25 มิ.ย. 2020 เวลา 10:01 • การศึกษา
📒ชั้นอนุบาล🖍 ตอนที่ 1 : การปูพื้นฐานคณิตศาสตร์ให้เด็กปฐมวัยตามแบบสิงคโปร์
เนื่องจากBmumมีความสนใจในเรื่องคณิตศาสตร์แนวสิงคโปร์ เพราะได้ยินกิตติศัพท์มานานถึงผลงานท็อปฟอร์มด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนสิงคโปร์ในระดับนานาชาติ พอมาเขียนบล็อกเลยถือโอกาสลองค้นหาและรวบรวมข้อมูลอย่างจริงจังเสียเลยเผื่อนำมาแชร์ให้ผู้อื่นด้วย จากเดิมที่เคยแค่อ่านผ่านๆตาเท่านั้น
แต่เพราะน้องบุญยังอยู่แค่ชั้นอนุบาล Bmum เลยขอรีวิวหลักสูตรจากอนุบาลถึงแค่ชั้นประถม 3 ไปก่อนนะคะ เพราะว่าชั้นสูงเกินกว่านั้นก็ออกจะไกลตัวเกินไปหน่อย แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็คงได้พอเข้าใจแนวคิดและการปูพื้นฐานเรื่องเลขตามแบบสิงคโปร์มาตั้งแต่แรกเริ่มปฐมวัยเลย
ในอดีต ความสามารถทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนสิงคโปร์ก็งั้นๆ ไม่ติดอันดับโลก แต่นับตั้งแต่มีการปฏิรูปหลักสูตรและแนวทางการเรียนการสอนในช่วงราวๆ 40 ปีก่อน นักเรียนสิงคโปร์ก็ก้าวผงาดขึ้นมาแซงเบียดประเทศอื่นๆกระเด็นไปไกล รับตำแหน่งแถวหน้าอันดับ1-2อย่างภาคภูมิ
ว่าแต่เขามีดีอะไร?
ลักษณะเด่นของหลักสูตรคณิตศาสตร์สิงคโปร์
🔸เน้นความเข้าใจอย่างถ่องแท้ หัวข้อการเรียนรู้น้อย แต่ให้มั่นใจว่านักเรียนรู้ลึก รู้จริง เช่นไม่ใช่แค่จำสมการที่ใช้แก้โจทย์ได้เพื่อนำไปสอบ แต่ต้องเข้าใจถึงที่มาที่ไปด้วยว่าสมการนั้นทำงานได้อย่างไร ดังนั้นเรียกว่าเป็นการปูพื้นฐานที่แน่นปึกมาก การต่อยอดนำไปใช้งานจริงย่อมทำได้ดีกว่าเรียนหลายๆหัวข้อเยอะแยะไปหมดแต่เด็กไม่เข้าใจจริงๆซักอย่าง 🔹ให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้จากรูปธรรม(concrete)อย่างมาก ทั้งวัตถุจริง รูปภาพ เสียง สัมผัส เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ความเข้าใจนามธรรม(abstract)
🔸ครูสังเกตและประเมินเด็กอย่างละเอียดเป็นรายบุคคล โดยจะสอนเป็นกลุ่มย่อยๆ ให้เวลามากกับการสังเกตสิ่งที่เด็กทำ และต้องจัดการให้เด็กแต่ละคนมีโอกาสแสดงออกถึงความเข้าใจและกระบวนการคิดของตัวเองในทุกๆหัวข้อการเรียน ซึ่งจะมีการสอดแทรกการประเมินนี้ไปตลอดเวลาที่ทำการเรียนการสอน ไม่ใช่แค่รอดูทีเดียวเลยตอนสอบ เพื่อที่ครูจะได้มีโอกาสช่วยเหลือเด็กที่ติดขัดได้ตั้งแต่เนิ่นๆ 🔹การเข้าถึงทรัพยากรจากกระทรวงศึกษาธิการสูง เรียกว่ามีอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ครูได้ใช้อย่างครบครันไม่ขาดมือนั่นเอง
1
หลักการเรียนรู้แบบ CPA (Concrete-Pictorial-Abstract approach)
เริ่มจากหลักสูตรในระดับชั้นอนุบาลก่อน ว่าแนวทางของสิงคโปร์เค้าเป็นอย่างไร ซึ่งBmum ได้รวบรวมเนื้อหามาจากคู่มือการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์นะคะ
https://www.moe.gov.sg/docs/default-source/document/education/preschool/files/nel-edu-guide-numeracy.pdf
🔹สิ่งที่เด็กอนุบาลจะต้องเข้าใจก่อนขึ้นระดับประถม🔸
ปกติเด็กๆก็พอมีความเข้าใจพื้นฐานเรื่องจำนวน รูปร่างเรขาคณิตง่ายๆ พื้นที่ และมิติสัมพันธ์มาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งที่บ้าน ชุมชน และจากการเล่นอิสระ(Free Play) แต่หลักสูตรสิงคโปร์จะช่วยให้เด็กเชื่อมโยงความรู้เดิมเข้ากับการมีประสบการณ์ใหม่ๆจากกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูออกแบบให้เด็กค่อยๆตกผลึกเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง มาจากการลงมือปฏิบัติ จับต้องกับวัตถุจริงๆ
Simple Relationships and Patterns (ความสัมพันธ์ของวัตถุและรูปแบบที่ซ้ำกัน)
🔹Matching การจัดประเภทเดียวกัน หมายถึงสังเกตเห็นสิ่งที่เหมือนกันของวัตถุ เช่นสีเหมือนกัน,เป็นของชนิดเดียวกัน หรือขนาดเท่ากัน
🔸Sorting การแยกประเภทที่ต่างกัน จะอยู่ระดับที่ยากกว่าการจัดประเภทเดียวกัน เพราะต้องรู้เสียก่อนว่าอะไรที่เหมือนกัน แล้วค่อยแยกสิ่งที่ไม่เหมือนออกไปจากพวก เช่นให้นับเฉพาะจำนวนแอปเปิ้ลในกองผลไม้หลายชนิด
🔹Comparing การเปรียบเทียบ หมายถึงการมองวัตถุสองชิ้นหรือสองกลุ่มแล้วมองหาสิ่งที่เหมือนและสิ่งที่แตกต่าง เช่นเปรียบเทียบขนาด สี จำนวน
🔸Ordering การเรียงลำดับ อยู่ระดับที่ยากกว่าการเปรียบเทียบ เพราะต้องใช้การเปรียบเทียบมากกว่าสองชุดขึ้นไป เช่นแอปเปิ้ลผลที่สองมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลแรก แต่ก็เล็กกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลที่สาม ถ้าเด็กสามารถทำถึงขั้นนี้ได้ ก็จะเริ่มเกิดความเข้าใจ “ความรู้สึกเชิงจำนวน” (sense of number)ว่าการนับเลขใช้แทนการเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ
🔹Patterning การสร้างรูปแบบ หรือบางทีเรียกกันว่า อนุกรม เป็นการเรียงลำดับรูปแบบหนึ่งโดยกระทำซ้ำเป็นชุดๆไป ครูมีหน้าที่ชี้ชวนให้เด็กสังเกตเห็น patternต่างๆรอบตัว เช่นลายของผ้าม่าน ท่อนซ้ำของเพลง กิจกรรมเคลื่อนไหวประกอบจังหวะที่มีการทำท่าซ้ำๆ ก่อนที่เด็กจะได้ฝึกสร้างpatternของตนเองต่อไป
การสร้างpattern
Counting (การนับจำนวน) ครูจะสร้างโอกาสให้เด็กได้ฝึกนับจำนวนและทำความเข้าใจเรื่องการเปรียบเทียบ รวมกัน แยกออกจากกัน โดยผ่านกิจกรรมที่เด็กได้ใช้เรื่องจำนวนจริงๆ เช่น การเล่นขายของ ทำอาหาร
🔸Rote Counting การท่องจำชื่อตัวเลขที่เรียงตามลำดับ 0,1,2,3... เป็นสิ่งที่ต้องให้เด็กทำซ้ำๆเพื่อให้จำได้แบบเดียวกับการท่องจำชื่อตัวอักษร ก-ฮ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจความหมายของจำนวนได้จริงๆ 🔹Rational Counting หลังจากจำชื่อตัวเลขที่เรียงลำดับกันได้แล้วต้องนำมาเชื่อมโยงเข้ากับการเพิ่มขึ้นของวัตถุทีละ 1 จำเป็นต้องให้เด็กนับด้วยวาจาไปพร้อมๆกับการสัมผัสสิ่งของทีละชิ้นๆ ช่วงแรกเด็กอาจยังไม่สามารถโยงภาพจำนวนในสมองเข้ากับตัวเลขได้จริงๆ เช่นนับ “สาม” แต่แตะของไปแค่สองชิ้น ดังนั้นการฝึกหยิบนับไปทีละชิ้นๆสำคัญมากเพราะเป็นพื้นฐานของการเข้าใจความรู้สึกเชิงจำนวน (sense of number) เด็กจะเข้าใจว่าชื่อตัวเลขไม่ได้ใช้แทนของชิ้นสุดท้ายที่เพิ่งหยิบไป แต่หมายถึงของทั้งหมดที่หยิบไปแล้ว
Number Sense (ความรู้สึกเชิงจำนวน)
เกิดขึ้นหลังจากเด็กจำชื่อตัวเลขและฝึกนับทีละหนึ่งจนเกิดภาพจำนวนในใจ เช่นเข้าใจว่าตัวเลข 5 แทนจำนวนของที่มีมากกว่า ตัวเลข 2 ครูจะค่อยๆให้เด็กทำความเข้าใจไปอีกขั้นว่ามีมากกว่าหรือน้อยกว่าอยู่เท่าไหร่
🔹Conservation of quantity เข้าใจว่าของจำนวนเท่าเดิม ถึงจะวางอยู่ชิดๆกันหรือแยกห่างกัน ก็มีจำนวนเท่ากันอยู่ดี
🔸Part-Whole Relationship เข้าใจว่าจำนวนหนึ่งแบ่งออกได้เป็นหลายส่วน เช่น 5 อาจเกิดจากเอาสามมารวมกับสอง หรือ หนึ่งมารวมกับสี่ก็ได้
🔹Subtizing เป็นทักษะสำคัญที่เด็กสิงคโปร์จะได้รับการฝึกให้มองภาพจำนวนแล้วกะได้ทันทีไม่ต้องนับ เด็กเล็กอาจเริ่มฝึกจากลูกเต๋าหรือโดมิโน
การฝึกsubtizing อาจเริ่มมาจากลูกเต๋าหรือโดมิ
🔸Basic Shapes เด็กได้พบเจอรูปร่างที่แตกต่างกันของวัตถุต่างๆรอบตัว เริ่มคุ้นเคยกับคำศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อ วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า วงรีและอื่นๆ เมื่อเด็กได้ลองเอารูปร่างพื้นฐานมาเรียงต่อกันก็พบว่าตัวเองสามารถทำรูปร่างใหม่ๆได้
🔹Simple Spatial Concept การตระหนักถึงพื้นที่รอบตัว ความสัมพันธ์ระหว่างทิศทางของวัตถุต่างๆ ตำแหน่งบนล่าง ซ้ายขวา หน้าหลัง ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้ทั้งจากการเล่นต่อบล็อกไม้ กิจกรรมเคลื่อนไหวแระกอบจังหวะเล่นสมมุติ ซ่อนแอบและอื่นๆ
สำหรับพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่เด็กอนุบาลต้องทำความเข้าใจจะมีเพียงเท่านี้ ในบทความหน้า Bmum จะมาเล่าตัวอย่างของกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆและอุปกรณ์ที่โรงเรียนในสิงคโปร์ใช้เป็นสื่อการสอนนะคะ
โฆษณา