15 มิ.ย. 2020 เวลา 19:49 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางเรือ เส้นทางรบ เส้นทางนิราศ EP1
คลองด่าน-คลองสนามไชย
ในสมัยนั้นที่กรุงเทพฯ ไม่มีรถยนต์สักคันเดียว เขานำอาหารทะเลเข้ามาในพระนครทาง
เส้นทางไหนนะ?
คลองด่าน และตลาดน้ำวัดไทรในอดีต ภาพจากโปสการ์ดเก่า
แล้วกวีเอกสุนทรภู่ ได้แต่งนิราศเมืองเพชร ที่อ่านไป สนุกไปกับเจ้าลิงแสมแสนซน ที่วิ่งเล่นกันริมชายฝั่งทะเล ท่านแต่งนิราศช่วงเส้นทางใหนนะ?
เอ..แล้วเส้นทางใหนนะ ที่พม่าใช้ยกทัพเข้ามาตีไทย ตั้งแต่ศึกบางกุ้ง สมัยกรุงธนบุรี จนถึงศึกลาดหญ้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กระหน่ำยกพลตลอด ยกกันมาเป็น เรือนหมื่นเรือนแสน ผ่านเส้นทางนี้อย่างเชี่ยวชาญและช่ำชอง
EP 1 เส้นทางเรือสำคัญ
คลองด่าน-คลองสนามไชย
วัดปากน้ำ..จุดเริ่มต้นของคลองด่าน
แยกคลองด่าน ตั้งอยู่ตรงวัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดขุนจันทร์ วัดอัปสรสวรรค์ และยังเป็นจุดแบ่งของ 4 เขต ได้แก่ เขตภาษีเจริญ เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี และเขตจอมทอง
ไหลลอดผ่านสถานีรถไฟฟ้าวุฒากาศ (ไม่นะ..คงต้องบอกว่า รถไฟฟ้า มาตั้ง สถานีคร่อมคลองด่าน เพราะคลองตั้งอยู่ที่แถบนี้มาหลายร้อยปีแล้ว ) ไหลต่อไปผ่านวัดราชโอรสฯ และวัดไทร รวมความยาวประมาณ 6 กม.
เมื่อไหลมาถึงบางขุนเทียน คลองจะไหลเลี้ยวเบนลงใต้ต่อไป ผ่านเขตบางขุนเทียน มีถนนพระราม 2 มาตัดพาดผ่าน ไหลเป็นแนวคดโค้งไปมา ขนานลงไปกับถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แถบท่าข้าม
ช่วงนี้ที่เริ่มเรียก คลองสนามไชย และมีอีกชื่อว่า คลองมหาชัย จากนั้นไหลเบนขวาทอดยาวขนานไปริมอ่าวไทย ผ่านตำบลโคกขาม พุ่งตรงไปสู่แม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร
เส้นทางคลองด่าน-คลองสนามชัย
พื้นที่ประวัติศาสตร์ ซ้อนประวัติศาสตร์
แผ่นดินปากอ่าวช่วงนี้ เดิมชื่อเมืองสาครบุรี ปัจจุบันคือพื้นที่ของอำเภอสมุทร สาคร หลักฐานสำคัญว่า มีการค้นพบแหล่งเรือจมบ้านขอม และแหล่งเรือจมพนมสุรินทร์
ได้เคยมีการขุดพบซากเรือ และวัตถุโบราณร่วมสมัยทวาราวดี ที่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 ทวาราวดี เป็นสังคมชุมชุนคนมอญ นับถือพุทธศาสนา ลัทธิเถรวาทจากอินเดีย
ทวาราวดี เข้าข่ายเป็นลักษณะ เมืองก่อนรัฐ (Proto-State) คือ เมื่อสังคมชุมชนเริ่มตั้งรกรากทำการเพาะปลูก ผลิตทำได้ดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนค้าขาย สินค้ากับกลุ่มชุมชนอื่นๆ แต่ละชุมชนก็จะมีหัวหน้าเผ่าท้องถิ่นปกครองอย่างหลวม ๆ สังคมชุมชนไม่เป็นปึกแผ่นมากนัก
ไม่พบว่ามีระบบกษัตริย์ หรือทหาร ไม่มีเมืองหลวง
ทวารวดีเป็นแคว้นโบราณ ที่มีมาก่อนอาณาจักรสุโขทัย จากหลักฐานเอกสารจีน ชาวจีนเรียก “ทวารวดี” ว่า “โถ โล โป ตี”
และในปีพ.ศ. 2247 สมเด็จพระเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 29 แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงเสด็จทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย เพื่อไปตกปลาบริเวณคลองโคกขาม เมืองสาครบุรี(สมัยก่อน ยังไม่มีจังหวัดสมุทรสาคร)
ลักษณะภูมิประเทศแถบนี้ เป็นที่ลุ่มต่ำใกล้ชายทะเล คือ ลำคลองแถบปากอ่าวมีคลองเล็กคลองน้อยจำนวนมาก ไหลลัดลงสู่ทะเล มีลักษณะวกวนหักศอกไปมา บางแห่งเป็นทางน้ำโค้งตวัด(Meander)* กระแสน้ำเชี่ยวกราก
 
อันมีส่วนทำให้ พันท้ายนรสิงห์ ทหารผู้จงรักภักดีและรักษากฎมณเฑียรบาลยิ่งชีพ คัดท้ายเรือพระที่นั่งเอกไชยไม่ทัน โขนเรือพระที่นั่งฯ กระทบกับกิ่งไม้หักตกลงไปในน้ำ
จากอุบัติเหตุดังกล่าว พระเจ้าเสือ จึงทรงโปรดให้ขุดคลองขึ้นใหม่ โดยขุดคลองเป็นแนวทะลุตรงดิ่ง ใช้การวัดจากปากคลองช่วงเมืองสมุทรสาคร ตรงเข้ามาที่บริเวณวัดแสมดำ ให้ชื่อคลองว่า คลองพระพุทธเจ้าหลวง. แต่ทรงสวรรคตไปก่อนในขณะที่ยังขุดคลองไม่เสร็จ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จึงได้โปรดเกล้าให้ดำเนินการต่อ โดยให้พระราชสงครามเป็น
นายกอง เกณฑ์ไพล่พลจากเมืองโดยรอบ
กว่า 30,000 กว่าคน ใช้เวลาขุดสองเดือนจึงแล้วเสร็จ เปลี่ยนชื่อคลองที่ขุดเสร็จใหม่ว่า
คลองมหาชัยชลมารค โดยในปัจจุบันชื่อ คลองสนามไชย
คลองด่าน คลองสนามไชย ต่อไปยังแม่น้ำท่าจีนได้ ด้วยคลองสุนัขหอน
ชื่อของคลองด่าน ได้จากการเป็นที่ตั้งของด่านขนอนทิศใต้ (ตรงวัดปากน้ำภาษีเจริญปัจจุบัน) เพื่อตรวจสิ่งของต้องห้าม และเก็บภาษีจากเรือสินค้าต่างชาติทั้งฝรั่ง และจีน ที่ขึ้นล่องผ่านด่านมาติดต่อค้าขายทางแม่น้ำท่าจีน
ในนิราศเพชรบุรีของสุนทรภู่ ได้กล่าวไว้ว่า เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญจากกรุงศรีอยุธยา ต่อไปยังหัวเมืองที่อยู่ใต้อยุธยา ได้แก่ เมืองธณบุรี (ธนบุรี) สาครบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และหัวเมืองปักษ์ใต้ต่าง ๆ
ดูจากภาพด้านล่าง จะเห็นได้ว่า เมื่อเรือมาจาก
คลองสุนัขหอน/ท่าจีนทางด้านขวา
ถึงปากแม่น้ำแม่กลอง เรือสามารถเลี้ยวขวาเพื่อล่องขึ้นไปตามแม่น้ำแม่กลอง ไปราชบุรี
ไปแควน้อยแควใหญ่ ไทรโยค กาญจนบุรี
หรือถ้าเลี้ยวแยกทางซ้ายออกทะเล ตัดออกปากอ่าว ล่องเลียบปากอ่าว หรือจะล่องเรือเข้าคลองลัดเล็กๆ แล้วเข้าแม่น้ำเพชรบุรี สู่เมืองเพชรบุรีไดั
เพชรบุรี ยังเดินทางบกต่อไปได้ที่มะริด ตะนาวศรี
เรือจากคลองมหาไชย ที่ล่องต่อไปเรื่อย ๆจนถึง เพชรบุรี ได้นี้เอง ทำให้เพชรบุรี คืออยุธยาที่มีชีวิต เพราะถูกพบว่า เต็มไปด้วยตำรา สมุดไทย ใบลาน
จำนวนมาก ตลอดจนศิลปกรรมวัดวาอารามไม้ตามแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย
ทั้งนี้ เพราะนอกจากคนจากกรุงศรีอยุธยา จะใช้เป็นเมืองผ่านไปสู่หัวเมืองทางใต้ทั้งหลายแล้ว เพชรบุรียังเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในการเดินทางข้ามน้ำ ข้ามคาบสมุทร ไปมาหากันระหว่างกรุงศรีอยุธยา กับ มะริด ตะนาวศรี
เมืองท่าชายฝั่งตะวันตก ซึ่งเคยเป็นของสยามมาก่อน ( ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า )
ราชทูตฝรั่งเศสมองสิเออร์เซเบเรต์ ได้ระบุในจดหมายเหตุของเขาว่า เมืองเพชรบุรี มีวัดวาอารามสวยงามอยู่หลายแห่ง ระหว่างขากลับจากกรุงศรีอยุธยา เขาเดินทางโดยเรือมาแวะที่นี่ เพื่อจะเดินทางบกต่อไปมะริด เพื่อลงเรือต่อกลับไปฝรั่งเศส เมื่อปีพศ. 2230
ครั้งแรกที่เดินทางยังกรุงศรีอยุธยา คอนแสตนติน ฟอลคอนในช่วงพระนารายณ์มหาราช เขาเดินทางมาจากเมืองมะริด เขาก็น่าจะผ่านเส้นทางเมืองเพชรบุรี นี้เช่นกัน
การที่สามารถควบคุมเส้นทางการเดินเรือได้ทั้ง 2 ฝั่งทะเลของคาบสมุทร อินโดจีน ทำให้กรุงศรีอยุธยา กลายเป็นศูนย์กลางค้าขายแลกเปลี่ยนที่สำคัญ ระหว่างเรือสินค้าแขกมัวร์ จากประเทศทางอาหรับ รวมถึงประเทศทางยุโรป ที่มาจากฝั่งทะเลอันดามัน กับ เรือสินค้าจากจีน ญี่ปุ่น ฯลฯ จากฝั่งทะเลจีนใต้ มีส่วนอย่างมากที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาสะสมความร่ำรวย มั่งคั่ง มาโดยตลอด
เมืองมะริด Myeik ประเทศพม่า
ท่าเตียน-คลองด่าน เส้นทางเรือค้าขาย
ครั้งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คลองด่าน สนามไชย ก็มีความสัมพันธ์กับการเติบโตของ "ท่าเตียน" ในฐานะแหล่งการค้าอาหารทะเลด้วย
เนื่องจากท่าเตียนนั้นตั้งอยู่ตรงข้ามกับปากคลองบางกอกใหญ่ เรือขนส่งสินค้าอาหารทะเล จากเมืองมหาชัย แม่กลอง เข้าคลองสนามไชย คลองด่าน เมื่อออกจากปากคลองบางกอกใหญ่มา ก็ถึงท่าเตียนเลย
ชุมชนดาวคะนอง ก็เกิดจากเส้นคลองนี้ เพราะ ก่อนเรือออกปากคลองบางกอกใหญ่ เรือยังสามารถเลี้ยวขวาล่องเข้าคลองดาวคะนอง ลัดเข้าสู่แม่น้ำ เจ้าพระยาได้ในระยะสั้นกว่าได้อีก ทำให้เกิดชุมชนค้าขายที่รู้จักกันดีคือ ดาวคะนอง ชุมชนตลาดที่เต็มไปด้วยเรือบรรทุกสินค้า เรือแม่ค้าผลไม้ หมากพลู น้ำตาล และอื่น ๆ มาค้ามาขายกันมากมาย รวมทั้งเรือบรรทุกเกลือ
เพลง หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ เพลงคู่ยอดฮิตอมตะ จริง ๆ ก็เป็นเพลงที่สะท้อนภาพจริงในอดีต ของตลาดค้าขายทางเรือแห่งนี้
ยังจำกันได้มั้ยเอ่ย..... ..น้องก็ทำนาเกลือ ขายเกลือนั้นซื้อข้าวกิน บ้านของพี่อยู่ที่กาฬสินธุ์ ส่วนตัวยุพินอยู่สมุทรสาคร พี่มาเจอคนงามคนงาม มาเที่ยวดาวคะนอง.....
ตลาดน้ำวัดจอมทอง ตลาดน้ำวัดไทร
หากเคยมีใครตั้งคำถามกับตัวเอง เอ..ก่อนจะมีตลาดน้ำคลองดำเนินสะดวก ราชบุรี เมืองไทยมีตลาดน้ำชื่อดังหรือไม่?
เมืองสวนที่มีคูคลองนับร้อยสายอย่างธนบุรี มีคำตอบ..
ตลาดน้ำวัดจอมทอง ตั้งอยู่ริมคลองด่าน เรียก ตลาดแพหน้าวัดจอมทอง เป็นตลาดน้ำเก่าแก่มากกว่า 100 ปี แต่เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่
ตลาดน้ำอยู่บริเวณทางโค้งของรางรถไฟ ทำให้เกิดความไม่สะดวกในด้าน การสัญจรไปมา ตลาดน้ำจึงย้ายไปอยู่บริเวณลึกถัดไป คือวัดไทร
ตลาดน้ำวัดไทร ตั้งอยู่ริมคลองด่านถัดมา ตลอดทั้งวันจะคับคั่งด้วยเรือสำปั้นใหญ่ เรือสำปั้นเล็ก เรือมาด เรือหมู และเรืออีแปะ ทั้งพายมาขาย พายมาซื้อ เนื้อปลา อาหารทะเล หมู ผัก หมาก พลู และผลไม้ต่างๆ
ภาพวาดตลาดน้ำวัดไทรในอดีต บนโปสการ์ของกวีธารา(ภาพลิขสิทธิ์)
ตลาดน้ำวัดไทร เป็นตลาดที่ชาวสวนมาพบกับชาวประมง คือชาวสวนจากคลองบางขุนเทียน คลองบางบอน คลองบางหลวง คลองบางมด ฯลฯ
และชาวประมงที่พายเรือบรรทุกอาหารทะเลผ่านคลองสนามไชยมา
ตลาดน้ำวัดไทร มีชื่อเสียงโด่งดังมากเมื่อ 50 ปีก่อน มีชื่อเสียงดังแค่ใหน ลองถามผู้คนกรุงเทพฯ ที่อายุ 60 กว่าขึ้นไป แม้กระทั่งฝรั่งต่างชาติที่เคยมาเที่ยว เมืองไทยสมัยนั้น ก็ยังรู้จักกันดี
เส้นทางเรือพระที่นั่ง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเสือฯ นอกจากได้เคยเสด็จทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่งเอกไชยมาตกปลาที่มหาชัยแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จผ่านคลองด่านอยู่หลายครั้ง
จากหลักฐานที่วัดไทร จอมทอง มีการพบตำหนักทอง เป็นตำหนักไม้ ทรงไทยสมัยอยุธยา ผนังมีการลงรักเขียนลายรดน้ำไว้อย่างงดงาม
โดยเชื่อ ว่าเป็นตำหนักพระเจ้าเสือที่ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างไว้เมื่อพระองค์เสด็จประพาสทางทะเล นอกจากนี้ ยังเคยมีตำหนักของพระเจ้าเสืออีก 1 แห่งที่วัดคุ้งตำหนัก ต. บางตะบูน จ. เพชรบุรี
ตำหนักทอง ณ วัดไทรในปัจจุบัน
สมัยกรุงธนบุรี เรือพระที่นั่งกราบยาว ๑๓ วา พลพาย ๔๐ คน ของพระเจ้าตากสินมหาราช เคยผ่านเส้นทางคลองนี้เพื่อไปรบชนะพม่าที่บางกุ้ง ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ของรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเรือพระที่นั่งฯ ของพระอนุชา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
ทั้ง 2 พระองค์ได้เคยเสด็จผ่านเส้นคลองนี้ จนถึงแควน้อย แควใหญ่ ไทรโยค จ. กาญจนบุรี นำทัพเรือและทัพบกด้วยพระองค์เอง เพื่อไปรบชนะพม่าที่เข้าทางด่านเจดีย์สามองค์
ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จทางชลมารคมาที่วัดจอมทอง และวัดนางนอง ตั้งอยู่เยื้องตรงข้ามกันริมคลองด่าน เพื่อควบคุมดูแลงานบูรณะปฎิสังขรวัดด้วยพระองค์เองอยู่หลายครั้ง
วัดทั้งสอง มีความสวยงามมาก และยังคงเป็นเช่นนั้นจวบจนถึงปัจจุบันนี้
หากใครมีโอกาส ขอเชิญแวะไปวัดราชโอรสฯกราบไหว้พระนอนองค์ใหญ่ พระศรีสรรเพชรดาญานองค์จำลอง และเชิญพิสูจน์ความสวยงามของวัดทั้งสองกับตำนานที่ถูกเรียกขานมายาวนานว่า...วัดงามริมคลองด่าน..
แค่ประตูวิหาร วัดราชโอรสฯ ยังสวยงามปานนี้.
พบกัน EP 2 เส้นทางรบ... คลองด่าน-คลองสนามไชย ได้ในเร็ว ๆ นี้
พระมหาจักรกพรรดิ์ วัดนางนอง
ใครจะรู้มั้ยหนอ ?
1 Like จากผู้อ่าน เพิ่มกำลังใจในการเขียน&รวบรวม ให้กับผู้เขียนมากมาย
อ้างอิงข้อมูลจาก:
-พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
จดหมายเหตุการเดินทางของพระสังราชแห่งเบริธ (พ.ศ.2205)
-นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนเมษายน ๒๕๔๕ ผู้เขียน วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
-นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนธันวาคม พ.ศ.2562 ผู้เขียน เอนก นาวิกมูล
-จากบ้านท่าจีน ถึงสาครบุรี ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชวนทอดน่องเมืองสมุทรสาคร
ผู้เขียน พรรณราย เรือนอินทร์ ,หน้าประชาชื่น,มติชนออนไลน์
-ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย,ศูนย์มานุษยวิทยา
สิรินธร(องค์การมหาชน)
-นวนิยายชีวิตเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ฟอลคอนแห่งอยุธยา โดย Claire
Keeke-Fox
-สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางวรรณคดี, กรุงเทพฯ ภาควิชาโบราณคดี
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
โฆษณา