19 มิ.ย. 2020 เวลา 10:43 • สุขภาพ
แมลงอาหารแห่งอนาคต🐞🐜
"เนื้อสัมผัสที่กรุบกรอบ มีความมันบวกกับความเค็มเล็กน้อย อีกทั้งยังเคี้ยวเพลินพร้อมกับได้กลิ่นอ่อน ๆ ของการคั่ว เหมาะมากกับการรับประทานเป็นของทานเล่น" นี่คือหนึ่งในรสชาติเนื้อสัมผัสของแมลงทอดหรือแมลงคั่วที่พบเห็นกันได้ตามตลาดนัด
รูปภาพจาก Moritz Bruder
ปัจจุบันการรับประทานแมลงหรือการนำแมลงมาประกอบอาหาร เป็นเรื่องปกติที่เรามักจะพบเห็นกันในหลายพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ทำให้มีการเรียกพฤติกรรมการกินแมลงเหล่านี้ว่า 'Entomophagy' (Entomo = แมลง, Phagy = กิน) แต่กลุ่มคนที่รับประทานแมลงก็ยังคิดเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรบนโลกที่มีมากกว่า 7,700 ล้านคน ถึงอย่างนั้นใครจะคิดว่าตอนนี้มันกลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญจนถูกขนานนามว่าเป็น Super food ไปแล้ว
แล้วทำไมต้องเป็นแมลง?
ปัจจุบันเรากำลังประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารและอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ อีกทั้งในอีก 30 ปีข้างหน้ายังถูกคาดการณ์ว่าประชากรบนโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนถึง 9,000 ล้านคน นั่นหมายความว่าเราอาจจะต้องประสบกับปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงปัญหาสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แมลงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่เหตุผลเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะยกระดับแมลงขึ้นมาเป็น Super food ได้
และนี้คือเหตุผลสำคัญที่ FAO หรือองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติผลักดันให้แมลงเป็นอาหารสำหรับคนทั่วโลก
1. แมลงเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ยกตัวอย่างเช่น ตั๊กแตนขนาดเล็ก 100 กรัม จะให้โปรตีนถึง 20.6 กรัม เมื่อเทียบในปริมาณที่เท่ากันเนื้อวัวกลับให้โปรตีนเพียง 18.8 กรัม นอกจากนี้เปลือกของแมลงยังเป็นส่วนของไคตินที่มีคุณสมบัติช่วยดักจับไขมัน และลดระดับไขมันที่ไม่ดีอย่างไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) และเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ รวมไปถึงใยอาหาร
2. ต้นทุนต่ำ เนื่องจากสามารถเพาะเลี้ยงได้ในพื้นที่ขนาดเล็กกว่ามากหากเทียบกับสัตว์อื่น รวมไปถึงน้ำและอาหารที่ใช้เลี้ยงก็ยังน้อยกว่าสัตว์อื่น ๆ อีกทั้งยังไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการเพาะเลี้ยง ทำให้การสร้างกำไรจากแมลงจึงไม่ใช่เรื่องยาก
3. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะมีจำนวนมากแต่ด้วยขนาดที่เล็กทำให้เกิดของเสียน้อยกว่าสัตว์ขนาดใหญ่ (หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าของเสียจากสัตว์เป็นแหล่งของก๊าซมีเทนที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศ) นอกจากนี้แมลงบางชนิดยังสามารถรับประทานได้ทั้งตัว แปลว่าเราจะไม่เหลือส่วนที่รับประทานไม่ได้หรือของเสียก็จะลดลงนั่นเอง ในทางกลับกันหมูหนึ่งตัวเราอาจจะมีส่วนที่รับประทานได้ไม่เต็มที่ 100% ส่วนที่กินไม่ได้ก็จะกลายเป็นของเสียไป
รูปภาพจาก https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_72301
แม้จะมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังเป็นเรื่องท้าทายที่จะทำให้หลายคนมองข้ามลักษณะภายนอกของแมลงแล้วรับประทานมันได้อย่างสบายใจ แต่ภายใต้ความท้าทายนี้ก็ยังมี บริษัท โกลบอล บั๊กส์ เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ได้ดำเนินการพัฒนาจิ้งหรีดที่ถูกแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบผงเพื่อส่งออกภายใต้แบรนด์ EDIBLE. CRICKET จิ้งหรีดผงที่มีปริมาณโปรตีนมากนี้จะสามารถนำไปเป็นส่วนผสมในการประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นส่วนผสมของเส้นพาสต้า โปรตีนแท่ง (Protein bar) และอาหารเสริมได้ ไม่แน่ว่าในอนาคตแมลงอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราทุกคนเลยก็ได้
References 🙇
▪https://thaipublica.org/2019/11/food-innopolis-international-symposium-2019-tma/
▪https://ngthai.com/animals/8113/edible-insects/
▪https://www.thansettakij.com/content/business/415910
▪https://thestandard.co/opinion-read-young-entomophagy/
โฆษณา