Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิรุฬหก
•
ติดตาม
11 ก.ค. 2020 เวลา 17:55 • ปรัชญา
"ทางสายกลาง" (มัชฌิมาปฏิปทา) Part1
moderate practice : Middle way ช่วงที่1
ในทัศนะปรัชญาภาษา "Philosophy of Language"
เครดิตภาพ: https://www.sgi.org
ในคัมภีร์ทางศาสนาของอินเดียเช่นพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู เวลาที่จะอธิบายว่ามีบางสิ่งที่ภาษาเข้าไม่ถึง ท่านก็มักจะยกตัวอย่าง ทำนองว่า ปลาอยู่แต่ในน้ำ ไม่เคยขึ้นไปบนบก ส่วนเต่านั้นอยู่ได้สองที่ วันหนึ่งเต่าขึ้นมาบนบกแล้วก็กลับลงไป เต่าเล่าให้ปลาฟังว่า บนบกนั้นมีของบางอย่างที่สวยงามแปลกประหลาดมาก ปลาก็ถามว่าเป็นอย่างไร เต่าก็จนใจไม่รู้จะอธิบายว่าอย่างไร เนื่องจากการอธิบายสิ่งที่คนฟังยังไม่มีประสบการณ์มาก่อนย่อมต้องการอะไรสักอย่างที่ผู้ฟังเคยมีประสบการณ์มาก่อนสำหรับเทียบเคียง ปัญหาคือของที่อยู่บนบกนั้นไม่มีอะไรที่อยู่ในน้ำจะยกมาเทียบได้ เต่าก็เลยนิ่ง อธิบายไม่ได้ ปลาจึงสรุปว่า "บกไม่มี เต่าตัวนี้เพี้ยนไปแล้ว"
1
เครดิตภาพ: https://sites.google.com
ท่านผู้อ่านสังเกตไหมครับว่าลึกๆนั้นภาษาเกี่ยวข้องกับความคิดมนุษย์มาก คนที่คิดได้ลึกซึ้งก็คือคนที่ใช้ภาษาได้ลึกซึ้ง สมมุติมีใครบางคนบอกเราว่า หลวงตาองค์นั้นองค์นี้ท่านเป็นนักปราชญ์ ความคิดท่านลึกซึ้งมาก แต่พอเราได้ยินท่านวิจารณ์อะไรสักอย่างแบบปราศจากตรรกะ แบบเอาอารมณ์เข้าว่า ความรู้สึกที่ว่าท่านเป็นคนมีความคิดอันลึกซึ้งก็จะไม่เกิดกับเรา ทำไมจึงไม่เกิด ก็เพราะเราอนุมานจากคำพูดคำจาของท่านนั่นเอง...
1
เครดิตภาพ: https://www.happinessisthailand.com
จำได้ไหมครับที่สมัยหนึ่ง ประธานาธิบดีอเมริกาคนหนึ่งพูดอย่างมีอารมณ์หลังจากเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกสูงในประเทศนั้น ท่านผู้นี้พูดว่า "เราจะถือว่าในโลกนี้มีประเทศอยู่สองแบบ แบบหนึ่งคืออยู่ข้างอเมริกา อีกแบบอยู่ตรงข้ามกับอเมริกา ประเทศใดก็ตามแต่ที่ไม่ต่อต้านประเทศมุสลิมที่สนับสนุนการก่อการร้าย เราจะถือว่าท่านเป็นศัตรูของอเมริกา"
คำพูดนี้สะท้อนความคิดอ่านของผู้พูดได้เป็นอย่างดี
1
ท่านผู้อ่านก็ทราบว่าการไม่แสดงตัวว่าเป็นปฏิปักษ์กับประเทศมุสลิม อย่างเช่นไทยเราก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นศัตรูกับอเมริกา
1
นี่เป็นตรรกะง่ายๆ ถ้าคิดตรรกะนี้ไม่ออก ต่อให้เป็นประธานาธิบดีประเทศมหาอำนาจก็งั้นๆเอง ภาษาจึงส่อความตื้นลึกของความคิดมนุษย์...
จะสังเกตเห็นว่าระบบความคิดของพระพุทธศาสนาและแนวคิดของทางตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คืออินเดียมักเชื่อคล้ายกันว่า "มีบางสิ่งที่ภาษาของมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้" ตัวอย่างของสิ่งที่ว่านี้ก็เช่นพระนิพพาน ทำไมจึงมีการอ้างว่ามีบางสิ่งที่ภาษาอย่างไรก็เข้าไม่ถึง คำตอบคือเพราะสมัยนั้นมีนักคิดบางคนเห็นว่าภาษาของมนุษย์นั้นคือเครื่องมือที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์เรามีอยู่ในการทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องรอบตัวและเรื่องตัวเอง ดังนั้นไม่มีอะไรที่ภาษามนุษย์จะเข้าไม่ถึง หากว่ามันมีอยู่จริง!
เครดิตภาพ: https://www.wegointer.com
อีกฝ่ายไม่รับความคิดนี้ สำหรับฝ่ายนี้เห็นว่า ภาษาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากก็จริง แต่ภาษาไม่สามารถเข้าถึงบางเรื่องที่ลึกซึ้งมากๆในทางจิตวิญญาณหรือศาสนา สำหรับชาวพุทธ พระนิพพาน อยู่พ้นอำนาจของภาษาที่จะอธิบาย ต่อให้เป็นพระอรหันต์ ก็อธิบายไม่ได้ ในศาสนาฮินดู พระเจ้าหรือที่เรียกว่าพรหมันก็อยู่พ้นขอบเขตของภาษาที่จะบรรยายได้
1
ตัวอย่างเรื่องปลาและเต่าข้างต้นก็เช่นกันถูกใช้เพื่อแสดงว่าภาษาของมนุษย์เรา อาจรวมภาษาของสัตว์ชนิดอื่นที่สูงกว่ามนุษย์เช่นเทวดาด้วย ซึ่งมีข้อจำกัด
1
การแสดงให้เห็นว่าภาษามีข้อจำกัดนี้อาจทำได้หลายทาง แต่ไม่ว่าจะเป็นทางใดก็เหมือนกันคือนำเอาแนวคิดบางอย่างที่อยู่นอกภาษามาวิจารณ์ภาษา กรณีข้างต้น สิ่งที่ถูกนำเข้ามาเพื่อแสดงว่าภาษามีข้อจำกัดก็คือทัศนะทางศาสนา การนำเอาสิ่งอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวิธีการทางปรัชญามาวิจารณ์หรือทำความเข้าใจภาษาในแง่มุมต่างๆ (ซึ่งมากกว่าเรื่องข้อจำกัดของภาษาที่กล่าวข้างต้น)
1
เราเรียกว่า "Philosophy of Language"
เครดิตภาพ: https://www.friendsinrome.com
ผมเชื่อว่าภาษาเป็นเครื่องมือตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ฝังอยู่ในเนื้อตัวของเราเสร็จสรรพแล้วมาตั้งแต่เกิด ถ้าเราพัฒนาเครื่องมือนี้อยู่เสมอ ใช้งานมันเสมอ ความคิดเราจะแหลมคม บางเรื่องเราอาจไม่รู้ เช่นเนื้อหาทางปรัชญาเกี่ยวกับความคิดของนักปรัชญา แต่เมื่อได้ยินข้อมูลให้เล่าฟังว่านักคิดคนนั้นคนนี้เขาคิดเรื่องนี้ว่าอย่างนี้ี
เราก็สามารถแสดงความคิดจะโดยสนับสนุนหรือโต้แย้งคนเหล่านี้ก็ตามที นี่คืออานุภาพของการวิเคราะห์ทางภาษา
2
ท่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผม เพราะการวิเคราะห์อะไรก็ตามแต่ในทางภาษานั้น ต้องการ "เนื้อหา" บางอย่างในหัวสมองของเรา เนื้อหาเหล่านี้ผมเชื่อว่าคนเรามีไม่เท่ากัน หรือไม่เหมือนกัน เพราะเราเป็นคนละคน เกิดคนละที่ เรียนมาคนละที่ รสนิยมในทางความคิดก็เป็นของใครของมัน...
1
ผมไม่ต้องการให้ท่านผู้ใดเห็นด้วยกับผมหรอกครับ แต่ต้องการแสดงให้ดูว่า ความเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นจะละเอียดขึ้น ประณีตขึ้น ถ้าเรารู้จักใช้ประโยชน์ในเรื่องการวิเคราะห์ทางภาษา
1
พระพุทธศาสนานั้นบางครั้งก็มีผู้ขนานนามว่า "ลัทธิทางสายกลาง" ผู้ที่กล่าวอย่างนี้คนหนึ่งที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาก็คือท่านนาคารชุน(Nagarjuna)
ท่านผู้นี้เสนอความคิดในการเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าออกมาแนวหนึ่ง ซึ่งต่อมาแนวที่ว่านี้ก็มีชื่อเรียกว่า "สำนักทางสายกลาง" ที่เรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่าสำนัก "มาธยมิกะ"
เครดิตภาพ: http://buddhaholic.blogspot.com
หลักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี สด จนฺทสโร)ที่ว่าด้วยเรื่องศูนย์กลางกายนั้น ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่ามาจากการตีความเรื่องทางสายกลางของพระพุทธศาสนานี่เช่นกัน
หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านตีความว่า "กลาง" หมายถึง "ศูนย์กลาง" ดังนั้นหลักปฏิบัติที่เรียกว่าทางสายกลาง ซึ่งเรียกในภาษาบาลีว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าจะนำไปสู่การรู้แจ้งนั้น
1
สำหรับหลวงพ่อสด ท่านจึงหมายถึงการเพ่งไปที่ศูนย์กลางกาย ซึ่งมีอยู่หลายศูนย์ฯ ไล่ไปตามลำดับจนถึง ศูนย์กลางกายฐานที่7 ก็ตรึกเพ่งกลางของกลางเรื่อยๆ จนที่สุดผู้ปฏิบัติก็จะไปทะลุถึงนิพพาน!
เครดิตภาพ: https://www.dhammakaya.net
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา "ป. อ. ปยุตฺโต" ก็แสดงความเห็นเรื่องทางสายกลางนี้เอาไว้ในงานนิพนธ์เล่มสำคัญของท่านคือ "พุทธธรรม"
1
ที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตเอาไว้ตรงนี้มีเพียงว่า สามท่านที่เอ่ยนามมานั้นเป็นบุคคลสำคัญในทางพระพุทธศาสนา
แต่ท่านเหล่านี้คิดไม่เหมือนกันในเรื่องที่ว่าทางสายกลางที่พระพุทธศาสนาสอนหมายความว่าอย่างไร
เครดิตภาพ: http://www.bia.or.th
ผมเชื่อว่าการวิเคราะห์ทางด้านภาษาอาจช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าทำไมสามท่านนี้ (รวมทั้งท่านอื่นด้วย) จึงคิดไม่เหมือนกัน...
จะเป็นการดีถ้า เราไปดูว่าในวงการปรัชญา เท่าที่เคยมีมาในอดีตจนกระทั่งปัจจุบันสำหรับเรื่องนี้มีจุดตั้งต้นไว้ว่าอย่างไร
ผมจะจำกัดไปที่อินเดียในสมัยพุทธกาลนะครับ เพราะว่าคำตอบมันมีมาก เราไม่สามารถจะตอบเรื่องนี้โดยไปพิจารณาความคิด ของนักคิดหรือสำนักความคิดทางปรัชญาทุกอย่างได้
ขอเจาะจงไปที่อินเดียสมัยพุทธกาลเท่านั้นนะครับ
คืออย่างนี้ครับ คนอินเดียที่เป็นนักคิดสมัยก่อน เขาบอกว่าคนเราเกิดมาแล้ว ชีวิตมันเป็นของชั่วคราว โดยเฉลี่ยเราก็มีอายุกันประมาณสัก 70- 75 ปี เอาสัก70ปีก็แล้วกัน เลขกลมๆ 70ปี คูณด้วย 365วัน มันก็ไม่กี่หมื่นวันนะฮะ 25,550 วัน หรือบางคนอายุยืน ก็อาจจะประมาณสัก3หมื่นไล่ๆไป4หมื่นวัน.
เอาเป็นว่า ในแต่ละวันพอพระอาทิตย์ขึ้น เราตื่นนอน นาฬิกาเดิน เราก็ทำกิจกรรม พอพระอาทิตย์ตก เราก็กลับบ้าน กินข้าวกินปลา พักผ่อน แล้วเราก็นอนหลับ
เพื่อที่จะอะไรครับ...
1
เพื่อที่จะรอให้พระอาทิตย์ขึ้น แล้วก็ทำเหมือนเดิมในวันถัดไป ทุกครั้งที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์ตก เราก็เสียหนึ่งวันไป
1
ลองนึกภาพนะครับ ท่านผู้อ่านมีเหรียญอยู่ในกระเป๋า 3-4หมื่นเหรียญ ในแต่ละวันเราก็ต้องควักออกมาใช้วันละหนึ่งเหรียญ ทุกวัน แน่นอนครับ สักวันเหรียญเหล่านี้มันก็ต้องหมด...
วันที่เหรียญหมดก็คือวันที่เราตายนะครับ!...
เครดิตภาพ: https://www.sanook.com
คำถามคือ เมื่อเรามีเวลาจำกัดเช่นนี้ เราควรจะเอาเวลาชีวิตในแต่ละวันไปทำอะไร จึงจะถือว่าคุ้มค่าที่สุด นี่คือคำถามที่นักคิดอินเดียในสมัยนั้นเขาถามนะครับ ทีนี้พอมีคำถาม...
1
แน่นอนครับนักคิดเหล่านี้เขาพยายามตอบ!
คำตอบที่หนึ่ง อันนี้น่าสนใจครับท่านผู้อ่านลองฟังดูนะครับ แนวคิดแบบที่๑ เขาบอกว่าการที่เราจะรู้ว่าชีวิตที่เราจะใช้ไปทำอะไรจึงจะถือว่าคุ้มค่า เราจะตอบลอยๆโดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวิตไม่ได้หรอก...
1
ผมถือว่าแนวคิดที่จะเล่าสั้นๆต่อไปนี้เป็นแนวคิดแบบธรรมชาตินิยม(Naturalism) ชนิดหนึ่งในอินเดียสมัยโบราณ ซึ่งศาสนาพุทธนั้นในแง่หนึ่งก็มีความคิดแบบธรรมชาตินิยม แต่เนื่องจากธรรมชาตินิยมก็มีได้หลายแบบ ก็ไม่จำเป็นว่าธรรมชาตินิยมของสำนักที่ผมจะพูดถึงนี้ จะเป็นธรรมชาตินิยมแบบเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านสอนครับ...
ย้อนกลับมาที่นักปรัชญาพวกธรรมชาตินิยม(Naturalism)กลุ่มนี้... พวกนี้เขาบอกว่าถ้าสังเกตดูชีวิตเราดูแล้ว
ธรรมชาติสร้างให้เราชอบบางอย่าง ไม่ชอบ หรือเกลียดบางอย่าง ชอบบางสิ่งแล้วในขณะเดียวกันก็เกลียดบางสิ่ง บางอย่าง... ที่นี้ถ้าจะพูดโดยประมวลเนี่ย สิ่งที่เราชอบก็คือ สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข...
สิ่งที่เราไม่ชอบก็คือสิ่งที่ทำให้เรามีความทุกข์ ถ้าถามท่านผู้อ่านว่า สมมุติเราไปเช่าห้อง อ่ะไปนอนโรงแรมก็ได้ เสร็จแล้ว พนักงานก็บอกว่า โรงแรมเขาราคาห้องมันเท่ากันหมด เขามีห้องให้เลือก สองแบบ สองประเภท
ห้องประเภทที่๑ เขาเรียก ห้องร้อน นะครับ ก็คือไม่มีแอร์ ห้องประเภทที่สองก็คือ ห้องเย็น ก็คือมี เครื่องปรับอากาศ สมมุติว่า ค่านอนในโรงแรมนั้น ราคาคืนละ 1,000 บาท ถามครับว่าท่านผู้อ่านจะเลือกนอน ห้องร้อนๆ หรือว่า ห้องเย็นๆล่ะ
ราคาเท่ากันหนึ่งพัน...
1
เครดิตภาพ: https://www.agoda.com
ผมไม่คิดว่าจะมีใครเลือกนอนห้องร้อนครับ ถามว่าทำไม ก็เพราะว่า ร้อนแล้วมันทุกข์ครับ ทำไมเราถึงชอบนอนห้องเย็นก็เพราะว่า เย็นพอเหมาะพอดี นี่มันทำให้เกิดความสุขไงฮะ อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง
ลองคิดเรื่องอื่นๆนะครับ สมมุติว่าเราไปกินอาหาร แล้วแม่ค้าบอกว่า ราคาอาหารร้านนี้ทุกจานเท่ากันหมด มีอาหารสองชนิดคือ อร่อย กับไม่อร่อย แน่นอนครับเราก็ต้องเลือกอาหารที่มันอร่อยใช่มั้ยครับ
1
เครดิตภาพ: https://food.mthai.com
เพราะสังเกตแบบนี้แหละครับ นักปรัชญากลุ่มนี่ก็เลยบอกว่า ชีวิตเรา ไม่ว่าเราจะพยายามหาว่า ชีวิตประเสริฐเป็นยังไง คิดไปเหอะครับ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ธรรมชาติมันจะบงการเราเองครับ
เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ก็เลยบอกว่า ในทัศนะของพวกเขา ชีวิตของคนเรานี่ควรใช้เพื่อที่จะแสวงหาความสุข และก็หลีกเลี่ยงความทุกข์ ไม่มีเหตุผลที่จะไปหาอย่างอื่นที่ไม่ใช่ความสุข นี่คือเหตุผลของเขานะครับ
แนวคิดแบบนี้ภายหลังในทางปรัชญา เรากำหนดชื่อเรียกแนวคิดแบบนี้ว่า แนวคิดแบบ "สุขนิยม"(Hedonism) หรือนิยมความสุข!
ความสุขในทัศนะของกลุ่มนี้เนื่องจากฐานความคิดของพวกเขาคือธรรมชาติของชีวิตเรา ซึ่งมันเป็นข้อเท็จจริง ที่วัดได้ จับต้องได้
เพราะฉะนั้นความสุขในทัศนะของคนกลุ่มนี้ก็คือ ความสุขที่สามารถวัดได้ จับต้องได้ ซึ่งก็เริ่มต้นจากความสุขทาง อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น แล้วก็กาย ส่วนความสุขทางใจ ถ้ามันเป็นสิ่งที่วัดได้ จับต้องได้ คนเหล่านี้ก็ถือว่า ก็จัดอยู่ในความสุขที่พวกเขาหมายถึงนะครับ
ทีนี้โดยรวมๆเนี่ย ทฤษฎีจริยศาสตร์(Ethics)ของสำนักนี้เสนอว่า คนเราเกิดมาแล้วเนี่ย มันเป็นคล้ายๆกับเป็นหน้าที่ของชีวิตเลยนะครับ ที่ว่าเราจะต้องหาความสุขให้กับตนเอง
เครดิตภาพ: https://www.thairath.co.th
งั้นการหาความสุขนั้นมันก็จะต้องมีเครื่องมือครับ เครื่องมือที่ดีที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์มนุษย์ได้แสดงให้เราเห็นว่าใช้หาความสุขได้ดีที่สุด ก็คือความรู้ ครับ
เพราะฉะนั้นคนเราเกิดมาก็ต้องรู้จักเรียนหนังสือ เรียนหนังสือจะทำให้เรามีความรู้ หรือว่าจะเป็นการฝึกทักษะอาชีพอะไรก็ได้ เรียกรวมๆก็แล้วกัน
ซึ่งพอมีความรู้แล้วก็จะทำให้เราเป็นคนที่บริหารจัดการ คัดเลือกว่าอะไรคือสุข ที่มีคุณภาพดีกว่าให้กับชีวิตได้ และยิ่งเป็นสมัยนี้นะครับ คนที่มีความรู้ก็จะเป็นคนที่หาเงินได้ง่ายกว่าคนที่มีความรู้น้อย
1
ความสุขที่ว่ามันต้องเอาเงินไปแลกใช่มั้ยครับ เช่นเราจะมีอาหารดีๆกิน มีบ้านดีๆอยู่ มีรถดีๆขับ เราก็ต้องมีเงิน เราจะหาเงินได้ลำบากถ้าเราไม่มีความรู้
ดังนั้นถ้าอยากจะมีความสุข ก็ต้องใส่ใจ ร่ำเรียนหนังสือ ตระเตรียมตนเองให้เป็นคนที่มีมีวิชาความรู้ติดตัว เพื่อที่จะได้หาเงินแล้วก็เอาเงินนั้นมาซื้อ "ความสุข"
เนื่องจากว่า ความสุข มันมีได้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะงั้นความสุขที่มนุษย์เราหาในระยะแรกๆ มันก็อาจจะเป็นความสุขเกี่ยวข้องกับ การที่มีอาหารดี มีบ้านดีๆอยู่ มีรถดีๆขับ แต่ พอถึงจุดหนึ่งมนุษย์ทุกคนก็จะเรียนรู้ได้เองครับว่า ความสุขบางอย่าง มันอาจจะไม่ได้ เป็นตัวเป็นตนเป็นเนื้อเป็นหนัง วัตถุใดๆ ที่กินได้สัมผัสได้ แบบนี้แต่ว่าคุณภาพมันดีในอีกแบบหนึ่ง อาจจะเรียกว่าดีกว่าความสุขที่ปรากฏอยู่ใน ของกิน ของใช้ อย่างทีกล่าวไว้
ตัวอย่างความสุขในแบบที่สอง ซึ่งสูงกว่าความสุขที่อยู่ในวัตถุ ก็เช่น ความสุขที่เกิดจากการมีครอบครัวที่ดี มีภรรยาสามี มีลูกที่เข้าใจกัน รักกัน มีครอบครัวที่ดี มีเพื่อฝูงที่ดี มีมิตรภาพ เห็นมั้ยครับ
มิตรภาพ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัว อันนี้ก็เป็นความสุข ซึ่งทั้งหมดเนี่ยมันเป็นสิ่งที่ ปรัชญาสำนักนี้ เขาเสนอว่าเราจะต้องหาให้ได้ ทีนี้วันหนึ่งเราก็ต้องตายครับท่านผู้อ่านที่รัก แต่ว่าก่อนตายเนี่ย ถ้าในอดีตเราเป็นคนที่เรียนหนังสือมาฝึกทักษะอาชีพบางอย่างมา
เครดิตภาพ: https://upupgradetutor.com
มีความรู้ แล้วก็ได้ใช้ความรู้นั้น สร้างตัวสร้างฐานะ จับจ่ายใช้สอย ซื้อฐานะซื้อหาความสุขมา มีเพื่อนมีฝูงที่ดี มีครอบครัวที่อบอุ่น แล้ววันหนึ่งถ้าเราจะต้องตายไปจากโลกนี้
นึกภาพเราอยู่บนเตียง เรากำลังจะสิ้นใจ ญาติมิตรพี่น้องเพื่อนฝูงมาเยี่ยม สั่งลากัน แล้วเราก็ตายไปอย่างสงบ....
ที่การตายไปอย่างสงบนั้น การแพทย์ก็มีส่วนช่วยนะครับ และที่การตายการตายไปอย่างสงบเพราะว่าการแพทย์ช่วยได้ก็เพราะเราเป็นคนมีเงินพอสมควรไงครับ
เราก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ ไม่มีชีวิตอะไรที่จะดี ที่จะประเสริฐเท่ากับชีวิตแบบนี้อีกแล้ว... อันนี้ก็คือความคิดแบบที่หนึ่ง...
เครดิตภาพ: https://www.thairath.co.th
ซึ่งในทัศนะผมมันก็เป็นความคิดที่เข้าท่านะ มีเหตุผล น่าสนใจ และก็เข้าใจว่าในอินเดียสมัยพุทธกาล แนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดที่มีพลัง มีคนนับถือมากพอสมควรเลยทีเดียว แล้วผมก็เข้าใจว่าในปัจจุบันโลกทั้งโลกเนี่ยน่าจะเกินครึ่งนะครับ ที่คนโดยทั่วๆไปนะครับน่าจะเข้าใจว่าชีวิตแบบนี้คือชีวิตที่ประเสริฐครับ
ซึ่งผมจะชวนให้ไม่โต้เถียง ลองไปพิจารณาเอง ตัวใครตัวมันครับ
ทีนี้แนวคิดประเภทที่๒ เป็นแนวคิดอีกกลุ่มหนึ่ง คือแนวที่ที่พูดเมื่อสักครู่นี้เนี่ยเป็นแนวคิดแบบเดี่ยวๆ สำนักเดี่ยว แต่ว่าแนวคิดแบบที่สองที่ผมจะชวนคุยต่อไปนี้นั้น เป็นกลุ่ม
แน่นอนครับในกลุ่มนี้ก็มีความคิดที่แตกต่างหลากหลายกัน แต่ว่าทั้งกลุ่มเนี่ยที่จัดเอามาไว้ในกลุ่มเดียวกัน ก็เพราะว่าเป็นแนวคิดที่ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่๑
แนวคิดอย่างที่๒ภายหลังในทางปรัชญาเราขมวดเป็นกลุ่มเดียวใหญ่ๆก่อน แล้วเรียกชื่อแนวคิดกลุ่มนี้ว่า อสุขนิยม(Non-hedonism) อ. แปลว่าไม่ ก็คือแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับ "สุขนิยม"
แนวคิดเหล่านี้เขาเริ่มต้นด้วยการ วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดแบบสุขนิยมก่อน คือเขาบอกว่า จริง จริง เวลาที่พวกนี้บอกว่า ธรรมชาติทำให้เราชอบสุข เกลียดทุกข์ อันนี้เป็นความจริง แต่ปัญหามันอยู่อย่างนี้ครับ ชีวิตที่ประเสริฐนี่มัน มันน่าจะเป็นคนละเรื่องกับการใช้ชีวิตตามธรรมชาติอ่ะ คือนักคิดกลุ่มนี้เนี่ยเขายกตัวอย่างง่ายๆนะครับว่า สัญชาติญาณในการรักสุข เกลียดทุกข์เนี่ย หมูหมาเป็ดไก่ ฯลฯ ก็มี...
เครดิตภาพ: http://bitcoretech.com
เวลาที่นกมันบินอยู่ แล้วฝนตก มันก็รู้จักหลบฝน เพราะอะไร เพราะว่าฝนตกมันหนาว มันเป็นทุกข์ ถ้ามันไปหลบในถ้ำในต้นไม้ ถ้ำ หรือต้นไม้ให้ความอบอุ่น ทำให้เกิดความสุขใช่มั้ยครับ เพราะงั้นนกมันก็รู้จักเลี่ยง ทุกข์ แสวงหาความสุข
ปัญหาก็คือถ้าหากว่าการใช้ชีวิตแบบนี้ เป็นชีวิตที่ประเสริฐ
ชีวิตมนุษย์ก็ไม่ต่างไปจากชีวิตของสัตว์เดรัจฉาน คือรู้จักหลีกเลี่ยงทุกข์ หาสุข เท่ากัน แต่นักคิดกลุ่มหลังนั้นเขาคิดว่า เวลาที่เราตั้งคำถามว่าคนเราควรใช้ชีวิตแบบไหน จึงจะถือว่าได้ใช้ชีวิตอย่างประเสริฐเนี่ย คำว่าชีวิตประเสริฐมันต้องมีความหมายสูงกว่าชีวิตของสัตว์เดรัจฉานไง...
เพราะอะไรครับ เพราะว่าเรามีปัญญามากว่า มีความคิดอ่านมากว่า
1
พอคิดอย่างนี้นะครับ คนเหล่านี้ เขาก็เลยคิดว่า ที่พวกแรกบอกชีวิตที่ประเสริฐ สูงส่ง คือชีวิตที่รู้จักหาความสุข น่าจะมีปัญหา ใช้ไม่ได้ แล้วนักคิดกลุ่มหลังเนี่ยก็ยังวิเคราะห์นะครับว่า
ลึกๆมนุษย์ทุกคนต่อให้เกิดมาแตกต่างกันยังไงก็ตาม แต่ว่าท้ายที่สุดเนี่ย ความรู้สึกนึกคิดภายในลึกๆนั้นทำให้เราวินิจฉัยเรื่องบางเรื่อง โดยเฉพาะในทางจริยธรรมได้ตรงกัน
1
นักปรัชญากลุ่มที่๒ บางคนเนี่ยพูดเลยนะครับว่า ถ้าการรู้จักแสวงหาความสุข เป็นสิ่งที่บอกว่าคนคนนั้น ได้ใช้ชีวิตที่ประเสริฐแล้วเนี่ยมันก็แปลกนะครับว่า ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเนี่ย มันมีคนบางคนครับ หาเงินหาทองเก่ง แล้วภายหลังด้วยว่าการที่เป็นคนหาเงินหาทองเก่ง ทำให้เขาได้อะไรต่อมิอะไรมา พอกพูนชีวิตเขาทั้งรวย ทั้งมีเกียรติ และบางคนนี่เขาก็อาจจะมีอำนาจนะครับ ตัวอย่างของ คนเหล่านนี้ที่นักคิดกลุ่มที่สองคิด ก็เช่น บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย ในอินเดียสมัยก่อน...
เครดิตภาพ: https://www.home.co.th
สมัยพุทธกาล กษัตริย์นี่เป็นคนที่รวยที่สุด มีอำนาจมากที่สุด แน่นอนครับ ความรวยและก็อำนาจเนี่ยทำให้คนเหล่านี้ มีโอกาสที่จะบริโภคความสุขมากกว่าคนอื่นๆ แต่น่าคิดนะสมมุติว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จะมีการบันทึกว่าในบรรดากษัตริย์ทั้งหลายเนี่ย มีกษัตริย์บางองค์ที่ประชาชนรัก และยกย่อง
1
ให้ทราบเลยนะครับว่าที่ประชาชน รักและยกย่องกษัตริย์พระองค์นั้น ไม่ใช่เป็นเพราะว่า กษัตริย์พระองค์นั้นเป็นคนที่บริโภคความสุขมากกว่าคนอื่นน่ะ ไม่มีนะครับ ที่เรายกย่องเนี่ย เรายกย่องเรื่องอื่น เช่น กษัตริย์พระองค์นั้นเป็นคนที่ เสียสละ กล้าหาญ ทำเพื่อประโยชน์ของมวลชนใช่มั้ยครับ
1
สรุปคือประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึกเอาไว้ว่า นาย ก. นาย ข. นาย ค. เศรษฐี ก. เศรษฐี ข. พระราชา ก. พระราชา ข. เป็นบุคคลที่เยาวชนควรจะศึกษาเอาตัวอย่าง เพราะว่าเป็นบุคคลที่บริโภคความสุขมากกว่าใครๆในโลก ไม่เคยมี!...
1
เครดิตภาพ: http://socialnews.teenee.com
ซึ่งก็แปลว่าการที่เราไม่ยกย่องคุณสมบัติคือการรู้จักหาความสุข มันแปลว่ามนุษย์ทุกคนรู้ว่า สิ่งนี้ต่อให้มันตรงกับธรรมชาติของเรา เราก็ไม่เคยยกย่องมัน เห็นมั้ยฮะ
1
ดังนั้น นักคิดกลุ่มที่สองก็เลยบอกว่า อย่าไปทางนั้นเลย ทางที่บอกว่าชีวิตที่ประเสริฐคือชีวิตที่รู้จักหาความสุข เพราะว่าลึกๆเนี่ยการหาความสุขมันไม่ได้มี มันไม่ได้ทำให้เราสูงส่งอะไรหรอกนะครับ ที่นี้โดยรวมนักคิดกลุ่มที่สอง ก็จะสรุปคล้ายๆกันว่า
มีสิ่งอื่นที่มีค่ามากกว่าการหาความสุขทางอายตนะ แล้วแต่ละสำนักแต่ละท่านในบรรดานักคิดเหล่านี้ก็เสนอคำตอบที่แตกต่างกัน ซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวถึงนะครับ
เอาล่ะหลังจากที่เราพิจารณาว่า มีนักปรัชญาอินเดียสมัยพุทธกาล ตอบคำถามเรื่องชีวิตที่ประเสริฐอย่างกว้างๆเอาไว้ยังไง ศาสนาพุทธตอบเรื่องนี้เอาไว้ยังไง.
ผมมีข้อสังเกต ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจก็คือ หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเนี่ย ก็ทรงคิดว่าสิ่งที่พระองค์ทรงพบ ในการตรัสรู้เนี่ยเป็นสิ่งที่มีคุณค่า น่าที่...คนอื่นควรจะได้ยินได้ฟัง... เสร็จแล้วพระองค์ท่านตรวจก็หาว่า ใครจะเป็นบุคคลที่จะเสด็จไปหา แล้วก็เล่าว่าทรงพบอะไรบ้าง...
ตอนแรกทรงนึกถึงครูสองคนที่เคยสอนพระองค์ แต่ภายหลังก็ทราบว่าครูทั้งสองเนี่ย เนื่องจากท่านก็ชรา ท่านก็ก็สิ้นชีวิตไปหมดละ ก็นึกได้ว่ามีคนห้าคน ซึ่งตอนที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกข์การกิริยา คนห้าคนนี่ก็มาดูแลใกล้ชิด แต่ภายหลังคนเหล่านี้เมื่อเห็นพระองค์ ทรงลับมาบริโภคอาหารก็เข้าใจว่า ทรงล้มเหลวก็เลยตีจากไป
แล้วก็ทรงทราบว่า คนเหล่านี้ก็ยังพักอยู่ในที่ที่ไม่ไกลจากสถานที่ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ก็เลยตัดสินใจเสด็จไปหาคนทั้งห้าที่เราเรียกชื่อในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า "ปัญจวัคคีย์"
เครดิตภาพ: https://www.matichonweekly.com
เมื่อพบกัน หลังจากที่ทำความเข้าใจกันพอที่จะทำให้ ทั้งห้าคน ยินยอมที่จะฟัง สิ่งที่จะเล่าเนี่ย เป็นเทศนากัณฑ์แรกหลังจากตรัสรู้เลย สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวคีย์ ที่บันทึกในพระไตรปิฎก ชื่อ "ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร"
ในพระสูตรดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นด้วยการระบุว่า ในอินเดียสมัยนั้นมี "หลักการครองชีวิต" หลักๆอยู่สองอย่างอย่างแรกทรงเรียกว่า "อัตตกิลมถานุโยค" ซึ่งตามรูปคำแปลได้ตรงๆว่า "หลักปฏิบัติที่ทำให้ตนลำบาก"
1
อย่างที่สองทรงเรียกว่า"กามสุขัลลิกานุโยค" ซึ่งตามรูปคำก็แปลได้ตรงๆอีกเช่นกันว่า"หลักปฏิบัติที่พัวพันอยู่ในความสุขอันเนื่องด้วยกาม"
1
ผู้ที่รู้ประวัติศาสตร์ของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ทางด้านปรัชญา ศาสนา และความคิดด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาและศาสนาของอินเดีย จะทราบว่า อินเดียนั้นเป็นดินแดนของการปฏิบัติทางด้านจิตวิญญาณและปรัชญา คนอินเดียสนใจว่า ชีวิตนีจะประเสริฐขึ้นด้วยการทำตนเช่นไร มีลัทธิที่สำคัญลัทธิหนึ่งเสนอความคิดว่า "คุณต้องทรมานตน การทรมานตนจะวัดว่าคุณสามารถเอาชนะตนเองได้เพียงใด" จัดว่าเป็นพวกอสุขนิยมไงครับ...
เครดิตภาพ: https://www.slideshare.net
นักบวชอินเดียบางพวกไม่สวมเสื้อผ้า ซึ่งบางคนในจำนวนนี้ก็เอาแผ่นหินหนักๆมัดด้วยเชือกให้แน่นหนาแล้วเอาไปแขวนไว้ที่อวัยวะเพศของตน บางคนก็ไปนอนบนเตียงหนาม (ที่นอนที่ตอกตะปูตัวใหญ่ๆลงไปมากๆแล้วกลับหงายขึ้น แล้วก็ไปนอนบนตะปู่แหลมๆเหล่านั้น นักบวชเหล่านี้ผมเชื่อว่าเป็นตัวอย่างของผู้ปฏิบัติตามลัทธิ "อัตตกิลมถานุโยค" วัตถุประสงค์หรือปรัชญที่อยู่เบื้องหลังการทำตัวเช่นนี้ก็คือ นี่คือการพยายามเอาชนะตนเอง ผู้ที่เอาชนะตนเองได้คือยอดคน ในจำนวนคนเหล่านี้ สำหรับผู้ที่เชื่อว่ามีพระเจ้า พระเจ้าจะโปรดปรานยอดคนแบบนี้แหละ ดังนั้นการทรมานกายของ 'นักบวชเชน' จึงแตกต่างจากการทรมานกายของ'นักบวชฮินดู'ที่นับถือพระศิวะ ที่ทรมานตนเพราะเข้าใจว่าการทรมานตนเป็นสิ่งที่ทำให้พระเจ้าเห็นว่าตนอุทิศชีวิตด้วยความศรัทธาพระองค์ (พระเจ้า)
อีกลัทธิหนึ่งนั้นเสนอความคิดว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์นั้นไม่มีอะไรดีเลิศเกินไปกว่าความสุขทางกาม อันได้แก่ความสุขทางประสาทสัมผัสที่วัดได้ ซื้อได้ด้วยเงิน อย่างที่เรียกว่า ฝ่ายสุขนิยมนั่นแหละ ฝ่ายนี้ไม่น่าจะเชื่อว่าคนเราตายแล้วจะได้เกิดใหม่ อินเดียสมัยนั้นมีนักคิดบางท่านเช่นท่านอชิตะ เกสกัมพล ที่เชื่อว่าคนเราประกอบขึ้นจากสสารเท่านั้น จิตหรือวิญญาณเป็นเพียงการทำงานที่ซับซ้อนของกายที่เป็นสสาร (Matte)
เมื่อคนเราตายลง ทุกอย่างในชีวิตเราก็เป็นอันจบสิ้น ไม่มีชาติหน้าที่จะไปเกิดอีก ท่านผู้นี้ยังวิจารณ์ศาสนาประเภทที่สอนว่ามีชาติหน้าว่า ผู้ที่สอนนั้นเอาเรื่องนรกสวรรค์มาขู่คนก็เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์
ท่านอชิตะ เกสกัมพลผู้นี้ตั้งข้อสังเกตว่าศาสนานั้นมักสอนคล้ายกันว่า ความดีมีหลายระดับ ระดับสูงสุดคือ ความดีที่ทำต่อนักบวชในศาสนา ตัวอย่างเช่นศาสนาพุทธมีคำสอนว่าพระสงฆ์คือเนื้อนาบุญ ทำบุญกับหมากับแมวหรือกับขอทานก็พอได้บุญบ้างหรอก แต่หากจะให้ได้เต็มที่ต้องทำกับพระ เสมือนหว่านข้าวเปลือกลงในดิน หมาแมวนั้นเป็นดินผสมกรวด ปลูกอะไรก็ไม่งาม ผิดกับพระสงฆ์ที่เป็นดินดำน้ำชุ่ม หว่านอะไรลงไปป็นงามหมด
เครดิตภาพ: https://decor.mthai.com
ท่านอชิตะ เกสกัมพลท่านว่า คำสอนแบบนี้ผู้ได้ประโยชน์ก็คือพระ นี่เป็นการหากินอย่างหนึ่ง และระบบการทำมาหากินแบบนี้ก็มีอยู่ในทุกศาสนาที่สอนเรื่องชาติหน้า! เรื่องนรกสวรรค์ ท่านว่าของท่านอย่างนั้น เมื่อเห็นว่าชาติหน้าไม่มี นรกสวรรค์ก็ไม่มี เพราะทั้งหมดนี้เป็นคำขู่เพื่อการทำมาหากินของนักบวชในศาสนา
ท่านผู้นี้ก็เลยสอนว่า เรามาหาความสุขที่สัมผัสได้จริงๆในชีวิตไม่ดีกว่าหรือ ลัทธิว่าด้วยการแสวงหาความสุขทางกามนั้นมีพื้นฐานความคิดอยู่ที่การไม่ยอมรับว่ามีชาติต่อไป ที่ไม่มีชาติต่อไปก็เพราะไม่มีอะไรในตัวเราที่เหลืออยู่หลังจากตายแล้วเพราะทุกอย่างเป็นสสารหมด ดังนั้นในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เราควรแสวงหาสิ่งที่มั่นใจได้ว่ามีอยู่จริงๆ
ความแตกต่างระหว่างแนวคิดสองแบบที่พระพุทธองค์ตรัสถึงอยู่ที่ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ามีอะไรบางอย่างในตัวเราที่ไม่ตายไปกับร่างกายสิ่งนี้คือแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ การทรมานตนก็เพื่อเอาชนะอำนาจการครอบงำของกาย การแสวงหาความสุขทางกามนั้นก็คือพฤติกรรมที่ถูกครอบงำด้วยสัญชาตญาณทางกาย เราต้องท้าทายมัน ปฏิเสธมัน เราจึงจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ หรือเป็นอิสรชน ทีนี้พระพุทธเจ้าเนี่ยท่านทรงไปทดลอง ทดลองจนกระทั่งเกือบเอาชีวิตไปทิ้งกับการทดลองแบบนี้...
1
พระพุทธบำเพ็ญทุกรกิริยา ปฏิมากรรมพุทธศิลป์ ๒๕๕๙ โดย ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ
ภายหลังทรงพิจารณาว่านี่ไม่ใช่หนทางแล้วล่ะ!
คือการที่เราเดินเข้าชนกับความทุกข์ เพื่อที่จะทำให้..เราพิสูจน์กับตัวเราเองว่า เราเป็นคนที่ไม่หวั่นไหวต่อการเผชิญทุกข์เนี่ย มันทำให้ชีวิตแกร่งก็จริงนะครับ แต่ว่าพระพุทธเจ้าเนี่ยทรงเห็นว่ามันไม่ค่อยช่วยให้เป็นคนฉลาดเลยว่ะ...
1
ปัญหามันอยู่ที่ตรงนี้ครับ ก็คือ แนวคิดแบบอัตกิละมถานุโยค...
มันทำให้เราเป็นคนเข้มแข็งจริง แต่ว่ามันไม่ได้ช่วยให้เกิดความสว่างไสวในทางสติปัญญา...
ส่วนอีกฝ่ายไม่เชื่อว่ามีอะไรที่เป็นแก่นของความเป็นคนที่ไม่ใช่สสารตามที่กล่าว ทั้งเนื้อทั้งตัวเราก็มีอยู่เท่าที่เห็นนี้แหละ ดังนั้นความต้องการกามที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นไปตามสัญชาตญาณของกายไม่ใช่ของ "เรา" ฝ่ายนี้กลับมองว่านั่นแหละคือตัวเราล่ะ
แนวคิดแบบกามสุขัลลิกานุโยค หรือแนวคิดแบบสุขนิยม คือ การแสวงหาความสุข ต่อให้เป็นความสุขที่ประณีต สูงส่งยังไงท้ายที่สุดแล้ว เนื่องจากความสุขเนี่ยมันเกี่ยวข้องกับเรื่องทางอายตนะ ทางประสาทสัมผัส
1
เครดิตภาพ: http://www.girlsfriendclub.com
ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องทางจิต โดยเฉพาะจิตในความหมายของอำนาจบางอย่างในตัวมนุษย์ที่จะ ฝึกฝนให้ฉลาดได้มากกว่า การใช้ความคิดธรรมดาธรรมดา เมื่อมองต่างกันในระดับพื้นฐานเช่นนี้ หลักการใช้ชีวิตของสองแนวคิดนี้ก็ต่างกัน ในอินเดียสมัยพุทธกาลนั้น คนอินเดียส่วนหนึ่งเชื่อแบบแรก อีกส่วนเชื่อแบบหลัง และสองฝ่ายนี้ก็ใช้ชีวิตแตกต่างกัน
พระพุทธองค์ทรงวิจารณ์ว่า แนวคิดทั้งคู่นี้ล้วนแล้วแต่ "สุดขั้ว"(extreme)
1
เพราะงั้นแนวคิดสองแบบนี้คือ กามสุขัลลิกานุโยค และก็อัตกิละมถานุโยค ในแง่ที่เป็นกิจกรรมที่ หรือว่าเป็นหลักปฏิบัติที่ไม่ค่อยส่งเสริมให้เราเป็นคนมีปัญญา และผมก็เข้าใจว่า ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึง แนวคิดสองอย่างนี้แล้วก็ตรัสชัดครับว่า ศาสนาพุทธ ไม่เอาทั้งสองแนวนี้ “เอ็กซ์ตรีม”เกินไป และพระพุทธเจ้าคิดว่าชีวิตที่ประเสริฐเนี่ยจะต้อง เป็นชีวิตที่มีวินัย แข็งแกร่งด้วย แล้วก็ฉลาดด้วย ที่นี้เมื่อประกาศแบบนี้แล้ว ความถัดมาซึ่งเป็นความท่อนที่สอง ของธรรมจักรกัปวัตนสูตร ก็เข้าไปสู่เนื้อหาเลยนะครับ พระพุทธองค์ทรงวิเคราะห์ว่า ชีวิตคนเราเนี่ย มันมีอยู่4 อย่างที่เราควรจะเข้าใจ
อันที่1ก็คือชีวิตมันเป็นทุกข์จร้า...
1
แล้วก็ทรงยกตัวอย่างความทุกข์ของชีวิตเนี่ย มันก็มีความทุกข์ ที่ติดมากับร่างกายของเราตามธรรมชาตินะครับ เช่นเจ็บป่วย ไม่สบาย แก่แล้วก็ตายนะครับ แต่ว่าความทุกข์ที่ทรงประสงค์ในพระสูตรนี้เนี่ย มันไม่ใช่ความทุกข์ที่ติดมาตามธรรมชาติ แต่หมายถึงการที่มนุษย์มีจิตใจที่ไม่พร้อม ที่จะยอมรับความทุกข์เหล่านี้ ยกตัวอย่าง อย่างความแก่...
1
เครดิตภาพ: https://today.line.me
ท่านผู้อ่านที่เป็นสุภาพสตรีบางท่านที่อาจจะ ที่เป็นคนที่อ่อนไหวเกี่วกับเรื่องความแก่ อันนี้เราก็เห็นกันอยู่ทั่วๆไป คือตัวความแก่ พระพุทธองค์บอกว่ามันเป็นปัญหาไม่มากหรอก แต่การทำใจรับความแก่ไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหามาก
1
เพราะงั้นสรุปก็คือพระพุทธองค์ตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์เนี่ยเกิดมาพร้อมกับจิตใจที่ไม่ยอมรับสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดให้เรา.. และการไม่ยอมรับที่ว่านี้เนี่ย ทรงเรียกมันว่าทุกข์ แล้วก็ทรงวิเคราะห์ว่าอย่างที่2ที่เราควรจะทราบก็คือ
1
ว่าที่เราทุกข์แบบนี้เนี่ยเป็นเพราะว่าเรายึดมั่นว่าชีวิตนี้เป็นตัวเป็นตนของเรา ส่องกระจกแล้วพบว่าตีนกามันขึ้นมากเลยในปีนี้ ก็เพราะไปยึดว่านั่นคือตีนกาของเราไงฮะ...
เครดิตภาพ: https://www.pobpad.com
เสร็จแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงตั้งคำถามว่า ลองคิดเลื่อนมาเป็นประเด็นที่3ซิ...
ถ้าไม่รู้สึกว่าตีนกาที่เห็นในกระจกว่านั่นคือตีนกาของข้าพเจ้าเนี่ย คือการมีตีนกาปรากฎบนหน้านี่มันไม่เจ็บไม่ปวดนะฮะ.. ท่านผู้อ่านครับ พระพุทธองค์ทรงวิเคราะห์อย่างนั้น แต่การทนมันไม่ได้เนี่ย มันเจ็บปวด ดังนั้นถ้าไม่รู้สึกว่านั่นคือตีนกา ของผม ของดิฉันเนี่ย ทุกข์มันก็ไม่มี ใช่มั้ยครับ เสร็จแล้วพระพุทธองค์ก็บอกว่า
1
ประเด็นที่3ที่ว่าไปนั้น มันทำให้เกิดได้นะ หมายความว่าคืออยู่ๆจะทำให้คนเรามีความรู้สึกว่า ความแก่ชรา ความเจ็บป่วย หรือแม้แต่ความตายที่เกิดกับเราและคนที่เรารักเนี่ยมันไม่สมควรจะยึดมั่นว่าเป็นของเราเนี่ย มันเกิดเองไม่ได้ครับ เพราะว่า ธรรมชาติสร้างเรามาให้ตรงกันข้ามกัน คือให้ยึดมั่นว่าชีวิตนี้เป็นของเรา เพราะอะไรครับ เพราะว่าธรรมชาติเนี่ยประสงค์จะใช้เราเป็นตัว ตัวรักษาเผ่าพันธุ์เอาไว้
เครดิตภาพ: https://www.pobpad.com
คือในทางชีวะวิทยา นักวิทยาศาสตร์เขาก็ทราบนี่ครับว่า กลไกทางชีววิทยาเนี่ยมันทำงานสลับซับซ้อน คือเขามองสิ่งที่มีชีวิตในแง่ที่เป็นเผ่าพันธุ์ เช่นเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ เผ่าพันธุ์ของหมา เผ่าพันธุ์ของแมว คือเผ่าพันธุ์ มันใช้สมาชิกในเผ่าพันธุ์นั้นๆเป็นเครื่องมือในการรักาเผ่าพันธ์ของมันเอาไว้
ในมนุษย์เนี่ยที่ธรรมชาติสร้างให้เรารักตัวเราเอง เพราะว่าในตัวเรา มันมีดีเอ็นเอ ของมนุษย์อยู่ ถ้าเราไม่มีความรู้สึกว่าเวลามีอันตราย เราจะต้องหนี และเราจะต้องประคับประคองชีวิตให้อยู่ยืนยาวที่สุด ตัวดีเอ็นเอมันก็จะ หรือเผ่าพันธ์โดยรวมของมนุษย์ก็จะ...เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ นี่คือเหตุผลที่ธรรมชาติสร้างให้เรายึดมั่นในตัวของเราไงล่ะครับ
ทีนี้การที่จะทำให้เราไม่ยึดมั่นเนี่ย พูดง่ายๆก็คือมันเป็นการเดินสวนกับข้อเท็จจริงทางชีวะวิทยาที่ธรรมชาติสร้างให้กับเราเนี่ย มันต้องมีหลักปฏิบัติ
เครดิตภาพ: http://dnathailand.com
พระพุทธองค์จึงตรัสเอาไว้ในประเด็นที่4
ว่าหลักปฏิบัติที่ว่านี้ทรงค้นพบ และทรงแสดงรายละเอียด เรียกชื่อในคัมภีร์ว่า อริยะมรรคมีองค์๘ หรือถ้าทอนเป็นหลักปฏิบัติ สรุปรวมก็จะเป็นไตรสิกขา ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ใช่มั้ยครับ... เนื้อหาข้อความสี่ท่อน คือทุกข์ สาเหตุของทุกข์ การดับทุกข์ แล้วก็วิธีปฏิบัติเพื่อให้การดับทุกข์มันเกิดขึ้นเนี่ย เราเรียกกันว่าคำสอนเรื่อง อริยสัจ๔ ใช่มั้ยครับ
1
ชีวิตที่ประเสริฐก็คือชีวิตที่วิเคราะห์4ประเด็น แล้วสามารถทำให้ตัวท้ายที่สุดคืออริยมรรคมีองค์8นี่มันมันเกิดขึ้นได้ อันนี้คือสิ่งที่ ผมคิดว่าเป็นเนื้อหา สาระหลักๆ ของคำตอบที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ตอบว่า ชีวิตที่ประเสริฐนี่ควรเป็นชีวิตยังไง...
1
เนื่องจากเนื้อหาของอริยสัจแต่ละข้อนั้นมันก็มีรายละเอียดมากน่ะนะครับ ซึ่งผมก็คงจะไม่ประสงค์ที่จะแจกแจงรายละเอียด ไปถามพระที่คุ้นเคยกันเอาเองเถอะ ท่านเหล่านั้นรู้มากกว่าผมเยอะ
1
เครดิตภาพ : https://www.winnews.tv
แต่ต้องการจะสรุปรวบยอดให้ท่านผู้ฟังเข้าใจนะครับว่า ถ้ามีคนถามเราว่า พระพุทธศาสนาเสนอคำตอบต่อคำถามที่ว่า ชีวิตที่ประเสริฐควรเป็นยังไงเนี่ย ผมคิดว่าเราสามารถตอบได้ครับ
ชีวิตที่ประเสริฐไม่ใช่ชีวิตที่ดำเนินตามหลักที่สุดโต่งสองข้างคือ กามสุขัลลิกานุโยค แสวงหาความสุข แล้วไม่สนใจคุณค่าอื่นๆ โดยเฉพาะไม่สนใจคุณค่าทางจิตใจในแบบที่มีความหมายพิเศษลึกซึ้งกว่าความรู้สึกนึกคิดอันเนื่องมาจากสมองเลย
พุทธเราไม่เอาแนวนี้นะ!
แล้วในขณะเดียวกันพุทธเราก็ไม่เอาแนว ทรมานตน!
ทำตนให้เป็นทุกข์!..เพื่อที่จะประกาศให้คนอื่นเห็นว่า เป็นคนที่มีจิตใจแข็งแกร่ง กล้าที่จะเผชิญทุกข์ความเจ็บปวด ทรมานต่างๆนาๆ...
ทีนี้ถ้าดูรวมๆแล้วผมคิดว่า การที่พระพุทธเจ้าบอกว่าแนวคิดสองแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่สุดโต่งเอ็กซ์ตรีมส์ มันไม่ได้แปลว่าสองแนวคิดนี้ไม่มีส่วนที่ดีเลยนะครับ คือแนวคิดที่สุดโต่งนั้นมันก็ยังมีความดีในส่วนของมันอยู่ และถ้าจะพิจารณาดูดีๆแล้วเนี่ย ผมคิดว่าหลักปฏิบัติโดยเฉพาะอย่ายิ่งที่ปรากฏในหมู่พระภิกษุ ที่เราถือว่าเป็นบุคคลหรือกลุ่มคนที่ ..สนใจจะเดินทางไปตามคำแนะนำในเรื่องของชีวิตที่ประเสริฐของพระพุทธเจ้ามากที่สุดในชุมชนชาวพุทธ ชีวิตบางส่วนของท่านเหล่านี้ ก็จะเป็นชีวิตที่คล้ายๆ กับแนวคิดแบบ อัตตกิลมถานุโยค...
เครดิตภาพ: https://pixabay.com
เช่น พระภิกษุนี่ท่านจะไม่ฉันอาหารหลังเที่ยง เห็นมั้ยฮะ ท่านจะไม่ ดูหนังฟังเพลง ... บางแบบนะครับ! ผมใช้คำว่าบางแบบ แต่ว่างานศิลปะบางชนิดเช่นงานเพลงเนี่ย ในคัมภีร์ก็บอกว่า เป็นสิ่งที่เป็นมงคล...
คงแยกกันออกนะครับระว่างเพลงแดนซ์ฉีกแข้งฉีกขา ฮากระจาย กับสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) แบบเพลงคลาสสิก บีโทเฟ่น (Ludwig Van Beethoven วากเนอร์ (Richard Wagner) อันนี้ผมจะยังไม่ลงรายละเอียด...
แต่โปรดเข้าใจนะครับว่า ชีวิตที่ขัดเกลา เพื่อที่จะหลุดพ้นของพระภิกษุเนี่ย มีบางส่วนเนี่ยโน้มไปในทางที่อาจก็บอกว่า มันก็ไปในทางอัตกิลมถานุโยค ทีนี้เกณฑ์ในการวินิจฉัยว่า การกระทำแบบไหนที่ถือว่าเป็นแบบพุทธ ไม่ใช่แบบทรมานตน เรื่องก็จะย้อนมาสู่ประเด็นเดิมว่า ถ้าหากสิ่งนั้นมันเกี่ยวข้องกับการที่ทำให้เรามีจิตใจดีและปัญญาขึ้น อันนั้นถือว่าเป็นแบบพุทธนะครับ แต่ถ้าหากเป็นการทรมานตนเพื่อให้ทุกข์หรือลำบากเฉยๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัญญาหรือฉลาดเนี่ย อันนี้ก็ถือว่าไม่ใช่แบบพุทธครับ
1
ก็ขอสรุปสั้นๆปิดท้ายอีกนิดหนึ่งนะครับว่า ชีวิตที่ประเสริฐแบบพุทธเนี่ย ก็คือชีวิตที่ละเว้น หรือไม่ข้องแวะแนวคิดที่สุดโต่ง สุดขั้ว extreme ทั้งสองข้างนั้น
แล้วก็ใช้ชีวิตตามหลักอริยสัจ4 ก็คือ...
วินิจฉัย อ่านชีวิตออก แล้วก็ใช้ชีวิตให้เป็น ให้ฉลาดมีปัญญา
1
และแนวคิดที่พระพุทธเจ้าจะทรงนำเสนอนั้นต่างจากแนวคิดสองแบบนี้ ทรงเรียกแนวคิดใหม่ของพระองค์นี้ว่า "ทางสายกลาง" จากนั้นก็ทรงขยายความว่า ในรายละเอียดหลักทางสายกลางของพระองค์นั้นประกอบด้วยเนื้อหาอะไรบ้างจากที่กล่าวข้างต้น ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า
คำว่า “ทางสายกลาง”ที่ีทรงใช้นั้นไม่ได้อยู่ๆก็โผล่พรวดพราดเข้ามาเลย แต่คำนี้มาหลังจากที่ได้ตรัสว่ามีสองแนวคิดที่สุดขั้วไปคนละทางดังกล่าว
1
เครดิตภาพ: https://www.nicetofit.com
ทีนี้ยังมีรายละเอียดซึ่งเราต่อกันPartหน้านะครับว่าถ้าแปลงให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และการวิเคราะห์ทางด้านภาษาจะช่วยอะไรเราได้บ้างมั้ย หากเราต้องการจะรู้ว่า "จริงๆแล้วทางสายกลางหมายความว่าอย่างไรแน่"
ติดตามต่อในPartที่2 ครับผม
แหล่งอ้างอิง
1. พระไตรปิฎกฉบับบภาษาไทย-บาลี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
2. พุทธปรัชญากับญาณวิทยา,วารสารปัญญา.
3. หนังสือคู่มือสมภาร.
4. หนังสือพุทธธรรม.
5. แก่นปรัชญาปัจจุบัน
6. A.J.Ayer, Language, Thuth and Logic.
7. John Locke, An Essay Concerning Human Understanding.
8. Jangh, An Introduction to Madhyamaka Philosophy.
9. Satish Chandra Vidyabhusana , A History of Indian Logic.
บทความแนะนำ
ปรัชญามาธยามิกะ EP1:
https://www.blockdit.com/articles/5ed39b225bd2450c997cb028
ปรัชญามาธยามิกะ EP2:
https://www.blockdit.com/articles/5ed5eb8338ba670cba95d5e4
ปรัชญาสำนักโยคาจารย์:
https://www.blockdit.com/articles/5ed3d04e542ff20ca05432c6
-วิรุฬหก-
33 บันทึก
36
8
27
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)
ปรัชญาภาษา "Philosophy of Language"
33
36
8
27
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย