Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กวีธารา Elephant FC
•
ติดตาม
21 มิ.ย. 2020 เวลา 08:32 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางเรือ เส้นทางรบ เส้นทางนิราศ EP3/3 ตอนจบ
"..เวทนาวานรอ่อนน้อยน้อย
กจ้อยร่อยกจิริดจิดจีดจิ๋ว
บ้างเกาะแม่แลโลดกระโดดปลิว
ดูหอบหิ้วมิให้ถูกตัวลูกเลย.."
นิราศเมืองเพชร-สุนทรภู่
กวีเอกสุนทรภู่
EP. 3 เส้นทางนิราศ คลองด่าน-คลองมหาไชย
หากวันนี้ คลองแสนแสบ จากเดิมที่เป็นคลองน้ำเน่าเสีย ถูกกลับมาใช้เป็นเส้นทางเดินเรือที่มีชีวิต ผู้คนเดินทางไปมากันคับคั่งอีกครั้ง
เป็นไปได้เช่นกันไหม?
หากจะการพิจารณาชุบชีวิต เส้นทางคลองด่าน- คลองมหาไชย พัฒนาเป็นเส้นทางเรือ เชิงประวัติศาสตร์? เชิงท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ
เพราะน่าจะเป็นเส้นทางที่ให้ความสุขเพลิดเพลินใจยิ่งแก่ผู้เดินทาง
เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา บทประพันธ์ประเภทนิราศหลายต่อหลายชิ้น เกิดขึ้นที่นี่ ...ภเส้นทางนิราศ
นิราศที่มีชื่อเสียง อันถือกำเนิดจากเส้นคลองนี้ อาทิเช่น นิราศท่าดินแดง, นิราศเมืองเพชร, นิราศนรินทร์, โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย, โคลงนิราศทวาย, นิราศพระแท่นดงรัง* ฯลฯ
*การตั้งชื่อนิราศ ส่วนใหญ่จะตั้งชื่อตามจุดหมายปลายทางที่กวีต้องเดินทางไป
นิราศเหล่านี้ อยากให้ทุกคนได้สัมผัส ได้อ่าน แล้วจะพบว่า ช่างเป็นบทประพันธ์ที่ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา:
นิราศท่าดินแดง
นิราศเรื่องแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงนิพนธ์ไว้ระหว่างบัญชาการกองทัพเรือเดินทางไปรบกับพม่าที่ท่าดินแดง กาญจนบุรี เมื่อปี
พ.ศ. 2329
เรือเดินทาง เริ่มจากพระบรมมหาราชวัง ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกใหญ่ คลองด่าน คลองสนามไชย ไปจนถึงไทรโยค
นิราศเมืองเพชร
ได้รับการยกย่องว่าเป็น นิราศที่ดีที่สุด ยาวที่สุด และเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของ กวีเอกสุนทรภู่
แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๘ ท่านกล่าวถึงชีวิตของผู้คนสองฝั่งคลอง ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนริมทะเล ปากอ่าวไทยในชในสมัยรัชกาลที่ 4 ไว้อย่างละเอียด
เรือเดินทาง เริ่มจากท่าเรือหน้าวัดอรุณราชวราราม คลองด่าน คลองมหาไชย แม่กลอง ข้ามอ่าวยี่สาร ถึงเพชรบุรี
โคลงนิราศทวาย
เป็นนิราศที่ได้รับอิทธิพลการแต่ง จาก โคลงนิราศครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่งด้วยภาษากรุงเก่าในรูปแบบของร่ายดั้น, โคลงสี่ดั้น และโคลงสี่สุภาพ ถ้อยคำสันทัดจัดเจน กวีโวหารไพเราะยิ่งด้วยภาษากรุงเก่า
นิราศบางบท ปลุกเตือนอนุชนไทย ให้ตระหนักถึงความทุกข์ยากลำบากของเหล่าบรรพชนผู้กล้า ที่ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้
แต่งไว้เมื่อปีพ.ศ. 2334 เมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกรีธาทัพโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไปรบกับพม่า
เรือเดินทางเริ่มจากพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพ ผ่านทางคลองด่าน-สนามไชยไปจนถึงแควน้อย กาญจนบุรี
โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย
เป็นนิราศที่ได้รับการยกย่องว่า มีความไพเราะเพราะพริ้งแห่งยุค ผู้แต่งคือ พระยาตรัง โดยได้รับอิทธิพลการแต่งจากกำสรวลศรีปราชญ์
แต่งด้วยร่ายดั้น โคลงดั้นบาทกุญชร โคลงดั้น วิวิธมาลี บางบทบางท่อน มีการใช้ถ้อยคำสำนวนคมคายผาดโผน และในตอนท้ายมีโคลงสี่สุภาพอยู่ 2 บท บทต้นเป็นกระทู้ บทหลังเป็นปริศนา ซึ่งยังตีความไม่แตกจนทุกวันนี้...
แต่งเมื่อปี พ.ศ. 2330 ครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในทัพหลวง (โคลงบางบทว่าเป็นศึกทวาย)
มีการบรรยายถึงการจัดกระบวนทัพ ตลอดจนสภาพของป่าเขาลำเนาไพร ธรรมชาติ 2 ข้างทาง
การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงแม่น้ำน้อย แขวงเมืองกาญจนบุรี
นิราศนรินทร์
แทบไม่มีโคลงบทไหนเลย ที่อ่านแล้วไม่รู้สึกถึงความงดงามไพเราะ เป็นนิราศแท้ ที่มีความปราณีตสูงในการใช้คำ
แต่งไว้ด้วยโคลงสี่สุภาพ 143 บท โดยมีร่ายสุภาพขึ้นต้น 1 บท
นายนรินทร์ธิเบศร์ ชื่อ อิน ตำแหน่งข้าราชการวังหน้า เป็นผู้แต่งไว้เมื่อคราวตาม เสด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปปราบพม่าที่ยกมาตีเมืองถลาง
และชุมพร ในปีพ.ศ. 2352
เรือเดินทางผ่านคลองด่าน คลองสนามไชย ท่าจีน ปากน้ำแม่กลอง ตัดทะเลเข้าบ้านแหลม น่าจะใช้แม่น้ำเพชร เข้าสู่เมืองเพชรบุรี แล้วลงใต้ต่อไป
นิราศพระแท่นดงรัง โดยสามเณรกลั่น
เนื้อหาบรรยายถึงชีวิตผู้คน สังคมหมู่บ้านชาวประมงทะเล ป่าชายเลน สัตว์ริมทะเล รวมถึงที่มาของชื่อสถานที่บาง
แห่งในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นไว้อย่างละเอียด สนุก น่าสนใจ
สามเณรกลั่น เป็นสามเณรกำพร้า เป็นลูกศิษย์ และเป็นบุตรบุญธรรมของสุนทรภู่
สันนิษฐานว่าแต่งขึ้น เมื่อติดตามพระภิกษุสุนทรภู่ ไปนมัสการพระแท่นดงรัง ในปีพ.ศ. 2376
เรือเดินทางเริ่มจากคลองมหานาคโอ่งอ่าง ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา คลองด่าน คลองสนามไชย ท่าจีน แม่กลอง ขึ้นบกที่บ้านท่าเรือ กาญนบุรี แล้วจึงต่อเกวียนไปยังวัดพระแท่นดงรัง
พระแท่นดงรัง
นิราศยี่สาร
เนื้อหาในนิราศ เป็นการเล่าเรื่องอย่างเป็นกันเอง ผู้แต่ง แต่งขณะเดินทางไปท่องเที่ยวชายทะเล และไหว้พระบนยอดเขาที่วัดแก้วฟ้า ตำบลยี่สาร ซึ่งมีเรื่องประหลาดว่าเป็น พระพุทธรูปกินคน
แต่งไว้เมื่อปีพ.ศ. 2422โดย ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือนายกุหลาบ ตฤษณานนท์ นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นนักคิดนักเขียน มีแนวคิดหัวก้าวหน้า นิยมเขียนทความวิพากษ์สังคม เสียดสีชนชั้นสูงที่ทำตัวฟุ้งเฟ้อ
เส้นทางเดินเรือ
ขาไป - ผ่านบ้านหมอบลัดเลย์ (เดิมอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ ตรงข้ามวัดกัลยาณมิตร) วัดบางยี่เรือ- คลองภาษีเจริญ- แม่น้ำแม่กลอง – ปากอ่าวยี่สาร
ขากลับ -กลับทางมาทางท่าจีน คลองสนามไชย คลองด่าน เข้าปากคลอง บางกอกใหญ่
Special Edit บทต่อบท กวีต่อกวี
แม้สิบปากเล่า ไม่เท่าการอ่านนิราศด้วยตัวเอง แต่อย่างไรก็ดี ขอเสนอบางตอนนิราศให้อ่านรัว ๆแบบ Special Edit ไว้
เพื่อให้ผู้อ่าน ได้รับรู้ถึงอรรถรส สำนวน ลีลาการประพันธ์นิราศที่กวีแต่ละท่านที่มีต่อแต่ละพื้นที่เดียวกัน ต่างกันแค่มิติเวลา
ได้เห็นภาพ วิถีคน วิถีธรรมชาติผ่านมุมมองของกวีแต่ละคน
ได้เข้าใจว่าทำไมบรรยากาศ ตลอด 2 ริมฝั่งคลองช่วงนี้ จึงประทับใจ ดลใจให้กวีแต่งบทร้อยกรอง ได้ร้อยใจคนได้มากมาย
แล้วทำไม? วัดนางนอง จึงร้อยใจกวีให้แต่งนิราศไว้โดยพร้อมกัน หรือเป็น
เพราะชื่อของวัด เข้าทางการแต่งนิราศ* ที่กวีใช้พรรณาถึงความรู้สึกห่วงหา
อาลัยที่มีต่อคนรัก พอผ่านมาเห็นชื่อวัด ก็สะบัดสำนวนถ้อยคำนิราศไว้ในทันที
คลองสนามไชย หน้าวัดโสภณราม ก่อนถึงปากน้ำท่าจีน ประมาณ10 กม。
แล้วผู้อ่านแอบแปลกใจเล็ก ๆ ที่จะพบว่า ในสถานที่เดียว แม้จะต่างเวลาแต่ง แต่ใช้คำบรรยายที่ละม้ายคล้าย ๆ กันมาก. เช่น พอถึงคลองสนามไชย แถบมหาชัย จะพบคำ ลิ่วลิ้ว ลิ่วล้ำ ลิบลิ่ว....วิบวับ(เอ.. คำหลังนี้คงไม่ใช่:)
พูดถึงคำคล้าย ความหมายเหมือน ชื่อตอนนี้ "เส้นทางแห่งนิราศ" นี้ก็มีความ
หมายว่า "ธาราแห่งกวี" หรือคล้ายกับชื่อผู้เขียน "กวีธารา"
นั่น..ยิ่งทำให้ภูมิใจยิ่งขึ้นไปอีกในการนำเสนอบทความตอนนี้
*นิราศ คือ งานร้อยกรอง เนื้อหาพรรณนาถึงความรู้สึกของ กวีที่มีบรรยากาศทิวทัศน์ระหว่างการเดินทาง แล้วเชื่อมโยงผูกพันไปถึงความ
ห่วงหาอาลัยที่กวี มีต่อคนรักที่ตนเองได้เดินทางพลัดพราก จากมา
(นิราศแปลว่า พลัดพราก จากมา) บางเรื่องมีการสอดแทรกขนบธรรมเนียม
ประเพณี วิถีสังคมสมัยนั้นๆ
และต่อไปนี้คือ บทต่อบทของกวีแต่ละท่าน ที่แต่งขึ้นในสถานที่เดียวกัน ต่างกันแค่..มิติเวลา
@ คลองด่าน
ครั้นถึงด่านดาลเทวษทวีถึง
คนึงในให้หวนละห้อยหา
ครั้นถึงโขลนทวารยิ่งลานแล
ให้หวาดแหวอารมณ์ดังลมไข้ ฯ
(นิราศท่าดินแดง)
.. ลุดำบลด่านด้าว บางหลวง
เพลิงสุมดุจสุมทรวง พี่ร้อน
เจ็บจากสุดาดวง ดาลเทวษ
ถนัดหนึ่งขอนหลวงข้อง อกร้อยฤๅปูน ฯ
(โคลงนิราศทวาย)
ฉับฉวยนาเวศผ้าย ผาดถึง
ด่านบปรามปราศรัย เสาะค้น
ดาลรักร่านคำนึง ในสวาสดิ์
แขวงด่านด้นดื้อล้น โลภหวง ฯ
(โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย)
มาด่านด่านบ่ร้อ เรียกพัก พลเลย
ตาหลิ่งตาเหลวปัก ปิดไว้
ตาเรียมหลั่งชลตัก ตวงย่าน
ไฟด่านดับแดไหม้ มอดม้วยฤๅมี ฯ
(โคลงนิราศนรินทร์)
@ วัดนางนอง
ถึงนางนองเหมือนพี่นองชลนา
ยิ่งทวาอาวรณ์สะท้อนใจ ฯ
(นิราศท่าดินแดง)
ถึงวัดบางนางนองแม้นน้องพี่
มาถึงนี่จะต้องนองน้ำตา
ตัวคนเดียวเที่ยวเล่นไม่เป็นห่วง
แต่เศร้าทรวงสุดหวังที่ฝั่งฝา ฯ
(นิราศเมืองเพชร)
มาพลางพลางนึกหน้า นวลละออง
เรือรี่รีบตามคลอง คล่าวน้ำ
ถับถึงวัดนางนอง นามนาฏ
เรียมก็นองเนตรผล้ำ พรากไห้หาสมร ฯ
นางนองนางนิ่มเนื้อ เสมอสาย สวาดิเอย
สายเนตรเรียมฤๅวาย เลือดย้อย
ใดนางบ่เห็นกราย มาเกริ่น ราแม่
นางใช่นางนุชน้อย พี่โอ้อาดูร ฯ
(โคลงนิราศทวาย)
สาชลพฤกษ์พร่างขึ้น ไขเสดิง
นองท่านางนองสนาน สนั่นหล้าย
สายสินธุ์สำเริงฟอง ฟัดฟาด ฝั่งเอย
นองย่านนางคล้ายคล้าย คลั่งไหล ฯ
(โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย)
นางนองชลน่านไล้ ลบบาง
ไหลเล่ห์ชลลบปราง แม่คลํ้า
แสนโศกสั่งสารปาง จากพี่ ปลอบแม่
นาสิกเรียมซับนํ้า เนตรหน้านางนอง ฯ
(โคลงนิราศนรินทร์)
วัดนางนอง..วัดงามริมคลองด่าน
@วัดไทร ริมคลองด่าน
ถึงวัดไทรไทรใหญ่ใบชอุ่ม
เปนเซิงซุ้มสาขาพฤกษาศาล
ขอเดชะพระไทรซึ่งไชยชาญ
ช่วยอุ้มฉานไปเช่นพระอนิรุท ฯ
(นิราศเมืองเพชร)
ถึงวัดไทรในตำบลน้ำชลตื้น
ดูครึมครื้นมืดมัวน่ากลัวผี
(นิราศพระแท่นดงรัง)
ภาพบนโปสการ์ ตลาดน้ำวัดไทรในอดีต ลิขสิทธิ์ของกวีธารา
@ หัวกระบือ
ถึงศีร์ษะกระบือเปนชื่อบ้าน
ระยะย่านยุงชุมรุมข่มเหง
ทั้งกุมภากล้าหาญเขาพานเกรง
ให้วังเวงวิญญาเอกากาย ฯ
(นิราศเมืองเพชร)
หัวกระบือกระบินทรราชเรื้อง รณรงค์ แลฤๅ
ตัดกระบาลโยนลง ลากน้ำ
ศิระกาจกาษรยง ยังอยู่ ฤๅแม่
เสมอพี่ทนทุกข์ปล้ำ ประดักด้วยอาดูร ฯ
(โคลงนิราศทวาย)
งามเงื่อนสุวภาพสร้อย สาวโสม บูรณเอย
เศียรกระบือระบือนาม แนะด้าว
ไฉนนุชลับฦๅโฉม เฉลิมโลกย์
เฉกเฉนงเสี่ยวไส้ย้าว ยอกทรวง ฯ
(โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย)
หัวกระบือกบิลราชร้า รณรงค์ แลฤา
ตัดกบาลกระบือดง เด็ดหวิ้น
บเศียรทรพีคง คำเล่า แลแม่
เสมอพี่เด็ดสมรดิ้น ขาดด้วยคมเวร ฯ
(โคลงนิราศนรินทร์)
ถึงศีรษะกระบือเป็นชื่อบ้าน
บิดาท่านโปรดเกล้าเล่าแถลง
ว่าพญาพาลีซึ่งมีแรง
เข้ารบแผลงฤทธิ์ต่อด้วยทรพี
ตัดศีรษะกระบือแล้วถือคว่าง
ปลิวมากลางเวหาพนาศรี
มาตกลงตรงย่านที่บ้านนี้
จึงเรียกศีรษะกระบือเป็นชื่อนาม ฯ
(นิราศพระแท่นดงรัง)
@ตำบลโคกขาม
ถึงโคกขามคร้ามใจได้ไต่ถาม
โคกมะขามดอกมิใช่อะไรอื่น
ไม่เห็นแจ้งแคลงทางเปนกลางคืน
ยิ่งหนาวชื้นช้ำใจมาในเรือ ฯ
(นิราศเมืองเพชร)
ถึงโคกขามบ้านขอมล้วนลอมฟืน
พอฟ้าขาวดาวเดือนจะเลื่อน
แสงทองจับแจ่มฟ้าค่อยฝ่าฝืน
เสียงลิงค่างวางเวงครึกเครงครื้น
ปักษาตื่นต่างเรียกกันเพรียกไพร ฯ
(นิราศพระแท่นดงรัง)
@ริมทะเลจากโคกขาม มามหาชัย
เห็นฝูงลิงวิ่งตามกันสอสอ
มาคอยขอโภชนากระยาหาร
คนทั้งหลายชายหญิงทิ้งให้ทาน
ต่างลนลานล้วงได้เอาไพล่พลิ้ว
เวทนาวานรอ่อนน้อยน้อย
กจ้อยร่อยกจิริดจิดจีดจิ๋ว
บ้างเกาะแม่แลโลดกระโดดปลิว
ดูหอบหิ้วมิให้ถูกตัวลูกเลย
โอ้พ่อแม่แต่ชั้นลิงไม่ทิ้งบุตร
เพราะแสนสุดเสนหานิจาเอ๋ย
ที่ลูกอ่อนป้อนนมนั่งชมเชย
กระไรเลยแลเห็นน่าเอนดู
แต่ลิงใหญ่อ้ายทโมนมันโลนเหลือ
จนชาวเรือเมินหมดด้วยอดสู ฯ
(นิราศเมืองเพชร)
อ้างอิงภาพจาก https://sites.google.com/site/siretorn6998/hwng
@มหาชัย
คลอนคลอนสุริเยศคล้อย สนทยา
ถึงมหาชัยคลา คลับแคล้ว
ลำแลสุดสายตา ลิบลิ่ว
ดุจพี่แลหาแก้ว ลิ่วล้ำลาญทรวง ฯ
มหาชัยไกลเนตรท้อง ทางชลา
ชเลแม่แลสุดตา คว่างคว้าง
มหาชัยท่านสมญา สมโยค หนึ่งรา
จงช่วยอวยชัยร้าง รักให้พลันคืน ฯ
(โคลงนิราศทวาย)
หามขวยแขยงขยาดหลั้ง ลืมหลง
คลองมหาชัยสนาม ลิ่วลิ้ว
ตลิ่งตลอดตรง ตรูแน่ว
จิตรพี่ตรงดิ้วด้วย ดั่งผลู ฯ
(โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย)
@ท่าจีน
ต่างเลี้ยวเรือลงหน้าบ้านท่าจีน
เป็นประมงหลงละโมบด้วยโลภลาภ
ไม่กลัวบาปช่างนับแต่ทรัพย์สีน
ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลาตีน
ตะกายปีนเลนเล่นออกเป็นแปลง ฯ
(นิราศเมืองเพชร)
ท่าจีนจีนจบเจ้า สังเวย
สรวงเซ่นขอสุขเสบย อยู่เหย้า
ทิ้งทายทอดสลากเคย ตนเสี่ยง
เรียมก็เสี่ยงใจเจ้า พี่ด้วยดวงใจ ฯ
(โคลงนิราศทวาย)
ท่าจีนจีนจอดถ้า คอยถาม ใดฤๅ
จีนช่วยจำใจความ ข่าวร้อน
เยียวมิ่งแม่มาตาม เตือนเร่ง ราแม่
จงนุชรีบเรียมข้อน เคร่าถ้า จีนคอย ฯ
(โคลงนิราศนรินทร์)
@คลองสุนัขหอน ต่อด้วยคลองสามสิบสามคด
เมื่อถึงสามสิบสามคดแล้ว
แคล้วแคล้วเหมือนจะกลับมารับขวัญ
คล้ายคล้ายอัษฎงค์พระสุริยัน
ก็บรรลุถึงคลองสุนัขใน ฯ
(นิราศท่าดินแดง)
อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่
เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด
ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด
ถึงคลองคดก็ยังไม่เหมือนใจคน ฯ
ถึงปากช่องคลองชื่อสุนัขหอน
ทั้งเรือแพแลสลอนเสลือกสลน
ต่างแขงข้อถ่อค้ำที่น้ำวน
คงคาข้นขุ่นตื้นแต่พื้นเลน
(นิราศเมืองเพชร)
ไคลคลามาลุเข้า คลองดอน
เรียกชื่อสุนัขหอน แห่งแห้ง
เรือรอคั่งคอยจร เข็นแคบ กันนา
เรียมก็เข็นใจแล้ง จากเจ้าจำไป ฯ
สนธยาคลาเคลื่อนเข้า ลำคลอง
คลองสุนัขมามอง มุ่งเนื้อ
ยามดึกสัตว์เสียงคะนอง วิเวก ใจนา
เย็นอุระเรียมเรื้อ ทุเรศน้องในดง ฯ
(โคลงนิราศทวาย)
ถึงเขตแขวงแหล่งหลักสุนัขหอน
เรือสลอนลอยรอถือถ่อไสว
ทั้งพ่วงแพแซ่ซ้อนเจ๊กมอญไทย
บ้างมาไปปะกันเสียงครั่นครื้น ฯ
(นิราศพระแท่นดงรัง)
@นาขวาง
ถึงบางขวางข้างซ้ายชายชาลา
ไขคงคาขังน้ำไว้ทำเกลือ
หรือบ้านนี้ที่เขาว่าตำราร่ำ
ช่างปั้นน้ำเป็นตัวน่ากลัวเหลือ ฯ
(นิราศเมืองเพชร)
มาลุลำดับบ้าน นาขวาง
เห็นแต่รอยไถราง ร่องไว้
ปะมวลละอายพราง ไปแพร่ง พร้องนา
เฉลยว่านาขวางไหร้ ใช่น้องนารี ฯ
(โคลงนิราศทวาย)
ถึงนาขวางข้างซ้ายนายภาษี
ตั้งอยู่ที่ปากคลองเก็บของหลวง
เรียกภาษีที่เรือเกลือทั้งปวง
บ้างทักท้วงเถียงกันสนั่นดัง ฯ
(นิราศพระแท่นดงรัง)
นาเกลือ https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG191213230729038
@แม่กลอง
ถึงแม่กลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน
น่าสำราญเรือนเรือดูเหลือหลาย
บ้างย่างปลาค่าเคียงเรียงเรียงราย
ดูวุ่นวายวิ่งไขว่กันใหญ่น้อย ฯ
ขายสำเร็จเป็ดไก่ทั้งไข่พอก
กระเบนกระบอกปลาทูทั้งปูหอย
ลูกค้ารับนับกันเปนพันร้อย
ปลาเล็กน้อยขมงโกรยโกยกะบุง ฯ
(นิราศเมืองเพชร)
แม่กลองรอยแม่แกล้ง ธารกรรม
ฤๅนิ่งดูเขาทำ โทษได้
ปรานีลูกสักคำ ฤๅห่อน มีนา
อกพี่ปานกลองไม้ ค่อนค้อนตูมตี ฯ
(โครงนิราศทวาย)
มุ่งเห็นเมืองสมุทรทั้ง ทิมชเล
หญิงหย่อนอวนปลาแอ อัดปลํ้า
จรลาดเหล่าเรือเร รับช่วง
ปากแม่ค้าผ้ำผ้ำ ผาดเสียงแถมเสียง ฯ
แม่กลองกลองแห่ก้อง กินเสียง เสียฤๅ
พลโห่โหมเภรี เร่งส้าว
อกเรืออกเรียมเพียง พังคราก
ร้อนรักเคืองแค้นท้าว ทุ่มทรวง ฯ
(โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย)
............กวีธารา.............
วัดใหญ่ ปากแม่น้ำแม่กลอง ตั้งอยู่ที่มุมบรรจบกับคลอง 13 คด
กด 1 like ให้ 1 แชร์ สื่อความหมาย
อ่านแล้วชอบ สอบผ่านได้ในบทเขียน
กด 1 Like ให้ 1 แชร์ เพิ่มความเพียร
คิดเขียนเรื่อง ราวน่ารู้ สู่กันฟัง..
-----จบบริบูรณ์ -------
กวีธารา ร้านค้าแนวอนุรักษ์ ขายถุงผ้าและโปสการ์ด ทำเอง+ภาพลิขสิทธิ์
อยู่ที่ริมคลองตลาดน้ำลัดมะยมโซน 7 รับสั่งทำถุงผ้าลดโลกร้อน พร้อมสกรีนโลโก้
ติดต่อได้ที่ Line 3514653
ภาพบนโปสการ์ด แม่ค้าตลาดน้ำ ลิขสิทธิ์ร้าน กวีธารา
ขอขอบคุณทุกแหล่งข้อมูลอ้างอิง :
-"ช้างยังตกเขาตายพร้อมควาญ! ร.๑ ทรงยึดราวเชือกไต่เขาสูงชันไปตีทวาย
๒ นายทัพตายคาสมรภูมิ!!" Manager Online, 21 ก.ย. 2561 08:53
โดย: โรม บุนนาค
-"ระวัง! “พระกินคน” เรื่องเล่าพิสดารที่วัดเขายี่สาร", นิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ฉบับกุมภาพันธ์ 2547, ผู้เขียน สกุลการ สังข์ทอง
- ข้อมูลจากหอสมุดวชิรญาน
-คลังปัญญาชนสยาม
www.oocities.org/siamintellect/intellects/korsorror/biography.htm
-
www.facebook.com/WatKanlayanamitra
-
www.matichon.co.th/prachachuen/news_1519766/attachment/06-377
บันทึก
9
4
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Herby Elephant
โหนงวงข้าสิ แล้วข้าจะพาเจ้าไป..
9
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย