7 ก.ค. 2020 เวลา 08:24 • สุขภาพ
หมอในมือ The Omnipresent Doctors
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาย่อความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์
ผู้ป่วยคนหนึ่งมีอาการกินได้น้อย น้ำหนักลดได้รับการตรวจฟิลม์เอ็กซเรย์ปอด แพทย์ไม่พบสิ่งผิดปกติ
ญาติย้ายที่รักษา ผู้ป่วยได้รับการตรวจด้วยเอ็กซเรย์ปอดอีกครั้ง แพทย์ก็ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ สุดท้ายผ่านไปหลายเดือนพบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอด และบนภาพฟิลม์เอ็กซเรย์นั้นมีก้อนเนื้องอกอยู่ตั้งแต่แรกบริเวณปอดกลีบบนด้านขวา เพียงแต่อยู่ในบริเวณที่มองไม่ชัดเพราะถูกบังด้วยกระดูกไหปลาร้า ต้องตั้งใจมองจริงๆถึงเห็น
ผู้สูงอายุเป็นโรคเบาหวานตรวจที่โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่มีโอกาสได้ตรวจตาตามนัดเพราะไม่มีเงินที่จะเดินทางจากบ้านไปโรงพยาบาลจังหวัดทั้งที่ห่างเพียง 40 กิโลเมตร
คุณตามารักษาความดันโลหิตสูงที่โรงพยาบาล แพทย์เรียกดูประวัติเก่า ห้องบัตรหาเจอบางส่วน แพทย์เปิดอ่านประวัติเก่า หมึกเลือนลาง ลายมือแย่จนแทบอ่านไม่ออก ผลเลือดในประวัติกระจายอยู่ในสมุดทำให้พลาดผลเลือดสำคัญบางตัวไป ผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจางหายไปเพราะคุณภาพหมึกของเครื่องอีเคจี
ชีวิตทุกคนมีความสำคัญ ความผิดพลาดของแพทย์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา บางเรื่องไม่ควรผิดแต่ก็ผิด ปัญหาหนึ่งมาจากการขาดแคลนแพทย์ เครื่องมือแพทย์ การขาดความรู้สุขศึกษาของประชาชน และระบบสุขภาพ
ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพเกิดขึ้นโดยที่หลายคนลืมนึกไป มันไม่เด่นชัดเหมือนความเหลื่อมล้ำทางโอกาส การเงินหรือการศึกษา และไม่มีหมอคนไหนมาบอกคุณว่าการรักษาที่เป็นอยู่มันต่ำกว่ามาตรฐาน
การแพทย์เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญในชีวิตคนทุกคนถ้าคุณเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ก็เป็นปัจจัยที่ลึกลับที่สุดเช่นกัน คนไข้หลายคนแทบไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง คนไข้ส่วนใหญ่ไม่รู้แม้กระทั่งตัวเองเป็นโรคอะไรและยาที่กิน กินไปเพื่ออะไร
ในภาคอีสานมีโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ คนไข้ระดมมาจากทั่วทุกสารทิศ ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าการได้มาที่นี่คืออาการขั้นสุดท้าย เรามาที่นี่เพื่อตาย
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวนอนข้างผู้ป่วยปอดบวมใส่ท่อช่วยหายใจ หลายๆครั้งเอ็กเทิร์น (แพทย์ปีหกที่ยังไม่จบ) ต้องคุมการ CPR (ปั๊มหัวใจ) เอง ใส่ท่อช่วยหายใจ เจาะปอด เจาะไขกระดูกเอง
คนไข้อีกนับไม่ถ้วน แม้เข้าถึงการแพทย์ เขาไม่รู้ว่าราคาที่ต้องจ่ายคืออะไร มันเหมือน Black box ที่แพทย์รู้แต่คนไข้ไม่รู้
มาดูในโรงพยาบาลรัฐระดับสูงในเมืองหลวง การรักษาผู้ป่วยคนหนึ่งนั้นสามารถใช้อุปกรณ์ระดับสูงจากเมืองนอกได้ บางคนระดมทีมอาจารย์ระดับแนวหน้ามาคุยกันเพื่อวางแผนการรักษา อย่างผู้ป่วยตับแข็งที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด สามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อตัวกรองสารอักเสบในเลือดเพื่อลดความรุนแรงลง
ในมุมของการรับรู้ของประชาชน สำหรับคนรายได้น้อยในภาคอีสาน การตายเป็นเรื่องธรรมชาติ หลายครั้งที่ญาติเสียชีวิต ก็แค่นำศพไปประกอบพิธี เสียใจได้สามวันแล้วก้มหน้าทำงานต่อไป ขณะที่ผู้คนในเมืองการเสียชีวิตครั้งหนึ่งคือมูลค่าทางจิตใจมหาศาลของพ่อแม่และญาติพี่น้อง การรั้งและการยื้อชีวิตถูกกำหนดด้วยมูลค่าเงิน เท่าไหร่ก็ได้พร้อมจ่าย
1
โรคมะเร็งก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่การคัดกรองโรค หลายคนในประเทศเข้าไม่ถึงการส่องลำไส้เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ หบายคนไม่ได้คัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งเต้านม
การรักษาโรคมะเร็งในยุคนี้ก้าวล้ำอย่างมากทั้งการตรวจ Genomes เพื่อหายาที่เป็น Targeted therapy หรือการรักษาเฉพาะเจาะจงต่อมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องใช้เคมีบำบัดที่เปรียบเหมือนระเบิดปรมาณูที่ทำลายล้างทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ดี
1
การรักษาที่ล้ำสมัยขึ้นไปอีกอย่างการใช้ภูมิคุ้มกัน สิ่งนี้ต้องการห้องแล็บเฉพาะและแน่นอนมีมูลค่าที่ต้องจ่าย
Best Practice เป็นไปไม่ได้ แต่ให้ได้ Standard นั้นเป็นไปได้
Best Practice คือการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคนๆนั้นด้วยองค์ความรู้จากทั้งโลกเท่าที่เรามี ถ้าทำอย่างนั้น ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล ประเทศพัฒนาแล้วยังทำไม่ได้ นับประสาอะไรกับประเทศรายได้ปานกลาง
อย่างไรก็ตาม Standard care ขั้นต่ำนั้นสามารถทำได้ให้เท่าเทียมกันทุกคน และการยกระดับการรักษาคนไข้ทั้งประเทศนั้นเป็นไปได้
เช่นเดียวกับโรงเรียนที่ปลายนิ้ว เทคโนโลยีนั้นกำลังเข้ามา disrupt การแพทย์ การใช้ AI เพื่อเข้ามาช่วยแพทย์ตัดสินใจนั้นสามารถลดความผิดพลาดได้ แม้เพียง 10% แต่ถ้าทำทั้งประเทศจะเกิดผลลัพท์ปริมาณมหาศาล
การใช้ AI ช่วยคัดกรองฟิลม์เอ็กซเรย์สามารถทำได้แล้วและมีความแม่นยำสูงเทียบเท่าทีมของแพทย์เอ็กซเรย์ และสามารถนำไปใช้งานด้วยการเขียนโปรแกรมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ธรรมดาๆที่ตั้งอยู่ในบ้านของทุกคนในเวลานี้
การคัดกรองเบาหวานขึ้นตา โดยใช้เลนส์อีกตัวประกอบกับโทรศัพท์มือถือสามารถถ่ายรูปจอประสาทตาแล้วทำนายได้แม่นยำเทียบเท่าทีมของจักษุแพทย์ และมูลค่าที่ต้องจ่ายมีแค่เลนส์อันละไม่ถึงร้อยบาท และมือถือที่อยู่ในมือทุกคน ณ เวลานี้
การถ่ายภาพผื่นผิวหนังเพื่อดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ทำได้เทียบเท่าการ biopsy หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
การใช้ Knowledge representation graph เพื่อ Drug repurposing ก็ถูกใช้เพื่อนำยาที่มีอยู่แล้วไปใช้กับโรคอื่น คิดถึง Chloroquine ที่ไว้ใช้รักษาโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง และมาลาเรีย สามารถนำไปใช้กับ COVID-19 ได้
Telemedicine และ Telepharmacy จะมีบทบาทสำหรับผู้ป่วยที่การเดินทางคือข้อจำกัด บางคนการเดินทางจากบ้านไปโรงพยาบาลคือเงินที่ต้องเลี้ยงดูหลายชีวิตในบ้าน บางคนต้องเก็บเงินหลายวันเพื่อเช่ารถเดินทางไปโรงพยาบาล
การใช้ Electronics Medical Record หรือแฟ้มประวัติผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีบทบาทต่อการรักษาแบบ Precision Medicine และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาของผู้ป่วยในอนาคต ข้อมูลทั้งประวัติ การตรวจร่างกาย ผลเลือดถูกเก็บไว้ในเซิฟเวอร์ในช่วงเวลาต่างๆกันตั้งแต่การรักษาครั้งแรกถึงปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเพราะโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กแทบทุกแห่งต่างใช้ระบบนี้แล้ว เพราะราคาที่ถูกกว่าการเก็บเป็นกระดาษ
อีกเทคโนโลยีที่สำคัญมากอีกอันคือ High-throughput biological data ไม่ว่าจะเป็น Next Gen sequencing (การถอดรหัสสารพันธุกรรม) Transcriptomes (การแสดงออกของยีน), Proteomes (โปรตีนทั้งหมดในเซลล์), Microbiomes (เชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดในร่างกาย)
หรือเทคโนโลยี Microarray ที่สามารถตรวจที่กล่าวมาได้ด้วยราคาแสนถูก
ในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้วการถอดรหัสพันธุกรรมของคนหนึ่งคนใช้เงินไป 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยเกือบมีส่วนที่จะถอดรหัสชิ้นส่วนเล็กๆจากลำดับดีเอนเอสามพันล้านตัวอักษรแต่ไม่สำเร็จ
มาวันนี้การตรวจจีโนมของคนหนึ่งคนใช้เงินเพียง 1 หมื่นบาท หรือ 300 ดอลลาร์สหรัฐ สิ่งนี้ได้มีบทบาทต่อการรักษามะเร็ง โรคหายาก โรคทางพันธุกรรมแล้ว และสิ่งนี้จะมีบทบาททางการแพทย์อย่างมหาศาลในอนาคต
ประเทศไทยได้เริ่มดำเนิน Genomics Thailand ไปและกำลังเกณฑ์ผู้ป่วย 50,000 คนจาก 5 กลุ่มโรค เช่น โรคเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคหายาก เป็นต้น เข้าสู่การวิจัย
สิ่งสำคัญสำหรับเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ใช่ขยายความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น แต่ต้องทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้แคบลง ความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้แต่ถูกจำกัดด้วยกำแพงของภาษาศัพท์เฉพาะจะถูกพังทลายลง การ recruit คนเข้าโปรเจคงานวิจัยจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายและคนกลุ่มน้อย
คนแม้มีชาติเดียวกันแต่ถ้ามีเชื้อสายที่แตกต่างกัน จะมีข้อจำกัดของการใช้ข้อมูลจีโนมของเชื้อสายอื่น อย่างเช่นการนำข้อมูลจีโนมจากงานวิจัยตะวันตกมาปรับใช้กับคนไทยอาจมีปัญหาได้เพราะงานวิจัยฝั่งนั้นมักเกณฑ์แต่คนขาว
เทคโนโลยีจะเป็นมีดที่เข้ามากรีดม่านหมอกบังตา เปิดโลกทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ การแพทย์ การเกษตร การเงิน อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมการเมือง และสังคม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะปรับตัวและพร้อมใช้เทคโนโลยีที่อยู่ในมือท่านให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดในภาคงานของตัวเอง
ความฝันที่จะเห็นผู้คนเท่าเทียมกัน และพัฒนาไปสู่การใช้ชีวิตด้วยจุดประสงค์ของการเป็นมนุษย์ ไม่ต้องมากังวลในเรื่องที่ไม่จำเป็น ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ไปกับการสรรค์สร้างโลกนี้ให้สวยงามนั้นเป็นไปได้จริง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา