Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายย่อยง่าย by Natarat
•
ติดตาม
10 ก.ค. 2020 เวลา 14:51 • การศึกษา
ก่อนบังคับจำนอง เจ้าหนี้จะต้องกำหนดเวลาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน หากเจ้าหนี้ให้เวลาชำระหนี้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ผลจะเป็นอย่างไร?
ด้วยสภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ ใครที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ก็น่าจะเกิดอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ กันบ้าง เพราะไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่
ยิ่งเวลาผ่านไปแล้วยังไม่ดีขึ้น โอกาสที่ธุรกิจหรืองานประจำที่ทำอยู่จะเกิดปัญหา ก็จะมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
และเมื่อรายได้หายไป หรือลดลงจนไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิมได้ การขาดผ่อนชำระค่างวดต่อสถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อก็คงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อลูกหนี้ขาดส่งค่างวด และการเจรจากับเจ้าหนี้ไม่เป็นผลอีกต่อไป มาตรการที่เจ้าหนี้จะต้องดำเนินการ คือ การบอกกล่าวบังคับจำนอง ก่อนที่จะฟ้องศาลเพื่อขอให้พิพากษายึดทรัพย์และขายทอดตลาด
ซึ่งในขั้นตอนการบอกกล่าวบังคับจำนองนี้เอง ที่กฎหมายได้กำหนดวิธีการ รวมถึงระยะเวลา ให้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
หากเจ้าหนี้รายใดไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อาจมีผลเสียหายอย่างคาดไม่ถึงก็ได้
ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบังคับจำนองไว้ว่า
“เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น
ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและขายทอดตลาดก็ได้..”
จากข้อกฎหมายนี้เอง หากเจ้าหนี้ได้มีหนังสือบอกกล่าว โดยกำหนดเวลาให้ลูกหนี้ชำระหนี้น้อยกว่า 60 วันจะมีผลอย่างไร?
1
มีคดีอยู่เรื่องหนึ่ง ลูกหนี้ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ไว้แก่เจ้าหนี้ และลูกหนี้ได้ผิดนัดชำระหนี้ในเวลาต่อมา
กรณีนี้ หากเจ้าหนี้จะบังคับจำนองเอากับทรัพย์สินที่ลูกหนี้ได้จดทะเบียนจำนองไว้ จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ เพื่อให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรแต่ต้องไม่น้อยกว่า 60 วัน
แต่คดีนี้ เจ้าหนี้ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง โดยให้ลูกหนี้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือทวงถาม ซึ่งเป็นเวลาที่น้อยกว่ากฎหมายกำหนดไว้
และเมื่อครบระยะเวลา 30 วัน ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามหนังสือทวงถาม เจ้าหนี้จึงฟ้องศาลเพื่อขอให้พิพากษายึดทรัพย์และขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองต่อไป
โดยเจ้าหนี้ได้อ้างต่อศาลว่า ตนได้กำหนดเวลาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 60 วันแล้ว หากนำระยะเวลา 30 วันตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง ไปรวมกับระยะเวลาหลังจากนั้นจนถึงวันฟ้อง!
ซึ่งศาลได้ตัดสินว่า เจ้าหนี้จะนำระยะเวลาที่ได้บอกกล่าวบังคับจำนอง (30 วัน) มารวมกับระยะเวลาหลังจากนั้นไปจนถึงวันฟ้องไม่ได้!!
(ระยะเวลาไม่น้อยกว่าเวลา 60 วันตามที่กฎหมายกำหนดนั้น จะต้องเป็นเวลาที่เจ้าหนี้ได้ให้เวลาลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ และได้บอกกล่าวไว้ในหนังสือบังคับจำนองจริง ๆ ไม่สามารถนำมารวมกับเวลาอื่น ๆ ตามที่เจ้าหนี้คดีนี้ยกขึ้นอ้างได้)
เมื่อเจ้าหนี้ให้เวลาลูกหนี้ชำระหนี้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงยังถือไม่ได้ว่าลูกหนี้ละเลย ไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ด้วยเหตุนี้ เจ้าหนี้จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ฟ้องลูกหนี้ไม่ได้นั่นเอง)
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 5702/2562)
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ
Facebook.com/Nataratlaw
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
Instagram.com/Natarat_law
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวสารหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ
https://twitter.com/Nataratlaw?s=09
Photo:
pixabay.com
9 บันทึก
44
15
19
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
9
44
15
19
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย