7 ก.ค. 2020 เวลา 12:46 • การศึกษา
🍄ขั้นตอนพัฒนาการเด็ก🍄
🌺แม่มือใหม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าจับลูก1-2 เดือนแรกคว่ำ
เคยเห็นแม่ชาวอาฟริกาไหมคะ นั่นเขาเอาลูกมัดด้วยผ้าแบกขึ้นหลังตั้งแต่เกิดเลยมั้งคะ
เด็กก็จะเล่นกายกรรมบนหลังแม่ โยกซ้ายบ้างขวาบ้าง ไม่ถึง 3เดือนก็ชันคอได้แข็งแรงมากๆ🌺
เวลาปีนขั้นบันได ใครเคยก้าวข้ามขั้นบ้างคะ?
จากขั้นที่ 1 ก้าวถึงขั้นบนสุด ค่อยๆไต่ทีละขั้น ก้าวขึ้นยืนมั่นคงทั้ง2 เท้าก่อนจะไต่ขึ้นขั้นต่อไป
เก่งขึ้นมาหน่อยก็ก้าวสลับขากันขึ้น ฉับๆๆๆ ใครที่ใจร้อน (และขายาวหน่อย)ก็ ข้ามขั้นจาก1 ไป3 เลย อย่างนี้ก็เสี่ยงตกบันไดลงมาเริ่มต้นใหม่ กลับช้าไปอีก😅
ธรรมชาติของการเติบโตก็ต้องค่อยๆไต่ไปทีละขั้นเช่นกันค่ะ
ภาพจาก https://cliparts.zone/clipart/1419906
มีใครเคยเห็นทารกคว่ำได้ ก่อนที่จะยกคอไหมคะ?
หรือ ใช้นิ้วหยิบของได้ ก่อนจะใช้มือกำ ในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อายุสัก 2 -3ขวบ จับดินสอสีแท่งโตๆ โดยใช้มือกำทั้งแท่ง แล้วละเลงอย่างสนุกสนาน เพราะกล้ามเนื้อเล็กของนิ้วมือ ยังไม่แข็งแรงพอที่จะจับดินสอขึ้นมาเขียนอย่างผู้ใหญ่ค่ะ
🌸กล้ามเนื้อพัฒนา จากหัว ลงไปสู่ปลายเท้า🌸
1 เดือนแรก ลองจับลูกนอนคว่ำดูสิคะ (เลือกช่วงเวลาที่ไม่อิ่มจนเกินไป ) จากนอนแก้มซ้ายแนบพื้น ลูกจะผงกหัวหงึกขึ้นมาแป๊บหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนข้างเป็นเอาแก้มขวาลงไปแนบพื้นแทนได้ !
ทารกอายุ 2 เดือน นอนคว่ำยกคอได้ 45 องศา
แม่มือใหม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าจับลูก1-2 เดือนแรกคว่ำ “ไหวหรือคะ คอยังอ่อนอยู่เลย” ก็เพราะยังอ่อนถึงต้องฝึกไงคะ เคยเห็นแม่ชาวอาฟริกาไหมคะ นั่นเขาเอาลูกมัดด้วยผ้าแบกขึ้นหลังตั้งแต่เกิดเลยมั้งคะ เด็กก็จะเล่นกายกรรมบนหลังแม่ โยกซ้ายบ้างขวาบ้าง ไม่ถึง 3เดือนก็ชันคอได้แข็งแรงมากๆ
ต้องลองค่ะ (ไม่ใช่เอาลูกมัดผ้าแบกขึ้นหลังนะคะ แค่นอนคว่ำก็พอ😀)นอนคว่ำเล่นตอนตื่นอยู่นะคะ ลูกจะผงกหัวหงึกหงักๆ ทำให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง และเวลานอนคว่ำ
กล้ิงบนพุงตัวเอง ก็ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีด้วยค่ะ(เวลานอนหลับให้นอนหงายหรือตะแคงเท่านั้นนะคะ ไม่หลับในท่าคว่ำ)
❣️นอนเล่นให้”คว่ำ” นอนหลับให้ “หงาย”❣️
ฝึกหัดกล้ามเนื้อคอบ่อยๆอย่างนี้ พอครบ 2 เดือน เวลานอนคว่ำจะชันคอได้สูงขึ้น เป็น 45 องศา และคงอยู่ได้นานขึ้น
4 เดือนก็จะชูคอตั้งฉากกับอกได้ ถ้าทำพร้อมๆกับการยกแขนขึ้นลง แล้วล่ะก็ เรียกว่า “ท่านกบิน” เริงร่า น่าสนุก
หัวเราะเอิ๊กอ๊ากทั้งบ้านกันเลยล่ะค่ะ😀
🌸จากคอ ก็ลงมาที่กล้ามเนื้อลำตัว
เริ่มจาก4 เดือน ก็จะพลิกจากท่าคว่ำ ลงไปเป็นหงายได้ก่อน พอลำตัวแข็งแรงขึ้น ปลายๆเดือนที่ 4 ขึ้น 5 ก็พลิกคว่ำพลิกหงายได้คล่อง
คราวนี้ เวลาวางให้นอนที่ไหน ห้ามคลาดสายตาเลยนะคะ มีสิทธิ์กลิ้งกะโล่โค่ ลงมานอนแอ้งแม้งที่พื้นได้โดยง่ายทีเดียวเชียว!
“ก็นึกว่าวิ่งไปแป๊บเดียวเอง เดี๋ยวก็กลับมา”ก็ที่เกิดอุบัติเหตุ ทั้งหลายนี่ก็ แป๊บเดียว ทั้งนั้นล่ะค่ะ ทิ้งไว้ไม่ได้เลยค่ะ!
🎈5-6 เดือน พอพลิกหงายเริ่มคล่องก็จะเริ่มคืบ กระดึ๊บๆ เหมือนหนอนน้อย หรือ ทหารที่ค่อยๆคืบพุงติดพื้นดินไปเรื่อย
🎈6 เดือนจับขึ้นมานั่ง หลังจะยังงอ เอามือยันตัวไว้
🎈7 เดือนถึงนั่งตัวตรง โดยพ่อแม่ไม่ได้พยุงได้แล้วค่ะ
🌸จากคอ ลำตัว แล้วก็ลงมาที่ขาบ้าง🌸
ก่อนจะไปต่อขอยกคำกลอนคล้องจอง ที่ท่องไว้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ เวลาใกล้สอบวิชาเด็ก ให้จำง่ายๆว่า เด็กมี”หลักไมล์ของพัฒนาการ” อย่างไรบ้าง
เด็กเบิ่งตามอง ยิ้มย่องผ่องใส
หันหัวร่ำไป แม่ไม่ต้องยก
มองไกลยกหัว คว่ำตัวนอนเหม่อ
Transferมือเดี่ยว นั่งเดี่ยวเรื่องจ้อย
หนูน้อยคืบคลาน ยืนนานต้องเหนี่ยว
ยืนเยี่ยวยังได้. เดินนานต้องเกาะ
ย่างเหยาะอาจหาญ
จะเป็นหมอ หรือจะเลี้ยงลูกก็ต้องมีหมุดหมาย หลักไมล์ (milestone) พัฒนาการ ว่าเป็นไปตามที่ควรไหม ถ้าช้ากว่าที่ควร หรือออกนอกลู่นอกทาง จะได้ตามกลับมาได้ทัน
อาจารย์บอกว่า นี่คือหัวใจของวิชาเด็กเลย นะคะ
ท่องเท่าไรตอนนั้นก็ไม่ค่อยจะจำ ทำไมตอนนี้อยู่ๆจำขึ้นมาได้ทั้งชุด แบบนี้เขาเรียกว่า ความจำระยะยาวเริ่มมา ในขณะที่ความจำระยะสั้นจะเริ่มไป😀ค่ะ
https://www.dreamstime.com/stock-illustration-baby-milestones-five-adorable-babies-demonstrate-their-newly-mastered-skills-sheet-one-image56986539
ไว้มาอธิบายหลักไมล์กันต่อคราวหน้า วันนี้พอแค่นี้ก่อน( เขาบอกว่าอย่าเขียนยาวเกิน...)
ติดตามต่อวัน พฤหัส ทุก อังคาร และพฤหัส จะคุยเรื่องสุขภาพเด็กค่ะ
ขอแถมเรื่อง Milestone ฝรั่งเขาวัดระยะเป็นไมล์ ฉะนั้น หลักหินหมุดบอกระยะทาง เขาจึงเรียก milestone
แต่ของเราหลักสีขาวๆ ที่ปักไว้ข้างทางหลวงสายต่างๆในประเทศไทย เรียก หลักกิโลเมตร เพราะเราวัดระยะทางเป็น
กิโลเมตรค่ะ
หลักเอาไว้ดูว่า มาถูกทางไหม อีกไกลเท่าไรจึงถึงจุดหมาย (สมัยนี้อากู๋ พาหลงประจำค่ะ ปักหมุดเสร็จ ขับไปตามทางยึกยือ ไปโผล่กลางทุ่ง 😄ที่ไหนก็ไม่รู้) สู้ดูหลักของจริงปักข้างทางดีกว่า ไม่หลงแน่☺️
หลักกิโลเมตรที่ 5 ทางหลวงสาย 3018

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา