19 มิ.ย. 2020 เวลา 01:44
Future is Now
เตรียมอนาคตให้ลูก...ตั้งแต่วันนี้
1
การศึกษาของลูก เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของหลายครอบครัว แต่ปัจจุบันเป้าหมายการศึกษาที่พ่อแม่จะต้องเตรียมสำหรับอนาคตของลูกไม่ใช่เพียงเป้าหมายทางการเงินเพียงอย่างเดียว
1
โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายอาชีพ หลายธุรกิจถูก Disrupt ด้วยวิวัฒนาการสมัยใหม่ หากเราจะวางแผนอนาคตให้กับลูกของเรา นอกจากการวางแผนการศึกษาแล้ว เราควรเตรียมอะไรให้ลูกอีกบ้าง?
Credit : Unsplash.com
ปี ค.ศ. 1666 ประเทศอังกฤษเกิดโรคระบาดใหญ่ ไอแซค นิวตัน จึงต้องกลับไปเรียนด้วยตนเองที่บ้าน ทำให้เขาค้นพบ ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง จากที่เขาสังเกตเห็นลูกแอปเปิ้ลตกลงสู่พื้นดินใต้ต้นแอปเปิ้ลในสวนบ้านของเขา
250 ปีต่อมา ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของ นิวตัน ถูกพัฒนาเป็น ทฤษฎีสัมพันธ์ภาพทั่วไป (Theory of Relativity) โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ทำให้ความรู้เกี่ยวกับจักรวาล อวกาศ วัตถุ และพลังงานเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
สมัยเด็กไอน์สไตน์ถูกมองว่าเป็นเด็กปัญญาทึบที่ถ่วงการเรียนของนักเรียนในห้องและเขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนโดยไม่มีครูในโรงเรียนสักคนที่เห็นความสามารถด้านคณิตศาสตร์ของเขาเลย คนที่ค้นพบพรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์ของเขาคือคุณอาที่ช่วยสอนวิชาพีชคณิตและเรขาคณิตให้ไอน์สไตน์หลังออกจากโรงเรียน ทำให้พรสวรรค์ของไอน์สไตน์ฉายแสงตั้งแต่นั้นมา
หลังจากนั้นอีก 105 ปี ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2020 ภารกิจของ Space X Crew Dragon นำโลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของการเดินทางไปยังอวกาศ ทุกคนคงทราบว่าเจ้าของ Space X คือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk)
1
ตอนอายุ 12 ปี อีลอน มัสก์สนใจเรียนภาษา BASIC ด้วยตัวเองจนจบอย่างรวดเร็วภายใน 3 วันเท่านั้น ขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาเรียนเฉลี่ย 6 เดือน พอเรียนจบเขาสามารถเขียนเกมชื่อ Blastar ขายให้กับนิตยสารคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น
อีลอน มัสก์ เป็นเด็กที่ชอบการอ่านหนังสือมาก จนเขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการท่องไปในอวกาศ ทำให้เขามีความฝันที่จะรักษาการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติด้วยการไปอาศัยอยู่บนดาวอังคาร นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Space X นั่นเอง
อัจฉริยะเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกันคือ มีความสนใจ มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในสิ่งที่สนใจ ไม่กลัวความล้มเหลว และสร้างความสำเร็จด้วยตนเอง การเรียนในโรงเรียนจึงเป็นเพียงความรู้ส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น หากใช้เพียงความรู้จากการเรียนในโรงเรียน เราคิดว่าเขาจะประสบความสำเร็จอย่างที่เป็นได้อย่างไร
ถ้าเปรียบเทียบระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นระบบการผลิตของโรงงาน จะเห็นได้ว่าโรงเรียนมุ่งเน้นการผลิตนักเรียนตามมาตรฐานก็คือการสอบผ่าน โรงเรียนส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ผ่านมาตราฐานเป็นหลัก ความรู้ทั่วไปตามตำราจึงเป็นความรู้ที่โรงเรียนส่วนใหญ่ให้กับนักเรียน ยังโชคดีที่ปัจจุบันมีระบบและแนวคิดการศึกษาต่างๆ เป็นทางเลือกมากขึ้น
พ่อแม่จึงควรวางแผนการพัฒนาลูกในสิ่งที่โรงเรียนไม่สามารถช่วยพัฒนาได้
ความรู้และทักษะสำหรับอนาคต
ผมได้อ่านบทความจากงานสัมมนาออนไลน์ THE STANDARD ECONOMIC FORUM ในหัวข้อเรื่อง “การเรียนรู้และทักษะแห่งอนาคต” (Skills for The Future) โดยแขกรับเชิญจากแวดวงการศึกษาและธุรกิจ คือ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AP (Thailand) มีประเด็นน่าสนใจคือ
1. การศึกษาไทยเน้นการท่องจำมาก และจำกัดให้เรียนรู้เฉพาะด้านความรู้หลัก ไม่ไปสู่การคิด วิเคราะห์ และกระบวนการตั้งประเด็นคำถามต่างๆ ทำให้หลายคนหลงทางให้คุณค่ากับคำว่า ‘ปริญญา’ มากเกินไป จนลืมไปว่า สิ่งที่จะติดตัวหลังเรียนจบแท้จริงคือ ทักษะการทำงานในวิชาชีพที่จะต้องก่อเกิดในอนาคต
2. นักศึกษาจบใหม่มีความรู้และความเข้าใจที่ต้องมาปฏิบัติในชีวิตจริงไม่เพียงพอ และไม่ตรงสาย ทำให้ไม่พร้อมในการทำงานได้จริง
3. ในอีก 10 ปีข้างหน้า เกือบ 40% ของตำแหน่งงานในปัจจุบันจะหายไป มีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เด็กรุ่นใหม่จึงต้องการทักษะใหม่ๆ สำหรับอนาคต
ในหลายประเทศพบว่าทักษะเพื่ออนาคตที่มีแนวโน้มความต้องการสำหรับรับคนเข้าทำงานมากขึ้น คือ ทักษะทางสังคม และ ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (ตามภาพ) ซึ่งไม่แตกต่างจากที่ทั้งสองท่านพูดไว้ข้างต้น
การจ้างงานแรงงานที่มีทักษะใหม่เพิ่มขึ้น ที่มาภาพ: http://www.pewsocialtrends.org/2016/10/06/the-state-of-american-jobs/
โลกที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ความรู้ต่างๆ ต้องถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดเวลาเช่นเดียวกัน สิ่งที่เราเรียนเมื่อสิบปีก่อน จึงอาจไม่ทันสมัยกับเวลาปัจจุบันอีกต่อไป ความรู้ที่ได้จากการเรียนจึงต้องถูกนำไปขยายความเพิ่มเติมและประยุกต์ให้เข้ากับสภาวะใหม่ๆ ตลอดเวลา การเรียนรู้ในอนาคตจึงเป็นแบบ lifelong learning ที่เราจะต้องมีความรักที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา (ดูแล้ว..คุณสมบัติข้อนี้น่าจะเป็นคุณสมบัติที่ชาว BD ทุกคนมีอยู่แล้ว)
ปัจจุบันรูปแบบการหาความรู้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในโรงเรียน ปัจจุบันแหล่งความรู้บนโลกออนไลน์อาจจะมีข้อมูลที่หลากหลายและทันสมัยมากกว่า การเรียนในปัจจุบันจึงให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตัวเองมากขึ้น
นอกจากความรู้แล้ว ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับอนาคตมีบทความพูดถึงค่อนข้างมาก แต่ส่วนใหญ่มีหลักการไม่แตกต่างกันนัก ตัวอย่างภาพข้างล่างนี้สรุปไว้แบบเข้าใจได้ง่ายและเห็นภาพค่อนข้างชัดว่า ประกอบด้วย 3 มิติหลักคือ ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว (Character) และ ด้านความสามารถ (Skills) ทักษะเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด
การพัฒนาทักษะต่างๆ เหล่านี้ พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้าง บางทักษะนั้นเราอาจไม่สามารถพึ่งจากโรงเรียนได้ และทักษะเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่จะสร้างให้ลูกพร้อมสำหรับอนาคตของลูก
เด็กแต่ละคนมีพรสวรรค์หรือความสามารถแตกต่างกัน การสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่ออนาคต และการส่งเสริมให้ลูกแสดงพรสวรรค์หรือความสามารถของลูกออกมา จะทำให้ทักษะเหล่านี้ถูกหล่อหลอมเป็นคุณสมบัติเฉพาะของลูก
อนาคตที่ดีของลูกเริ่มจากสิ่งที่เราทำให้เขาในวันนี้ การวางแผนการเงินให้บรรลุเป้าหมายการศึกษานั้นนักวางแผนการเงินอาจพอช่วยให้แนวทางได้ แต่การสร้างทักษะที่เหมาะสมสำหรับลูกนั้น...อยู่ในมือของพ่อแม่ครับ
บทความนี้ไม่มีตัวเลขการเงิน เพราะหากพ่อแม่ไม่เตรียมพร้อมสิ่งเหล่านี้ให้ลูกควบคู่ไปกับเป้าหมายการศึกษา เป้าหมายการเงินเพื่อการศึกษาของลูกก็คงไม่มีความคุ้มค่านักและผลสำเร็จของแผนก็อาจไม่ใช่ผลสำเร็จของเป้าหมายอนาคตลูกแต่อย่างใด
Future is Now
เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ตั้งแต่วันนี้ครับ
แหล่งที่มาอ้างอิง :
THE STANDARD ECONOMIC FORUM : ‘skills For The Future’
OECD : 21st Century Learning
เตรียมพร้อมการเดินทางไกล ผ่าน การวางแผนการศึกษา
โฆษณา