Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
22 มิ.ย. 2020 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
“การเดินขบวนที่วอชิงตัน (March on Washington)” การเดินขบวนเพื่อความเท่าเทียมในสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 2
นักสู้เพื่อความเท่าเทียม
“เอ. ฟิลิป แรนดอล์ฟ (A. Philip Randolph)” เป็นชายที่มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิให้แก่คนผิวดำมาเป็นเวลานานและเขาก็เข้าใจดีถึงพลังจากการเดินขบวน
ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาก็ได้วางแผนจะจัดเดินขบวนในวอชิงตัน เพื่อประท้วงการกีดกันคนผิวดำไม่ให้ได้ทำงานในหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งงานที่ได้ค่าตอบแทนสูงอย่างเช่นการสร้างเครื่องบิน เรือดำน้ำ เรือรบ
เอ. ฟิลิป แรนดอล์ฟ (A. Philip Randolph)
แต่ก่อนที่จะเกิดการประท้วง ประธานาธิบดี “แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)” ก็ยอมตกลงตามข้อเรียกร้องของแรนดอล์ฟ โดยสาเหตุก็มาจากการที่ภรรยาของรูสเวลต์ นั่นคือ “เอเลนอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosevelt)” เป็นผู้สนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง
เอเลนอร์ได้กดดันให้แฟรงคลินผู้เป็นสามีให้ยอมตามข้อเรียกร้อง ทำให้แฟรงคลินต้องยอมออกกฎหมาย ห้ามกีดกันคนผิวดำเข้าทำงานในหน่วยความมั่นคงต่างๆ
แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)
เอเลนอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosevelt)
ต่อมา ในปีค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) แรนดอล์ฟก็ได้วางแผนจะจัดการเดินขบวนครั้งใหญ่ โดยมีจุดประสงค์จะให้ผู้คนสนใจเรื่องที่กองทัพบก กองทัพเรือ และนาวิกโยธินสหรัฐ ปฏิบัติต่อคนผิวดำอย่างไม่เป็นธรรม
ในเวลานี้ ได้มีประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว นั่นคือ “แฮร์รี ทรูแมน (Harry Truman)”
ทรูแมนเองก็ยอม เขาได้เซ็นชื่อรับรองว่าทุกคนในกองทัพนั้นมีโอกาสอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
แฮร์รี ทรูแมน (Harry Truman)
ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) แรนดอล์ฟมีอายุได้ 74 ปีแล้ว แต่เขาก็ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่ต้องการเห็นความเท่าเทียม และเขาก็ต้องการให้เกิดการเดินขบวน และในระดับชาติ
แรนดอล์ฟได้ทำการเขียนจดหมายและโทรศัพท์ไปหาเหล่าผู้นำทางศาสนาและบุคคลทั่วไป นอกจากนั้น หากอยากให้การเดินขบวนเกิดขึ้นจริง เขาต้องได้รับความร่วมมือจากเหล่าผู้นำในแวดวงการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน
ในทีแรก ก็ไม่มีใครให้ความสนใจในตัวแรนดอล์ฟมากนัก เนื่องจากแต่ละคนก็มีงานของตนเอง แต่แรนดอล์ฟก็ไม่ยอมแพ้
ในขณะที่แรนดอล์ฟพยายามจะโน้มน้าวผู้นำให้เข้าร่วม เขาก็ได้ขอให้ “เบยาร์ด รัสติน (Bayard Rustin)” มาช่วยในเรื่องรายละเอียดการเดินขบวน
เบยาร์ด รัสติน (Bayard Rustin)
รัสตินนั้นต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้วและเป็นที่รู้จักว่ามีฝีมือในการจัดการเดินขบวนต่างๆ
รัสตินเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นแรงกล้า เขาไม่เชื่อในเรื่องการใช้ความรุนแรงหรือสงคราม โดยเขาเคยถูกจำคุกเป็นเวลาสองปีครึ่งเนื่องจากปฏิเสธที่จะเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2
ภายหลัง รัสตินมีอิทธิพลต่อคิงมาก ซึ่งคิงเองก็เชื่อในการเรียกร้องโดยสันติวิธีเช่นเดียวกัน โดยรัสตินเองยังช่วยในการเกลาสปีชบางสปีชให้คิงอีกด้วย
รัสตินและคิง
นอกจากรัสตินแล้ว แรนดอล์ฟยังได้พันธมิตรที่ทรงพลังอีกรายหนึ่ง นั่นคือ “จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy)”
จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy)
เคนเนดี้เป็นประธานาธิบดีคาทอลิกคนแรกแห่งสหรัฐอเมริกา และเขาก็เข้าใจดีว่าการถูกตัดสินโดยอคตินั้นเป็นยังไง
ในคราวหาเสียงเมื่อปีค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) เคนเนดี้ได้พูดถึงความหวังต่อสหรัฐอเมริกา ความหวังที่ว่าผู้คนจะไม่ให้ความสนใจเรื่องของสีผิว
สามเดือนหลังได้รับเลือกตั้ง เคนเนดี้ก็ออกกฎหมายล็อตแรกเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็ถูกคัดค้านโดยคู่แข่งทางการเมืองในทันที
ในเวลานั้น “โรเบิร์ต เคนเนดี้ (Robert Kennedy)” น้องชายของเขา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้ออกมาเตือนว่ารัฐบาลกลางต้องออกมาแก้ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นจะเกิดจลาจลทั้งประเทศ
โรเบิร์ต เคนเนดี้ (Robert Kennedy)
พฤษภาคม ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) นักเขียนผิวดำชื่อ “เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin)” ได้จัดการให้โรเบิร์ตพบกับผู้นำกลุ่มคนผิวดำคนสำคัญๆ ซึ่งโรเบิร์ตก็รับฟังปัญหาอย่างตั้งใจ และนำปัญหาที่ได้รับฟัง รายงานไปให้พี่ชายของตนทราบ
11 มิถุนายน ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) เคนเนดี้ได้ปราศรัยเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นปราศรัยครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
“ถึงเวลาที่ประเทศนี้จะต้องทำตามสัญญาแล้ว สัญญาที่ว่าจะทำให้ทุกคนเป็นอิสระอย่างแท้จริง ชาติพันธุ์จะไม่มีความหมายต่อชีวิตของชาวอเมริกันและกฎหมายอเมริกัน”
คือปราศรัยของเคนเนดี้
อาทิตย์ต่อมา เคนเนดี้ได้นำ “รัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง ค.ศ. 1963 (Civil Rights Act of 1963)” เสนอต่อสภา
ใจความสำคัญคือคนผิวดำจะมีสิทธิเทียบเท่ากับคนผิวขาวทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเลือกตั้ง การเข้าโรงเรียน การใช้บริการสาธารณะ และสิทธิมนุษยชนทุกอย่าง
เคนเนดี้ผลักดันให้สภาออกรัฐบัญญัตินี้โดยเร็วโดยเขาคำนึงถึงความถูกต้อง แต่ก็เป็นไปอย่างยากเย็น เนื่องจากในเวลานั้น ไม่มีสมาวุฒิสภาผิวดำเลย ส่วนในสภาผู้แทน ก็มีสมาชิกที่เป็นคนผิวดำเพียงห้าคน
การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
References:
https://kinginstitute.stanford.edu/encyclopedia/randolph-philip
https://www.history.com/topics/black-history/a-philip-randolph
https://www.britannica.com/biography/A-Philip-Randolph
https://www.npr.org/sections/codeswitch/2013/08/15/212338844/bayard-rustin-the-man-who-organized-the-march-on-washington
https://www.pbs.org/wnet/african-americans-many-rivers-to-cross/history/100-amazing-facts/who-designed-the-march-on-washington/
https://www.biography.com/activist/bayard-rustin
https://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=246334549
https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/jfk-domestic-politics/
https://www.jfklibrary.org/learn/about-jfk/jfk-in-history/civil-rights-movement
5 บันทึก
32
1
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
“การเดินขบวนที่วอชิงตัน (March on Washington)” การเดินขบวนเพื่อความเท่าเทียมในสหรัฐอเมริกา
5
32
1
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย