8 ก.ค. 2020 เวลา 07:54 • การศึกษา
📒ชั้นอนุบาล🖍 ตอนที่ 2 : ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยตามแนวสิงคโปร์
ตอนแรก Bmum กะจะเขียนบทความเรื่องอุปกรณ์การสอนและกิจกรรมการเรียนรู้เป็นบทความเดียวกันไปเลย ปรากฎว่ามันดูยาวไปอีกตามเคย เลยขอตัดแบ่งเป็นสองบทความนะคะ จะได้กระชับขึ้นมา
สำหรับแหล่งข้อมูลที่มา Bmum รวบรวมจากคู่มือการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์นะคะ
(อ่าน หัวข้อการเรียนรู้ที่เด็กอนุบาลสิงคโปร์จะต้องทำความเข้าใจเพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับชั้นประถม ได้ในบทความก่อนหน้า)
ในคู่มือการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ สำหรับชั้นปฐมวัยได้แนะนำไว้ว่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวจะส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ควรจัดบรรยากาศห้องเรียนให้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจ กระตุ้นให้เด็กอยากสำรวจ เด็กอาจเลือกเล่นคนเดียวหรือเล่นกับเพื่อนๆ ได้พูดคุยมีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความเข้าใจกัน ระหว่างนั้นก็ได้เรียนรู้เรื่องจำนวนและคณิตศาสตร์พื้นฐานไปด้วยในตัว…
ครูผู้สอนจะต้องคอยตั้งคำถามกับตัวเองเสมอ ว่าในขณะนี้จุดประสงค์การเรียนรู้คือหัวข้ออะไร ความเข้าใจหรือทักษะคณิตศาสตร์อะไรที่เด็กควรต้องได้ ควรจัดกิจกรรมอะไร ดังนั้นควรจัดสิ่งแวดล้อมให้เด็กได้เรียนรู้ยังไง ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง…(เดี๋ยวต่อไป Bmumจะเขียนบทความเรื่องกลยุทธ์และวิธีการสังเกตและประเมินผลเด็กแยกอีกทีนะคะ)
🧩อุปกรณ์ที่ใช้(Resources that support Numeracy)🎲
มีทั้งให้ครูเอามานำสอน และวางไว้เพื่อให้เด็กเอามาเล่นด้วยตนเอง อุปกรณ์ถือว่าเป็นส่วนสำคัญเพราะจะเอื้อให้เด็กได้มีประสบการณ์เชิงรูปธรรมในการเล่นและหยิบจับกับวัตถุของจริงซึ่งสิงคโปร์จะเน้นตรงนี้มากๆ (ไม่ใช่ว่าให้เด็กทำชีทแค่ไม่กี่แผ่นก็ถือว่าเรียนเข้าใจแล้ว)
การเลือกอุปกรณ์ที่ใช้…ต้องมีความแข็งแรง ปลอดภัย ดูดึงดูดน่าเล่น มีความยืดหยุ่นดัดแปลงได้หลายอย่างเพื่อให้เด็กนำไปเล่นได้สะดวก(ลักษณะมักเป็นของเล่นปลายเปิด open-ended ซึ่งคราวหลังBmumจะหาโอกาสเขียนบทความเรื่องนี้ต่อไป) ครูสามารถหมุนเวียนสับเปลี่ยนอุปกรณ์ในห้องเรียนได้เป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในช่วงเวลานั้น รวมถึงป้องกันไม่ให้เด็กเบื่อ...
ไปดูตัวอย่างกันเลยดีกว่าค่ะ ว่าเขานิยมใช้อะไรเป็นสื่อการสอนบ้าง…
🔰Counters หรือ ตัวนับ🔰 เป็นชุดของวัตถุเล็กๆจำนวนหลายชิ้น ที่เห็นฮิตกันมักเป็นหมีพลาสติกสีฉูดฉาด มักมีสีที่แตกต่างกัน4-5สี จริงๆเราอาจใช้ของที่หาง่ายรอบตัวก็ได้เช่นหลอดพลาสติกตัดเป็นท่อนสั้นๆ ฝาขวดน้ำพลาสติก กระดุม คลิปสีพลาสติกที่ไว้ปิดปากถุงขนมปัง หรือถ้าใครนิยมการใช้วัสดุจากธรรมชาติก็อาจเลือกเมล็ดพืชที่ไม่มีพิษหลายสี ก้อนกรวด เปลือกหอยที่ไม่คม ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้เล็กๆ ก็ได้
🔰Counting Boards หรือ แผ่นบอร์ดภาพฝึกนับจำนวน🔰 เป็นบอร์ดรูปภาพที่เด็กได้ใช้ฝึกการนับอย่าง “มีความหมาย” ไม่ใช่นับไปเรื่อยเปื่อยตามที่ถูกสั่งให้ทำ โดยที่ไม่ได้สอดคล้องกับการเล่นหรือความสนใจของเขา
🔰Beads and Laces หรือ ลูกปัดและเชือกร้อย🔰 การได้ร้อยลูกปัดเข้ารวมกัน หรือเอาลูกปัดออกมาจากพวง จะทำให้เด็กได้เข้าใจความหมายของการรวมกันและการนำออกไป ในขณะที่ได้ฝึกสมาธิและกล้ามเนื้อมือไปด้วย
🔰Dice and Dominos หรือ ลูกเต๋าและบล็อกโดมิโน🔰 การที่เห็นภาพจุดจำนวนและต้องใช้จำนวนในการเล่นเกมที่สนุกสนานจะทำให้เรียนรู้ได้ดีและฝึกจำภาพจำนวนไว้ในใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการคำนวณในใจต่อไป และโดมิโนยังเหมาะสำหรับใช้ฝึกการจัดประเภทเดียวกัน(matching)ได้อีกด้วย
🔰Unifix Cubes หรือ ชุดตัวต่อลูกบาศก์🔰เป็นชุดตัวต่อบล็อกลูกบาศก์ ใน 1ชุดมักจะมีสิบสี สีละสิบบล็อก รวมกันก็มี100 บล็อกพอดี เหมาะสำหรับใช้เป็นตัวนับ,ทำความเข้าใจเรื่อง part-whole relationship เช่นให้เด็กช่วยกันต่อบล็อกให้ได้แถวยาวรวม 5 บล็อก โดยคนหนึ่งมีแต่สีแดง อีกคนมีแต่สีเหลือง ทั้งคู่จะนำมาต่อรวมกันได้กี่วิธี?
🔰Interlocking Bricks หรือ ชุดตัวต่อสไตล์เลโก้🔰คล้ายunifix cubes คือนำมาใช้ได้ทั้งเป็นตัวนับ เข้าใจเรื่องpart-whole relationship นำมาสร้างรูปร่าง รูปทรงต่างๆ และทำความเข้าใจเรื่องมิติสัมพันธ์
🔰Number Line หรือ เส้นจำนวน🔰ใช้ทำให้เห็นภาพการเรียงลำดับของตัวเลขจากน้อยไปมากหรือถอยหลังกลับมาทีละหนึ่ง อาจใช้เส้นจำนวนเพื่อทบทวนความหมายของตัวเลขโดยนำของจำนวนเท่าตัวเลขมาวางด้านบน หรือปิดตัวเลขบางตัวแล้วให้เด็กทายว่าเป็นตัวเลขอะไร
🔰Five and Ten Frames หรือ กรอบจำนวนห้าและสิบ🔰 เป็นช่องสี่เหลี่ยมเท่าๆกันขนาดใหญ่พอที่จะให้เด็กวางตัวนับลงไปได้ เป็นการฝึกจัดระเบียบจำนวนเบื้องต้นซึ่งถ้าเด็กเคยชินแล้ว อีกหน่อยพอเริ่มเข้าสู่บทเรียนเรื่องบวกลบคูณหาร,หลักหน่วยหลักสิบ เด็กก็จะสามารถมองเห็นภาพวัตถุอยู่ในกรอบจำนวน และสามารถจัดการคำนวณวัตถุในใจได้ง่าย (Bmum ไม่เคยฝึกคณิตแนวนี้มาก่อนเลย อาจเป็นสาเหตุที่พอเรียนคณิตศาสตร์ชั้นสูงขึ้นไปแล้วตีโจทย์ไม่ค่อยแตก หรือทำโจทย์เชาวน์ที่ต้องนึกภาพจินตนาการในใจไม่ค่อยออก)
🔰Geoboard หรือ กระดานตะปูสร้างรูปเรขาคณิต🔰 เป็นกระดานที่มีตะปูหรือหมุดปักเรียงเป็นแถว เด็กสามารถใช้หนังยางหลากสีคล้องเพื่อสร้างรูปเรขาคณิตต่างๆได้ด้วยตนเอง เป็นวิธีการที่ทำให้ได้ประสาทสัมผัสของจริง เข้าใจสัดส่วนต่างๆและพื้นที่ของรูปเรขาคณิตด้วยการลงมือปฏิบัติ
🔰Pegboard หรือ กระดานหมุดสร้างภาพ🔰 ก็มีประโยชน์คล้ายๆกับgeoboard แถมยังใช้เรียนรู้เรื่องconservation of number ได้คือจำนวนไม่เปลี่ยนถึงจะลองปักหมุดเรียงในรูปแบบต่างๆกันออกไป
🔰Construction Blocks หรือ บล็อกไม้สร้างเมือง🔰 เป็นของเล่นยอดนิยมสำหรับเด็กอยู่แล้ว เด็กจะได้เรียนรู้ทั้งจำนวน รูปร่าง รูปทรง พื้นที่ ปริมาตร มิติสัมพันธ์ จากการได้เล่นต่อบล็อกชนิดนี้ การที่ฝึกวางบล็อกต่อสูงเป็นตึกหรือปราสาทโดยพยายามไม่ให้ล้ม จะทำให้เด็กเข้าใจชัดเจนเรื่องความสมดุลซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับสูงขึ้นไป
🔰Pattern Blocks หรือ ชุดบล็อกเรขาคณิต🔰 เป็นแผ่นไม้หรือพลาสติกแบนๆซึ่งมักมีรูปร่างและสีที่ต่างกัน 6 แบบ มักมีแต่ละแบบขนาดเท่าๆกัน นอกจากเหมาะกับใช้เป็นตัวนับ เรียนรู้เรื่องรูปร่างเรขาคณิตแล้วยังเหมาะมากกับให้เด็กใช้สร้างแพทเทิร์นอีกด้วย
🔰Tangrams แทนแกรม🔰 เป็นชุดไม้ตัวต่อของจีน มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง จะประกอบด้วยสามเหลี่ยมมุมฉากขนาดเล็ก 2 ชิ้น รูปสามเหลี่ยมขนาดกลาง 1ชิ้น รูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ 2 ชิ้น สี่เหลี่ยมจัตุรัส 1ชิ้นและสี่เหลี่ยมด้านขนาน 1 ชิ้น ทุกชิ้นมีลักษณะสมมาตรกัน ถ้าต่อรวมกันได้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ เด็กสามารถเอามาต่อเล่นเป็นรูปร่างต่างๆได้ และได้ทำความเข้าใจเรื่องขนาด,พื้นที่และความสมมาตรไปด้วย
🔰Art and Craft supplies(อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานประดิษฐ์หรือศิลปะ) และของที่ใช้เล่นสมมุติ(Dramatic Play)🔰 ก็ส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาเข้ากับการนำเอาไปใช้อย่างมีความหมายจริง เช่นการให้ปั้นแป้งโดว์ตอน(เล่น)ทำอาหาร จะทำให้เด็กได้เข้าใจเรื่องปริมาณ ความสั้นยาวของก้อนแป้ง หรือการเล่นตั้งร้านขายของ ก็จะทำให้ได้ฝึกฝนการใช้ความรู้เรื่องจำนวนเวลาซื้อขาย เป็นต้น
สังเกตเห็นว่าอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้หายาก หรือเราสามารถทำเองขึ้นมาได้ Bmumคิดว่าเราไม่ต้องมีของครบทุกอย่างแค่พอได้ไอเดียว่า การเรียนรู้คณิตศาสตร์ของเด็กอนุบาลในสิงคโปร์เขาใช้อะไรกันบ้าง และเพื่อประโยชน์อะไร
หลังจากได้เห็นตัวอย่างของอุปกรณ์ที่ใช้เป็นสื่อการสอนแล้ว ในบทความหน้า Bmum จะมาเล่าถึงตัวอย่างกิจกรรมที่ใช้ในการเรียนรู้กันนะคะ
โฆษณา