Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
"หุ้น" กันมั๊ย!
•
ติดตาม
25 มิ.ย. 2020 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
มาทำความรู้จักกับ "ดัชนี SETWB”
หุ้นใหม่เข้าคำนวณดัชนี SETWB รอบครึ่งปีหลัง'63
หากท่านเป็นนักลงทุนในตลาดทุน (ตลาดหุ้น) คงน่าจะคุ้นเคยดีกับ SET Index หรือดัชนีราคาหุ้น ที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยดัชนีที่รู้จักกันดีก็จะเป็นพวก SET50, SET100, SETHD ซึ่งกองทุนต่างๆ มักใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการปรับพอร์ตของตัวเอง ซึ่งหุ้น (หลักทรัพย์) ตัวไหนที่ถูกนำเข้ามาคำนวณในดัชนีต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็มักจะมีความโด่ดเด่น และหอมหวานชวนลงทุนขึ้นมาโดยปริยาย
และเมื่อประมาณ เม.ย. ปีก่อน (พ.ศ. 2562) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มใช้และเผยแพร่ดัชนีน้องใหม่ที่ใช้ชื่อว่า "SET Well-being" หรือ SETWB หรือบางคนก็อาจจะเรียกหุ้นกลุ่มนี้กันว่า “หุ้นอยู่ดีกินดี”
ดัชนีตัวนี้จะใช้เป็นเครื่องมือที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของกลุ่มหลักทรัพย์ 30 ตัว ใน 7 หมวดธุรกิจที่ไทยเราค่อนข้างมีศักยภาพในการแข่งขันและเป็นธุรกิจที่ผู้ลงทุนต่างชาติมักให้ความสนใจ
ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ซึ่งการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้จะมีผลต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือที่เราเรียกกันคุ้นปากว่า "GDP" (Gross Domestic Product) และแน่นอนธุรกิจเหล่านี้จะนำมาสู่การสร้างรายได้แก่คนในประเทศ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
และนอกจากนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็จะสนับสนุนการนำดัชนี SETWB นี้ไปใช้เพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินในอนาคต เช่น กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) และกองทุนรวม (Mutual Fund) เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ลงทุนอีกด้วย
โดยหุ้นที่อยู่ใน 7 หมวดธุรกิจนี้ประกอบด้วย
1.หมวดธุรกิจการเกษตร (Agribusiness)
2. หมวดธุรกิจพาณิชย์ (Commerce)
3. หมวดธุรกิจแฟชั่น (Fashion)
4. หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage)
5. หมวดธุรกิจการแพทย์ (Health Care Service)
6. หมวดธุรกิจการท่องเที่ยวและสันทนาการ (Tourism & Leisure)
7. หมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation & Logistics)
โดยแนวทางที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้ในการคัดเลือกหุ้นเข้ามาในดัชนี SETWB นี้ก็คือ
- มีกำไรอย่างน้อย 2 จาก 3 ปีล่าสุด เมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวม
- มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free-float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว
- จำนวนหุ้นซื้อขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัท เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน
- มูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงสุด 30 อันดับแรก
Cr: https://missiontothemoon.co/well-being/
เกณฑ์การคำนวณก็จะใช้การคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight) โดยจำกัดน้ำหนักของแต่ละหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบในดัชนีไม่เกินร้อยละ 10 ทุกไตรมาส
โดยหลักทรัพย์ที่ใช้สำหรับคำนวณดัชนี SETWB ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 (1 ก.ค. – 31 ธ.ค.) มีหลักทรัพย์ หรือหุ้นเข้าใหม่ 3 ตัว ประกอบด้วย
1. บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL)
2. บมจ. โอสถสภา (OSP)
3. บมจ. โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA)
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ ท่านคงจะสงสัยว่าทำไมตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงเริ่มให้ความสำคัญกับธุรกิจในหวมดกินดีอยู่ดีเหล่านี้
ประเด็นแรกคือ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" (Aging Society) หรือในทางทฤษฎีง่ายๆ คือ มีอัตราทั้งการเกิดน้อย และอัตราการตายก็น้อยด้วยเช่นกัน ทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจนไปในทิศทางเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก
Cr: Pixabay
โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ไทยเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีเกิน 7% ของประชากรทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 2548 และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ (Aged Society) หรือมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีเกิน 14% ของประชากรทั้งหมด ในปี 2565
และที่น่าตกใจไปอีกคือหลังจากนั้น ในปี 2575 ไทยถูกคาดการณ์ว่าจะขยับเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์อย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) หรือมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด
จากการคาดการณ์เหล่านี้ เห็นได้ชัดว่าค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุก็คงหนี้ไม่พ้นเรื่องการดูแลตัวเองจากการเจ็บ การป่วยและการรักษาสุขภาพ ซึ่งธุรกิจในหมวดการแพทย์ก็เป็นหนึ่งในดัชนีของ SETWB ด้วยอย่างที่กล่าวไปช่วงต้น
Cr: Pixabay
นอกจากนี้หากเรามาดูสถิติในเรื่องของรายได้คนไทยเฉลี่ยต่อเดือน/ครัวเรือน (ทั่วประเทศ) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 - 2560
ปี 2545 รายได้ 13,736 บาท ต่อเดือน/ครัวเรือน
ปี 2550 รายได้ 18,660 บาท ต่อเดือน/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 36% (จากปี 2545)
ปี 2554 รายได้ 23,236 บาท ต่อเดือน/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 24% (จากปี 2550)
ปี 2560 รายได้ 26,946 บาท ต่อเดือน/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16% (จากปี 2560)
หรือหากดูจากระยะเวลาภายใน 15 ปี (ปี 2545 vs ปี 2560) ได้เพิ่มขึ้นถึง 96% เลยทีเดียว
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งจากสถิติรายได้ต่อเดือน/ครัวเรือนดังกล่าว อาจจะอนุมานได้ว่าคนไทยน่าจะมีศักยภาพในการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย และท่องเที่ยวมากขึ้นจากเดิม โดยส่งผลทำให้สินค้าและบริการต่างๆ ทั้งในด้าน อาหารและเครื่องดื่ม, การท่องเที่ยวและสันทนาการ, พาณิชย์, แฟชั่น ขนส่งและโลจิสติกส์, รวมถึงกลุ่มการเกษตร ซึ่งล้วนอยู่ในหมวดธุรกิจของ SETWB ที่ได้รับประโยชน์ตามๆ กันไป
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ COVID-19 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนกับธุรกิจในที่อยู่ในดัชนี SETWB อยู่ไม่น้อย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของบริษัทจดทะเบียนไทยอยู่เหมือนกัน ว่าจะได้เห็นคนไทย “กินดีอยู่ดี” รอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้ดังใจหวังหรือไม่
Cr: Dsignsomthing.com
และนี่ก็เป็นหุ้นที่เราคาดหวังจะเติบโตไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ “กินดีอยู่ดี” ของคนไทย...ไม่แน่ในอนาคตดัชนี SETWB อาจจะกลายเป็นดันชีอ้างอิงที่มีน้ำหนักมากขึ้นจนกองทุนต่างๆ หันมาให้ความสนใจมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้ครับ แล้วคุณละครับเล็งหุ้นตัวไหนใน SETWB ไว้บ้างแล้วหรือยัง?
ขอบคุณที่ติดตามอ่านบทความนี้ครับ ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ รบกวนกดแชร์ และกดติดตามด้วยนะครับ
Source:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน, สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
5 บันทึก
7
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
SET Index
5
7
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย