24 มิ.ย. 2020 เวลา 08:12 • ประวัติศาสตร์
“การเดินขบวนที่วอชิงตัน (March on Washington)” การเดินขบวนเพื่อความเท่าเทียมในสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 3 (ตอนจบ)
การเดินขบวนและความเท่าเทียม
แรนดอล์ฟกำหนดวันเดินขบวนคือวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506)
การเดินขบวนนี้จะเป็นไปอย่างสันติ โดยมีเป้าหมายที่จะรวบรวมคนที่มาเดินขบวนอย่างน้อยหนึ่งแสนคน แต่ก็มีการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการเดินขบวนนี้มาโดยตลอด
แต่ยังไงซะ ทั้งแรนดอล์ฟและรัสตินก็เดินหน้าต่อไปอย่างไม่มีการถอย
แรนดอล์ฟใช้เวลาสองเดือนที่มีในการเตรียมการเดินขบวน ทั้งการรวบรวมคนและหาเงินทุน เชิญศิลปินคนดังมากมายมาร่วมด้วย และทำให้การเดินขบวนครั้งนี้ได้ออกสื่อต่างๆ
มีการเตรียมการสำหรับการรับมือกับคนเข้าร่วมเดินขบวนนับแสน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาหาร ส้วมเคลื่อนที่ โดยอาหารนั้น ส่วนหนึ่งได้รับความร่วมมือจากโบสถ์
สื่อมวลชนและประชาชนต่างให้ความสนใจกับการเดินขบวนใหญ่ครั้งนี้
ในทีแรก ประธานาธิบดีเคนเนดี้ยังคงนิ่ง ไม่แสดงความเห็นอะไร แต่ในที่สุด เคนเนดี้ก็ได้กล่าวสนับสนุน ก่อนที่จะปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องการเดินขบวนในครั้งนี้
เมื่อวันจริงมาถึง ผู้คนมารวมกันมืดฟ้ามัวดิน มีการแสดงดนตรีบนเวทีสลับกับการพูดสปีชให้ประชาชนที่มารวมตัวกันฟัง
ฝูงชนมุ่งตรงไปยังอนุสรณ์สถานลินคอล์น ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดความรุนแรง
อากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ประชาชนก็ไม่ย่อท้อ
ได้มีผู้สลับกันขึ้นพูดบนเวทีหลายคน ทั้งคนผิวขาวและคนผิวดำ
คนสุดท้ายที่ขึ้นพูดคือ “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)”
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)
คิงเริ่มต้นด้วยการพูดถึงการที่สหรัฐอเมริกาผิดสัญญาที่ว่าจะให้สิทธิต่างๆ แก่คนผิวดำ และเขาเข้าใจความโกรธแค้นของผู้คน
คิงกล่าวว่า
“ผมมีความฝัน ผมมีความฝันว่าซักวันหนึ่ง ลูกๆ ของผมทั้งสี่คนจะได้อยู่ในประเทศที่ไม่ตัดสินพวกเขาด้วยเรื่องของสีผิว แต่ด้วยเรื่องตัวตนของพวกเขาต่างหาก”
แม้แต่ที่อย่างอลาบาม่า เด็กชายหญิงผิวดำจะสามารถจับมือกับเด็กชายหญิงผิวขาวดั่งพี่น้องได้”
เมื่อพูดจบ ฝูงชนต่างปรบมือ น้ำตาไหล คนแปลกหน้าต่างกอดกันด้วยความซาบซึ้ง
แม้แต่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ที่รับชม ก็รู้สึกเกรงในตัวคิงและเกิดความนับถือในตัวคิง พร้อมๆ กับผู้ชมที่รับชมการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ
ภายหลัง เหล่าผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนต่างเดินทางไปพบกับประธานาธิบดีเคนเนดี้ โดยประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้พูดคุยเรื่องรัฐบัญญัติสิทธิมนุษยชน
ดูเหมือนว่าการเดินขบวนจะทำให้ชีวิตของชาวผิวดำมีความหวังมากขึ้น
แต่เพียงแค่สองสัปดาห์ต่อมา ก็ได้เกิดระเบิดขึ้นที่โบสถ์คนผิวดำในเบอร์มิงแฮมและทำให้มีเด็กเสียชีวิต
และต่อมา วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) ประธานาธิบดีเคนเนดี้ก็ถูกยิงเสียชีวิต
ดูเหมือนความหวังของคนผิวดำจะจบลงแล้ว
แต่ประธานาธิบดีคนใหม่คือ “ลินดอน บี จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson)” ไม่ยอมให้จบ
ลินดอน บี จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson)
จอห์นสันได้ลงนามในรัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง ค.ศ. 1964 (Civil Rights Act of 1964) ก่อนที่ในอีกสามปีต่อมา จะได้มีการลงนามในรัฐบัญญัติสิทธิพลเมือง ค.ศ.1968 (Civil Rights Act of 1968)
รัฐบัญญัติใหม่นี้ทำให้การปฏิเสธที่จะขายบ้านในย่านคนผิวขาวแก่คนผิวดำเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
แต่อีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา คิงก็ได้ถูกลอบยิงเสียชีวิต
ทุกวันนี้ สิทธิต่างๆ ในสหรัฐอเมริกามีความเท่าเทียมมากขึ้น ถึงจะไม่ 100% แต่ก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากความตื่นตัวและอิทธิพลจากการเดินขบวนครั้งนี้
จบลงแล้วสำหรับซีรีส์ชุดนี้ ซีรีส์ชุดต่อไป
“จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกแห่งสหรัฐอเมริกา”
จะมาพรุ่งนี้เป็นตอนแรก ฝากติดตามด้วยนะครับ
โฆษณา