Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขียนตามใจ ทำตามชอบ
•
ติดตาม
2 ก.ค. 2020 เวลา 22:16 • ครอบครัว & เด็ก
🌸เด็ก พูดเมื่อไร? 🌸
สงสัยไหมคะว่า จากทารกที่นอนได้แต่ส่งเสียงร้องไห้ เขาเติบโตขึ้นมาจนพูดกับเราได้เมื่อไร?
สมองน้อยๆของทารกมีกลไกมหัศจรรย์อะไรหรือ ที่ทำให้เปล่งเสียงพูดออกมาได้ในเวลา 2ปีแรกของชีวิต
เด็กเขาไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆก็พูดขึ้นมาได้เอง เขาต้องเก็บรับข้อมูลเข้าไปก่อน สะสมไปเรื่อยๆ เหมือนสะสมทรัพย์สมบัติ คือทีละน้อยค่อยๆเก็บค่ะ
ข้อมูลอะไรล่ะที่เด็กเก็บเข้าคลังสมอง?
เสียงที่เขาได้ยินไงคะ
เสียงคนพูดคุยกัน เปรียบได้กับดนตรี คำพูดแต่ละคำคือตัวโน้ต
เวลาเราร้องเพลง เราฟังเสียงร้องกับดนตรี หรือเราร้องตามโน้ตที่เขียนไว้คะ?
ส่วนใหญ่เราฟังใช่ไหมคะ ฟังบ่อยๆ ฟังด้วยความสบายใจ จนท่วงทำนองดนตรีมันซึม เข้าไปในสมองเองโดยไม่รู้ตัว แล้วพอฟังได้ที่ จะเริ่มฮัมทำนองตาม ต่อมาคือร้องตาม แล้วก็ร้องเองได้ (ร้องเพราะไม่เพราะก็อีกเรื่องหนึ่ง😀)
การพูดของเด็กก็เช่นเดียวกันค่ะ ทารกเล็กๆเขาจะฟัง และจับเสียงพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับเขาเอง ฟังในภาพรวม เหมือนเราฟังท่วงทำนองเพลง ส่วนคำพูด เหมือนกับตัวโน้ต ที่มาร้อยเรียงเป็นประโยค หรือเป็นเพลง
ฟังบ่อยๆเข้า ก็จะอือออ ทำเสียงสูงๆต่ำๆตามจังหวะการพูดก่อน อายุ1ปีขึ้นไปก็จะเริ่มออกเสียงตามคำหลัง แต่จะหมายความถึงทั้งประโยค
https://www.wbur.org/npr/610796636/baby-talk-decoding-the-secret-language-of-babies
เช่น “หม่ำ “ แปลว่า “หิว..อยากกินแล้ว”
การได้ยิน และการออกเสียง:
ศูนย์กลางในสมองที่เกี่ยวกับ พัฒนาการทางภาษา
🌸ระบบการได้ยิน🌸
หู เป็นอัจฉริยะทางดนตรี (Musical Genius) ซึ่งประกอบด้วย หูชั้นในสุดที่มีลักษณะขดเป็นก้นหอย ข้างในมีสายพิณเล็กๆ 64 สายขึงอยู่ พอมีเสียงตกกระทบก็จะสั่นสะเทือน ส่งสัญญาณไปที่สมองส่วนกลาง
ด้านหน้า”พิณ” ก้นหอยนี้เป็นแผ่นบางๆ เหมือนหนังขึงหน้ากลอง เสียงที่ผ่านรูหู เข้ามาก็จะกระทบแผ่นนี้ ส่งความสั่นสะเทือนไปยัง กระดูกเล็กๆ 3 ชิ้น - ค้อน ทั่ง โกลน ที่ไปต่อกับก้นหอย
ระบบการได้ยิน พัฒนาได้ดีตั้งแต่ทารกในครรภ์อายุ 7 เดือนขึ้นไป ถ้าคลอดหลังจากนี้ หูก็พร้อมจะรับฟังเสียงแล้วค่ะ
ก้นหอย ในหูชั้นใน
🌸พัฒนาการ การพูด 🌸
เริ่มตั้งแต่แรกคลอดใหม่ๆเลยค่ะ
ใน 2 เดือนแรก สายตาลูกจะจับจ้องมองปากแม่อย่าง พิศวงงงงวยว่า ริมฝีปากแดงที่ขยับไปมานี้ ทำให้เกิดเสียงเปล่งออกมาได้อย่างไร
เอาล่ะ! ฉันจะลองขยับปากตามดูซิ
แรกๆเสียงยังไม่ออกมา แต่เวลาผ่านไปจนประมาณอายุ 2 เดือน ทารกจะเริ่มจีบปากจีบคอคุยแล้วค่ะ “อือ ออ อา อู” เรียกว่า คุย “อ้อแอ้” พร้อมกับส่งยิ้มหวาน
อายุ 4 เดือน จะเริ่มหัวเราะเสียงดัง
อายุ 6 เดือน ส่งเสียงที่ใช้ริมฝีปากออกเสียง เช่น
ปาปา มามา สังเกตว่า ไม่ว่าภาษาไหน คำที่ใช้เรียกพ่อแม่ จะเป็นเสียงกลุ่มนี้ทั้งนั้นค่ะ เพราะ ออกเสียงได้ง่ายที่สุด
อายุ7 เดือน ออกเสียงต่อกันหลายพยางค์ได้
อายุ 10 เดือน จะใช้เสียงออกมาอย่างมีความมุ่งหมาย เช่น ส่งเสียงเรียก
พอครบ 1ปี ก็จะมีคำพูดเป็นคำๆที่ บอกว่าเขาเข้าใจความหมาย
https://www.infacol.co.uk/blog/paying-attention-baby-babble-helps-language-development/
🌸”พากษ์หนัง” :เล่าเรื่องชีวิตประจำวัน🌸
ในช่วงนี้ เด็กจะมีความคิดพรั่งพรูในสมอง แต่ยังหาคำมาอธิบายอย่างเหมาะสมไม่ได้ ด้วยคำยังจำกัด พ่อแม่ต้องคอย อธิบาย พูดคุยกับลูกในสิ่งที่ลูกกำลังสนใจอยู่
เหมือนกับคอย “พากย์หนัง” ให้ลูกฟัง เช่น ลูกชี้ไปที่ตุ๊กตารูปลิงที่นั่งอยู่ “น้องลิงไงลูก มานั่งอยู่ที่นี่ทำไมหนอ? มาเราไปจูงน้องลิงไปเดินเล่นดีกว่า “ พูดไปก็จับมือลูกพาเดินไปจูงน้องลิง ตามที่เราพากย์ไว้แล้ว
ลูกก็จะค่อยๆเข้าใจ คำว่า ลิง จูง เดิน
ใช้วิธีนี้กับทุกๆกิจกรรมค่ะ กินข้าว อาบน้ำ เจอผู้ใหญ่ ให้ยกมือสวัสดี ขอบคุณเมื่อได้รับของ เราผูกเป็นเรื่องราวขึ้นมาได้ทั้งนั้น คลังคำศัพท์ของลูกจะค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย อย่างไม่น่าเบื่อ
🌸พูด และฟัง 🌸
อ้อ! อย่าลืมเว้นช่วงเวลา ฟังลูกพูดกลับมาบ้างนะคะ 😀 พูดสลับกับฟัง ไม่ใช่แม่พูดอยู่คนเดียว
https://www.texaschildrens.org/blog/2013/05/benefits-talking-infants-tell-your-baby-good-stuff
และต้องดูอารมณ์ของลูกด้วยค่ะ ว่า หมดความสนใจหรือยัง ถ้าลูกเบื่อก็เปลี่ยนไปหยิบหนังสือมาเปิดอ่านบ้างก็ได้ค่ะ
🌸หนังสือ 🌸
คือสื่อที่ทุกบ้านต้องมี และเริ่มอ่านกับลูกได้
ให้ลูกนั่งบนตักเราได้พลิกหน้าหนังสืออ่านไปด้วยกัน
หนังสือสำหรับเด็กเล็ก ไม่ต้องมีตัวหนังสือมาก ค่ะ ขอให้มีภาพที่ชัดเจน มีเรื่องราวในภาพให้เด็กมีจินตนาการไปได้กว้างไกล
สมัยที่ลูกอายุ 1ปีครึ่ง จะอ่านหนังสือชื่อ “ของเล่นเดินทาง “ ให้ลูกฟังทุกวัน เป็นหนังสือที่ทำได้ถูกใจเด็กมากๆค่ะ เป็นเรื่องการทำของเล่นจากชิ้นไม้จริงๆ จาก “ขอนลอย” มาทำเป็นเรือ “แต่งลำ” แล้ว “ใส่ล้อ” จากขอนไม้ ค่อยๆกลายเป็นของเล่น 1 ชิ้น 2ชิ้น มารวมกันเป็นกลุ่ม ลูกเปิดทุกวัน จนหนังสือหลุดลุ่ย จนท่องได้ว่า หน้านี้อ่านว่าอย่างไร
ภาพถ่ายจากชิ้นไม้ ที่เอามาทำเป็นของเล่น คำอธิบายสั้นๆ
หนังสือ “ของเล่นเดินทาง” เล่มที่ใช้อ่านกับลูก พิมพ์โดยมูลนิธิเด็ก เขียนโดย เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิบป์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พศ 2532 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประเภทหนังสือเด็กเล็ก ปัจจุบันเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 แล้วค่ะ
เริ่มฝึกให้ลูกพูด ด้วยการพูดให้ลูกฟังตั้งแต่แรกเกิด
“คำพูด คือ การประกอบคำ ถักทอขึ้นมาเป็นภาษา โดยกลไกพิเศษ “ ที่มีอยู่ในสมองของเด็ก ทำให้เด็กๆเรียนรู้ภาษาต่างๆได้รวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ค่ะ
🌺สรุป🌺
1. เริ่มพูดคุยกับลูกตั้งแต่แรกเกิด
2.พูดให้ลูกฟังบ่อยๆ เพื่อเก็บเข้าคลังข้อมูลในสมองลูก
3.ผลัดกันพูด ผลัดกันฟัง. อย่าลืมเว้นช่วงนิ่ง เพื่อฟังลูกคุยตอบด้วย
4.สมองเป็นศูนย์รับรู้ ได้ยินเสียง นำเข้าไปเป็นข้อมูล ให้สมองส่วนควบคุมการพูด เปล่งเสียงเป็นคำพูดได้ต่อไป
5.ให้ลูกนั่งบนตัก และ อ่านหนังสือกับลูกทุกๆวัน
บทความโดย พญ ศิริพัฒนา ศิริธนานัตนกุล
เอกสารอ้างอิง
“The Absorbent Mind “ Maria Montessori
บทที่ 2 “ How Language calls to the Child”
บันทึก
7
8
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ขวบปีแรก Basic Trust
7
8
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย