11 ก.ค. 2020 เวลา 05:58 • การเมือง
รัฐธรรมนูญกับประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ฉบับเดียวที่มีที่มาจากประชาชนทั้งประเทศ โดยมีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากตัวแทนของทั้ง 76 จังหวัดที่ได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชน
รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตได้จริงๆหรือ?
รัฐธรรมนูญปี 2540 หมวดที่ 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งชาติ มาตราที่ 82 กล่าวไว้ว่า "รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง"
ก่อนหน้าที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่คนไทยเกือบ 100% สามารถเข้ารับการรักษาฟรี
พวกเรามีระบบประกันสุขภาพทั้งหมด 5 ระบบ ได้แก่ ระบบสวัสดิการราชการและรัฐวิสาหกิจ ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพโดยสมัครใจ (โครงการบัตรสุขภาพ เสียเงินรายเดือนหรือรายปี) บัตรอนาถา และประกันสุขภาพของเอกชน โดยครอบคลุมประชากรเพียง 70% ที่เหลือคือต้องใช้เงินสด หรือเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล
ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดจากงานวิจัยของ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี 2533 จนกระทั่งเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้ชนะเป็นพรรครัฐบาลนำโดย ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้โครงการเป็นรูปธรรมโดยโปรยหัวว่า "30 บาทรักษาทุกโรค"
ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีพรรคใดสนใจโครงการนี้และไม่คิดว่าสามารถทำได้สำเร็จ แต่ข้อความในกฎหมายสูงสุดที่เป็นที่ยึดมั่นของประชาชนทั้งประเทศ ทำให้พรรคต่างๆต้องแข่งขันกันสร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ได้มาหลังจากการเสียเลือดเสียเนื้อจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่นักศึกษาออกมาขับไล่พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่สืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการกว่า 500 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 1700 คน
นอกจากแนวนโยบายชาติที่ถูกเขียนจากความต้องการประชาชนเกี่ยวกับสุขภาพแล้ว
ข้ออื่นๆนั้นน่าสนใจไม่น้อย ตั้งแต่
-การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
-สวัสดิการคนชราผู้ยากไร้
-การนับถือศาสนาเท่าเทียมกัน
-การจัดการที่ดินการเกษตร
-การศึกษาเท่าเทียม
-การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม
-ความเสมอภาคทางเพศ
-ความปลอดภัยในชีวิตรวมถึงมลพิษในอากาศ
รวมไปถึงการส่งเสริมการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับประชาธิปไตย ศิลปะและวิทยาการ
รัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆล้วนมาจากฝีมือของทหารแบกปืนทั้งสิ้น ทหารที่มีอำนาจเลือกคนที่ชอบคนที่ใช่มาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนได้เพียงนั่งมองตาปริบๆ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ถูกร่างโดยคนเพียงหยิบมือ พยายามเขียนให้ซับซ้อนและยากที่จะแก้ไข แผนปฏิรูปที่ระดมคนที่ชอบคนที่ใช่มาจากคำสั่ง Top-down รูปแบบเดียวกับการทำงานในกองทัพน่าจะไม่ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศ นโยบายที่อยู่ตรงกันข้ามกับความต้องการของประชาชนนั้นอาจเกิดจากการไม่รับฟังเสียงของพวกเขา
รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องไกลตัว นโยบายรัฐต่างๆล้วนเป็นกฎหมายทั้งสิ้น โดยกฎหมายที่อยู่สูงสุดคือรัฐธรรมนูญ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา