3 ก.ค. 2020 เวลา 07:14 • สุขภาพ
การงีบหลับดียังไง มาดูกันงีบกี่นาทีถึงจะดี
การงีบหลับระหว่างวันไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นการรีเฟรชร่างกายได้ดีกว่าดื่มกาแฟอีกนะ
ในตอนสมัยเด็กๆ เราเคยถูกบังคับให้นอนกลางวันกันใช่ไหมล่ะคะ แต่สำหรับเด็กแล้วการนอนกลางวันจะช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนซ่อมแซมตัวเอง ช่วยพัฒนาด้านอารมณ์ ด้านความจำ ช่วยพัฒนาสมอง รวมถึงทำให้เจริญเติบโตได้ดีด้วย ในผู้ใหญ่การนอนกลางวันนั้นจะช่วยฟื้นฟูร่างกายที่รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ให้รู้สึกกลับมาสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้ ในญี่ปุ่นเองก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติเลย ที่จะให้พนักงานนอนพักผ่อนตอนกลางวันกัน ก่อนที่จะไปทำงานกันต่อ หากช่วงไหนที่รู้สึกว่าอ่อนเพลียเหนื่อยล้ามากๆ การนอนแบบหลับงีบสั้นๆ ในช่วงเวลาระหว่างวันจะช่วย ลดความเครียดและพักสมองได้ด้วยนะคะ
/canva
แต่ก็คงจะมีข้อสงสัยกันอยู่ใช่ไหมล่ะคะ ว่านอนงีบหลับแค่ไหนถึงจะดีกับร่างกาย หรือว่าใช้เวลาในการงีบหลับสักเท่าไหร่ จึงจะส่งผลอย่างไรกับร่างกายบ้าง มาลองดูกันค่ะ
1. Refresh ร่างกาย ด้วยการงีบ 10-20 นาที
หากวันใดที่คุณนอนไม่พอหรือว่านอนน้อยเกินไปแล้ว อยากให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้นอีกสักหน่อย แค่หาเวลางีบเพียง 10-20 นาที ก็จะช่วยเพิ่มพลังให้คุณรู้สึกสดชื่นมากขึ้น โดยเฉพาะการงับหลับหลังอาหารกลางวัน จะช่วยลดความอยากของอาหารประเภทจังก์ฟู้ดที่ไม่เป็นมิตรกับร่างกายได้ อีกทั้งยังช่วยลดน้ำหนักลงด้วย เนื่องจากฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดนั้นลดลง
2. ไม่ค่อยเป็นผลดี กับเวลา 30 นาที
การนอนเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงไม่ส่งผลดีกับร่างกายของเรานัก เนื่องจากหลังจากที่ตื่นมาเราจะมีอาการมึนๆ เล็กน้อย รวมถึงอาจจะรู้สึกปวดหัวด้วย เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองของเรากำลังจะเข้าสู่การนอนหลับลึกพอดี แต่ต้องมาตื่นแบบยังรู้สึกไม่พร้อม จะทำให้รู้สึกหงุดหงิด เหนื่อยล้า และอ่อนเพลียมากกว่าเดิม ซึ่งกว่าอาการจะหายไปต้องใช้เวลาอีกประมาณ 30 นาทีเลยล่ะ
รูปโดย : Akine_noxx
3. ส่งผลดีต่อความจำ กับการงีบหลับ 60 นาที
ช่วงเวลา 1 ชั่วโมงสำหรับการงีบหลับนั้น จะส่งผลที่ดีต่อความจำ เพราะว่ามันจะเป็นการนอนที่ทำให้เราอยู่ในช่วง Slow-Wave-Sleep ที่จะทำให้สมองปลอดโปร่ง เพิ่มความพร้อมในการเรียนรู้ สามารถทำให้คุณจดจำข้อมูลต่างๆ รวมถึงพวกตัวเลขได้ดีขึ้นอีกด้วย เรียกได้ว่าหากต้องการงีบหลับแต่ไม่อยากตื่นก่อนครึ่งชั่วโมง ก็ควรที่จะหลับยาวให้ครบหนึ่งชั่วโมงไปเลยดีกว่าค่ะ
รูปโดย : Akine_noxx
4. ส่งผลต่ออารมณ์กับการงีบหลับ 90 นาที
90 นาทีคือการนอนหลับที่ครบวงจรโดยสมบรูณ์ตามหลักการแพทย์ หากว่าเราสามารถนอนหลับได้ครบ 90 นาทีก็ถือว่านอนหลับได้ 1 Cycle ที่สมบูรณ์แล้วนั่นเอง ซึ่งวงจรในการนอนหลับแบบนี้ จะมีลงรายละเอียดไปถึงการนอนหลับแบบลึกกับแบบตื้นๆ พอรู้สึกตัวอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการนอนพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ แล้วเราก็มักจะหลับฝันในช่วงเวลาแบบนี้ด้วย ส่วนผลของการนอนในระยะเวลานี้ จะทำให้อารมณ์ดีขึ้น เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ที่จะเข้ามาได้มากขึ้นด้วย ร่างกายจะรู้สึกสดชื่นเต็มสุดๆ
รูปโดย : Akine_noxx
ดังนั้นแล้วการลดความเครียด และเหนื่อยล้าด้วยการงีบหลับในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ถือเป็นการฟื้นพลังงานด้วยการนอนในรูปแบบหนึ่ง ที่ดีกว่าจะฝืนทนอ่อนเพลียไปเรื่อยๆ หรือฝืนด้วยการเพิ่มคาเฟอีนจนร่างกายเสพติด ต้องเพิ่มปริมาณไปเรื่อยๆ หากต้องการที่จะงีบหลับแล้ว ควรหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการงีบหลับด้วย ควรงีบหลับในที่ที่ไม่มีแสงไฟ หรือใช้หน้ากากปิดตาในขณะที่งีบหลับจะช่วยให้เรางีบหลับได้เร็วและนอนหลับได้สนิทดียิ่งขึ้น รวมถึงควรตั้งนาฬิกาปลุกในขณะที่เราหลับด้วย เพื่อให้ตื่นทันโดยไม่ต้องเป็นกังวลว่า เราจะใช้เวลาในการงีบหลับนานจนเกินไป
อย่าคิดว่าเป็นผู้ใหญ่โตแล้ว แต่นอนกลางวันเป็นเรื่องของเด็กอยู่เลยค่ะ เพราะอย่างไรก็ดีการนอนก็ถือว่าเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับร่างกายอยู่แล้วนั่นเองค่ะ เพื่อสุขภาพที่ดีแล้วลองหาเวลานอนงีบเสียบ้างนะคะ เผื่อร่างกายจะได้มีพลังวังชามากกว่าเดิมในระหว่างวันค่ะ
ปกติเคยงีบหลับระหว่างวันหรือไม่?
ข้อมูลแบบภาพค่ะ
บทความ โดย : Akine_noxx
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บ Spice/Pepper
ฝากติดตาม กดไลค์ กดแชร์ คอมเม้นท์เป็นกำลังใจกันด้วยนะคะ
โฆษณา