21 มิ.ย. 2020 เวลา 00:42 • ไลฟ์สไตล์
ชีวิตในอเมริกา : แม่ค้าขายเหยือกเบียร์มีเรื่องเล่า
ส่วนหนึ่งของเหยือกเบียร์ที่บ้าน
ก่อนเขียนคงต้องทำให้เข้าใจเสียก่อนว่า ป้าไม่ใช่เด็กเชียร์เบียร์ ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา อายุตัวหรืออายุสมอง รวมทั้งหุ่นเข้าระดับอาหารไทยที่ชื่อ พะโล้ ด้วยแล้ว ยิ่งทำอาชีพนี้ไม่ได้ และป้าเองก็ไม่เคยเป็นเด็กเชียร์เบียร์ แต่ทำไมจะมาเล่าเรื่องเหยือกเบียร์ล่ะ เหยือกเบียร์ที่จะเล่านี้เป็นของใช้ ของสะสม เราไม่ได้คุยกันเรื่องน้ำเหลือง ๆ ที่อยู่ในเหยือกเบียร์ ที่ดื่มแล้วเมาค่ะ แต่ป้าก็ไม่ได้มาเกลี่ยกล่อมให้คุณซื้อเบียร์แต่อย่างใด
จะว่าไปแล้วป้าก็อาจเป็นเด็กเชียร์เบียร์ได้อยู่ ที่เห็นนี่คือเหยือกเบียร์ค.ศ.1976 ตอนป้ายังสาว
จะว่าไปแล้วคนอเมริกันก็ชอบดื่มเบียร์คล้ายคนไทยหรือคนเยอรมันนั่นแหละ แต่คนไทยเราไม่ค่อยสะสมอะไรเกี่ยวกับเบียร์ใช่ไหม เท่าที่พบเห็นการสะสมเหยือกเบียร์จะมีที่ประเทศเยอรมนี ส่วนที่สหรัฐฯ ก็มีคนชอบสะสมเหยือกเบียร์เช่นกัน
เหยือกเบียร์หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Beer Stein (เบียร์สไตน์) นี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณแฟรงเก้นไตน์นะคะ แต่เป็นภาชนะใส่เบียร์เพื่อดื่มแบบดั่งเดิมซึ่งทำจาก Stoneware (สโตนแวร์) ที่มีการตกแต่งลวดลาย โดยคำว่า stein ในภาษาเยอรมัน (German) หมายถึง stone คือ หินนั่นแหละ แต่อย่างไรก็ตามคำว่า stein ในภาษาเยอรมันก็ไม่ได้หมายถึงเหยือกใส่เบียร์โดยตรง ที่จริงแล้วเหยือกเบียร์ที่ผลิตออกมาไม่ได้ทำมาจาก stoneware เท่านั้น อาจทำจากวัสดุอื่นด้วย เช่น พิวเตอร์, พอร์ซเลน, ไม้ แก้วคริสตัล หรือ เงิน ก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก ก็จะมีการใช้วัสดุ และลวดลายแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับยุคสมัยด้วยเช่นกัน
เหยือกเบียร์ดั่งเดิมมักทำออกมาเป็นขนาดครึ่งลิตร หรือไม่ก็หนึ่งลิตร แต่ตอนหลัง ๆ ก็อาจมีขนาดที่แตกต่างออกไป
เหยือกแบบมีฝาปิด ที่มีสัญลักษณ์นกอินทรีติดอยู่
บางแบบก็จะมีฝาปิด ซึ่งโดยทั่วไปก็อาจทำจากพิวเตอร์หรือดีบุก หากทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับคนรวย ราชสำนักก็อาจเป็นเงินหรือทอง ตัวฝาอาจทำแบบเรียบ ๆ หรือ บางครั้งทำเพื่อเป็นที่ระลึก เพื่อการเก็บสะสมก็อาจมีลวดลายเฉพาะ เช่น มีสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งติดไว้บนฝา เป็นต้น นับว่าที่ทำฝาปิดเพราะช่วงหนึ่งที่เกิดกาฬโรคระบาด เขาทำฝาปิดเพื่อกันเชื้อโรคตกเข้าไปในเหยือกเบียร์ เออ... อันนี้แสดงว่าเบียร์นี่ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคแต่อย่างใดนะคะ ยังคงใช้ได้ดีสำหรับการป้องกันโควิดนะป้าว่า คือ อย่าไปคิดจะเอาเบียร์มาล้างมือ ล้างสิ่งของ แค่เอาไว้ล้างปากก็พอละมัง...ขืนเอาไปล้างอย่างอื่น นอกจากใช้การไม่ได้แล้วยังอาจหมดตัวด้วยนะ
เหยือกเบียร์ที่ระลึกเกี่ยวกับทหาร
ส่วนตัวไม่ได้มีข้อมูลมากนักเรื่องของเหยือกเบียร์ขอเยอรมนี จากการค้นคว้าได้รู้แหละว่ามันเริ่มที่เยอรมนี เพราะคนเยอรมันชอบดื่มเบียร์แทนน้ำหรือเปล่าไม่รู้นะ โดยเขาบอกว่า Stein อาจมีต้นกำเนิดมาจากคำว่า Steinzeug หรือ Steingut คือ เครื่องเคลือบดินเผา ในภาษาเยอรมัน หรือ Steinkrug ที่หมายถึงเหยือกหิน แต่หลังจากดื่มไปดื่มมามากขึ้น ลิ้นไก่คงจะสั้นลง ความจำก็คงเลือนหาย เลยลดเรียกสั้น ๆ ว่า stein ...อันนี้ป้าเดาเองนะ
เหยือกเบียร์ของ Busch ส่วนใหญ่มีภาพรถม้า
สำหรับเหยือกเบียร์ที่มีอยู่ในครอบครองตอนนี้ เป็นเหยือกเบียร์แบบที่ทำออกมาเพื่อการสะสม คือ เป็นของที่ระลึก ทำนองนั้น โดยบริษัทที่โด่งดังมากในการผลิตเหยือกเบียร์ที่ระลึกนี้คือ Anheuser - Busch ซึ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปีค.ศ.1852 คือ 168 ปี มาแล้ว โดยเขาเป็นโรงงานผลิตเบียร์แบบ Bavarian Brewery ที่มีบริษัทแม่ คือ Anheuser-Busch InBev หรือ เรียกย่อ ๆ ว่า AB InBev ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในประเทศเบลเยี่ยม บริษัท Anheuser - Busch ในสหรัฐฯ มีที่ทำการกลาง หรือ headquarters ที่เมือง St. Louis รัฐ Missouri หากสงสัยว่าบริษัทนี้ผลิตเบียร์ยี่ห้ออะไรบ้าง ต้องบอกว่า เยอะมาก ที่ดัง ๆ ก็คือ Budweiser, Stella Artois, and Beck's เป็นต้น
เหยือกเบียร์ที่ระลึกเกี่ยวกับกีฬาสำหคัญเขาก็ทำ
มาถึงเรื่องเหยือกเบียร์ที่ Anheuser - Busch ผลิตออกมาจำหน่ายเพื่อเป็นที่ระลึกนี้ เริ่มในปีค.ศ.1975 โดยยังคงรูปแบบลวดลายเกี่ยวกับ German Tavern คือ ภาพการสังสรรค์ในโรงเตี๊ยมของเยอรมันนั่นเอง หลังจากนั้นต่อมาจึงพัฒนาเป็นรูปแบบมาทางอเมริกันไตล์มากขึ้น
เหยือกเบียร์ที่ Busch ผลิตจะมีเครื่องหมายการค้า Budweiser อยู่ด้วย
ที่บ้านไม่ได้เก็บย้อนไปตั้งแต่รุ่นแรก ๆ หรอก ไม่มีเงิน และหลังจากเก็บได้ถึงปี 2008 ก็เลิกเก็บ เพราะเริ่มไม่มีที่วาง คนสะสมเริ่มหมดความสนใจ มันก็เหมือนของประดับบ้านอย่างหนึ่ง ที่จริงหากคนชอบศึกษาเรื่องราวและชอบสะสมของเก่า หรือ อาจชอบดื่มเบียร์ หากได้มีสักเหยือกสองเหยือก ว่าง ๆ เอามาใส่เบียร์ดื่ม หรือ เมื่อยามสังสันทน์กับเพื่อนจะเป็นฝูงหรือไม่เป็นฝูง ก็คงดีไม่น้อย ดีไม่ดีอาจ อาจนึกครึ้มลุกมาจัดงาน Oktoberfest เอง ให้มันรู้แล้วรู้แรดไป เพราะจะเดินทางไปเที่ยวงานนี้ที่เยอรมนีมันก็ต้องเสียหลายเงิน แถมตอนนี้ยังไม่แน่นอนอีก ไม่รู้ว่าเข้าได้จริง ๆ เมื่อไหร่แน่ สถานฑูตเขาว่าเปิด travel bubble กันแล้ว แต่คงต้องรอดูรายละเอียดอีกที แต่ที่ห่วงคือ ไปแล้วกลับมาไทยได้ไหม กลับแล้วต้องกักตัวไหม
ว่าแล้วก็มาแนะนำเพจใหม่ที่ทำมาเพื่อขายเหยือกเบียร์ และของสะสมอื่น ๆ กันดีกว่าค่ะ ไม่ได้ขายในนี้นะคะ แต่ขอแปะแนะนำหน่อย หากใครสนใจเข้าไปดูได้ แต่ต้องบอกก่อนนะคะว่า ไม่ส่งเข้าไทยค่ะ ค่าส่งแพงหูฉี่ และอาจเจอภาษีอีกต่างหาก เลยขึ้นขายในสหรัฐฯ แต่ถ้าใครมีญาติ พี่น้อง ลูกหลาน เพื่อนฝูง จะให้เขาจัดการให้แล้วหิ้วกลับไทยก็คงพอไหวอยู่ หรือ หากมีคนรู้จักอยู่ที่นี่แล้วเขาชอบสะสม จะกรุณาบอกต่อ แชร์ไปก็จะขอบคุณมากค่ะ
เหยือกเบียร์ที่สะสมไว้บางชิ้นก็ยังมีกล่อง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีกล่อง
สำหรับคนอ่าน หากเห็นว่ามีประโยชน์ จะกดไลค์ กดแชร์ ติดตาม ก็ไม่เป็นไรนะคะ ป้าไม่ว่าหรอก ทำให้คนแก่มีกำลังใจอยากเขียนต่อไปค่ะ
#เหยือกเบียร์ #ชีวิตในอเมริกา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา