4 ก.ค. 2020 เวลา 06:45
Future is Now
เศรษฐกิจ(สีเงิน)อนาคตที่มองเห็นได้ : Silver Economy
เราอาจเข้าใจว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ทุกประเทศกำลังเผชิญในช่วงหลายปีมีสาเหตุหลักจากการไม่สามารภปรับตัวของแต่ละธุรกิจ แต่หากเรามองลงไปในโครงสร้างด้านต่างๆ ที่สะท้อนศักยภาพการแข่งขัน โอกาสทางธุรกิจ และวิถีชีวิตของประชาชน จะพบว่าปัญหาหนึ่งที่ใหญ่มากคือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากร ประเทศไทยกำลังอยู่บนปัญหาใหญ่ที่อาจจะยังไม่ค่อยมีการให้ความสำคัญในระดับมหภาคมากนัก (แค่ปัญหาเฉพาะหน้าก็หนักหนามากแล้ว)
Credit : Robot & Frank
คงทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป หลายคนคงคิดว่าเราไม่ได้เป็นกลุ่ม Ageing คงไม่มีผลกระทบอะไร แต่อยากบอกว่าจริงๆ แล้วเราคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบครับ และอาจกระทบมากหากไม่ตระหนักเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ
โครงสร้างประชากรของไทย กับ ศักยภาพการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงด้านสังคมเศรษฐกิจ
ประเทศไทยในตอนนี้คือคนอายุ 40 ปี ซึ่งหากลองย้อนกลับไปดูในปี 1990 หรือ 30 ปีก่อนหน้า ประเทศไทยเปรียบเหมือนคนอายุ 24 ปี ในขณะที่ถ้าเรามองไปในอนาคตอีก 30 ปี คือปี 2050 ประเทศไทยจะเปรียบเหมือนคนอายุใกล้ 50 ปี
เราคิดว่าคนอายุ 24ปี 40ปี และ 50ปี มีรูปแบบการใช้ชีวิต การสร้างรายได้ และด้านอื่นๆ เหมือนหรือต่างกัน และศักยภาพการแข่งขันที่หากต้องไปเทียบกับคนชาติอื่นๆ จะสู้กันด้วยจุดแข็งจุดเด่นอย่างไร
ถ้าเราแยกกลุ่มประชาชนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มแรกคือ กลุ่มเด็ก วัยเรียน
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มผู้ใหญ่ วัยทำงาน
กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มสูงวัยหรือกลุ่มเกษียณอายุ
เมื่อมองย้อนกลับไป 30 ปี คือ ปี 1990 กว่า 51% ของประชากรไทย เป็นคนในวัยเรียน ในขณะที่กลุ่มสูงวัยที่เพียง 6% เท่านั้น
มองไปข้างหน้าอีก 30 ปี คือ ปี 2050 กลุ่มคนวัยเรียนลดลงเหลือเพียง 17% ในขณะที่กลุ่มคนสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็น 36%
ในด้านที่ดีก็คือ กลุ่มวัยทำงานยังมีสัดส่วนไม่แตกต่างไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งหมายความว่าเรายังมีประชากรวัยทำงานที่ทำหน้าที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและประเทศต่อไป
Credit : TNNThailand.com
แต่การที่กลุ่มเด็กและกลุ่มสูงวัยมาการกลับข้างของสัดส่วนประชากร มีผลต่อพฤติกรรม ความต้องการในการบริโภคของประเทศอย่างแน่นอน
นึกย้อนหลังไป 20ปีกว่าก่อน(ใครเกิดไม่ทันอย่าว่ากันนะครับ) คงจำกันได้ว่าสมัยนั้นห้างเปิดใหม่หลายแห่งจะมีสวนน้ำอยู่ในห้าง
สิบกว่าปีต่อมาสวนน้ำเหล่านี้ก็หายไป เด็กและวัยรุ่นสมัยนั้นมีวัยที่เติบโตเกินกว่าจะไปใช้บริการสวนน้ำเหล่านั้น สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือโรงภาพยนต์และศูนย์อาหารที่รองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเดิม
ในอนาคตเมื่อลูกค้ามีอายุมากขึ้นก็คงจะต้องปรับตัวต่อไป เราได้เห็นศูนย์การค้าแนวราบหรือแนวสโลปที่ไม่ต้องใช้บันไดเลื่อนแล้วในปัจจุบัน
ในอดีตที่ต้องแย่งกันสอบเข้าโรงเรียน แย่งกันเข้ามหาวิทยาลัย ในอนาคตเราอาจเดินไปสมัครเรียนในวันแรกของการเปิดภาคเรียนได้โดยไม่ต้องห่วงว่าจะมีที่เรียนหรือเปล่า
Credit : www.salika.co
ในขณะที่บ้านพักคนชรา หรือบ้านตากอากาศจะเป็นสิ่งที่ต้องแย่งชิงกันอย่างหนัก ผลสำรวจความต้องการและรูปแบบอสังหาริมทรัพย์เพื่อวัยเกษียณพบว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีโครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากเอกชนและสถานพยาบาล ซึ่งมีหลายแห่งที่กำลังเริ่มศึกษาแนวทางการทำธุรกิจด้านนี้
บ้านพักที่ควบคู่กับการดูแลสุขภาพ
แนวโน้มที่เริ่มเห็นชัดแล้วคือธุรกิจด้านสุขภาพและอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งเริ่มมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจที่มีทั้งอสังหาริมทรัพย์และการดูแลสุขภาพควบคู่กัน การเลือกที่พักหลังเกษียณในอนาคตจะไม่เป็นเพียงการเลือกบรรยากาศของสถานที่เพียงอย่างเดียว แต่จะรวมไปถึงการเลือกสังคมที่เหมาะกับเรา รวมไปถึงความพร้อมในการดูแลด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ
ตัวอย่างของ ECH Ramathibodi Bangplee เป็นโครงการ Senior Complex ที่จะมีทั้งบ้านพักผู้สูงอายุ(บริหารโดย กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง) และสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (บริหารโดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) ที่จะเปิดใช้งานในปี 2565 นี้ เป็นต้น
การพักอาศัยในรูปแบบนี้นอกจากตอบความต้องการด้านการดูแลสุขภาพแล้ว ยังจะตอบความต้องการของผู้สูงวัยที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียว ซึ่งเห็นปัญหาบางอย่างชัดเจนในปัจจุบัน คือ การเสียชีวิตแบบโดดเดี่ยว (Kudokushi) ที่ผู้สูงอายุเสียชีวิตภายในบ้านพักโดยไม่่มีใครทราบเป็นระยะเวลานาน ในประเทศญี่ปุ่นเองมีผู้เสียชีวิตในลักษณะนี้ปีละหลายหมื่นคน และในประเทศไทยเองก็เคยมีรายงานจาก TDRI ที่ประมาณการจำนวนการเสียชีวิตในแบบนี้ของคนไทยว่าจะมีปีละเกือบ 5 หมื่นคน
หากวางแผนตัวเองไว้ว่าหลังเกษียณหรือเมื่อมีอายุมากขึ้นจะย้ายไปอาศัยในบ้านพักลักษณะนี้ก็คงต้องมองด้านค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นด้วย และเมื่อมีความต้องการรูปแบบนี้เพิ่มขึ้นก็แน่นอนว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต
Credit : mgronline.com
อ่านถึงตรงนี้คงจะเห็นภาพของอนาคตที่เราต้องเผชิญอย่างแน่นอน ปัญหาโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นอาจเป็นเพียงปัญหาเฉพาะหน้าที่เราแก้ไขได้ด้วยการระมัดระวังป้องกันตัวเราจนกว่าจะพบวัคซีนเท่านั้น แต่ผลกระทบจากโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปจากโครงสร้างประชากรจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในอีกสิบปีข้างหน้าและเราคงจะหลีกเลี่ยงได้ยาก
ระบบประกันสังคม ระบบบำเหน็จบำนาญของราชการและเอกชน เริ่มมีการให้ความสำคัญกับปัญหาความเพียงพอของกองทุนในการรองรับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นหลายเท่าในอนาคต
แต่ในการวางแผนชีวิตและการวางแผนเตรียมความพร้อมส่วนบุคคลยังมีมิติเหล่านี้ที่เราต้องตระหนักไว้ด้วย หากจะสรุปคร่าวๆ ว่าเราควรจะคำนึงถึงอะไรบ้าง อยากให้มอง 3 เรื่องหลักๆ คือ
🙎 การเตรียมความพร้อมให้กับตัวเรา
เราต้องเตรียมความพร้อมสำหรับตัวเรา เพื่อให้พร้อมใช้ชีวิตหลังเกษียณ ทั้งการวางแผนการออมการลงทุน การวางแผนด้านสุขภาพโดยเฉพาะเมื่อมีอายุเข้าใกล้การเกษียณมากขึ้น
วินัยการออมเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มมีรายได้ แต่เราจะออมก็ต้องมีเป้ามหมายการออมด้วยนะครับว่าเราต้องการออมไปเพื่ออะไรและต้องออมเท่าไหร่
🤰 การเตรียมความพร้อมให้กับครอบครัว
สำหรับคนที่มีครอบครัว นอกจากแผนการเงินเพื่อการศึกษาของลูก เราควรจะทำความเข้าใจถึงรูปแบบการทำงานและอาชีพในอนาคตซึ่งจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างชัดเจน
การเข้ามาของเทคโนโลยี โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป อาชีพหรืองานบางด้านจะหายไปในอนาคต ตัวอย่างเช่นระบบโรงงานอัตโนมัติที่ผลิตด้วยหุ่นยนต์ รถไฟฟ้าที่ขัยเคลื่อนเอง ระบบการบริการที่ไม่ต้องใช้คน เป็นต้น
หลักสูตรการศึกษาใหม่ๆ ที่รองรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในต่างประเทศ การเลือกหลักสูตรการศึกษาแบบเดิมๆ จึงอาจเป็นความเสี่ยงในระยะยาวได้
📈 การปรับเปลี่ยนแนวคิดในการลงทุนส่วนบุคคล
แนวคิดในการลงทุนที่ดีคงไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่การเลือกลงทุนระยะยาวในด้านต่างๆ เป็นเรื่องที่เราควรลองพิจารณาทบทวนให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น (การลงทุนระยะสั้นอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกัน)
ผมขอนำตัวอย่างผลการดำเนินการของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนด้านต่างๆ จาก บลจ ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งมาให้ดูครับ เนื่องจากมีภาพและข้อมูลที่ดูง่ายและค่อนข้างชัดเจน
ภาพแรก : ผลการดำเนินการของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนพื้นฐานดี ซึ่งเป็นกองทุนรวมกองหนึ่งที่มีมูลค่าการลงทุนขนาดใหญ่ (กองทุนระดับ 6)
ภาพที่สอง : ผลการดำเนินการของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในธุรกิจด้านสุขภาพ (ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ) (กองทุนระดับ 7)
ภาพที่สาม : ผลการดำเนินการของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี (ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ) (กองทุนระดับ 7)
จากภาพทั้งสามภาพ แสดงถึงแนวโน้มจากธุรกิจด้านต่างๆ บทความนี้ไม่ได้เป็นการวิเคราะห์พอร์ตกองทุนหรือการแนะนำให้เลือกลงทุนในกองใดนะครับ เพียงให้เห็นภาพว่าเราควรทบทวนแผนการจัดสรรการลงทุนของเราในระยะยาวให้เหมาะสม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยสามารถรับความเสี่ยงได้มาก และไม่ได้จำกัดเฉพาะการลงทุนในรูปแบบกองทุนรวมเพียงอย่างเดียว
สามเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่อยากให้ทุกคนลองหาเวลาทบทวนแผนของตัวเราเองนะครับ เวลาอีก 10 ปี 20 ปี 30 ปี ข้างหน้า เชื่อว่าพวกเราได้อยู่ในช่วงเวลานั้นแน่นอนครับ
ขอบคุณที่อ่านมาถึงย่อหน้าท้ายของบทความครับ บทความนี้เขียนจากความคิดของเจ้าของเพจเป็นหลักครับ ไม่ใช่การพยากรณ์ ไม่ได้ชี้นำ อ่านเพลินๆ ครับ หากใครสนใจลงรายละเอียดสามารถหาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมได้ครับ
ขอปิดท้ายด้วยภาพของลุงจำรัสและป้าสมพิศ จากภาพยนต์เรื่อง ความจำสั้น แต่รักฉันยาว ที่ได้อ่านจากบทความของเพื่อนๆ ใน BD และเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียสำหรับบทความนี้ครับ ถ้าทั้งสองคนพบกันในอีกสามสิบปีตอนจบของหนังอาจไม่ต้องแยกจากกันครับ
ขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง รายละเอียดใต้ภาพแต่ละภาพครับ
โฆษณา