22 มิ.ย. 2020 เวลา 12:30 • ธุรกิจ
SET50, SET100 ครึ่งปีหลัง 2020 ใครเข้า-ออก, กระทบหุ้นเหล่านี้อย่างไร?
1
SET50, SET100 ครึ่งปีหลัง 2020 ใครเข้า-ออก, กระทบหุ้นเหล่านี้อย่างไร?
เมื่อ 15 มิ.ย. 2020 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ (หุ้น) ที่ถูกใช้คำนวณในดัชนี SET50, SET100, sSET, SETCLMV, SETHD และ SETWB
1
สำหรับเป็นข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณระหว่างช่วง 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 2020 (ครึ่งปีหลังของปี 2020) ซึ่งส่วนใหญ่ผลก็เป็นไปตามคาดการณ์ของโบรกเกอร์ชื่อดังหลายๆ แห่ง
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ SET Index ว่าคืออะไร?
SET Index (ดัชนีราคาหุ้น) คือ ดัชนีสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งโดยทั่วไป ดัชนีที่ฮ็อตฮิตก็จะเป็น SET50 และ SET100 ที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของ SET Index
โดย SET50 และ SET100 มีเกณฑ์การคัดเลือกคร่าวๆ ดังนี้
Cr: Pixabay
- เป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงสุด 200 ลำดับแรก โดยพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเฉลี่ยต่อวันย้อนหลัง 3 เดือน
- เป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมูลค่าซื้อ-ขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าซื้อ-ขายเฉลี่ยต่อหลักทรัพย์ของหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญทั้งตลาดในเดือนเดียวกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน หรือไม่น้อยกว่า 3 ใน 4
- เป็นหลักทรัพย์ที่มีจำนวนหุ้นซื้อ-ขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของหลักทรัพย์นั้น ๆ ในเดือนที่มูลค่าซื้อขายของหลักทรัพย์ผ่านเงื่อนไขตามข้อด้านบน
1
- ไม่นำหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP (Trading Suspension หรือห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว) เกิน 20 วันมารวมในการคำนวณ
- มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free-float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว
(จริงๆ แล้วจะมีหลักเกณฑ์ย่อยๆ อีกหลายข้อ แต่ขออนุญาตนำเสนอในข้อสำคัญๆ แล้วกันครับ)
และเนื่องจากดัชนีราคา SET50 และ SET100 คัดเลือกมาจากกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) สูงสุด 50 และ 100 อันดับแรก ทำให้ทั้ง 2 ดัชนีนี้ค่อนข้างมีน้ำหนักต่อดัชนี SET Index ในภาพรวมอยู่มาก
โดยจากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2015 – ปัจจุบัน SET Index, SET50, และ SET100 มีการปรับตัวแทบจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็อาจจะอนุมานได้ว่า ดัชนี SET50, SET100 เป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางของดัชนี SET Index ก็คงจะไม่ผิดแต่อย่างใด
ที่มา: SETSMART
โดยในครึ่งปีหลังของปี 2020 นี้ ดัชนี SET50 มีหุ้นเข้าใหม่ 2 ตัว ได้แก่
1. บมจ. บ้านปู เพาเวอร์ (BPP)
2. บมจ. ทีทีดับบลิว (TTW)
ส่วนหุ้นที่ออกจาก SET50 ได้แก่
1. บมจ.บ้านปู (BANPU)
2. บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA)*
ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ด้านดัชนี SET100 มีหุ้นเข้าใหม่ 7 ตัว ได้แก่
1. บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV)
2. บมจ. แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE)
3. บมจ. ดูโฮม (DOHOME)
4. บมจ. อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF)
5. บมจ. แสนสิริ (SIRI)
6. บมจ. น้ำมันพืชไทย (TVO)
7. บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP)
2
และหุ้นที่ถูกนำออกจาก SET100 ได้แก่
1. บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC)
2. บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA)*
3. บมจ.เอ็ม บี เค (MBK)
4. บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL)
5. บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI)
6. บมจ.การบินไทย (THAI)
7. บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG)
*หมายเหตุ: DELTA หลุดออกจากทั้ง SET50 และ SET100
ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การเข้า-ออกของหุ้นใน SET50, SET100 มีผลอย่างไร?
อย่างแรกเลยคือการปรับพอร์ตของกองทุนต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วหุ้นที่ถูกนำออกจากดัชนี SET50, SET100 จะเกิดแรงเทขายจากกองทุน
ส่วนหุ้นที่ถูกนำเข้า SET50, SET100 แน่นอนว่าตรงกันข้ามคือจะมีแรงซื้อมาก ตามสัดส่วนของนโยบายในกองทุนนั้นๆ
โดยดัชนีที่นิยมใช้ปรับพอร์ตและอ้างอิงของกองทุนทั้งไทยและเทศก็มักจะต้องเป็น SET50 Index มากกว่าดัชนีอื่นๆ (โดยส่วนใหญ่)
ยกตัวอย่าง สมมุติถ้าหุ้น A ถูกนำเข้าคำนวณใน SET50 แต่หุ้น B นำเข้าคำนวณใน SETHD (High Dividend) หุ้น A จะมีแรงซื้อจากการปรับพอร์ตของกองทุนมากกว่า หุ้น B
นอกจากนี้ ยังนำดัชนีดังกล่าวไปใช้ในการอ้างอิงเพื่อออก DW (Derivative Warrants: ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์) หรือ Futures (สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการ)
และ Option (สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ให้สิทธิซื้อ/Call Option และสิทธิขาย/Put Option แก่นักลงทุน) ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนโดยเปรียบเทียบระหว่างดัชนี SET50, SET100 กับพอร์ตของนักลงทุนนั่นเองครับ
Cr: Pixabay
และแม้ว่าในทางทฤษฎีกองทุนต่างๆ จะมีการปรับพอร์ตในวันสิ้นเดือนก่อนการประกาศดัชนีต่างๆ ทีเดียว แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจจะต้องมีการทำล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ๆ เพื่อลดปัญหาเรื่องสภาพคล่องที่ไม่เพียงพอของหุ้นตัวนั้นๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว
อีกสถิติที่น่าสนใจ หากดูจากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี หรือ 6 รอบของการปรับ SET50, SET100 แล้วนั้น จะพบว่าหุ้นเข้า SET50 จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย +2.97% เทียบกับ SET Index ที่ -0.04% ขณะที่หุ้นออกจาก SET50 ผลตอบแทนจะ -5.36% (ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังประกาศจนมีผลบังคับใช้)
ทั้งนี้ สำหรับความคิดเห็นส่วนตัว ในการเลือกหุ้นดีๆ เก็บไว้ในพอร์ต ผมมักจะดูหุ้นที่ถูกนำเข้าไปคำนวณในหลายๆ ดัชนีพร้อมกัน เช่น อยู่ทั้งใน SET50, SETHD, SETTHSI (บริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล: ESG)
พูดง่ายๆ ก็คือมีความกลมกล่อมในหลายๆ ด้าน ทั้งมูลค่า, Liquidity (สภาพคล่อง), การจ่ายเงินปันผล, และการดำเนินงานอย่างยั่งยืน เป็นต้น ก็น่าจะเป็นการสกรีนหุ้นดีๆ ออกมาได้ในระดับหนึ่งครับ (แต่ก็ควรจะต้องดูข้อมูลในมิติอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยจะดีที่สุดครับ)
นอกจากนี้ในการปรับพอร์ตเพื่อนำหุ้นเข้า-ออกตามดัชนีที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีดัชนีประเภทอื่นๆ ที่มีรอบการปรับ หรือจัดทำโดยองค์กรอื่น เช่น ดัชนี MSCI (Morgan Stanley Capital International) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากนักลงทุนต่างชาติ
Cr: Pixabay
สุดท้ายนี้ นักลงทุนที่ต้องการกำไรจากช่วงเวลาแบบนี้ คงจะต้องศึกษาข้อมูลกันให้ละเอียดถี่ถ้วนสักหน่อย เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง และเรื่องพิศวงก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอทั้งในตลาดหุ้นไทยและทั่วโลก
คราวหน้าหากมีโอกาสคงจะได้มานำเสนอข้อมูลจากดัชนีอื่นๆ ที่น่าสนใจกันเพิ่มเติมนะครับ สำหรับวันนี้ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ
Cr: Pixabay
ที่มา:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
- บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
- บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา