26 ก.ค. 2020 เวลา 12:33 • ปรัชญา
"ทางสายกลาง" (มัชฌิมาปฏิปทา) Part2
moderate practice : Middle way ช่วงที่2
ในทัศนะปรัชญาภาษา "Philosophy of Language"
สมมติว่าคืนหนึ่งมียานอวกาศลำหนึ่งมาจอดลงที่หน้าบ้านผม คนที่อยู่ในนั้นเป็นมนุษย์ต่างดาว ตอนที่เขาก้าวลงมาจากยาน ผมเองก็งง! ไม่รู้จะเริ่มต้นอะไรดี ระหว่างนั้น เจ้าหมอนั่นก็ยิ้มแล้วพูดเป็นภายไทยสำเนียงแปลกๆแต่ผมก็เข้าใจว่า
เครดิตภาพ: https://linesticker.in.th
"ไม่ต้องกลัวผมนะครับพี่ ผมมาจากต่างดาว ผมเป็นศาสตราจารย์สอนทางด้านภาษาศาสตร์อยู่ที่โน่น... ผมมาที่นี่เพื่อทำวิจัยสัก 6เดือน พี่พอจะให้ผมอยู่อาศัยเพื่อศึกษาวิจัยภายาไทยได้ไหมครับ เดี๋ยวผมจะให้ค่าตอบแทนเป็นสกุลเงินหรือทองคำกับพี่"
หลังจากที่ผมให้เขาเข้ามาในบ้าน ดื่มน้ำแล้วก็คุยกัน จึงทราบว่าก่อนมา ศาสตราจารย์จากต่างดาวท่านนี้ได้เรียนภาษาไทยอยู่ที่โน่นหลายปี...
ด้วยการดูYoutube ต่างดาว!
เขาจึงพูดไทยได้อย่างที่เล่าไง...
ตกลงศาสตราจารย์ท่านนี้ก็อยู่ที่บ้านผม เราอ่านหนังสือภาษาไทยด้วยกัน โดยผมเป็นคนคัดเลือกว่าจะอ่านอะไรดี
ช่วงหนึ่ง ผมให้เขาอ่านพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นไทย ให้อ่านอยู่หลายวันแล้วก็นัดคุยกันในคืนวันหนึ่งหลังกินข้าวเย็นแล้ว...
"ผมไม่เข้าใจข้อความพวกนี้" ศาสตราจารย์จากต่างดาวพูดขึ้น...
เมื่อผมถามว่าข้อความที่ท่านอ่านไม่เข้าใจคืออะไรครับ...ท่านศาสตราจารย์ก็อ่านข้อความนั้นให้ผมฟังดังนี้
"ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราตั้งจิตให้เป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ เราก็โน้มจิตนั้นไปเพื่อการระลึกชาติ!
เราระลึกได้ว่าชาตินั้น เราเคยเกิดเป็นคนผู้นั้น เขามีนิสัยอย่างนี้ ประกอบอาชีพอย่างนี้ มีครอบครัวอย่างนี้...
เครดิตภาพ: https://news.dmc.tv
"ไม่เข้าใจตรงไหนหรือครับ" ผมถามเพราะรู้สึกว่าไม่เห็นจะมีอะไรที่ยากแก่การทำความเข้าใจ เพราะข้อความนี้เล่าเรื่องง่ายๆ พื้นๆเกี่ยวกับการระลึกชาติของพระพุทธองค์
"ข้อความแรก 'ภิกษุทั้งหลาย" อันนี้ผมเข้าใจว่ากำลังตรัสกับผู้ฟังจำนวนหนึ่งที่บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา (ศ.ต่างดาว)
ข้อความต่อมา “เราตั้งจิตให้เป็นสมาธิ, ตรงนี้ผมเริ่มไม่เข้าใจแล้ว จิต คืออะไร
เป็นสมาธิ หมายความว่าอย่างไร... เอาตรงนี้ก่อนครับ”...(ศ.ต่างดาวถาม)
"อ๋อ จิตตามทัศนะของพระพุทธศาสนาหมายถึงอะไรอย่างหนึ่งในตัวมนุษย์ที่ทำหน้าที่คิด" (ผมตอบ)
"หน้าตามันเป็นอย่างไร" (ศ.ต่างดาวถาม)
"บอกไม่ได้ครับ" (ผมตอบ)
"พูดเป็นเล่น บอกไม่ได้แล้วทำไมจึงรู้ว่ามันมีอยู่ จิตกับความคิดเป็นสิ่งเดี่ยวกันหรือไม่" (ศ.ต่างดาวพูด)
"ไม่ครับ พุทธศาสนาสอนว่าความคิดนั้นมาจากจิต" (ผมตอบ)
"มีชาวพุทธคนใดเคยเห็นจิตไหมครับ" (ศ.ต่างดาวถาม)
"ไม่มี สิ่งนี้เห็นด้วยตาไม่ได้ สัมผัสด้วยอายตนะอย่างอื่นก็ไม่ได้
เราสัมผัสได้เฉพาะความคิดที่เป็นผลมาจากจิตเท่านั้น" (ผมตอบ)
‘แปลกมาก ผมไม่เข้าใจจริงๆว่า คำที่หาสิ่งรองรับไม่ได้’ เช่นนี้
ทำไมจึงมีในภาษาของพวกท่าน ที่ดาวของผม ไม่มีคำพวกนี้ ในภาษาของเรา คำทุกคำจะต้องมีอะไรสักอย่างรองรับ คือเมื่อเอ่ยคำนั้นออกมา ก็หาของที่ตรงกับคำนี้มาชี้ให้เข้าใจได้ว่า นี่ไง คำนี้หมายถึงสิ่งนี้
ตกลง ชาวพุทธเขาพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า จิต' มาเป็นพันๆปี โดยไม่เฉลี่ยวใจหรือว่าคำนี้อาจเป็นแค่คำที่ว่างเปล่า ไม่มีความหมาย แต่ถ้า จิต' หมายถึงกระแสความคิดที่เลื่อนไหลอยู่ในหัวของเรา อันนี้ผมเข้าใจ แต่ท่านก็บอกว่าพุทธศาสนาไม่ได้หมายถึงสิ่งนี้ ตกลงมันหมายถึงอะไรครับ..." (ศ.ตาสงดาวพูด)
คืนนั้นผมมึนงง!..
เพราะไม่ได้ตั้งตัวว่าจะมาเจอคำถามอย่างนี้เพื่อนจากต่างดาวถามอะไรตามมามากมาย เช่นจิตเป็นสมาธิหมายความว่าอย่างไร...
เมื่อผมตอบว่าตามหลักของฌาน จิตเป็นสมาธิก็คือจิตที่อยู่ในฌาน หากป็นฌานขั้นแรกก็จะมืองค์ประกอบ5 อย่างคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา
เครดิตภาพ: https://www.bloggang.com
เขาถามผมว่าวิตก วัดอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เกิดในหัวของเราเวลานั้นเรียกว่าวิตก... ถึงตรงนี้ผมก็ได้แต่อึ้ง ในใจก็ถามตัวเองเหมือนกันว่า
"เออ... ใช่เนาะ... วัดอย่างไร แล้ววิตกของใครก็เป็นของคนนั้นใช่ หรือไม่ จะรู้ได้อย่างไรว่าวิตกของคนสองคนเหมือนกัน"
ตามตัวอย่างนี้ ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า สิ่งที่ศาสตราจารย์จากต่างดาวท่านใช้เพื่อซักไช้ผมนั้นก็คือ "การวิเคราะห์ในเชิงภาษา" ผมยอมรับว่านักปรัชญาที่เก่งๆนั้นสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ทางภาษานี้ได้มากและได้ผลอันน่าอัศจรรย์ เช่นทำให้คนที่เชื่อเรื่องบางเรื่องมาตลอดชีวิตถึงกับอึ้งเมื่อเจอคำถามจากคนเหล่านี้
2
วันหนึ่งผมกับศาสตราจารย์ต่างดาวนี้นั่งดูโทรทัศน์ด้วยกัน เขากำลังถ่ายทอดสดงานศพหลวงตามหา...เกจิชื่อดังที่ชาวบ้านชาวเมืองร่ำลือว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ช่วงหนึ่ง กล้องจับไป ที่ภาพถ่ายขนาดใหญ่ของหลวงตา ใต้ภาพนั้นมีข้อความที่เป็นคำพูดของหลวงตาตีพิมพ์ไว้ว่า "ชาตินี้คือชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่มาเกิดอีก"
เครดิตภาพ: https://pantip.com
เพื่อนจากต่างดาวถามผมว่า "คนคนนี้รู้ได้อย่างไรว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย มันฟังดูแปลกๆ ถ้าเป็นชาติสุดท้ายจริง ก็แปลว่าถัดจากชาตินี้ไป เขาก็ไม่มีตัวตนอยู่ในจักรวาล
เมื่อไม่มีตัวตน เขาก็ไม่รู้ว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย เพราะเงื่อนไขของการรู้ว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายคือต้องมีตัวตนที่จะมารับรู้
จะอ้างว่าก็รู้ในชาตินี้แหละขณะที่ยังมีตัวตนอยู่ก็บอกไม่ได้ เพราะชาตินี้ยังไม่จบ แล้วจะรู้ว่ามันจะเป็นชาติสุดท้ายได้อย่างไร
แต่ถ้าเขายังมีตัวตนอยู่หลังจากตายแล้ว ชาตินี้ก็ไม่ใช่ชาติสุดท้ายอีกแหละ ตกลงคำพูดของคนคนนี้สำหรับผมมันขัดแย้งในตัวเอง!...
ที่จริง เขาควรพูดว่า 'ฉันเชื่อว่าชาตินี้นจะเป็นชาติสุดท้ายของฉันแล้วนะ ฉันเชื่ออย่างนั้น แต่ความจริงจะเป็นอย่างไร ฉันไม่ทราบ ฉันอาจเชื่ออย่างผิดๆก็ได้ถึงตอนนี้ผมก็ได้แต่หัวเราะหึหึ เบาๆ นึกในใจว่าสานุศิษย์ของหลวงตาเกจิดังนั้น หากมาได้ยินการวิเคราะห์ทางกายาของอีตาศาสตราจารย์นี้ คนเหล่านั้นจะตอบเขาว่าอย่างไร...
1
แต่ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย วิเคราะห์อย่างอื่นก็ได้ แต่ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นี่แหละครับคือกิจกรรมที่เรียกว่า "Linguistic Philosophy" กับผลอันน่าทึ่งของมัน!
สรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายคือ สมมติว่าหากมีตัวแทนสองฝั่งคือฝั่งของภาษา กับฝั่งของปรัชญาหากฝั่งปรัชญาถูกใช้เพื่อทำความเข้าใจภาษา เราก็เรียก กิจกรรมนี้ว่า "Philosophy of Language"
แต่ถ้าฝั่งภาษาถูกนำมาใช้เพื่อทำความเข้าใจปรัชญา ก็เรียกว่า "Linguistic Philosophy"
ความต่างนั้นอยู่เพียงว่ามองจากฝั่งไหนโยงไปหาฝั่งไหนแต่ทั้งหมดนี้เราเรียกรวมๆกันทั้งสองฝั่งในภาษาไทยว่า "ปรัชญาภาษา" เหมือนกัน สรุปคือ ปรัชญาภาษาหมายถึงเอาภาษาไปวิเคราะห์ปรัชญาก็ได้ หรือหมายถึงเอาปรัชญาไปวิเคราะห์ภาษาก็ได้
เราได้เล่าถึงแนวคิดสองสาย ทั้งสุขนิยมและ อสุขนิยม หรือ กามสุขัลลิกานุโยคและอัตกิลมัตถานุโยค(Partที่1) ซึ่งความแตกต่างระหว่างแนวคิดสองแบบที่พระพุทธองค์ตรัสถึงอยู่ที่ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ามีอะไรบางอย่างในตัวเราที่ไม่ตายไปกับร่างกายสิ่งนี้คือแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ การทรมานตนก็เพื่อเอาชนะอำนาจการครอบงำของกาย การแสวงหาความสุขทางกามนั้นก็คือพฤติกรรมที่ถูกครอบงำด้วยสัญชาตญาณทางกาย
เราต้องท้าทายมัน ปฏิเสธมัน เราจึงจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ หรือเป็นอิสรชนส่วนอีกฝ่ายไม่เชื่อว่ามีอะไรที่เป็นแก่นของความเป็นคนที่ไม่ใช่สสารตามที่กล่าว
ทั้งเนื้อทั้งตัวเราก็มีอยู่เท่าที่เห็นนี้แหละ ดังนั้นความต้องการกามที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นไปตามสัญชาตญาณของกายไม่ใช่ของ "เรา" ฝ่ายนี้กลับมองว่านั่นแหละคือตัวเราล่ะ เมื่อมองต่างกันในระดับพื้นฐานเช่นนี้ หลักการใช้ชีวิตของสองแนวคิดนี้กต่างกัน ในอินเดี่ยสมัยพุทธกาลนั้น คนอินเดียส่วนหนึ่งเชื่อแบบแรก อีกส่วนเชื่อแบบหลัง และสองฝ่ายนี้ก็ใช้ชีวิตแตกต่างกันพระพุทธองค์ทรงวิจารณ์ว่า แนวคิดทั้งคู่นี้ล้วนแล้วแต่ "สุดขั้ว" (Extreme) ไปคนละทาง
เครดิตภาพ: http://oknation.nationtv.tv
แนวคิดที่จะทรงนำเสนอนั้นต่างจากแนวคิดสองแบบนี้ ทรงเรียกแนวคิดใหม่ของพระองค์นี้ว่า "ทางสายกลาง" จากนั้นก็ทรงขยายความว่า ในรายละเอียดหลักทางสายกลางของพระองค์นั้นประกอบด้วยเนื้อหาอะไรบ้างจากที่กล่าวข้างต้น ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า คำว่าทางสายกลางที่ทรงใช้นั้นไม่ได้อยู่ๆก็โผล่พรวดพราดเข้ามาเลย คำนี้มาหลังจากที่ได้ตรัสว่ามีสองแนวคิดที่สุดขั้วไปคนละทาง เราอาจนึกให้เห็นเป็นภาพก็ได้ว่า มีถนนอยู่สองเส้นวาดไว้บนแผ่นกระดาษ เส้นแรกอยู่ทางซ้ายมือเรา อีกเส้นอยู่ทางขวา สองเส้นนี้พระพุทธองค์ทรงวิจารณ์ว่าสุดขั้วไปคนละทาง จากนั้นก็ทรงเสนอทางเส้นที่สาม ทางเส้นนี้ตรัสว่าไม่สุดขั้ว!...
เมื่อเทียบกับสองเส้นที่สุดขั้วโดยที่ความสุดขั้วนี้เราให้คุณสมบัติว่าวางอยู่ริมสุดของกระดาษ ทางสายที่สามที่ไม่สุดขั้วก็จะมีคุณสมบัติคือจะต้องไม่วางอยู่ที่ริมกระดาษ กระดาษนั้นมีริมอยู่สองริมเท่านั้นแหละครับคือริมซ้ายกับริมขวา
เมื่อสองริมนั้นครอบครองโดยสองแนวคิดที่สุดขั้วแล้ว ก็เหลือแต่ตรงกลางเท่านั้นแหละที่เราจะวางเส้นทางสายใหม่ของพระพุทธองค์ลงไปได้ทางเส้นใหม่นี้จึงอยู่ตรงกลางของแผ่นกระดาษนั้นไปโดยอัตโนมัติ
สำหรับท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา "ป. อ. ปยุตฺโต"อธิบายว่า ความเป็นทางสายกลางของพุทธธรรม ไม่ได้มีความหมายว่า พุทธศาสนามีแนวคิดแบบที่วงการปรัชญาเรียกว่า "สัมพัทธนิยม" (Relativism)
เครดิตภาพ: https://sevenpillarsinstitute.org
อันหมายความว่า จะบอกอะไรออกไปทันทีไม่ได้ ต้องดูก่อนว่าคนอื่นเขาว่าอย่างไร หรือสภาพที่เรากำลังเผชิญอยู่เวลานั้นเป็นอย่างไรก่อน...
1
พูดง่ายๆคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านเห็นว่าพุทธศาสนามีความคิดที่แน่นอน!
ความเป็นทางสายกลางจึงไม่ได้หมายความว่า เอาสองฝ่ายที่สุดขั้วมาดูก่อน จากนั้นก็ "หารสอง” ก็จะได้ทางสายกลาง
ในวงการผู้รู้ทางด้านพระพุทธศาสนาในโลกนั้น แนวคิดว่าคำสอนของพระพุทธองค์ให้หลักคิดที่แน่นอน ไม่เลื่อนไหลตามสถานการณ์แวดล้อมนั้นเป็นแนวคิดหลักที่เรายอมรับกันอยู่ ในทางปรัชญาเราเรียกแนวคิดแบบที่เสนอหลักอันแน่นอนตายตัวนี้ว่าแนวคิดแบบ "สัมบูรณนิยม" (Absolutism)
ผู้รู้ทางด้านพุทธศาสนาส่วนใหญ่นั้นเชื่อว่าพุทธธรรมเป็นแนวคิดแบบสัมบูรณนิยมอย่างหนึ่งของโลก
เครดิตภาพ: http://insidewomen.co.za
ดังนั้นข้อเสนอของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
จะอย่างไรก็ตาม ผมมี่ข้อสังเกตว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงเริ่มต้นด้วยการพูดถึงสองแนวคิดนั้นก่อน
ทำไมไม่เริ่มต้นพระสูตรด้วยการแสดงแนวคิดของพระองค์เลย และไม่ต้องเรียกแนวคิดนั้นว่าทางสายกลางก็ได้ มีชื่อให้เรียกอื่นๆมากมาย แต่ไม่ทรงทำอย่างนั้น ตรงนี้เองครับที่ผมคิดว่าเราควรสนใจ...
1
กลับมาที่ตัวอย่างเรื่องถนนสามเลนที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นเลนซ้ายนั้นสำหรับพวกขับช้า เลนขวาสำหรับพวกขับไว เป็นไปได้ไหมครับว่าเลนกลางนั้นคือเลนที่ประนีประนอมระหว่างพวกที่ "ช้าไป" กับ "เร็วไป" ที่ผมยกเรื่องนี้มาพูดก็เพื่อแสดงว่า คำว่า "สุดขั้ว" กับ "กลาง" นั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเราเอามาเทียบกัน
และในการเทียบนั้นจะต้องมี "ค่า" บางอย่างที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ตัวอย่างเช่น
(1) เลนซ้ายรถส่วนใหญ่ขับเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(2) เลนขวารถส่วนใหญ่ขับเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(3) ดังนั้นเลนกลางหากจะรักษาสถานะความเป็นกลางของตนต้องขับให้เร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าขับ 90 ก็ช้าไป 110 ก็เร็วไป... 100 พอดี (90+110 = 200 หารครึ่ง = 100)
โปรดสังเกตนะครับว่า ความ "เกินไป" และ "พอดี" ในตัวอย่างข้างต้นเกี่ยวข้องกับเรื่อง "ความเร็ว" ความเร็วนี้คือค่าที่ทุกฝ่ายใช้คิดร่วมกันเพื่อหาว่าอะไรควรเป็นทางสายกลาง หากเอาค่าอื่นที่ไม่เกี่ยวมาคิด เรื่องเกินไปหรือพอดีที่พูดถึงก็จะไม่มีความหมาย ดังตัวอย่างเช่น
(1) เลนซ้ายรถนิสสันกำลังวิ่งอยู่
(2) เลนขวารถเบ๊นซ์กำลังวิ่งอยู่
(3) ดังนั้น เลนกลางควรเป็นเลนของรถโตโยต้า
จะเห็นว่าในตัวอย่างสุดท้ายนี้ ไม่มีค่อะไรสำหรับเป็นตัวร่วมเพื่อให้การพิจรณาเรื่องเกินไปหรือพอดีได้อ้างอิงเลย
เครดิตภาพ: https://www.youtube.com
ดังนั้นความเป็นกลางของรถโตโยต้าจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจได้ การวิเคราะห์ทางภาษาข้างต้นนี้ผมต้องการนำมาพิจารณาข้อเสนอของท่านนักปราชญ์ทางด้านพุทธศาสนาที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างในตอนต้นของบทความ(partที่1) คือ ท่านนาคารชุน ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ป. อ. ปยุตฺโต) และหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนีฯ สด จนฺทสโร)...
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้นท่านเสนอว่า หลักทางสายกลางไม่ได้คิดเทียบกับอะไรทั้งนั้น!...
ข้อเสนอนี้โดยสาระกำลังเสนอว่า คำว่าทางสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงใช้ถัดจากที่ทรงวิจารณ์ว่ามีแนวคิดสองแนวที่สุดขั้วนั้น จริงๆแล้วไม่เกี่ยวกับสองแนวคิดนั้นเลย ตัวอย่างเรื่องเลนกลางสำหรับรถโตโยต้าข้างต้นน่าจะช่วยทำความเข้าใจข้อเสนอของสมเด็จฯท่านได้...
1
ผมจึงเกิดคำถาม จากการตังข้อสังเกตุว่า หากสองแนวคิด Extreme ข้างต้นไม่เกี่ยวกับเรื่องที่สามที่ทรงเสนอ... พระองค์จะตรัสไปทำไมให้เสียเวลา หากเราเชื่อว่าจริงๆแล้วพระองค์ก็ทรงทำอย่างนั้นแหละ!...ตามที่สมเด็จฯท่านตีความ พระพุทธองค์ก็อาจจะเป็นบุคคลแปลกประหลาดในสายตาของคนจำนวนมาก
เพราะทรงเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันมาพูดตามลำดับ แล้วจะพูดไปทำไมครับ เหมือนช่องซ้ายนิสสันวิ่ง นี่ก็สุดโต่งไป ช่องขวาเบ๊นซ์วิ่ง นี่ก็สุดโต่งไป อย่ากระนั้นเลย ของเราโตโยต้าควรวิ่งช่องกลางเพื่อแสดงว่าเราไม่สุดโต่ง...
ถือว่าแปลก เพราะเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันมาบอกว่า นี่สุดโต่ง นี่กลาง...
แต่ถ้าเป็นเรื่องความเร็วอย่างตัวอย่างแรกเข้าใจได้ แต่ข้อเสนอของสมเด็จฯ ดูจะไม่ตรงกับเรื่องความเร็ว เพราะถ้าเป็นเรื่องความเร็ว รถสามคัน จะยี่ห้อไหนไม่สำคัญ ก็เกี่ยวกัน และเราบอกได้ว่าใครเกินไปหรือใครพอดีค่าสำหรับใช้ในการเปรียบเทียบหรือเชื่อมโยงแนวคิดหลายๆแนวเข้าด้วยกันแล้วบอกว่าอะไรเกินไปหรือพอดีนอกจากจะเป็น
"ค่าเชิงการแสดงออก" อย่างเรื่องความเร็วที่กล่าวข้างต้น
อาจมีลักษณะอีกแบบหนึ่งที่ผมขอเรียกว่า "ค่าในแง่ที่เป็นเป้าหมายปลายทาง" ค่าที่ว่านี้ก็อาจใช้ในการเปรียบเทียบได้เช่นกัน...
พระพุทธองค์ทรงมีเป้าหมายสำหรับใช้เปรียบเทียบอยู่แล้วคือพระนิพพาน การทรมานตนนั้นไม่พอดีสำหรับการบรรลุพระนิพพาน ดังที่เคยทรงทดลองทรมานพระองค์มาก่อน แล้วก็ทรงพบว่าไม่ช่วยให้เกิดความรู้แจ้ง การใช้ชีวิตเกี่ยวข้องอยู่กับกาม แม้จะอย่างมีสติ มีปัญญา ก็ไม่พอดีสำหรับการบรรลุนิพพาน ก่อนเสด็จออกผนวชก็ทรงใช้ชีวิตเช่นนั้น จึงทรงทราบว่าไม่พอดีที่จะให้บรรลุนิพพาน ตามการตีความนี้ ความไม่พอดีหรือความสุดขั้วก็มีได้สองอย่างคือ "น้อยไป" กับ "มากไป"
เครดิตภาพ: https://www.taximail.com
ลัทธิทรมานตนนั้นไม่พอดีแก่การบรรลุนิพพานเพราะ"เคร่งหรือตึงเกินไป" ส่วนการใช้ชีวิตเกี่ยวข้องอยู่กับกามก็ไม่พอดีแก่การบรรลุนิพพานเพราะ "หย่อนเกินไป"
ท่านผู้อ่านคงจำเรื่องพระอินทร์มาคิดพิณให้พระองค์ฟังตอนที่ทรงทรมานพระองค์ พิณนั้นมีสามสาย สายแรกหย่อนไป ดีดก็ไม่เป็นเพลง สายต่อมาก็ตึงเกินไป ดีดไปไม่นานก็ขาด สายสุดท้ายพอดี บรรเลงเป็นเพลงได้ไพเราะ สายของพิณสมสายนี้เกี่ยวข้องกันในแง่ที่ท่านยกมาเพื่อโยงไปหา "เพลงที่บรรเลงได้ไพเราะพอดี" สองสายแรกนั้นไม่พอดีเพราะสายแรกหย่อนไปส่วนอีกสายก็ตึงไป
เครดิตภาพ: http://www.homelittlegirl.com
จริงอยู่ว่า การที่สายที่สามบรรเลงได้ไพเราะก็เพราะตัวมันเอง ไม่เกี่ยวกับสองสายที่สุดโต่งเกินไปคนละทาง รู้สึกว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านจะวิเคราะห์อย่างนั้น ซึ่งเป็นความจริงครับ แต่นั่นเป็นการวิเคราะห์ในเชิง ภววิทยา (Ontology)
แต่ถ้าวิเคราะห์ในเชิง ญาณวิทยา (Epistemology)
เราจะรู้ว่า"ควรตั้งสายพิณสายที่สามอย่างไร" ไม่ได้เลย หากไม่พิจารณาสองสายก่อนหน้านั้นนั่นเอง...
1
ยังไม่จบนะครับเดี๋ยวจะยาวไป ติดตามต่อ Part3
ความเดิมตอนที่แล้ว Part1: https://www.blockdit.com/articles/5f09d3c216888f0cbdb57076
แหล่งอ้างอิง
1. พระไตรปิฎกฉบับบภาษาไทย-บาลี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
2. พุทธปรัชญากับญาณวิทยา,วารสารปัญญา.
3. หนังสือคู่มือสมภาร.
4. หนังสือพุทธธรรม.
5. แก่นปรัชญาปัจจุบัน
6. A.J.Ayer, Language, Thuth and Logic.
7. John Locke, An Essay Concerning Human Understanding.
8. Jangh, An Introduction to Madhyamaka Philosophy.
9. Satish Chandra Vidyabhusana , A History of Indian Logic.
-วิรุฬหก-
โฆษณา