐหรือไม่ พร้อมกับข่าวลือว่ากองทัพบกเตรียมยึดอำนาจ
10 สิงหาคม จักรพรรดิฮิโรฮิโต ได้ไปปรากฏตัวต่อคณะรัฐมนตรีและผู้นำเหล่าทัพในที่ประชุมในบังเกอร์ว่า ญี่ปุ่นไม่สามารถรบต่อไปได้แล้ว ทรงปรารภนา ที่จะหยุดสงคราม
คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเบื้องต้นได้ยอมรับการยอมแพ้ และตอบกลับ Potsdam Declaration ผ่านสถานทูตที่สวีเดน และ สวิตเซอร์แลนด์
อานามิได้พยายามเกลี้ยกล่อมเหล่านายทหารบกหนุ่มๆ ระดับนายพัน ให้ใจเย็นๆ ก่อน แต่ก็ไม่ได้ผลสักเท่าไหร่
12 สิงหาคม สหรัฐได้ตอบกลับมาว่า หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ อำนาจเอกราชและองค์จักรพรรดิของญี่ปุ่นจะอยู่ภายใต้การบัญชาการของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ฝ่ายพันธมิตรใช้กับเยอรมัน
กระทรวงต่างประเทศ แปลข้อความของฝ่ายสหรัฐว่า ญี่ปุ่นยังมีเอกราชแบบจำกัด
แต่ฝ่ายกองทัพบกแปลว่า ไม่ต่างอะไรกับทาส
ในขณะเดียวกัน เหล่าทหารระดับนายพันของกองบัญชาการกองทัพบก ได้วางแผนที่จะยึดอำนาจ ช่วงค่ำเหล่านายทหารกลุ่มนี้ได้ มาเสนอแผนการต่ออานามิ โดยหวังว่าจะได้รับแรงสนับสนุน แต่อานามิ ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธอะไร
13 สิงหาคม 7.30 น. จักรพรรดิฮิโรฮิโต ได้เรียก อานามิ เข้าพบเป็นการส่วนพระองค์ ทรงขอให้อานามิยอมวางอาวุธ
อานามิได้ปรึกษากับ พลเอก โยชิจิโร่ อุเมซึ ผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งอุเมซึ ได้บอกว่า เราทำอะไรไม่ได้แล้ว ได้แค่ทำตามที่องค์จักรพรรดิต้องการเท่านั้น สุดท้ายอานามิ จึงต้องตัดใจ
14 สิงหาคม อานามิ ได้เรียกนายทหารระดับสูงในเขตโตเกียวมาประชุม ซึ่งแต่ล่ะคน กังวลกันว่า จะมีสักคนในห้องประชุมนี้ทำการยึดอำนาจ พลเอก โทราชิโร่ คาวาเบะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้นายพลทุกคนในห้องประชุม ลงชื่อร่วมสาบานว่า จะทำตามคำประสงค์ขององค์จักรพรรดิ
ช่วงสาย องค์จักรพรรดิฮิโรฮิโตได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและนายทหารระดับสูง ว่าจะทรงประกาศการยอมแพ้ต่อประชาชนด้วยตัวพระองค์เอง เย็นวันนั้นทีมงาน บันทึกเสียงของสถานีวิทยุ NHK. ได้มาทำการบันทึกเสียงคำประกาศยอมแพ้ขององค์จักรพรรดิฮิโรฮิโต
คืนวันนั้น เหล่านายทหารหนุ่มนำโดยพันตรี ฮาตานากะ พยายามยึดอำนาจและยึดแผ่นบันทึกเสียง แต่ล้มเหลว
15 สิงหาคม 5.30น. อานามิ ได้ใช้ดาบสั้นทำการคว้านท้องตัวเอง แต่บาดแผลไม่ถึงชีวิต แพทย์ทหารบกจึงได้ฉีดยาพิษเพื่อจบชีวิตของอานามิ
และเป็นการจบชีวิตแม่ทัพคนสุดท้ายของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในภาวะสงคราม
ดาบสั้นและเสื้อเปื้อนเลือดของอานามิ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ยาสุคุนิ
อานามิ เป็นรัฐมนตรีคนแรกของญี่ปุ่นที่ทำการอัตวินิบาตกรรม ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง
ลูกชายคนโตของ อานามิ เป็นนายทหารบกยศร้อยโท เสียชีวิตในสงคราม
ลูกชายคนเล็ก คนที่ 5 เคยเป็นเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศจีนแผ่นดินใหญ่
โฆษณา