17 มิ.ย. 2020 เวลา 10:52 • ประวัติศาสตร์
“การเดินขบวนที่วอชิงตัน (March on Washington)” การเดินขบวนเพื่อความเท่าเทียมในสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 1
ชีวิตของคนผิวดำ
เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง
นั่นคือการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd)” ชาวผิวดำที่เสียชีวิต ภายหลังจากถูกตำรวจผิวขาวจับกุม
การเสียชีวิตของเขาได้จุดประกายความรุนแรง ทำให้เกิดการจลาจลในเวลาต่อมา สร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนเป็นจำนวนมาก และจุดประกายเรื่อง”การเหยียดผิว” ขึ้นมาอีกครั้ง
จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ขณะถูกจับกุม
ผมว่าเราลองมาย้อนกลับไปในอดีตของสหรัฐอเมริกา ดูว่าในอดีตที่ผ่านมานั้น มีเหตุการณ์อะไรที่เกี่ยวข้องคล้ายคลึงกับกรณีของฟลอยด์มั้ย
และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ คือ “การเดินขบวนที่วอชิงตัน (March on Washington)”
แต่ก่อนอื่น เราย้อนกลับไปยังอดีตที่ไกลกว่านั้นกันก่อนดีกว่า
การถือครองทาสในสหรัฐอเมริกาได้ถูกยกเลิกไปในปีค.ศ.1865 (พ.ศ.2408) ภายหลังจากสงครามกลางเมืองได้จบลง
แต่การที่ทาสเป็นอิสระ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีชีวิตและสิทธิเท่าเทียมกับคนผิวขาว
ทาสในสหรัฐอเมริกา
ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) ภายหลังการเลิกทาสเกือบ 100 ปี ชีวิตของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่มีความเท่าเทียมกับคนผิวขาว
มีประชากรชาวแอฟริกัน-อเมริกัน หรือคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาเกือบ 19 ล้านคน ซึ่งเท่ากับ 10-12% ของจำนวนประชากรอเมริกันทั้งประเทศ
แต่ถึงจะมีจำนวนมาก ทั้งรัฐและเมืองต่างๆ ก็มีวิธีในการแบ่งแยกสีผิว
ในรัฐทางใต้ กฎที่แบ่งแยกระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ เรียกว่า “กฎหมายจิม โครว (Jim Crow Laws)”
ชื่อของกฎหมายนี้มีที่มาจากการแสดงบนเวทีในยุค 1800 (พ.ศ.2343-2442) โดยนักแสดงผิวขาวได้แต่งหน้า ทาหน้าเป็นสีดำ และร้องเพลงเกี่ยวกับชาวผิวดำที่ชื่อ “จิม โครว (Jim Crow)”
กฎหมายนี้ทำให้คนผิวดำถูกจำกัดสิทธิในหลายๆ เรื่อง เช่น ไม่สามารถซื้อบ้านในย่านของคนผิวขาว ห้องน้ำสาธารณะก็ต้องแยก รวมทั้งที่นั่งในโรงหนัง และก๊อกสำหรับดื่มน้ำก็ยังมีการแบ่งแยก
คนผิวดำไม่สามารถลองเสื้อก่อนซื้อ สระว่ายน้ำรวมทั้งสวนสนุกบางแห่งก็ห้ามไม่ให้คนผิวดำเข้า รวมทั้งร้านอาหาร
ที่เบอร์มิงแฮมและอลาบาม่านั้นหนักถึงขนาดที่ว่าห้ามคนผิวขาวและคนผิวดำนั่งเล่นไพ่ด้วยกัน รวมถึงการละเล่นอื่นๆ และกีฬาต่างๆ
ทางใต้ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็ได้แบ่งแยกระหว่างคนผิวขาวและคนดำ รวมทั้งโรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า สุสาน และขนส่งสาธารณะต่างๆ
บนรถบัส คนผิวดำต้องนั่งในที่นั่งด้านหลังเท่านั้น และหากมีคนผิวขาวขึ้นมาบนรถ ก็ต้องลุกให้นั่ง ส่วนทางเหนือนั้น ชีวิตของคนผิวดำถือว่าดีกว่าทางใต้ แต่โดยรวมก็ยังมีการแบ่งแยกอยู่มาก
กฎหมายก็ไม่เป็นธรรม กฎหมายพิเศษที่ออกมาทำให้คนผิวดำไม่สามารถเลือกคนที่จะมาช่วยสู้เพื่อสิทธิของพวกตนได้ง่ายๆ เช่นในอลาบาม่า คนผิวดำต้องทำแบบทดสอบการอ่านซึ่งเต็มไปด้วยคำถามลวง ก่อนที่จะทำการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนว่าคนผิวขาวไม่ต้องทำแบบทดสอบ สามารถเลือกตั้งได้เลย
ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) แม้แต่เรื่องส่วนตัวอย่างการสมรส คนผิวขาวและคนผิวดำ หากต้องการจะแต่งงานกัน ก็ไม่สามารถทำได้
ในปีนี้ สหรัฐอเมริกาดูราวกับแบ่งออกเป็นสองประเทศ ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงและไม่มีความเท่าเทียม
งานที่เปิดให้คนผิวดำทำก็มีแต่งานที่มีรายได้ต่ำ เช่น คนเก็บขยะ คนขับรถ แรงงานในไร่ พนักงานทำความสะอาด แม้แต่ในภาพยนตร์ บทที่คนผิวดำได้รับก็มักจะเป็นบทเหล่านี้
แม้แต่ในวงการกีฬา ทีมต่างๆ ก็มีการแบ่งแยก ทีมเบสบอลในเมเจอร์ลีกล้วนแต่มีสมาชิกเป็นคนผิวขาว จนกระทั่ง “แจ็กกี้ โรบินสัน (Jackie Robinson)” เข้าเป็นสมาชิกทีม “บรู๊คลิน ดอดเจอร์ส (Brookly Dodgers” ในปีค.ศ.1947 (พ.ศ.2490)
โรบินสันต้องให้สัญญากับผู้จัดการทีมว่าตัวเขาจะไม่ตอบโต้หากถูกดูถูก และต้องไม่ใส่ใจกับจดหมายด่าทอรวมทั้งคำขู่ฆ่าต่างๆ อีกด้วย
แจ็กกี้ โรบินสัน (Jackie Robinson)
สำหรับคนที่ทำผิดกฎจิม โครวนั้น มักจะได้รับการลงโทษจากสังคมที่รุนแรง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง
ที่ร้ายแรงอย่างหนักคือการรุมประชาทัณฑ์
การรุมประชาทัณฑ์นั้น มักจะเป็นการแขวนคอในที่สาธารณะ โดยผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดจะถูกจับแขวนคอ บางทีอาจจะเป็นเพียงแค่ข้อหาเล็กน้อย หรืออาจจะไม่ได้ทำความผิดจริงก็ได้
ตั้งแต่ปีค.ศ.1882-1963 (พ.ศ.2425-2506) มีคนผิวดำเกือบ 3,500 คนถูกแขวนคอ
คนผิวดำนั้นแทบจะไม่มีสิทธิมนุษยชน และไม่สามารถตอบโต้อะไรได้ ต้องทนอยู่ในสภาพอย่างนี้
แต่ในยุค 50 (พ.ศ.2493-2502) คนผิวดำหลายคนเริ่มทนไม่ไหวและออกมาต่อต้าน ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง แต่ด้วยการฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่ใช้ความรุนแรง
นักศึกษาผิวดำมักจะไปนั่งในบริเวณที่นั่งในร้านอาหารซึ่งเสิร์ฟให้เฉพาะคนผิวขาว โดยนักศึกษากลุ่มนี้จะนั่งเงียบๆ ทำตัวสุภาพ ถึงแม้จะไม่ได้รับการเสิร์ฟอาหารก็ไม่เป็นไร ซึ่งสุดท้ายแล้ว เจ้าของร้านก็มักจะไปตามตำรวจให้มาจับตัวไป
ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) “โรซ่า พาร์คส์ (Rosa Parks)” หญิงจากอลาบาม่าก็ถูกจับ เนื่องจากเธอไม่ยอมสละที่นั่งให้คนผิวขาว
โรซ่า พาร์คส์ (Rosa Parks)
หลังจากนั้น นักเทศน์ที่ชื่อ “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)” ได้บอกให้คนผิวดำในมอนท์โกเมอรี อลาบาม่าให้ทำการบอยคอตต์รถบัสสาธารณะและหาวิธีเดินทางด้วยวิธีอื่น
การบอยคอตต์นี้ดำเนินไปมากกว่าหนึ่งปี และก็ได้ผล
ในปีค.ศ.1956 (พ.ศ.2499) ศาลสูงได้สั่งให้การแบ่งแยกสีผิวในรถบัสสาธารณะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ทำให้คิง ซึ่งเป็นผู้นำในการบอยคอตต์ ได้กลายเป็นผู้นำคนสำคัญระดับประเทศ
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)
แต่สำหรับจุดที่รุนแรงที่สุดคือเบอร์มิงแฮม อลาบาม่า
ในช่วงระยะเวลา 20 ปี มีการวางระเบิดในบริเวณบ้านของคนผิวดำและโบสถ์ของคนผิวดำกว่า 50 ครั้ง
พฤษภาคม ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) คิงและคนอื่นๆ ได้ตั้งการเดินขบวนของเด็กๆ ซึ่งบางรายมีอายุเพียง 6 ขวบ โดบมีจุดประสงค์ให้นายกเทศมนตรีเมืองเบอร์มิงแฮมยกเลิกการแบ่งแยกสีผิว
แต่การเดินขบวนนี้ไม่ได้ผล และผลที่ได้คือมีนักเรียนนับร้อยถูกจับกุม
ภาพความรุนแรงต่างๆ ถูกถ่ายทอดสดออกทางโทรทัศน์ และยังมีคนขาวจำนวนมากโยนก้อนอิฐและขวดใส่เหล่านักเรียนที่เดินขบวน ตำรวจเองก็ฉีดน้ำแรงดันสูงใส่เด็ก และยังปล่อยสุนัขตำรวจออกมาอีกด้วย ทำให้เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บ
ภาพที่ออกมาทำให้ผู้คนทั้งประเทศเห็นว่าชีวิตของคนผิวดำทางใต้เป็นอย่างไร
ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) เป็นปีที่รุนแรงปีหนึ่ง ได้มีการประท้วงเพื่อสิทธิมนุษยชนตามที่ต่างๆ หลายแห่ง แต่ก็ยังไม่ถึงขนาดที่เรียกได้ว่าระดับชาติ
ถึงเวลาที่ประชาชนจะได้พูดในเวทีระดับชาติ
นั่นคือที่ “วอชิงตัน ดีซี”
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา