17 มิ.ย. 2020 เวลา 18:41 • ประวัติศาสตร์
"...รบไหนจะให้ยับลงที่นั่น แต่กึ่งวันไม่ให้ทนทานได้
จะทำการครั้งนี้ให้มีไชย จะไว้เกียรติให้สืบทั้งแผ่นดิน."
เส้นทางเรือ เส้นทางรบ เส้นทางนิราศ EP2/3
ชื่อตอน .เส้นทางรบ.
เพลงยาวพระยาเสือที่กล่าวมาข้างต้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงนิพนธ์ไว้ ระหว่างเดินทางโดยการกองทัพเรือ ไปบัญชาการรบกับพม่า ในพ.ศ. 2336
เพลงยาวบทนี้ ได้สะท้อนถึง ความในใจต่อแผ่นดินเกิด ที่เก็บสะสมมานานกว่า 16 ปี นับแต่เสียกรุงศรีแก่พม่า ปีพ.ศ. 2310
ในฐานะเป็นผู้หนึ่งที่อยู่/เห็นภาพเหตุการณ์การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ขณะที่ กองทัพพม่าบุกตะลุยเข้าเผาทำลายกรุงศรีอยุธยา
และพระองค์เป็นผู้หนึ่ง ที่พายเรือเล็กหนีภัยสงคราม ล่องลงมาทางใต้ ตามลำน้ำเจ้าพระยา อย่างลำบากยากเข็ญกับเพื่อนสนิททั้ง 3 เพื่อไปตามหาพี่ชาย* ที่เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ที่อัมพวา โดยผ่านเส้นทางคลองด่าน- คลองมหาไชย
ขณะพายเรือลงมาถึง บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ พบกองทหารพม่าเฝ้า อยู่ที่ป้อมเจ้าพระยาวิชาเยนต์ (ปัจจุบันคือ
ป้อมวิไชยประสิทธิ์)
ทุกคนร่วมกันคว่ำเรือ หลบซ่อนตัวข้างใต้ท้องเรือ แล้วว่ายเดินใต้ท้องเรือ ดันเรือลอยไปเรื่อย ๆ หลบการมองเห็นของทหารพม่า ผ่านเข้าปากคลองบางกอกใหญ่ไปได้
ต่อไปยังคลองด่าน คลองสนามไชย ถึงบ้านท่าจีน พายเข้าคลองสุนัขหอน คว่ำเรือพลิกเรือหลบพม่าไปเรื่อย ๆ จนได้ไปพบพี่ชายที่อัมพวา
*รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ เมื่อมองลงมาจากป้อมวิไชยประสิทธิ์
นับแต่การเข้ามาตีกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 เป็นต้นมา กองทัพพม่ายังคงเข้ามารุกรานสยามอีกหลายครั้ง และแทนที่จะยกกองทัพบกอย่างเดียว พม่าได้วางยุทธศาสตร์ใหม่ เสริมกองทัพเรือในการบุก โดยเลือกเข้าสยามทางตะวันตก เพราะรู้ดีว่า เป็นเส้นทางที่ใช้ระยะเวลาอันสั้นและเร็วที่สุด
เมืองกาญจนบุรี จึงกลายเป็นทางเดินทัพหลักของพม่าเดินทัพเข้ามาสยาม. คาดกันว่า ข้าศึกเดินทัพผ่านกาญจนบุรีไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง
ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ล่องทัพเรือมาตามลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ ลงแม่น้ำแม่กลอง คลองสนามไชย คลองด่าน คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เรือเลี้ยวซ้าย ถึงกรุงธนบุรี หรือกรุงเทพฯ ได้ทันที
เมื่อกาญจนบุรี เป็นเมืองด่านหน้า คลองด่าน คลองสนามไชย จึงเป็นเส้นทางเชื่อมสำคัญ ที่นำทัพเรือสยาม ออกจากกรุงธนบุรี หรือกรุงเทพฯ
จากแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกใหญ่ เชื่อมต่อไปยังสาครบุรี เพื่อไปป้องกันสยาม ที่เมืองราชบุรี และเมืองกาญจนบุรี
ไม่ว่าจะเป็นศึกบางกุ้ง, ศึกบางแก้ว ,สงครามเก้าทัพและสมรภูมิลาดหญ้า จนถึง ศึกท่าดินแดง
ศึกค่ายบางกุ้ง
เมื่อเราล่องเรือจากคลองสุนัขหอน เลี้ยวขวาต่อเข้าแม่น้ำแม่กลอง เลยตลาดน้ำอัมพวาไปไม่ไกล จะพบค่ายบางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง จังหวัดสมุทรสงคราม
ราว 250 ปีก่อน ค่ายนี้มีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงเอกราชของสยาม
พ.ศ. 2308 ก่อนเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ฯ แห่งกรุงศรีอยุธยาได้รับใบบอก พม่าจะยกทัพเรือล่องลงเข้ามาตามแม่น้ำแม่กลอง
จึงโปรดให้เกณฑ์ไพร่พลจากหัวเมืองโดยรอบ
มาตั้งค่ายทหารเรือชื่อ “ค่ายบางกุ้ง" ที่ริมแม่น้ำแม่กลอง เพื่อเป็นด่านหน้าช่วย ป้องกันข้าศึก
แต่ในท้ายสุดค่ายนี้ก็ถูกกองทัพพม่า ที่มีแม่ทัพชื่อ "มังมหานรธา" ตีแตกพ่ายไป
พ ศ. 2310 หลังสถาปนากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ส่งบรรดาลูกเรือสำเภาจีนที่มาจงรักภักดี มาซ่อมสร้างค่ายบางกุ้ง ป้องกันข้าศึกชพม่าที่จะเข้ามาทางตะวันตก
โดยสร้างค่าย โอบล้อมเอา”วัดบางกุ้งน้อย”ไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจทหาร สร้างก่ออิฐเป็นเชิงเทินหอรบเรียงไปตามริมลำน้ำแม่กลอง เรียกชื่อค่ายใหม่ ว่า "ค่ายจีนบางกุ้ง"
ปัจจุบัน โบสถ์วัดบางกุ้งน้อย ถูกโอบล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่
พศ. 2311 พระเจ้ากรุงอังวะให้เจ้าเมืองทวายยกทัพเข้าตีค่ายจีนบางกุ้ง โดยนำกำลังทหาร ๓,๐๐๐ นายเข้ามาทางกาญจนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระมหามนตรี (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในต่อมา) เป็นแม่ทัพหน้า รีบเร่งเดินทัพเรือ พร้อมด้วยศาสตราวุธ ออกผ่านคลองสนามไชย เพื่อไปช่วยรักษาค่าย ซึ่งใกล้จะแตกเพราะถูกข้าศึกล้อมอยู่นานวัน
ส่วนพระองค์ยกทัพหลวงตามมา โดยทรงเรือพระที่นั่งกราบยาว ๑๓ วา พลพาย ๔๐ คนมายังค่ายบางกุ้ง ครั้นพอไปถึงกองทัพเรือสยามก็ยกพลเข้าโจมตีทัพพม่าในวันนั้น
พระมหามนตรี ได้ใช้ดาบสิงห์สุวรรณาวุธ ด้ามและฝักกนกหัวสิงห์ไล่ฆ่าฟัน ข้าศึก และทหารไทยใช้อาวุธสั้นเข้าไล่ตะลุมบอนพม่าล้มตายเป็นอันมาก จนทัพข้าศึกที่ล้อมค่ายอยู่แตกพ่าย
สยามได้เรือรบของข้าศึก และศาสตราวุธกลับมาด้วยเป็นจำนวนอันมาก
หลังเสร็จศึก พระเจ้าตากสินฯ ทรงประชุมเหล่าทหารหาญ ณ ค่ายบางกุ้ง ให้ทหารไทย และทหารจีน มีความสามัคคีปรองดองกัน พร้อมให้พระบรมราโชวาทสำคัญว่า :
“เนื้อต่อเนื้อ ไม่เอื้อเฟื้อ เป็นเนื้อกลางป่า
เนื้อใช่เนื้อ ได้เอื้อเฟื้อ เป็นเนื้ออาตมา”
อันหมายถึง คนที่เป็นญาติพี่น้องกัน ถ้ามิได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ก็เหมือนไม่ใช่ญาติ แต่คนที่มิใช่ญาติ หากได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันก็เหมือนเป็นญาติสนิท
ค่ายจีนบางกุ้ง สมุทรสงคราม
สงครามเก้าทัพ
เมื่อเริ่มผลัดแผ่นดินสยาม ปีพ.ศ. 2328
พระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์โกบอง ต้องการเข้ามาตีกำราบกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติยศ
โดยยกทัพเข้าสยามด้วยกำลังทหารมากถึง 144,000 คน แบ่งเป็น 9 ทัพ โดยจัดทัพถึง 5 ทัพเข้ามาทางตะวันตกของสยามคือ
กาญจนบุรี ราชบุรี
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และพระอนุชาธิราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท แม้จะมีกำลังพลรบน้อยกว่ามาก แต่ได้ร่วมกันวางการรับศึกที่เน้นยุทธวิธี
จัดทัพเป็น 4 ทัพ
โดยทัพใหญ่สุด โปรดให้พระอนุชาธิราชเป็นแม่ทัพ นำทัพเรือจากกรุงเทพฯ ออกแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางกอกใหญ่ ผ่านคลองด่าน ล่องไปจนถึง ลำน้ำแควใหญ่ เข้าสู่ทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี
พระองค์ทรงนำทัพออกรบ อย่างห้าวหาญชาญชัย ดุเด็ดขาด สมกับที่ทหารพม่า ตั้งฉายาไว้ว่า “พระยาเสือ” และ ณ สมรภูมิ. รบลาดหญ้า พระองค์ทรงวางกลศึกด้วยความปรีชาสามารถ พร้อมจิตใจรักแผ่นดินเกิดยิ่งชีพ สามารถตีกองทัพพม่าที่มีกำลังมากกว่า
มาก ต้องแตกพ่ายสูญเสียยับกลับไป
ชัยชนะศึกลาดหญ้าครั้งนี้ ส่งผลดีอย่างมากต่อขวัญและกำลังใจทหารสยาม และมีผลทำให้ไทยรบชนะพม่าในสงครามเก้าทัพ
เป็นการมีไชย ที่เลื่องลือเกียรติของพระองค์ สืบทั้งแผ่นดิน จนถึงคนยุค 2020 ที่ยังคง
น้อมรำลึกถึงบุญคุณของท่านต่อแผ่นดินไทย เสมอ
ศึกท่าดินแดง
ถัดมาปี พ.ศ. 2329 พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่า ยังคงหมายมุ่งจะรบเอาชนะสยามให้จงได้
ทรงสั่งยกทัพใหญ่ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ เข้ามาทางด่านพระเจดียฺสามองค์ โดยมาตั้งต่อเรือรบที่ปลายน้ำไทรโยค
เส้นทางศึกรบพม่าที่ท่าดินแดง (โดยสังเขป) อ้างอิงภาพจาก https://www.facebook.com/AsianStudiesTH/photos
เมื่อทางเมืองหลวงได้รับใบบอกจากเจ้าเมือง กาญจน์ว่า มีกองทัพพม่าเข้า มาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ไทรโยค
รัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระอนุชาธิราช จึงร่วมกันวางกลศึกครั้งนี้ โดยมุ่งตีทัพพม่า ให้แตกเสียตั้งแต่ยังอยู่ปลายแดน ไม่ให้เคลื่อนทัพข้ามเขามาได้ เพื่อไม่ให้เข้ามาใกล้กรุงเทพฯ
รบพม่าที่ท่าดินแดง ถือเป็นศึกครั้งประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ไทยถึง 2 พระองค์ (ตามบางบันทึกกล่าวไว้เช่นนั้น) เป็นแม่ทัพเรือใหญ่ คุมกองทัพเรือด้วยพระองค์เอง
เดินทัพเรือจากพระบรมมหาราชวัง ผ่านวัดอรุณราชวรมหา วิหาร เลี้ยวขวาเข้าสู่คลอง บางกอกใหญ่ ถึงแยกวัดปากน้ำ ผ่านคลองด่าน คลองมหาชัย ออกท่าจีน ถึงราชบุรี
ยกทัพทั้ง ๒ ทัพ ล่องขึ้นไปจนถึงต้นแม่น้ำแม่กลอง เมืองไทรโยค แล้วจึงเดินทัพทาง
บกต่อไป
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2329 กองทัพวังหน้าเข้าตีค่ายที่สามสบ กองทัพวังหลวงเข้าตีค่ายที่ท่าดินแดง โดยพร้อมกัน
ฝ่ายไทยสามารถตีฝ่าเข้าค่ายพม่าได้ พม่าทิ้งค่าย ทัพแตกหนีพ่ายไปในที่สุด
พิธีเบิกโขลงทวาร ตามตำราพิชัยสงคราม
ผ่านล่วงมาจนถึงปี พ.ศ. 2363 ในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หลังจากพระองค์ได้รับข่าวว่า มีทัพพม่าจะเข้ามาอีกครั้ง โดยเข้ามากาญจนบุรี
จึงโปรดให้พระโอรสองค์โต พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์* เป็นแม่ทัพนำทัพเรือ ไปตั้งรับทัพพม่าที่ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี
ภาพพระปรางค์วัดอรุณฯ บนโปสการ์ดของกวีธารา (ภาพลิขสิทธิ์)
เส้นทางเดินทัพในวันแรก จากพระบรมมหาราชวัง ผ่านวัดอรุณราชวรมหาวิหาร ซี่งตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา เลี้ยวขวาเข้าคลองบางกอกใหญ่ ผ่านไปถึงคลองด่าน
พระองค์ได้ทรงประกอบพิธีเบิกโขลงทวาร เพื่อความเป็นสิริมงคลชัยแก่กองทัพ และทำให้เกิดขวัญ กำลังใจแก่เหล่าทหารในการรบเอาชนะข้าศึก ณ วัดจอมทอง ที่ตั้งอยู่ริมคลองด่านแห่งนี้ (ปัจจุบันชื่อ วัดราชโอรสฯ)
..............กวีธารา............
*ต่อมาคือ รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พบกับ EP 3 เส้นทางนิราศ... คลองด่าน-คลองสนามไชย ได้ในเร็ว ๆนี้
** ทราบหรือไม่ว่า เมื่อมีการยกทัพเรือไปรบกับพม่าทางตะวันตก ขบวนเรือรบสยามไม่ว่าจะออกจากพระราชวังกรุงธนบุรี หรือต่อมาจากพระบรมมหาราชวังแ กรุงรัตนโกสินทร์ ทุกครั้งจะเคลื่อนผ่านหน้าพระปรางค์วัดอรุณฯ หรือนี้คือ เป็นศิริมงคลชัยก่อนออกรบจริง เพราะจากประวัติศาสตร์ เมื่อใดก็ตามที่พม่ายกทัพเข้ามาตะวันตก มักจะแตกพ่ายต่อกองทัพสยาม..
ใครจะรู้มั้ยหนอ ? 1 Like จากผู้อ่าน เป็นการส่งกำลังใจให้ผู้เขียนมากมาย
กวีธารา เป็นร้านค้าแนวอนุรักษ์ ขายโปสการ์ด+ถุงผ้า งานทำเอง ภาพลิขสิทธิ์
และรับสั่งทำ ตั้งอยู่ตลาดน้ำลัดมะยมโซน7 Line ID 3514653
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง :
-หนังสือ บุญมา พระยาเสือ โดย ปองพล อดิเรกสาร
-พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธนฯ และกรุงเทพฯ ,พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระดำรงราชานุภาพ
-พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
(ขำ บุนนาค) เรียบเรียง, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชา
นุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงนิพนธ์อธิบาย
-"จากบ้านท่าจีน ถึงสาครบุรี ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชวนทอดน่องเมืองสมุทร
สาคร"
-หน้าประชาชื่น,มติชนรายวัน,10 กุมภาพันธ์ 2561, โด่ย พรรณราย เรือง
อินทร์
-ประวัติวัดราชโอรสาราม: วัดจอมทอง (www.ro.ac.th)
-ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ตอนข้ามตะนาวศรี โดย พลเรือโท พัน รักษ์แก้ว,
นาวิกศาสตร์ พฤศจิกายน 2538
-สงครามเก้าทัพ, บทความวัฒนธรรม , 12 ม.ค. 2559,กระทรวงวัฒนธรรม
โฆษณา