21 มิ.ย. 2020 เวลา 03:30 • ประวัติศาสตร์
มนุษยธรรมค้ำจุนโลก! 'วิลม์ โฮเซนเฟลด์' ทหารเยอรมันผู้คำสั่งนายเพื่อช่วยเหลือชาวยิว
WIKIPEDIA FAIR USE
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
เรามักได้ยินเรื่องราวที่โหดร้ายทารุณของเหล่าบรรดานายทหารของนาซีเยอรมันมาพอสมควร แต่ยังมีนายทหารอีกคนหนึ่ง ที่ได้รับการยกย่องจากชาวโปแลนด์เป็นอย่างมาก และคนที่เรากำลังพูดถึงก็คือ วิลม์ โฮเซนเฟลด์ สุภาพบุรุษผู้ทำในสิ่งที่ขัดแย้งต่อหน้าที่และเครื่องแบบที่สวมใส่เพื่อสิ่งที่เรียกว่ามนุษยธรรม
วิลม์ โฮเซนเฟลด์ เกิดในครอบครัวครูสอนศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ครอบครัวของเขาอุทิศตนเพื่อศาสนา การศึกษา และช่วยเหลือสังคม พอโตมาเขาก็ประกอบอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ แต่ด้วยเลือดรักชาติ เขาจึงเข้าร่วมกับกองทัพบกเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และได้รับเหรียญสดุดี ‘Iron Cross Second Class’ ในวีรกรรมความกล้าหาญของเขา
WIKIPEDIA CC BUNDERSARCHIV
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง วิลม์ โฮเซนเฟลด์ ถูกเกณฑ์เข้ามาประจำการณ์ในกองทัพแวร์มัคท์ (Wehrmacht) หรือกองทัพเยอรมนี โดยก่อนหน้านั้น เขาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคนาซี เหตุเพราะในตอนนั้นเขาเชื่อว่าฮิตเลอร์จะนำเยอรมนีกลับมาสู่ความรุ่งเรืองได้อีกครั้ง ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป โฮเซนเฟลด์เริ่มตระหนักดีว่าพรรคนาซีเยอรมันนั้นมีอุดมการณ์ที่ยากเกินจะยอมรับได้ จากการที่เขาได้เห็นชาวยิวในโปแลนด์ถูกกดขี่ข่มเหงโดยทหารเพื่อนร่วมชาติ กล่าวกันว่าเขาเริ่มเอาใจออกห่างจากพรรคนาซีเยอรมันนับตั้งแต่ตอนนั้นเอง
หลังจากการบุกยึดโปแลนด์ โฮเซนเฟลด์ถูกส่งตัวไปควบคุมและดูแลการก่อสร้างค่ายกักกันเชลยศึกชาวยิว โฮเซนเฟลด์อดสงสารเชลยศึกชาวยิวจำนวนมากที่ถูกกดขี่ขมเหง ด้วยความอับอายในสิ่งที่ทหารเพื่อนร่วมชาติของเขาที่ได้กระทำการอย่างโหดร้ายทารุณต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้เขาและเจ้าหน้าที่รัฐบาลของเยอรมันอีกหลายคนร่วมมือกับหาทางช่วยเชลยศึกเหล่านี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
WIKIPEDIA PD
จากการกระทำที่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรมของโฮเซนเฟลด์ ทำให้เขามีเพื่อนชาวโปแลนด์เป็นจำนวนไม่น้อย และเข้าพิธีมิสซารับศีลและสารภาพบาปในโบสถ์ของประเทศโปแลนด์ ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งต้องห้ามก็ตาม ในช่วงที่เขาอยู่ในกรุงวอร์ซอ โฮเซนเฟลด์ได้ใช้สถานะทางทหารของตัวเองช่วยเหลือผู้คนโดยไม่คำนึงถึงภูมิหลัง
โดยหนึ่งในบุคคลสำคัญที่โฮเซนเฟลด์เคยช่วยเหลือเอาไว้ คือนักเปียโนชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวนามว่า วลาร์ดิสลาฟ ชปิลมัน ที่กำลังหนีตายจากการไล่ล่าจากทหารนาซีเยอรมัน โดยให้ที่พักอาศัยและคอยจัดหาเสบียงอาหารมาให้ จนเรื่องราวของเขาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Pianist’ ที่ออกฉายในปี ค.ศ.2002 มาแล้วอีกด้วย'
ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโปแลนด์ โฮเซนเฟลด์ได้ช่วยเหลือเชลยศึกชาวยิวเป็นจำนวนมาก แม้ตนเองจะสวมเครื่องแบบของนาซีเยอรมันอยู่ก็ตาม ท่ามกลางการคุมเข้มของหน่วย SS เพื่อนร่วมชาติของเขา ก่อนยอมจำนนต่อฝ่ายสหภาพโซเวียตที่บุกเข้ามาในโปแลนด์ในช่วงปลายปี ค.ศ.1944
WIKIPEDIA CC ADRIAN GRYCUK
วิลเฮลม์ โฮเซนเฟลด์ ถูกจับกุมเป็นเชลยศึกของฝ่ายสหภาพโซเวียต ในฐานะอาชญากรสงคราม และถูกตัดสินใจจำคุกเป็นเวลาถึง 25 ปี โดยภรรยาของเขาในเยอรมนีตะวันตก ได้ติดต่อกับเชลยศึกชาวยิวที่สามีของเธอเคยช่วยชีวิตเอาไว้ ให้มาช่วยแก้ต่างในคดีความที่โฮเซนเฟลด์ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม โดยหนึ่งในนั้นก็คือ วลาร์ดิสลาฟ ชปิลมัน นักเปียโนที่โฮเซนเฟลด์เคยช่วยชีวิตเอาไว้
แต่น่าเสียดาย ที่ไม่มีใครสามารถช่วยโฮเซนเฟลด์ได้ เนื่องจากเขาถูกควบคุมตัวโดยฝ่ายสหภาพโซเวียตที่ไม่ยอมประนีประนอมเลยแม้แต่น้อย บางทีถ้าเขาถูกจับกุมตัวโดยฝ่ายสัมพันธมิตร ก็อาจมีทางวิ่งเต้นช่วยเหลือเขาได้บ้าง สุดท้าย โฮเซนเฟลด์ก็เสียชีวิตในค่ายกักกันของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1952 อย่างน่าเศร้า
WIKIPEDIA CC ADRIAN GRYCUK
ถึงแม้ว่าตัวเขาจะจากไป แต่สิ่งที่เขาได้กระทำให้กับเพื่อนมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ถึงแม้ว่ามันจะขัดแย้งกับหน้าที่และเครื่องแบบที่เขาสวมใส่ มีการมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประธานาธิบดีแห่งโปแลนด์ในปี ค.ศ.2009 เพื่อเชิดชูเกียรติและความมีมนุษยธรรมในช่วงเวลาที่มืดมิดและน่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา