19 ต.ค. 2020 เวลา 07:18 • ปรัชญา
"ทางสายกลาง" (มัชฌิมาปฏิปทา) Part3
moderate practice : Middle way ช่วงที่3
ในทัศนะปรัชญาภาษา "Philosophy of Language"
1
Ontology กับ Epistemology
ภาษาฝรั่งสองคำนี้ มีประโยชน์ในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆในโลก ซึ่งจะขยายความดังนี้
เครดิตภาพ : https://เมนู.net
สมมติว่าท่านผู้อ่านกำลังหัดเป็นแม่ครัวเพื่อจะเปิดร้านอาหาร ท่านกำลังทำต้มยำปลาช่อน ท่านก็ใส่อะไรต่อมิอะไรลงไปในหม้อ
เมื่อได้เวลา ท่านก็ลองตักชิม ท่านรู้สึกว่าขาดเค็มและเปรี้ยว ท่านจึงเติมน้ำปลาและมะนาวลงไป รอบแรกท่านพบว่าเติมลงไปมากไป ไม่อร่อย รอบต่อๆมา ท่านก็ค่อยๆปรับแต่ง จนที่สุดก็ได้รสชาติพอดีต้มยำปลาช่อนพอเหมาะพอดีในชามสุดท้ายนั้น ถามว่าที่มันรสชาติพอเหมาะพอดีอย่างนั้นเกี่ยวกับใครไหม คำตอบคือไม่เกี่ยวครับ ความอร่อยพอดีนั้นเป็นคุณสมบัติภายในของมันเอง
1
คือมันประกอบด้วยสัดส่วนขององค์ประกอบต่างๆที่สามารถวิเคราะห์เป็นปริมาณในทางเคมีได้แน่นอน ปริมาณที่แน่นอนขององค์ประกอบต่างๆเหล่านี้เองที่ทำให้ต้มยำชามนั้นอร่อย ไม่เกี่ยวกับอะไรที่อยู่นอกตัวมันเลย การวิเคราะห์เช่นนี้ทางปรัชญาเราเรียกว่าการวิเคราะห์ในเชิง Ontology คือดูว่า...
"สิ่งนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบกายในอย่างไรบ้างจึงแสดงคุณสมบัติเช่นนั้นออกมา"
เครดิตภาพ : http://rattana5.blogspot.com
แต่ต้มยำที่พอเหมาะพอดีชามนั้นตามตัวอย่างได้มาจากการลองเมื่อลองแล้วพบว่ายัง "ขาด" หรือ "เกิน" อยู่ก็ปรับแต่งให้พอดีความรู้หรือผลิตกรรมทางปัญญาของมนุษย์นั้นไม่มีอะไรที่ไม่ได้มา ผ่านการลองผิดลองถูก ในแง่นี้ ชามต้มยำชามสุดท้ายนั้นจะเกิดไม่ได้เลย หากไม่มีชามที่ 1... 2... 3... 100... 200... เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ชามสุดท้ายก็ไม่เป็นอิสระจากชามก่อนๆ
การวิเคราะห์เช่นนี้ ทางปรัชญาเราเรียกว่า การวิเคราะห์ในเชิง Epistemology อันหมายถึงการวิเคราะห์ว่า
"ความรู้สุดท้ายนั้นได้มาอย่างไร"
เครดิตภาพ : http://ld2541.blogspot.com
ผมเข้าใจว่าที่วงการผู้รู้ทางด้านพระพุทธศาสนาทั่วโลกเห็นคล้ายๆกันว่าคำสอนของพระพุทธองค์ส่วนที่เรียกว่าจริยธรรม ก็คือส่วนที่บอกว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควรไม่ควร อะไรเป็นบุญเป็นบาป...
มีลักษณะตายตัวก็คงเพราะท่านเหล่านั้นมองพุทธธรรมว่า เสมือนชามต้มยำชามสุดท้ายที่ดีในตัวเอง!
แต่ท่านเหล่านี้อาจลืมไปว่า ก่อนจะได้ตรัสรู้นั้น ทรง "ผ่าน" อะไรมาบ้าง
1
ผมเชื่อว่าทรงผ่านสิ่งที่ทรงวิจารณ์ว่าตึงหรือหย่อนเกินไปสำหรับการที่จะหลุดพ้นจากอาสวกิเลสนั้นมาแล้วด้วยพระองค์เอง เพราะทรงผ่านกามสุขัลลิกานุโยคมาแล้วสมัยเป็นคฤหัสถ์ และทรงผ่านอัตตกิลมถานุโยค ในช่วงการทรมานพระองค์ด้วยวัตรต่างๆจนขนาดว่าเกือบจะสิ้นพระชนม์
เครดิตภาพ : http://dhamma.serichon.us
ในแง่นี้ สิ่งที่ทรงผ่านมาก่อนหน้านั้นก็เหมือนชามต้มยำชาม ที่หนึ่ง... สอง... สาม... ร้อย... พัน...
อย่างน้อยที่สุด เรื่องพิณสามสายก็น่าจะบอกเราได้ว่า หลักทางสายกลางที่ทรงพบในท้ายที่สุดนั้นจะเกิดไม่ได้เลยหากไม่ทรงผ่านความผิดพลาดที่เคย "เกินไป"และ "หย่อนไป" มาก่อน
ทางสายกลางตามทัศนะหลวงพ่อวัดปากน้ำนั้นคล้ายกับของท่าน เจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ อย่างหนึ่งคือ "ไม่เกี่ยวกับอะไร" ทั้งนั้น
เครดิตภาพ : https://vnarong-dhammakaya.blogspot.com
ผมรู้สึกว่ามีเพียงทางสายกลางตามทัศนะของท่านนาคารชุนเท่านั้นที่ต่างจากท่านอื่น
ทัศนะของท่านนาคารชุน มีทัศนะทางอภิปรัชญาอยู่สองทัศนะที่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาว่า "เกินไป" ในทางใดทางหนึ่ง สองทัศนะนั้นคือ
(๑) ทัศนะที่เห็นว่าจักรวาลมีอยู่จริงๆ ตามที่เราเห็น
(๒) ทัศนะที่เห็นว่าจักรวาล แม้เราจะเห็นว่ามี แต่จริงๆไม่มี...
ท่านนาคารชุนเชื่อว่า ทัศนะที่สามที่เสนอโดยพระพุทธองค์ที่ว่า "จักรวาลนั้นคือความว่างเปล่า" เป็นทัศนะที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองทัศนะนี้ แต่จะพิจารณาจากทัศนะของฝ่ายเถรวาท มีทัศนะทางอภิปรัชญาเกี่ยวกับความมีอยู่ของจักรวาลก่อนหน้าพระพุทธศาสนาอยู่สองแบบ
แบบแรกเชื่อว่า โลกทางกายภาพมี่อยู่จริง จักรวาลมีสภาพเป็น Being
แบบต่อมาเชื่อว่า โลกทางกายภาพไม่มีจริง จักรวาลมีสภาพเป็น Non-being หรือ Nothingness
ท่านนาคารชุน เครดิตภาพ : https://web.facebook.com
ข้อเสนอใหม่ของพระพุทธองค์บอกว่า โลกทางกายภาพมีลักษณะว่างเปล่า จักรวาลมีสภาพเป็น Emptiness
โดยขอเสนอว่า หากอยากจะเข้าใจว่า "ความว่างเปล่า" ที่พระพุทธองค์ทรงเสนอนี้เป็นอย่างไร ก็ต้องพิจารณาเทียบเคียงกับ "ความมีอยู่"และ "ความไม่มีอยู่"
กล่าวให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจคือ นักปรัชญาบางพวกเชื่อว่า ถ้วยกาแฟที่ท่านถืออยู่มีจริง อีกพวกเชื่อว่าไม่มีจริง แต่สำหรับพระพุทธองค์ ถ้วยกาแฟนี้เราจะยืนยันว่า "มี" ก็ไม่ได้
เครดิตภาพ : https://tangosaga.wordpress.com
เพราะหากยืนยันอย่างนั้นก็เกินไปในบางเรื่อง จะยืนยันว่า "ไม่มี" ก็ไม่ได้เนื่องจากยืนยันเช่นนั้นก็จะมีบางส่วนที่เกินไป หากจะยืนยันอย่างพอเหมาะพอดี ก็ต้องยืนยันว่า "ถ้วยกาแฟนี้ว่าง"
แนวคิดเรื่องว่าง สำหรับผมอยู่ตรงกลางระหว่างมีกับไม่มี ข้อสนอนี้หากมองจากปรัชญาตะวันออกด้วยกันอาไม่นตื่นเต้นเท่าไหร่ เพราะนอกจากพุทธศาสนาก็อาจมีสำนักอื่น เช่นเต๋าของจีน ที่ยืนยันเช่นเดี่ยวกันนี้
แต่หากมองจกกรอบของปรัชญาตะวันตก เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เพราะฝรั่งนั้นเชื่อตามอริสโตเติล (Aristotle)ที่ว่า "ระหว่างมีกับไม่มี ไม่มีตรงกลาง"
อริสโตเติล (Aristotle) เครดิตภาพ: https://www.prairiestateblue.com
สำหรับฝรั่ง เราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง ความเชื่อว่าถ้วยกาแฟมีอยู่จริง หรือไม่ก็ไม่มีจริง ไม่มีทางเลือกที่สาม
แต่พระพุทธองค์ทรงเสนอว่า "มีทางเลือกที่สาม"
1
ผมขอจบบทความนี้ด้วยข้อสังเกตว่า การตีความเรื่องทางสายกลางนั้นนจะมีแง่มุมใหม่มากขึ้นหากเราจะใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ทางภาษา ซึ่งผมเชื่อว่าอยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว
1
ท่านผู้อ่านทุกท่านสามารถคิดวิเคราะห์ในทางภายาได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว ไม่ต้องให้ใครมาสอน เหมือนการหายใจหรือกินข้าว ผมลองตีความว่า "กลาง" ในทางภาษานั้นจะไม่มีความหมายถ้าไม่มี "สองขั้วหรือสองขอบ" ที่อยู่รอบๆกลางนั้น
ถ้าเพื่อนโทรศัพท์มาบอกว่า "เลยแยกปทุมวันแล้วอยู่เลนกลางเอาไว้" แม้เราไม่เคยไปแถวนั้นเราก็อนุมานได้ว่าถนนเส้นนั้นต้องมีสามช่อง สองช่องแรกคือซ้ายสุดกับ ขวาสุด กลางก็คือระหว่างสองช่องนั้น ผมไม่คิดว่าพระพุทธองค์จะทรงใช้ภาษาผิดไปจากมนุษย์คนอื่นๆในโลก ด้วยการไล่ไปเรื่อย...
เครดิตภาพ : https://www.prachachat.net
ในทางภาษาบนสมมติฐานที่ว่าพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้ภาษาอย่างเดียวกับมนุษย์ทั่วไป เราก็จะพบข้อสรุปในทางภาษาอื่นๆที่น่าสนใจเช่นอริยมรรคมีองค์แปดที่เรียกว่าทางสายกลางนั้นก็เหมือนต้มยำชามสุดท้าย
ที่จะเกิดไม่ได้เลยหากไม่มีชามแรกและชามต่อๆมาอีกจำนวนมากที่ยังไม่พอดี
การคิดเช่นนี้ไม่ขัดแย้งกับความเชื่อว่าพุทธธรรมดีในตัวเอง เพราะเป็นการวิเคราะห์คนละด้าน ของที่ดีด้วยตัวเองนั้นมีแต่ธรรมชาติหรือพระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่าอยู่ไหน มนุษย์ไม่อาจรู้จะรู้ได้...
ก่อนตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงเป็นปุถุชนก่อน ดังนั้นย่อมจะมีอะไรมากมายที่ไม่ทรงรู้
การได้พบต้มยำชามสุดท้ายของพระองค์จึงเป็นผลมาจากการลองผิดลองถูก
1
เครดิตภาพ : https://www.jobtopgun.com
คิดอย่างนี้เราจะเห็นว่า ความคิดดีๆที่เราเชื่อถืออยู่นั้นจะปรากฎขึ้นไม่ได้เลยในโลก หากพระศาสดาของเราท่านไม่ศึกษามาก ไม่คิดไตร่ตรองมาก แนวคิดอื่นๆที่ไม่ตรงกับเราจึงสมควรพิจารณาว่าเป็น "ป้จจัยทางอ้อม" ที่สนับสบนให้เกิดพุทธศาสนา
เราต้องขอบคุณพวกเขา ไม่ใช่มองว่าเขาเป็นศัตรู หรือเป็นพวกมิจฉาทิฐิ เห็นไหมครับว่า การวิเคราะห์ด้วยภาษาธรรมดาๆนี่แหละกลับอาจส่งผลที่เป็นประโยชน์มากมายได้อย่างน่าประหลาดตามที่กล่าวมาฉะนี้แล...
1
แหล่งอ้างอิง
1. พระไตรปิฎกฉบับบภาษาไทย-บาลี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
2. พุทธปรัชญากับญาณวิทยา,วารสารปัญญา.
3. หนังสือคู่มือสมภาร.
4. หนังสือพุทธธรรม.
5. แก่นปรัชญาปัจจุบัน
6. A.J.Ayer, Language, Thuth and Logic.
7. John Locke, An Essay Concerning Human Understanding.
8. Jangh, An Introduction to Madhyamaka Philosophy.
9. Satish Chandra Vidyabhusana , A History of Indian Logic.
-วิรุฬหก-
โฆษณา