19 มิ.ย. 2020 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
“ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2” Ep.2 เปิดฉากสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
“ประเทศที่ไม่มีสิทธิและอำนาจในการต่างประเทศ ก็คงจะต้องสิ้นชาติไป แต่จากการทำสนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้ญี่ปุ่นมีโอกาสกลับคืนสู่สังคมโลกตั้งแต่นี้ไป ข้าพเจ้าปราถนาจะให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสามารถอย่างแท้จริง” ชิเงรุ โยชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
หลังจากถูกขับออกจากสังคมโลกกว่า 20 ปี
นี่คือสุนทรพจน์ที่แสดงถึงการเริ่มต้นยืนหยัดอีกครั้งของญี่ปุ่น
แสดงถึงการฟื้นตัวจากการพังทลาย
แสดงถึงการพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่สังคมโลกอย่างเต็มภาคภูมิ
1
แสดงถึงการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ของประเทศให้โลกได้เห็น
ทุกท่านครับ นี่คือเรื่องราวภาคต่อของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เรื่องราวการปรับเปลี่ยนแนวคิดของคนญี่ปุ่นยุคใหม่...
เรื่องราวของการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นเบอร์ 1...
เรื่องราวของการเมืองที่เข้มข้น...
เรื่องราวของพลังคนหนุ่มสาวที่ต่อต้านรัฐบาล...
เรื่องราวการแสดงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น...
เรื่องราวของชายชื่อ ทานากะ คะคุเอ ผู้ชักใยในเงามืดของการเมืองญี่ปุ่น...
เรื่องราวอำนาจของเงินเยน...
เรื่องราวความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา...
และทั้งหมด คือ Ep.2 เปิดฉากสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ก่อนหน้า ค.ศ.1945 คนญี่ปุ่นนั้นแทบจะไม่เคยไปต่างประเทศเลย อีกทั้งข่าวต่างประเทศก็เป็นข่าวที่กองทัพบกเลือกมาให้เท่านั้น พูดง่ายๆคือมีแต่โฆษณาชวนเชื่อ
1
และเนื่องจากไม่รู้เรื่องโลกภายนอกนี่แหละครับ คนญี่ปุ่นจึงคิดว่าประเทศของตัวเองเลิศที่สุด!
แต่หลังจากที่ถูกอเมริกาปกครอง คนญี่ปุ่นได้มีโอกาสรับข่าวของทางยุโรปและอเมริกาเป็นครั้งแรก ทำให้ญี่ปุ่นรู้ว่ามีอีกหลายประเทศในโลกที่ก้าวหน้าไปไกลเกินกว่าที่ญี่ปุ่นคิด
ดังนั้น ในช่วงหลังสงคราม คนญี่ปุ่นจึงได้มองโลกที่กว้างไกลมากขึ้น แล้วนำแนวทางของอเมริกันมาปรับใช้ตามแบบฉบับญี่ปุ่น...
หลังจากได้รับเอกราช ญี่ปุ่นก็ได้เริ่มตั้งกองกำลังป้องกันประเทศขึ้น (จากการบังคับของอเมริกา) เพื่อเอาไว้สกัดกั้นคอมมิวนิสต์
แต่ก็มีการขัดแย้งภายในของพรรคการเมืองญี่ปุ่นครับ คือฝ่ายที่เข้าข้างอเมริกา กับฝ่ายที่ต่อต้านอเมริกา ขัดแย้งกันถึงขนาดมีการต่อยกันในสภาเลยล่ะครับ!
แต่สุดท้าย ก็ยินยอมให้ความร่วมมือกับอเมริกา ทำให้ญี่ปุ่นได้เลือกอยู่ฝ่ายเสรีและโลกของทุนนิยมอย่างสมบูรณ์...
ภาพจาก Military Wikia (กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น)
หลังสงครามเกาหลี เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ซบเซาลงไป แต่ก็ถือว่าอยู่ตัวสุดๆเลยล่ะครับ ญี่ปุ่นได้เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมทุกสาขา เพื่อเพิ่มอัตราการลงทุนให้สูงยิ่งขึ้น
การโหมลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น เป็นเพราะญี่ปุ่นคิดว่าเทคโนโลยีของตัวเองถูกทิ้งช่วงไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้เทคโนโลยญี่ปุ่นล้าหลังกว่าตะวันตกมาก และญี่ปุ่นนั้นต้องการลดความแตกต่างนี้...
1
และแนวคิดที่เข้ามามีอิทธิพลกับคนญี่ปุ่นที่สุด คือ ทุนนิยม ซึ่งคนญี่ปุ่นเริ่มบูชาในทุนนิยมและอำนาจของเงิน คือ เริ่มทำงานอย่างเอาเป็นเอาตาย คิดว่างานคือชีวิต ยิ่งทำงานเยอะยิ่งได้เงินเยอะ ชีวิตจะได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นสังคมจึงบีบให้คนญี่ปุ่นต้องขยันและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะถ้าขี้เกียจเมื่อไหร่ ชีวิตจบเห่แน่นอน...
1
ซึ่งคนญี่ปุ่นเนี่ยถ้าตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ก็จะทำแบบสุดติ่งจริงๆนะครับ!
1
โดยอุตสาหกรรมหลักๆที่ญี่ปุ่นได้ทุ่มเทสุดๆเลยก็คือ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมิคัล
และเมื่อรัฐบาลได้เบนเข็มมาทางนี้แล้ว การลงทุนเครื่องจักรก็ได้ถาโถมกันเข้ามา อีกทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้ได้เกี่ยวใยเป็นลูกโซ่ให้กับแผนกอื่นและอุตสาหกรรมอื่นได้พยายามลงทุนพัฒนาปรับตัวไปด้วย
การลงทุนในเครื่องจักรจึงกลายเป็นลักษณะการลงทุนที่เรียกว่า “การลงทุนชักนำการลงทุน” และสิ่งนี้นี่แหละที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นให้รุดหน้าเหมือนติดจรวด!
ด้านเศรษฐกิจดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะไปได้สวยสุดๆ แต่ทว่าด้านการเมืองนั้นกลับเกิดวิกฤติขึ้นใน ค.ศ.1960...
ภาพจาก Flashbak (การพักเบรกของพนักงานหญิงในโรงงานของ Sony ค.ศ.1960)
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะได้เอกราช แต่ก็มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกับอเมริกา คือ มีการให้อเมริกามาตั้งฐานทัพในญี่ปุ่น เพื่อสกัดกั้นคอมมิวนิสต์
ประชาชนชาวญี่ปุ่นต่างพากันต่อต้านมาตลอด เพราะเหมือนญี่ปุ่นไม่มีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง อีกทั้งไม่อยากถูกอเมริกานำพาตัวเองไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามอีก พูดง่ายๆคือ ชาวญี่ปุ่นต่างเข็ดขยาดกับสงครามสุดๆแล้วล่ะครับ
5
ดังนั้น จึงมีการประท้วงและกระทบกระทั่งระหว่างประชาชนญี่ปุ่นกับรัฐบาลมาตลอดตั้งแต่ได้รับเอกราช จนเหตุการณ์ได้มาพีคสุด ใน ค.ศ.1960 รัฐบาลที่นำโดยนายกโนบุซุเกะ คิชิ ได้มีการต่อสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกับอเมริกาอีกครั้ง...
เหมือนเป็นการราดน้ำมันลงในกองไฟครับ ประชาชนญี่ปุ่นต่างลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน โดยมีแกนนำคือกลุ่มเซ็งงะกุเร็ง ซึ่งเป็นกลุ่มของนักศึกษานั่นเอง...
โดยมีการเดินขบวนรวมพลังที่นำโดยเซ็งงะกุเร็ง ซึ่งมีทั้งประชาชนทั่วไปและกลุ่มแม่บ้านเข้าร่วมด้วย
รัฐบาลจึงส่งหน่วยปราบจราจลลงไปปะทะกับผู้ประท้วง ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากทีเดียวครับ ทีนี้แหละเหตุการณ์จึงบานปลายใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก...
1
และในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1960 เซ็งงะกุเร็งก็ได้รวมตัวกันในชุดเครื่องแบบนักศึกษาประมาณ 20,000 คน! พากันมาชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อยับยั้งการอนุมัติสนธิสัญญานี้ และมีการประกาศซ้ำๆว่า “พวกเราพี่น้องชาวญี่ปุ่น มาช่วยกันเอาเลือดเนื้อ เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อยับยั้งสนธิสัญญาบ้าบอนี่กันเถอะ!”
1
แล้วเวลา 1 ทุ่ม กลุ่มเซ็งงะกุเร็งก็ได้พังประตูรัฐสภาแล้วบุกเข้าไปด้านใน แต่ทว่าด้านในมีหน่วยปราบจราจลรอรับอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละคนแต่งกายเต็มยศพร้อมออกรบเลยล่ะครับ
เหล่าเซ็งงะกุเร็งก็ไม่ได้สน วิ่งเข้าชาร์จหน่วยปราบจราจลอย่างบ้าคลั่ง จึงเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านสุดๆ!
มีการขว้างแก๊สน้ำตา...
ฉีดน้ำจากรถบรรทุก...
และเนื่องจากเซ็งงะกุเร็งไม่มีอาวุธในมือ จึงถูกหน่วยปราบจราจลใช้ไม้กระบองตีเลือดไหลอาบ หัวแตก แล้วล้มลงไปตามๆกัน อีกทั้งภาพเหตุการณ์นี้ได้ถูกถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ทำให้เหล่านักศึกษาที่ได้ดูภาพเหตุการณ์ต่างพากันมาชุมนุมเพิ่มเติมอีก!
1
การปะทะกันจึงเกิดต่อเนื่องไปตลอดคืนเลยล่ะครับ...
จากการปะทะกันครั้งนี้ ได้มีนักศึกษาหญิงจากมหาวิทยาลัยโตเกียวชื่อ คัมบะ มิชิโกะเสียชีวิต และมีนักศึกษาที่บาดเจ็บอีกกว่าพันคน!
รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ออกมาขู่อีกว่า หากมีการชุมนุมที่รุนแรงกว่านี้อีก รัฐบาลจะเอาจริง โดยส่งกองกำลังป้องกันประเทศเข้ากวาดล้าง!
1
แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้รุนแรงขึ้นมาอีก เพราะรัฐสภาได้อนุมัติสนธิสัญญาฉบับนี้ จึงถือว่าสนธิสัญญานี้ได้รับการยอมรับไปโดยปริยาย
เหตุการณ์จบลงที่เหล่านักศึกษาตายฟรี เจ็บฟรี แล้วในที่สุดได้พากันถอนหายใจและแยกย้ายกันกลับบ้านไปในที่สุด
นี่คือเหตุการณ์การเมืองที่รุนแรงที่สุดของญี่ปุ่นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยล่ะครับ...
ภาพจาก Timeline (การปะทะกันของหน่วยปราบจราจลและนักศึกษาภายในรัฐสภา)
การเมืองญี่ปุ่นอาจจะมีติดขัดบ้าง แต่ทว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ.1955 ได้พุ่งพรวดๆสูงมาก และแล้วก็มีโครงการที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองการขยายตัวนี้ โครงสร้างที่ว่า คือ รถไฟความเร็วสูงครับ...
จริงๆแล้วญี่ปุ่นได้คิดที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว แต่เมื่อเกิดสงครามขึ้น โครงการก็มีอันต้องพับไป
แต่แล้วใน ค.ศ.1957 ทาเคชิ ชิโนฮาระ ก็ได้นำโครงการมาปัดฝุ่นใหม่ แล้วแถลงต่อสาธารณชนว่า “เราจะสร้างรถไฟความเร็วสูงจากโตเกียวไปโอซากา ที่ใช้เวลาเดินทางเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น!” (โตเกียวกับโอซากาห่างกันประมาณ 500 กม.)
ซึ่งเส้นทางนี้คือเส้นทางที่เรียกว่า “โทไกโด” เป็นเส้นทางสำคัญเพราะระหว่างทางมีโรงงานและประชากรจำนวนมากอยู่
1
แน่นอนครับว่าประชาชนบางส่วนรวมถึงต่างชาติก็คิดว่า “เพ้อเจ้อ มันจะไปทำได้ยังไงกัน?”
แต่ทาเคชิรวมถึงทีมงานก็ไม่สนใจครับ เพราะพวกเขาต่างคิดว่าญี่ปุ่นต้องไม่ย่ำอยู่กับที่แค่นี้
จากความเชื่อมั่นและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ไม่สนคำดูถูกและวิพากษ์วิจารณ์ ในที่สุดชินจิ โซโกะจึงได้นำแผนของทาเคชิไปเสนอรัฐบาล และไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลก็อนุมัติ! พร้อมกับมีการกู้เงินจากธนาคารโลกมาสมทบ และได้เริ่มโครงการเมื่อ ค.ศ.1959 ครับ
เหล่าทีมงาน วิศวกร คนงานก็ต่างเชื่อมั่นว่ามันจะต้องสำเร็จ มีการคิดค้นช่วงล่างของโบกี้ที่ต้องรับแรงสั่นได้ทุกแนว มีการออกแบบรูปทรงรถให้เหมาะสม ลดการสั่น ลดเสียง ลดแรงต้านเมื่อวิ่งผ่านอุโมงค์ พร้อมทั้งคิดค้นระบบเบรคเมื่อเวลาเกิดแผ่นดินไหวด้วย เรียกได้ว่าเก็บทุกรายละเอียดเลยล่ะครับ
1
แล้วมีการทดสอบการวิ่งใน ค.ศ.1963 ผลปรากฎว่ารถไฟความเร็วสูงสามารถวิ่งได้สำเร็จ! ด้วยความเร็ว 257 กม./ชม. ทำลายสถิติโลกตอนนั้นในที่สุด...
และแล้วในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1964 จากความเชื่อมั่น ความพยายาม และวิสัยทัศน์ของทีมงานและรัฐบาลญี่ปุ่น รถไฟหัวกระสุนชินคันเซ็นขบวนแรกก็ได้เริ่มวิ่งให้บริการ และทันไว้ใช้ในโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ.1964 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ
ชินคันเซ็นจึงเปรียบเสมือนการแสดงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นให้โลกได้เห็น ซึ่งใช้เวลาเพียง 6 ปีเท่านั้นในการรังสรรค์รถไฟในฝันนี้ให้เป็นความจริง...
1
และนี่คือรถไฟความเร็วสูงขบวนแรกของโลก รถไฟที่เคยถูกครหาว่า “เป็นไปไม่ได้หรอก!”
แต่ทว่า สิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้หรอก!” ตอนนี้มันได้เกิดขึ้นแล้ว...
ชินคันเซ็นทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยิ่งสูงขึ้นไปอีก บวกกับการได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนใน ค.ศ.1964 และเป็นเจ้าภาพงานเวิลด์ เอ็กซ์โป ที่โอซากาใน ค.ศ.1970 ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเรียกได้ว่า “มีแต่เฮงกับเฮง!”
1
แต่แล้วใน ค.ศ.1972 ได้มีชายคนหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ชายคนนั้น คือ ทานากะ คะคุเอ...
ภาพจาก The New York Times (พิธีเปิดให้บริการรถไฟชินคันเซ็นขบวนแรกใน ค.ศ.1964)
รัฐบาลของทานากะนั้นได้รับความนิยมจากประชาชนสูงมาก ซึ่งตัวของทานากะนั้นมีความแตกต่างจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนอื่นๆครับ คือ เป็นนายกคนเดียวที่ไต่เต้ามาจากชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งไม่ได้จบมหาวิทยาลัย แต่กลับมีความสามารถสูง มีความใกล้ชิดกับประชาชน
แต่ข้อเสียที่ใหญ่หลวงของทานากะ คือ การมีความเชื่อที่ว่า “เงินและอำนาจสามารถเปลี่ยนคนได้” ดังนั้นทานากะจึงเชื่อมั่นในเงินตราและอำนาจสุดๆเลยล่ะครับ!
ผลงานที่สำคัญของทานากะคือการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ญี่ปุ่นมีตลาดส่งออกขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ผลักดันเศรษฐกิจให้พุ่งขึ้นไปอีก
แต่เมื่อ ทานากะได้ใช้ “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงหมู่เกาะญี่ปุ่น” โดยการวางแผนสร้างรถไฟชินคันเซ็นให้ครอบคลุมไปทั่วหมู่เกาะญี่ปุ่น เพื่อกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ ทั้งยังมีการสนับสนุนการลงทุนสร้างอาคารทั่วญี่ปุ่น โดยเป้าหมายของทานากะคือการสร้างเมืองใหญ่แบบโตเกียวทั่วประเทศ
เรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่สวยหรูสุดๆเลยล่ะครับ แต่พอเอาไปทำจริงๆแล้วก็เกิดปัญหา คือราคาที่ดินในญี่ปุ่นได้สูงขึ้นพรวดพราด (เพราะการสร้างรถไฟชินคันเซ็นต้องใช้ที่ดินทั่วประเทศ) ค่าครองชีพก็ทะยานสูงขึ้น แล้วก็เกิดเงินเฟ้อในเวลาต่อมา...
ความนิยมในตัวของทานากะจึงลดลงในที่สุด ทั้งยังมีการขุดคุ้ยที่มาของเงินทานากะ พร้อมถูกสื่อโจมตีว่าทานากะมีการคอร์รัปชันและหลบเลี่ยงภาษี ภาพลักษณ์ที่ดีของทานากะจึงเริ่มถูกทำลายไปเรื่อยๆ
อีกทั้งทานากะยังซวยซ้ำซวยซ้อน โดนวิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้นใน ค.ศ.1973 ที่เป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับกลุ่ม OPEC ที่มีการต่อต้านอิสราเอลโดยการลดการผลิตน้ำมันดิบลง ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก
1
และที่ได้ผลกระทบมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น เพราะไม่มีน้ำมันดิบสำรอง (ต้องเข้าใจครับว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่แทบไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ) ญี่ปุ่นนั้นต้องพึ่งน้ำมันดิบกว่า 80% จากอาหรับ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจึงเกิดปัญหาหนัก ส่งผลไปถึงเศรษฐกิจที่มีปัญหาจากนโยบายของทานากะอยู่แล้ว เจอวิกฤติน้ำมันซ้ำเข้าไปอีก เรียกได้ว่า เละครับ!
และแล้วทานากะก็ได้ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ใน ค.ศ.1972 ซึ่งเป็นนายกได้เพียง 1 ปี
แต่เมื่อลาออกไป ทานากะก็โดนคดีล็อคฮีด ซึ่งเกี่ยวกับบริษัทผลิตเครื่องบินล็อคฮีด ที่มีการจ่ายใต้โต๊ะให้รัฐบาลทานากะ
แล้วในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ.1976 ทานากะก็โดนจับกุมฐานรับสินบน แต่ก็ได้ใช้เงิน 120 ล้านเยนในการประกันตัวเองออกมา
และตั้งแต่นั้นแหละครับที่ทานากะได้เริ่มต่อสู้รวบรวมเงินทุน กำลังคน เข้าไปชักใยรัฐบาลเพื่อหวังให้ตัวเองพ้นข้อกล่าวหา
1
น่าตกใจที่ทานากะเป็นนายกได้เพียง 1 ปี แต่ทว่าอำนาจและอิทธิพลของทานากะได้ควบคุมรัฐบาลญี่ปุ่นไว้ถึง 10 กว่าปีเลยล่ะครับ!
ภาพจาก Mainichi (การจับกุมทานากะ คะคุเอ ใน ค.ศ.1976)
การเมืองของญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ.1975 เป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนทานากะกับฝ่ายที่จะล้มทานากะ ซึ่งเรียกได้ว่า วุ่นวายทีเดียวครับ ซึ่งกว่าทานากะจะหมดอิทธิพลไปก็ใน ค.ศ.1993 ที่ตัวของทานากะได้เสียชีวิตลงเพราะหลอดเลือดในสมองอุดตัน...
แต่ด้านเศรษฐกิจนั้น เมื่อโดนวิกฤติน้ำมัน รัฐบาลก็ได้มีนโยบายให้ประชาชนญี่ปุ่นร่วมกันประหยัดพลังงาน ซึ่งน่าเหลือเชื่อครับว่าการประหยัดพลังงานของคนญี่ปุ่นนั้น ถึงขนาดได้ช่วยอุ้มอุตสาหกรรมให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติน้ำมันไปได้อย่างราบรื่น
เรื่องนี้ต้องนับถือระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นจริงๆนะครับ!...
และหลังผ่านวิกฤติน้ำมันไปได้ ญี่ปุ่นกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น อุตสาหกรรมที่โดดเด่นและช่วยพยุงญี่ปุ่นขึ้นมา คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้ส่งออกไปตีตลาดยุโรปและอเมริกาอย่างถล่มทลาย!
อีกทั้งก็เป็นตลกร้าย เมื่อนโยบายของทานากะที่เคยวางไว้ ก็เริ่มประสบผลสำเร็จเรื่อยๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1980 รถไฟชินคันเซ็นได้ครอบคลุมไปทั่วญี่ปุ่น ความเจริญกระจายไปทั่วประเทศ อุตสาหกรรมยกระดับขึ้นไปอีกขั้นในที่สุด
และภายในเอเชีย ญี่ปุ่นก็ได้นำทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบจากประเทศในเอเชีย มาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ แล้วส่งกลับไปขายในเอเชีย ซึ่งกำไรที่เข้ากระเป๋าญี่ปุ่นนั้นมหาศาลทีเดียวครับ
จากการเติบโตแบบไม่หยุดหย่อนของญี่ปุ่นทำให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศที่เคยเป็นเหมือนลูกพี่ใหญ่ของญี่ปุ่นขึ้นมา คือ สหรัฐอเมริกา
ความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นนั้น ได้ขยายไปจนเกิด “สงคราม IC” ขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีอุตสาหกรรม IC ของญี่ปุ่น ได้ก้าวขึ้นไปเทียบกับอเมริกา อีกทั้งญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องการมีคุณภาพของสินค้าที่สูงมาก โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถตีตลาดได้ทั่วโลกรวมถึงอเมริกา
1
เหตุนี้ทำให้อเมริกาไม่พอใจญี่ปุ่น เกิดความขัดแย้งกันไปเกือบๆ 10 ปี...
ภาพจาก Wikiwand (แผนที่แสดงเส้นทางรถไฟชินคันเซ็นที่ครอบคลุมทั่วญี่ปุ่น)
เศรษฐกิจญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ.1985 ได้แสดงพลังอำนาจต่อโลกสูงมาก การส่งออกและลงทุนในต่างประเทศขยายตัวเหมือนไม่รู้จักพักผ่อน อีกทั้งคนญี่ปุ่นมีอัตราการออมที่สูงมาก ทำให้การเปิดช่องการลงทุนใหม่ๆของบริษัทต่างๆสามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็น
เงินเยนของญี่ปุ่นก็ได้มีบทบาทออกไปทั่วโลก ทั้งยังกลายเป็นเงินที่มีมูลค่าสูงและแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ...
จนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในโลก และเศรษฐกิจโลกในช่วงเวลานั้นได้ผูกกับเงินเยน ทำให้เงินเยนกลายเป็นจุดสนใจและทรงอิทธิพลไปทั่วโลก...
1
และในที่สุด คาบูโทะโจ (ตลาดหุ้นโตเกียว) ได้พัฒนาเป็นตลาดเงินที่เทียบเคียงกับ City of London ของอังกฤษ และ Wall Street ของอเมริกา...
1
ใน ค.ศ.1990 ญี่ปุ่นก็ได้ผงาดกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เคียงคู่กับสหรัฐอเมริกา...
1
เส้นทางของญี่ปุ่นในการผงาดขึ้นมาอีกครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ...
คนญี่ปุ่นต้องเริ่มจากประเทศที่สูญเสียทุกสิ่งจากสงคราม...
ต้องปรับแนวคิดและความเชื่อของตัวเองขึ้นมาใหม่...
แต่ด้วยความทะเยอทะยาน...
ความตั้งใจ...
ความมุมานะ...
ความใส่ใจ...
ทั้งยังเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองว่าพวกเขาสามารถทำมันได้...
แล้วในที่สุด ญี่ปุ่นใช้เวลา 45 ปี จากประเทศที่พังทลายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยืนหยัดกลายเป็นประเทศทรงอิทธิพลของโลกอีกครั้ง...
ภาพจาก Live Japan
อ้างอิง
คงศักดิ์ สันติพฤกษวงศ์. วิวัฒนาการทุนนิยมญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528.
Hosaka Masayasu. Chichi Ga Ko Ni Kataru Showashi. Japan : Futabasha Publishers Ltd, 1998.
Johnson, Chalmers. The Journal of Japanese Studies. Japan : The Society for Japanese Studies, 1986.
Packard, George. Protest in Tokyo : The Security Treaty Crisis of 1960. Princeton University Press, 1966.
โฆษณา